- Entertainment
จาก ‘โนพลอมแพลม’ ถึง ‘ประเทศกูมี’ เพลงสะท้อนสังคม เรื่องจริงที่รับ(ไม่)ได้
By Sanook D Pipat • on Oct 29, 2018 • 2,873 Views
กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั่วโลกออนไลน์ เมื่อมีกลุ่มศิลปิน ใช้ชื่อว่า Rap Against Dictatorship ได้เผยแพร่เพลง ประเทศกูมี โดยเป็นเพลงแรปเนื้อหาเสียดสีสังคมสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงของอีกด้านการเมืองไทยภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
เนื้อหาเพลงมีความตรงไปตรงมาและอาจจะทำให้ระคายไปถึงฝ่ายรัฐฯ รวมถึงมิวสิควิดีโอที่ใช้ยังเลือกหยิบฉากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาเป็นฉากประกอบเรื่องราว ทำให้ขณะนี้ยอดเข้าชมผ่าน Youtube มากกว่า 1 ล้านวิวแล้ว ในตอนจบของเอ็มวี ประเทศกูมี ได้ขึ้นข้อความว่า
“…การแบ่งแยกประชาชนออกเป็นฝักเป็นฝ่าย คือไม้ตายของอำนาจรัฐที่ฝักใฝ่เผด็จการ
เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอำนาจทั้งหมดของประชาชนจะถูกพรากไป ด้วยความระลึกถึง
ทุกชีวิตที่ตกเป็นเหยื่อจากอาชญากรรมโดย รัฐ ทุกเหตุการณ์…”
จากกระแสตอบรับที่ถาโถมเข้ามา เพลงประเทศกูมี ถูกโลกออนไลน์แชร์ต่ออย่างรวดเร็วจนขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ ชาร์ตเพลงออนไลน์ทั้ง Itunes และ Spotify โดยแฟนเพจทางการของกลุ่ม Rap Against Dictatorship ได้โพสต์ข้อความระบุว่า
“…ขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันเป็นกระบอกเสียง เราไม่ได้มีจุดประสงค์โจมตีประชาชนด้วยกัน
เราอยากให้ทุกคน ฟัง แล้วตั้งคำถาม รัฐ มากกว่า ฟัง แล้วโจมตี ประชาชน ด้วยกัน…”
นอกจากนี้ยังได้มีการจัด แคมเปญ 8 Bars Challenge โดยได้ปล่อยบีทประกอบเพลงออกมาแล้วให้ชาวโซเชียลดาวน์โหลดเพื่อนำเนื้อเพลงที่แต่งเอง อัดเนื้อร้องใส่เข้าไปเองจำนวน 8 ห้องดนตรี กลายเป็นอีกแคมเปญรณรงค์ทางการเมืองที่กลายเป็นพื้นที่ระบายอารมณ์ของผู้คนในสังคมโซเชียลอย่างกว้างขวาง
จนทางกลุ่ม RAD กังวัลว่าจะทำให้เลยเถิดไปจนโดนรัฐเพ่งเล็งและออกมาเตือน ว่า ทางกลุ่มไม่สามารถรับผิดชอบความเสี่ยงได้ จึงต้องขอความร่วมมือทุกท่านที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม งดพาดพิงบุคคลหรือสิ่งใดก็ตาม ที่อาจกระทบไปถึงกฎหมายมาตราใดมาตราหนึ่ง ที่จะนำไปสู่การฟ้องร้องคดีความได้
#ประเทศกูมี ฝ่ายรัฐฯ คิดยังไง?
หลังจากเผยแพร่ได้ไม่ถึงสัปดาห์ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) ได้เผยว่าเนื้อหามีความหมิ่นเหม่ 50:50 แต่ต้องให้ทาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบอีกครั้งว่าขัดคำสั่ง คสช.หรือไม่?
