- Lifestyle
ฤดูย้ายงานกำลังมาถึง? แนะนำการสัมภาษณ์งาน ไม่ให้ประหม่า-ตื่นเต้นเกินไป
By Sanook D Pipat • on Dec 27, 2018 • 2,357 Views
ช่วงเวลาปลายปีเก่า ถึง ต้นปีใหม่ เป็นช่วงเทศกาลแห่งการย้ายงานของมนุษย์ออฟฟิศ โดยหลายคนวางแผนสัมภาษณ์งานใหม่ให้เสร็จสิ้นในปีนี้และเริ่มงานใหม่ในช่วงไม่ต้นปีหน้า เพื่อให้ได้วันทำงานในที่ใหม่แบบครบปีและมีสิทธิ์ลุ้นโบนัสของบริษัทใหม่ในช่วงปลายปีด้วย ไม่ใช่เพียงพนักงานเก่าที่เตรียมย้ายงานใหม่ แต่บัณฑิตจบใหม่ก็เตรียมหางานด้วยเหมือนกัน ทำให้การแข่งขันตลาดสัมภาษณ์งานในช่วงนี้จะคึกคักเป็นพิเศษ…วันนี้เราเลยมีคำแนะนำการเตรียมตัวก่อนและหลังการสัมภาษณ์งานมาฝาก
ขั้นตอนการเตรียมตัว หลังได้รับนัดสัมภาษณ์งาน
- สอบถามข้อมูลจากฝ่ายบุคคลที่โทรมานัดสัมภาษณ์ให้แน่ชัด ถึง วันเวลาและสถานที่ในการสัมภาษณ์ รายละเอียดตำแหน่งงานเบื้องต้น ข้อมูลบริษัทเบื้องต้น รวมถึงการส่งคอนเฟิร์มนัดผ่านทางอีเมล์ เพื่อเป็นการยืนยันว่าจะมีการสัมภาษณ์ที่แน่นอน รวมถึงเอกสารประกอบการสมัครงานที่ทางบริษัทนั้นๆจำเป็นต้องใช้
- ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเพื่อใช้เป็นความรู้ในการสัมภาษณ์งาน โดยดูข้อมูลว่าบริษัทที่เราจะไปนั้นเป็นองค์กรแบบไหน มีความยืดหยุ่นแบบองค์กรรุ่นใหม่ หรือเป็นระบบชั้นแบบองค์กรรัฐวิสาหกิจ บริษัททำงานเกี่ยวกับอะไร มีลูกค้าคือใคร และมีเป้าหมายวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานเพื่ออะไร โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์ทางการของบริษัท
- จัดทำแฟ้มสะสมผลงาน โดยผลงานควรจะเกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่จะไปสัมภาษณ์ บ่งบอกถึงทักษะการทำงาน การเติบโตโดยมีการวัดผลที่ชัดเจนและเชื่อถือได้ นอกจากนี้ควรสะท้อนความคิดสร้างสรรค์และความเป็นตัวเองด้วย จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจและความแตกต่างจากผู้เข้าสัมภาษณ์รายอื่น
- วางแผนการเดินทาง จากที่พัก ไปที่สัมภาษณ์ใหม่ หากได้งานนี้แล้วจะเดินทางลำบากหรือไม่? รวมถึงคำนวนเงินเดือนที่ต้องการ วันที่สามารถเริ่มงานใหม่ได้เพื่อเป็นข้อมูลแจ้งให้ฝ่ายบุคคลเตรียมตัวเบื้องต้น
- หากถึงวันนัดสัมภาษณ์แล้วเกิดข้อติดขัดไม่สะดวกไปตามนัด ให้โทรยกเลิกสัมภาษณ์หรือเลื่อน พร้อมแจ้งเหตุผลจำเป็นในการเลื่อน แต่ถ้าได้งานใหม่แล้วให้ตอบไปตามตรงเลย
ถึงวันสัมภาษณ์ต้องทำอย่างไร?
