- Lifestyle
พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จัดเวิร์คช้อปเรียนรู้การทำ ‘บุหงาร่ำผ้า’ แบบหอมติดกระดาน ตำรับสาวชาววัง
By ทีมงาน bsite • on Oct 15, 2018 • 2,626 Views
การร่ำผ้าแบบโบราณ เพื่อให้ผ้าหอมกรุ่นเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เมื่อเร็ว ๆ นี้ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ “บุหงาร่ำผ้า” ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้การทำบุหงา สำหรับร่ำผ้าให้หอมติดกระดานแบบสาวชาววัง โดยมีวิทยากรผู้ความเชี่ยวชาญจากโรงเรียนช่างฝีมือในวังหญิงเป็นผู้สาธิต ณ ห้องประชุม พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ประวัติความเป็นมาของเครื่องหอมไทยนั้น เริ่มเป็นที่นิยมมากในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งพระตำหนักในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ พระขนิษฐา (น้องสาว) ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงมีฝีพระหัตถ์ในการปรุงพระสุคนธ์ (เครื่องหอม) จึงมีหน้าที่ปรุงพระสุคนธ์ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยตรง
เครื่องหอมหลัก ๆ ที่ชาววังใช้ตั้งแต่โบราณ ได้แก่ น้ำอบ ลักษณะคล้ายโคโลญจน์ในปัจจุบัน กลิ่นหอมเบาบาง ไม่ติดทนนานนักนิยมใช้สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ใช้ชโลมหลังอาบน้ำเพื่อดับร้อน น้ำปรุง ลักษณะเหมือนหัวน้ำหอม กลิ่นติดทนนานกว่า ดัดแปลงมาจากน้ำหอมฝรั่ง แป้งร่ำ คือแป้งหินที่อบร่ำจนหอม ใช้ทาหน้าทาตัว ใช้ผสมน้ำอบเป็นกระแจะเจิม ปัจจุบันเจิมได้ทั้งบ่าวสาว บ้าน รถยนต์ แป้งพวง คือแป้งร่ำที่นำมาหยอดเป็นเม็ดเล็ก ๆ บนเส้นด้ายให้เป็นพวง ใช้บูชาถวายพระ ทำพวงระย้าแขวนตกแต่ง ไปจนถึงเป็นช่อเสียบผมให้ผมหอมกรุ่น บุหงา มีทั้งบุหงาสดและบุหงาแห้ง ใช้บรรจุของชำร่วย ใส่ในหีบผ้า ตู้เสื้อผ้า หรือในห้องเพื่อสร้างกลิ่นหอม บุหงาเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้ผ้าหอม ถ้าอยากจะให้ผ้ากรุ่นกลิ่นชื่นใจแบบดั้งเดิม ต้องเริ่มตั้งแต่ซัก ขัด รีด และร่ำในหีบไม้ คือใช้เทียนอบและน้ำมันร่ำหีบจนหอมเสียก่อน จึงนำผ้าไปใส่ในหีบปิดฝา ร่ำจนกลิ่นกำซาบเข้าเนื้อผ้า
สำหรับ การร่ำผ้า เป็นหนึ่งในขั้นตอนของการดูแลผ้าแบบชาววัง ซึ่งการทำความสะอาดเสื้อผ้าอาภรณ์แบบชาววังนั้น ไม่เพียงแต่เน้นการซักให้สะอาด และรีดให้เรียบดูสวยงาม แต่ทุกขั้นตอน “ซัก ขัด ร่ำ อัด รีด” ล้วนพิถีพิถันละเอียดประณีต โดยเฉพาะชาววังนั้นประกวดประขันกันในเรื่องเครื่องหอม ทั้งน้ำหอม น้ำอบ น้ำปรุง เครื่องร่ำต่าง ๆ ว่ากันว่าชาววังนางในย่างกรายไปที่ไหนกลิ่นจะหอมกำจรกำจาย ขนาดตัวไปแล้ว แต่กลิ่นก็ยัง “หอมติดกระดาน” อยู่
