- Lifestyle
เปิดใจ ‘ครูมะนาว’ เจ้าของเพจอะไรอะไรก็ครู ในวันที่ ‘ครู’ ก็ถูกเทคโนโลยีดิสรัพท์ได้
By ทีมงาน bsite • on Jan 16, 2019 • 9,250 Views
“อุปสรรคสำคัญของครู อาจจะเป็นตัวเราเองมากกว่า ที่หวั่นไหวกับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่นักเรียน”
ไม่ใช่แค่บทความเกาะกระแส “วันครู” แต่ต้องบอกว่าสนใจในเพจว่าด้วยเรื่องครูๆ ของ Facebook Page “อะไรอะไรก็ครู” มานานแล้ว แต่เพิ่งได้มีโอกาสได้พูดคุยกันอย่างจริงจัง
และก็ไม่ทำให้ผิดหวังเลยกับมุมมองความคิดของครูรุ่นใหม่ ที่เต็มไปด้วยความคิดที่เปิดกว้าง และความเป็นครูที่มาจากหัวใจอย่างแท้จริง
มาทำความรู้จักกับเขาให้ลึกซึ้งกันดีกว่า “ครูมะนาว-ศุภวัจน์ พรมตัน” ครูขวัญใจชาวเน็ตแอดมินเพจ “อะไรอะไรก็ครู” ที่มียอดไลค์กว่า 3 แสนไลค์
“ครูมะนาว” เป็นใคร และทำไมถึงอยากเป็นครู
ชื่อศุภวัจน์ พรมตัน ชื่อเล่นนาวครับ แต่คนส่วนใหญ่ชอบเรียกว่าครูมะนาว เรียนจบจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขามัธยมศึกษา (มนุษยศาสตร์ –สังคมศาสตร์) วิชาเอกภาษาไทย
ปัจจุบันเป็นครูที่โรงเรียนนครวิทยาคม ต.สันมะเค็ด อ.พาน จ.เชียงราย เป็นโรงเรียนมัธยมขนาดเล็กประจำตำบล สอนวิชาภาษาไทย และทำหน้าที่ครูบรรณารักษ์ สาเหตุผลที่มาเป็นครู ถ้าผมตอบว่าชอบที่ครูมีปิดเทอมได้มั้ยครับ (หัวเราะ) จริง ๆ อาจจะเพราะเห็นตัวอย่างจากพ่อ น้า อา ที่เป็นครู โดยเฉพาะคุณพ่อท่านเป็นครูที่สอนสนุกมาก
“ผมเคยเป็นนักเรียนที่มีพ่อตัวเองเป็นครูประจำชั้น แล้วท่านจะมีวิธีจัดการชั้นเรียน และวิธีการสอนที่ไม่เหมือนใครมาทำให้นักเรียนสนุก และเรียนรู้ได้ดีขึ้น ผมอยากจะเป็นครูที่สร้างห้องเรียนแบบนั้นบ้างครับ เลยตัดสินใจเรียนครู”
ทำไมถึงลุกขึ้นมาทำเพจ “อะไรอะไรก็ครู” มีแรงบันดาลใจมาจากอะไร
ก่อนที่เฟซบุ๊กจะมีคนเล่นเยอะขนาดนี้ ผมเขียนเว็บบล็อกชื่อ ‘ครูบ้านดอย’ เล่าเรื่องชีวิตการเป็นครูตั้งแต่วันที่เริ่มบรรจุ ที่โรงเรียนบ้านดอย อ.ดอยหลวง จ.เชียงรายครับ จนกระทั่งผมย้ายกลับมาสอนที่โรงเรียนใกล้บ้าน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สอนปัจจุบันนี้ ก็เริ่มเห็นว่า น่าจะเปลี่ยนมาเขียนในเฟซบุ๊กแทนเพราะว่าเข้าถึงคนอ่านได้มากกว่า และให้ฟีดแบ็กได้สะดวกกว่า ก็เลยเริ่มเปิดเพจ
“ผมใช้ชื่อว่า “อะไรอะไรก็ครู” โดยให้ความหมายว่า “แค่เปิดใจที่จะเรียนรู้ อะไร ๆ ก็เป็นครูได้ทั้งนั้น” เพราะต้องการจะเขียนเรื่องทั่วไป ที่สามารถเป็นครูสอนเราได้ ทีนี้ช่วงนั้นมีนโยบายที่ขัดใจครูหลาย ๆ ข้อ ก็เลยลองตัดภาพจาก สคส.ที่วาดให้ครูที่โรงเรียนมาเป็นคาแรกเตอร์ครูผู้ชาย แล้วก็ใส่ข้อความแซว นโยบายต่าง ๆ ไป”
หลังเปิดเพจ ผลตอบรับเป็นอย่างไร
