- Money
เมื่อ BTS เติมเที่ยว-เช็คการเดินทางได้ง่ายๆ จาก ‘มือถือ’ ไม่ต้องเสียเวลาที่สถานี!!
By Sanook D Pipat • on Oct 08, 2018 • 18,745 Views
รถไฟฟ้าบีทีเอส ถือเป็นระบบคมนาคมสาธารณะทางรางที่คนกรุงเทพฯ นิยมใช้เดินทาง ปัจจุบันมีข้อมูลระบุว่า เฉลี่ยต่อวัน มีผู้โดยสารราว 8-9แสนเที่ยวคน/วัน โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน เช้า-เย็น เราจะได้เห็นมนุษย์ออฟฟิศที่เลิกจากงาน แน่นเต็มสถานี
ส่วนใหญ่คนที่ใช้รถไฟฟ้าบีทีเอส จะรู้กันดีว่าหากขึ้นบ่อยๆ การใช้บัตรแรบบิทแบบเติมเที่ยวโดยสารจะได้ราคาพิเศษกว่าราคาจ่ายค่าโดยสารปกติ หรือถ้าใช้บัตรแรบบิทเติมเงินเป็นค่าโดยสารก็ชั่วลดเวลาไปต่อคิวเพื่อแลกเหรียญหยอดบัตรได้ แต่การเติมเงิน เติมเที่ยว ก็ต้องไปติดต่อที่ตู้ประจำสถานี ที่อาจจะเสียเวลาไปบ้าง และคงคิดว่าถ้าเราสามารถเติมเงิน เติมเที่ยว ได้ด้วยตัวเราเองคงจะสะดวกไม่น้อย
ล่าสุด เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา รถไฟฟ้าบีทีเอส กับ แรบบิท ไลน์ เพย์ ได้เปิดตัวฟังก์ชั่น การใช้งานใหม่ ที่ทำให้ผู้โดยสารที่ถือบัตรแรบิทสามารถเติมเที่ยว เติมเงินของบัตรโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส ได้จากโทรศัพท์มือถือ โดยผ่านแอปพลิเคชั่น LINE มีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
ขั้นตอนการเติมเงินบัตรรถไฟฟ้าบีทีเอส ผ่าน LINE
1.ต้องมี Line Account
เชื่อว่าปัจจุบันทุกคนใช้ Line กันอยู่แล้ว จากนั้นสมัครบริการ Rabbit LINE Pay ซึ่งจะมีขั้นตอนของการผูกบัตรเครดิต และ บัญชี Line เข้าด้วยกัน ถ้าใครไม่มีบัตรเครดิต ก็สามารถโอนเงินจากธนาคาร หรือผูกกับบัตรเดบิต เข้า Rabbit LINE Pay เพื่อให้เป็นเงิน E-wallet สำหรับใช้จ่ายได้ด้วย
2.Add บัตรแรบบิท เข้ากับบัญชีของเรา
เมื่อลงทะเบียนบัญชีเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ถึงขั้นตอนของการ Add บัตรแรบบิทของเราเข้ากับบัญชี ด้วยการกดปุ่ม Menu สัญลักษณ์ BTS (ปุ่มจะอยู่ในเมนู Wallet ขวาสุดของหน้า LINE เลือก Rabbit Line Pay เลือก ปุ่ม BTS ) จากนั้นกด “ลงทะเบียนบัตรแรบบิทของคุณ” อ่านเงื่อนไขและข้อตกลง จากนั้นกดยอมรับ ระบบจะให้กรอกหมายเลขบัตรแรบบิท 13 หลัก เลือกรูปแบบการชำระเงิน ว่าจะให้ตัดผ่านบัตรเครดิต หรือจะให้ตัดผ่าน E-wallet ที่มีเงินของเราอยู่ จากนั้นใส่รหัสผ่านของ Rabbit LINE Pay กดลงทะเบียน
3.นำไปเปิดบริการที่ 15 สถานี
เมื่อลงทะเบียนบัตรเรียบร้อยแล้วไม่ใช่ว่าเราจะใช้งานได้ทันที เพราะจะต้องเอาบัตรที่ลงทะเบียนไปเปิดใช้บริการที่สถานีก่อน โดยนำหลักฐานเป็นบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรแรบบิท ยื่นให้เจ้าหน้าที่ จำกัดช่วงเวลา 10.00 น. – 20.00 น. ของทุกวัน ขอเปิดใช้งานได้ 15 สถานีเท่านั้น
- อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทางออก 1
- เพลินจิต ทางออก 5
- อโศก ทางออก 2
- ศาลาแดง ทางออก 1
- ช่องนนทรี ทางออก 5
- อารีย์ ทางออก
- พญาไท ทางออก 5
- สยาม ทางออก2,4
- อ่อนนุช ทางออก 2
- พร้อมพงษ์ ทางออก 2
- ทองหล่อ ทางออก 3
- เอกมัย ทางออก 1
- ชิดลม ทางออก 2
- วงเวียนใหญ่ ทางออก 1
- หมอชิต ทางออก 3
4.ใช้เติมเงิน-เติมเที่ยวได้แล้ว
ใช้เติมเงินจากระบบของ E-wallet Rabbit LINE Pay ในโทรศัพท์มือถือได้เลย เพราะเงินในบัตรกับเงินในบัญชีของ Rabbit LINE Pay จะเป็นกระเป๋าเดียวกันทันที หากต้องการซื้อเที่ยวเดินทาง ให้ กด “ซื้อเที่ยวเดินทาง” เลือกจำนวนเที่ยวและชำระเงิน เมื่อเติมเที่ยว ใช้ได้เฉพาะ 25 สถานี ไม่รวมส่วนต่อขยาย เมื่อเติมแล้วเที่ยวมีระยะเวลา 30 วัน หากใช้ไม่หมด เที่ยวจะโดนตัดหมดอายุไม่สามารถใช้งานได้
อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า แบบเติมเที่ยว สำหรับบุคคลทั่วไป
15 เที่ยว 465 บาท เฉลี่ย 31 บาท/เที่ยว
25 เที่ยว 725 บาท เฉลี่ย 29 บาท/เที่ยว
40 เที่ยว 1,080 บาท เฉลี่ย 27 บาท/เที่ยว
50 เที่ยว 1,300 บาท เฉลี่ย 26 บาท/เที่ยว
อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า แบบเติมเที่ยว สำหรับนักเรียน นักศึกษา
15 เที่ยว 360 บาท เฉลี่ย 24 บาท/เที่ยว
25 เที่ยว 550 บาท เฉลี่ย 22 บาท/เที่ยว
40 เที่ยว 800 บาท เฉลี่ย 20 บาท/เที่ยว
50 เที่ยว 950 บาท เฉลี่ย 19 บาท/เที่ยว
ข้อดี
ช่วยลดระยะเวลาในการไปเติมเงิน เติมเที่ยวที่สถานี ความสะดวกของการผูกบัญชีกับบัตรแรบบิทยังช่วยให้เราสามารถตรวจสอบประวัติการเดินทางได้ด้วย แค่เลือกระยะเวลาที่เราต้องการตรวจสอบระบบก็จะแสดงผลข้อมูลว่าเราเข้าสถานีไหน ออกสถานีไหน เวลากี่โมง ค่าโดยสารกี่บาท ช่วยทำให้เราวางแผนการเดินทางรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าหากกลัวเรื่องความปลอดภัย ระบบยังมีให้เราแจ้งการระงับใช้บัตรชั่วคราว หรือ ลบบัตรออกจากบัญชีที่เคยผูกไว้ได้ด้วย ช่วงนี้มีโปรโมชั่นถ้าผูกบัตรบีทีเอสกับ Rabbit LINE Pay จะได้เที่ยวการเดินทางฟรี 3 เที่ยว
ข้อเสีย
ยังไม่สามารถเปิดใช้บริการได้เองในครั้งแรกยังต้องไปเปิดบัตรที่สถานีก่อน รวมถึง บัตรแรบบิทที่เป็นประเภท บัตร Be1st Rabbit – AIS mPAY Rabbit SIM ,บัตร AEON,บัตร ที่ออกโดยบริษัทต่างๆ ,บัตร พนักงาน หรือ EP Card (Employee Card) ไม่สามารถนำมาผูกกับระบบของ Rabbit LINE Pay ได้ รวมถึงโปรโมชั่นและส่วนลดต่างๆ ที่เคยใช้ในบัตรเดิมที่มีอยู่แล้วไม่สามารถนำมาใช้ได้กับการผูกบัตรกับระบบนี้ด้วย
Copyright© Bsite.In
ABOUT THE AUTHOR
Sanook D Pipat