ตามตำรับชาววังแท้ ๆ หลังซักและรีดผ้าให้สะอาดเรียบดูงามแล้ว ก่อนจะนำไปใช้ ยังต้องผ่านกระบวนการร่ำผ้า เพื่อให้มีกลิ่นหอมทนนาน การร่ำผ้าคือการอบหรือปรุงผ้าให้มีกลิ่นหอม โดยใช้วิธีนำผ้าใส่ในโถหรือหีบทึบที่ปิดแน่นสนิท แล้ว “ร่ำ” ซึ่งการร่ำผ้านี้ทำได้หลายวิธี ทั้งร่ำด้วยควันเทียน ร่ำดอกไม้สด และร่ำด้วยน้ำปรุง ร่ำจนกลิ่นกำซาบเข้าเนื้อผ้า ร่ำเสร็จแล้ว จึงนำไปรีดให้เรียบหรืออัดจีบเป็นสไบให้สวยงามตามต้องการ เมื่อเสร็จสรรพพร้อมใช้จึงนำไปเก็บไว้ในหีบซึ่งภายในบรรจุดอกไม้สดหอม เพื่อให้กลิ่นหอมติดทนนานจนกว่าจะนำผ้าออกมาใช้
เครื่องหอมที่ใช้ร่ำผ้านั้น ประกอบด้วยดอกไม้ และพืชหอมนานาชนิด อาทิ กำยาน กฤษณา จันทน์หอม ชะมดเช็ด เทียนอบ น้ำตาลทรายแดง สารภี ประยงค์ จันทน์กะพ้อ กระดังงา ชะลูด ชมนาด เทียนกิ่ง การะเกด พุทธชาด เขี้ยวกระแต มะลิ ฯลฯ ผู้ใช้อาจเลือกใช้เครื่องหอมแตกต่างกันไปตามความชอบ
วิธีทำบุหงาแห้ง นำกลีบดอกไม้สด เช่น มะลิ กุหลาบมอญ กระดังงา พิกุล บานไม่รู้โรย ชมนาด ไปตากจนแห้งสนิท (ราว ๑ สัปดาห์) ดอกกุหลาบควรตากในที่ร่ม จะได้สีสวย ดอกมะลิควรตากแดดให้หมดความชื้น นำบุหงาแห้งใส่หม้อเคลือบหรือโถแก้ว จุดเทียนอบจนไส้เทียนแดงจัด ดับเทียน ควันเทียนจะลอยฟุ้งขึ้นมา วางเทียนบนตะคัน (ถ้วยดินเผาเล็ก ๆ) ใส่ในหม้อบุหงาแห้ง แล้วปิดฝาร่ำไว้จนหมดควัน ร่ำราว ๑๐ – ๑๕ นาที แล้วนำเทียนออกมาจุดใหม่ ร่ำซ้ำ ๆ ๕ – ๗ ตั้ง (ครั้ง) จนบุหงาซับกลิ่นหอมนวลอย่างเต็มที่ ผสมหัวน้ำหอมทั้ง ๕ กลิ่น ได้แก่ มะลิ กุหลาบ กระดังงา ไฮยาซินท์ และลำเจียก อย่างละเท่า ๆ กัน ฉีดพรมบนบุหงาแห้ง คลุกเคล้าให้เข้ากัน พักไว้
วิธีทำถุงบุหงาแห้ง นำใบโพธิ์บาง ๔ ใบประกบกัน เนาหรือด้นตามขอบให้แน่น เว้นช่องไว้ด้านหนึ่งสำหรับบรรจุบุหงาแห้ง แบ่งใบโพธิ์เป็นด้านละ ๒ ใบให้กลายเป็นซองตรงกลาง ใส่บุหงาแห้งลงไปให้เต็ม แต่ไม่เยอะเกินจนใบโพธิ์แตก เย็บปิดช่องใส่บุหงา ใส่ริบบิ้นเข้าไปเป็นหูแขวน ติดริบบิ้นตามขอบถุงบุหงาด้วยกาวเพื่อปิดเส้นด้ายทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง แล้วตกแต่งถุงด้วยดิ้นทอง ดอกไม้ ใบไม้ นำไปแขวนตกแต่งในห้อง หีบผ้า ตู้เสื้อผ้า หรือให้เป็นของขวัญ ของที่ระลึก ของชำร่วยก็ได้
วิธีทำบุหงาสด นำกลีบดอกไม้สด เช่น มะลิ กุหลาบมอญ กระดังงา พิกุล บานไม่รู้โรย ชมนาด มาคลุกรวมกัน ผสมหัวน้ำหอมทั้ง ๕ กลิ่น ได้แก่ มะลิ กุหลาบ กระดังงา ไฮยาซินท์ และลำเจียก อย่างละเท่า ๆ กัน จะได้หัวน้ำหอมกลิ่นคลาสสิกที่ใช้เปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต พรมหัวน้ำหอมลงในกลีบดอกไม้ คลุกเคล้าให้เข้ากันเบา ๆ บรรจุบุหงาสดใส่ถุงผ้าโปร่ง ใช้สร้างความหอมในห้องหรือในรถ ไม่ควรเก็บในที่อับ เช่น ตู้เสื้อผ้า เพราะอาจทำให้ดอกไม้ขึ้นรา เมื่อแห้งแล้วจึงใช้งานได้เหมือนบุหงาแห้ง
สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละเดือนครั้งต่อไป สามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง เฟซบุ๊ก www.facebook.com/qsmtthailand
ABOUT THE AUTHOR
ทีมงาน bsite
Biographical Info