- ขั้นแรกคือการแต่งตัว..จากการหาข้อมูลของบริษัทในตอนต้น เราจะพอรู้คร่าวๆแล้วว่า วัฒนธรรมองค์กร หรือเนเจอร์ของบริษัทนั้นเป็นสไตล์ไหน ถ้าเป็นบริษัทใหม่ไฟแรงที่ต้องการร่วมงานกับคนรุ่นใหม่ การแต่งตัวไม่จำเป็นต้องเนี๊ยบถึงขั้นใส่สูทผูกไทด์ แต่ขอแค่สุภาพก็พอ แต่ถ้าเป็นบริษัทที่เป็นองค์กรใหญ่ก็ต้องใส่ใจรายละเอียดการแต่งตัว ใส่เสื้อเชิ๊ตแขนยาว ไม่พับแขนเสื้อ กางเกงสแลค รองเท้าหนังหุ้มส้น ใส่เข็มขัด ส่วนผู้หญิงใส่เป็นชุดกระโปรงสีสุภาพ เสื้อเชิ๊ตสีสุภาพ
- เมื่อถึงเวลานัดสัมภาษณ์ให้ไปตรงเวลาหรือไปก่อนเวลาเพื่อเผื่อเวลากรอกเอกสารและใบสมัคร แต่หากเกิดเหตุจำเป็นที่จะต้องเลทเพราะปัญหารถติดหรือใดๆก็ตามควรโทรแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 นาที และไม่ควรเลทเกิน 15 – 20 นาที
- การกรอกเอกสารใบสมัครให้กรอกตามที่อยู่ความเป็นจริง เหตุผลในการย้ายงานและบุคคลอ้างอิงในที่ทำงานเก่า ซึ่งจำเป็นมากเราต้องคุยกับคนที่จะใช้มาเป็นคนอ้างอิงด้วยว่าจะใช้ชื่อของเขา เพราะบางบริษัทจะมีการโทรไปสอบถามบุคคลอ้างอิงเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจรับเข้าทำงานด้วย กรอกเงินเดือนที่ต้องการโดยระบุเป็นช่วงเงินเดือนที่อยากได้ให้ประเมินบวกเผื่อการต่อรองเข้าไปด้วย
- เมื่อถึงเวลาสัมภาษณ์ไม่ต้องตื่นเต้น ทำให้บรรยากาศเหมือนการสนทนาพูดคุยทั่วไป ไม่ตึงเครียดเริ่มจากการแนะนำตัวและประวัติการทำงานที่เคยผ่านมา สาเหตุที่เปลี่ยนงาน โดยคำถามส่วนใหญ่ที่จะถูกยิงมาคือ ทำไมถึงเลือกมาสมัครที่นี่,เป้าหมายในการทำงานคืออะไร?,ชอบองค์กรแบบไหน? และอาจมีให้ทำแบบทดสอบเพื่อประเมินการทำงานเบื้องต้นด้วย อะไรที่ทำได้ให้บอกว่าทำได้ ส่วนอะไรที่ทำไม่ได้ให้ขอไปทำเป็นการบ้านเพื่อเตรียมพร้อมก่อนมาเริ่มงานใหม่
- เมื่อเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์จะถามเราว่ามีอะไรสอบถามเพิ่มเติมหรือไม่? ให้สอบถามรายละเอียดการทำงาน เวลาเข้าออกงาน การเดินทาง วัฒนธรรมองค์กรของคนที่นี่เป็นอย่างไร วันหยุดและสวัสดิการของบริษัท และทิ้งท้ายถึงการทราบผลสัมภาษณ์จะทราบภายในกี่วัน และสามารถตรวจสอบผลการสัมภาษณ์ได้จากช่องทางไหนบ้าง
หลังการสัมภาษณ์ทำอย่างไร?
ประเมินความเป็นไปได้ในการสัมภาษณ์ ถ้าหากทราบผลบางบริษัทจะมีการนัดสัมภาษณ์อีกขั้นกับระดับผู้บริหารให้เตรียมตัวให้พร้อม โดยส่วนใหญ่การสัมภาษณ์ชั้นนี้จะทำพอเป็นพิธีเพราะถ้าได้ขั้นนี้แล้วเท่ากับว่ามีโอกาสได้งานมากถึง 80% แล้ว แต่ถ้าหากไม่มีการติดต่อกลับจากที่ทำงานภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ก็ควรยื่นเรซูเม่สมัครที่อื่นเผื่อไว้ไม่ต้องคิดมาก เพราะเหตุผลที่ไม่ผ่านสัมภาษณ์งานอาจจะมีหลายอย่างเช่น ความถนัดของเราไม่ตรงกับสายงาน ทักษะยังไม่ถึง หรือมีคนที่โดดเด่นกว่า
นั่นก็เป็นสัจธรรมของการสัมภาษณ์มีทั้งได้และไม่ได้ปะปนกันไป ไม่ควรเอาผลการสัมภาษณ์มาคิดให้เครียด ปล่อยวางแล้วเดินหน้าสู้ต่อไป ไม่เพียงเท่านั้นควรย้อนกลับไปทบทวนถึงการสัมภาษณ์ครั้งที่ไม่ผ่านว่าเป็นเพราะเหตุใดและเรามีจุดอ่อน จุดแข็งอันไหนที่ควรเพิ่มเติมให้มากยิ่งขึ้น เผื่อการสัมภาษณ์ครั้งหน้าจะได้ไม่พลาดอีก ขอให้ทุกคนโชคดกีกับโอกาสการเริ่มต้นใหม่ที่กำลังจะมาถึงและเป็นกำลังใจให้กับมนุษย์ออฟฟิศทุกคนให้มีความสุขกับการทำงาน
Copyright© Bsite.In
ABOUT THE AUTHOR
Sanook D Pipat