ไม่เพียงเท่านั้น ด้าน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกรัฐบาล เผยว่าขณะนี้ได้มีการมอนิเตอร์ตรวจสอบอย่างใกล้ชิด โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดูว่าตามกฎหมายทั้งตำรวจและกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ติดตามดูแลและอยากให้คนรุ่นใหม่ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่าทำแบบนี้ ควรใช้ความรู้ความสามารถไปทำอะไรที่สร้างสรรค์ เพราะการออกมาทำเพลงแบบนี้เป็นการพูดถึงประเทศชาติในทางที่ไม่ดี ไม่ว่าจะตั้งใจหรือรับใบสั่งใครมาก็ตาม ซึ่งคนที่เสียหายไม่ใช่รัฐบาล แต่คือประเทศชาติ
ย้อนอดีตเพลงเสียดสีการเมือง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของวงการเพลงที่มีการนำเรื่องราวอีกมุมของสังคมมาบอกเล่าและทางรัฐไม่ค่อยชอบใจเพราะ หากย้อนกลับไปปี 2533 แอ๊ด คาราบาว ก็เคยโดน คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หรือ กบว. สั่งแบนเพลงไม่ให้ออกอากาศ จนต้องเอาเพลงไปแก้ไขจนผ่านกระบวนการเผยแพร่ได้ โดยอัลบั้มที่ว่าคือ อัลบั้ม โนพลอมแพลม เนื้อหาของเพลงในอัลบั้มตีแผ่ทุกมุมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคมในยุคสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งยุคนั้นเป็นการเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมและจับมือกับอเมริกาอย่างจริงจังด้วย
เนื้อหาของเพลง โนพลอมแพลม เวอร์ชั่นที่รัฐอนุญาตให้ออกอากาศ เล่าถึง เมืองไทยที่คนยังลำบากแต่ก็ต้องอดทนกันไป บ่นทำไมเพราะแค่เป็นคนไทยก็โชคดีแล้ว ในสมัยก่อนมีข้าวในนามีปลาในน้ำ เหล้าก็ต้มกินเอง บ้านหลังเล็กก็อยู่ได้ไม่สร้างปัญหา แต่พอเปลี่ยนมาในยุคอุตสาหกรรม ต้มเหล้ากินเองก็ไม่ได้เพราะโดนมองว่าเป็นเหล้าเถื่อนไปทับสัมปทานรัฐ ชีวิตเกษตรกรต้องเปลี่ยนผันไปสู่ชีวิตพนักงานโรงงานแทน ถึงสังคมเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ต้องอดทน ทนอยู่ ทนใช้ ทนกินกันไป จนถึงกับต้องพูดว่า
“โนปอมแปม โนปอมแปม บ่มีปัญหา เปิ้ลว่าโนปอมแปม โนพลอมแพลม
โนพลอมแพลมไม่มีปัญหา เขาว่าโนพลอมแพลม”
[wonderplugin_video iframe=”https://www.youtube.com/watch?v=pdfk9O3zZ7E” videowidth=600 videoheight=400 keepaspectratio=1 videocss=”position:relative;display:block;background-color:#000;overflow:hidden;max-width:100%;margin:0 auto;” playbutton=”https://bsite.in/wp-content/plugins/wonderplugin-video-embed/engine/playvideo-64-64-0.png”]
จุดประสบความสำเร็จของอัลบั้มนี้ด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นส่งให้ โนพลอมแพลม ได้รับรางวัลสีสันอะวอร์ดส์ สาขาอัลบั้มยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2533 โดย แอ๊ด คาราบาว ได้ระบุข้อความท้ายในอัลบั้ม ว่า
” ทำไมประเทศไทยจึงละเลยต่อสิ่งที่ควรจะทำ อย่างเช่น การพัฒนาวัฒนธรรมของชาติ การแก้ปัญหา ความยากจน การศึกษา ป่าไม้และการอนุรักษ์ธรรมชาติ ฯลฯ ดีกว่าที่นักการเมืองจะคิดแต่การลงทุน มันไม่ง่ายไปหน่อยหรือ ? การเล่นกับเงินจำนวนมหาศาลย่อมบ่งชี้ให้เห็นถึงเจตนาอันเป็นไปของ พณฯ ท่านทั้งหลาย
โนพลอมแพลมการ ทวนกระแสเช่นนี้
ถ้าคิดว่าเป็นความไม่หวังดีต่อชาติก็ช่วยไม่ได้ อาจจะยังไม่สายเกินไปถ้าจะเริ่มต้นใหม่ ไถ่บาปกรรมที่พวกเรากระทำกันไว้ต่อประเทศชาติและประชาชน จิตใจของผมยังรักและเป็นห่วงทุกชีวิต จึงยังมิอาจแยกใครเป็นธรรมะ และ อธรรม อย่าละเลยต่อสิ่งที่ผมกำลังพูดถึงเพราะมันคือปัญหาจริงๆ ในสังคมปัจจุบัน”
( แอ๊ด คาราบาว | อัลบั้ม โนพลอมแพลม)
Copyright© Bsite.In
ABOUT THE AUTHOR
Sanook D Pipat