ดีเกินคาดครับ ส่วนใหญ่เป็นครูที่แชร์ไป บวกกับชื่อเพจที่ไปพ้องกับ “อะไร ๆ ก็กู” ทำให้เพจมีคาแร็กเตอร์ไปทางนั้น หลังจากนั้นเราก็เปลี่ยนประเด็นมาพูดถึงเรื่องทั่วไปที่เกี่ยวกับวงการครูแทน ซึ่งยิ่งทำก็ยิ่งพบว่าในแต่ละวันครูเจอปัญหาคล้าย ๆ กัน มีจุดร่วมที่เหมือนกันหลาย ๆ อย่าง ทำให้เพจมีการขยายวงกว้างออกไปในวงการครูอย่างรวดเร็ว
คิดว่าเป็นช่องทางช่วยทำความเข้าใจระหว่างครูกับสังคมเพิ่มมากขึ้นหรือไม่
คิดว่ามีส่วนนะครับ โดยเฉพาะช่วงแรก ๆ มันชัดมาก เหมือนเป็นความรู้สึกที่อัดอั้นมานานของคนเป็นครู ที่เจอทั้งผู้บริหาร ผู้ปกครอง และนักเรียนที่เหมือนไม่เข้าใจเราเลย แล้วมีแต่ครูด้วยกันที่เข้าใจ ช่วงแรกจึงเหมือนเป็นการเข้ามาปรับทุกข์ แชร์เรื่องราวระหว่างกัน หลังจากนั้นก็มีหลายครั้ง ที่เราพยายามส่งเสียงสะท้อนไปให้คนทั่วไปได้เข้าใจ และให้คนในกระทรวงรับฟังครูบ้าง ซึ่งเราก็พบว่าหลาย ๆ ปัญหาที่มันเคยสะสมก็ได้คลี่คลายไปด้วยครับ
“แต่สิ่งสำคัญที่ผมอยากให้เกิดขึ้น คือการ “รับฟังกัน” ของทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษา ไม่ใช่รับฟังเฉพาะครูที่ส่งเสียง แต่ครูก็ต้องรับฟังเสียงที่สะท้อนมาถึงครูเช่นกัน”
คิดว่า คนเป็น “ครู” ควรจะต้องเป็นอย่างไร
ครูจะเป็นแบบไหนก็ได้ ถ้าเขามีเป้าหมายอยู่ที่การเรียนรู้ของนักเรียน และสอนให้นักเรียนเป็นคนดี เพราะถ้าครูโฟกัสที่นักเรียน ครูจะพยายามหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับนักเรียนของเขา
อะไรคืออุปสรรคสำคัญในการทำหน้าที่ครู
เมื่อก่อนผมคิดว่าเป็นนโยบายที่ขยันคิดกันมาให้โรงเรียนทำ เป็นผู้บริหารที่เน้นผลงานมากกว่าการเรียนรู้ ภาระงานนอกเหนือการสอน หรือเป็นปัจจัยภายนอกที่เปลี่ยนไป แต่ปัจจุบันผมเริ่มเห็นว่า อุปสรรคสำคัญของครู อาจจะเป็นตัวเราเองมากกว่า ที่หวั่นไหวกับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่นักเรียน
เทคโนโลยีสำคัญกับความเป็นครูหรือไม่ มีส่วนช่วยมากน้อยแค่ไหน
ผมว่าเทคโนโลยีสำคัญกับมนุษย์ในทุก ๆ ด้านเสมอครับ ซึ่งสำหรับครูมันขึ้นอยู่กับว่า เราใช้เทคโนโลยีนั้นเพื่ออะไร การใช้เทคโนโลยีแล้วทำให้เด็กเรียนรู้ได้มากขึ้น ช่วยเหลือให้คำปรึกษานักเรียนได้ง่ายขึ้น และพัฒนากระบวนการคิดของนักเรียนได้ดีขึ้น สามารถนำผลจากการใช้เทคโนโลยีมาวิเคราะห์ผู้เรียนได้แม่นยำขึ้น อันนี้คือการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ดี
“แต่ถ้าใช้เทคโนโลยีเพื่อจะแสดงให้เห็นว่าห้องเรียนเราทันสมัย โรงเรียนเราเจ๋งกว่าที่อื่น แต่นักเรียนไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมเลย อันนี้ไร้สาระแล้วครับ”
ในยุคที่ดูเหมือนว่าเด็กนักเรียนจะมีทักษะด้านเทคโนโลยีไปไกลกว่าคนเป็นครู ครูควรจะเปิดใจยอมรับแค่ไหน และควรทำตัวอย่างไรให้ก้าวทันเด็กและเทคโนโลยี
ผมว่าครูส่วนใหญ่ตอนนี้ก็เปิดใจกับเทคโนโลยีนะครับ หลาย ๆ ท่านเริ่มใช้เทคโนโลยีง่าย ๆ ที่เราใช้อยู่เป็นประจำอย่าง เฟซบุ๊ก ไลน์ ตั้งกลุ่มเพื่อแจ้งข่าวสาร หรือติดตามผู้เรียน หรือการใช้สื่อการสอนที่ทันสมัยขึ้น
“สิ่งที่ครูต้องปรับตัวคือ ครูต้องเท่าทันเทคโนโลยี อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้จนคล่อง แต่ให้รู้ว่าเทคโนโลยีสมัยนี้มันทำอะไรได้บ้าง และมันทำให้ชีวิตสะดวกขึ้นอย่างไรบ้าง แล้วใช้ข้อดีของเทคโนโลยีนั้นมาปรับเข้ากับการออกแบบการเรียนรู้ รวมทั้งให้ทักษะที่จำเป็นแก่นักเรียนที่เขาสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีได้เอง”
ที่สำคัญเราต้องรู้ว่า เทคโนโลยีตอนนี้มันไปเร็วมาก สิ่งที่เราสอนนักเรียนตอนนี้ อีกหนึ่งปี หรือหนึ่งเดือนข้างหน้า มันอาจจะเก่าไปแล้วก็ได้ ดังนั้นสิ่งที่ครูจะจัดการเรียนรู้ จึงควรเน้นที่กระบวนการคิด และทักษะพื้นฐานต่าง ๆ ในแต่ละวิชา ที่ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปแค่ไหน นักเรียนก็สามารถปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้อยู่เสมอครับ
ปัจจุบันคนมักคิดว่า ใบปริญญา ไม่อาจทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จได้ การเรียนในระบบอาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป ครูจะมีบทบาทในหน้าที่นี้อย่างไรต่อไป
ผมว่าโจทย์นี้ท้าทายสำหรับครูมากครับ เพราะจากแต่เดิมเรามีเป้าหมายเดียวคือ สอนให้นักเรียนไปแข่งกันทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ยิ่งมีนักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มากเท่าไหร่ นั่นคือความสำเร็จ แต่ปัจจุบันสิ่งที่ครูต้องช่วยเหลือนักเรียน คือทำให้นักเรียนรู้จักตัวตนของตัวเองให้ได้ ครูเองต้องเข้าใจความต่างของนักเรียนก่อน จึงจะส่งเสริมไปในทางที่ใช่สำหรับนักเรียนได้ครับ
“บทบาทของครูก็จะเหมือนเป็นโค้ช ที่คอยส่งเสริม ผลักดัน และหาวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะกับนักเรียนแต่ละคนมาช่วยกันทำให้ความฝันของนักเรียนเป็นจริง”
ราชการ / บ้าน ควรจะต้องมีบทบาทเพิ่มเติมในการช่วยครูได้อย่างไรบ้าง
เราต้องเชื่อใจกันครับ ให้อิสระโรงเรียนและครูในการทำงานเต็มที่ และช่วยส่งเสริมกันในการพัฒนานักเรียนตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง แค่ทุกคนทำตามหน้าที่ไม่ผลักเป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผมว่าเวิร์คมากแล้วครับ
เคยได้ยินหรือไม่ว่า มีคำพูดว่า ถ้าเรียนเก่งให้เลือกหมอ ถ้าเรียนไม่เก่งหรือกลางๆ ให้ไปเป็นครู ในฐานะที่เราเรียนจบครูมาคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร
ผมเฉย ๆ นะครับ ผมมองว่าคนเก่งเขามีทางเลือกมากกว่า และทุกคนก็ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร ประเด็นคือ ผลตอบแทนของครู จะจูงใจให้คนเก่ง ๆ มาเป็นครูได้มากแค่ไหนมากกว่า
“แต่ถ้าคำพูดนี้ คือการสื่อว่าคนเรียนครูคือคนเรียนไม่เก่ง นั่นเป็นสิ่งที่ครูไทยต้องช่วยกันพิสูจน์ว่า จริง ๆ แล้วครูเราเจ๋งแค่ไหน”
หลายๆ ครั้งที่เวลาพูดถึงการศึกษาไทยมักจะโทษว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะครูไทยไม่ดี ครูไทยไม่เก่ง คิดว่าอย่างไร
ถ้าเราบอกตัวเองว่า ครูคือคนสำคัญ ครูคือผู้ที่มีบทบาทสูงสุดในการสร้างศิษย์ให้เป็นคนดีของสังคมแล้วผลมันออกมาไม่ดี มันล้มเหลว ครูก็ต้องกล้าโทษตัวเองด้วยเช่นกันครับ ในฐานะผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด
แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่าการศึกษาจะดีหรือไม่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งครับ ถ้าเราวางระบบดี เราก็ดีไปด้วยกัน ถ้าระบบเราแย่เราก็ลำบากด้วยกัน ปัญหาการศึกษาไทยมันมีหลายปัจจัยมากกว่าปัญหาของครูกับนักเรียนครับ
อนาคตคิดว่า “ครู” จะต้องมีบทบาทเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง ในยุคที่เทคโนโลยีมีเข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อก่อนเราพูดกัน “การเป็นครูไม่ได้เป็นเริ่มต้นที่ 8 โมงเช้า แล้วจบที่ 4 โมงเย็น แต่เป็นครูต้องเป็นตลอดเวลา” ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้คำพูดนี้มันจริงมากขึ้นครับ เพราะบทบาทที่เพิ่มขึ้นของครูคือต้องเป็นครูได้ตลอดเวลาจริง ๆ นักเรียนจะทักแชท ทักไลน์มาถามได้ตลอดเวลาจริง ๆ (หัวเราะ)
“ดังนั้น บทบาทที่เพิ่มขึ้นคือครูต้องพัฒนาตนเองให้ชินกับการใช้เทคโนโลยี เพราะนับวันเรายิ่งเห็นว่าเทคโนโลยีทำงานได้ดีขึ้นมากจริง ๆ และมันช่วยให้การทำงานเรามีประสิทธิภาพขึ้นได้ถ้าเราใช้งานเป็น”
สุดท้ายถ้าครูไม่ใช่ ‘แม่พิมพ์’ ไม่ใช่ ‘เรือจ้าง’ คิดว่าครูควรเปรียบกับอะไรดี
เปรียบครูเป็น ‘คบเพลิง’ ที่ช่วยส่องทางให้นักเรียนเดินไปตามทางที่ตัวเองเลือก โดยครูไม่ได้กำหนดว่านักเรียนจะต้องเดินไปทางไหน แต่นักเรียนเป็นคนกำหนดเส้นทางเอง ครูแค่ทำหน้าที่ช่วยให้ทางนั้นมันสว่างและเห็นภาพชัดขึ้นเท่านั้น
ต้องยอมรับหลายสิ่งเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เราสามารถเรียนรู้อะไรได้มากขึ้น ผ่าน Youtube ผ่าน Google แต่สิ่งที่เราเรียนรู้ เป็นเพียงแค่ Know-how หาใช่ความรู้ที่ผ่านความใส่ใจหัวใจของการเรียนการสอนที่แท้จริง ที่ร่วมบ่มเพาะไปด้วยกัน มันคือเสน่ห์ที่แม้แต่ AI ที่ฉลาดที่สุดก็อาจะแทนที่ไม่ได้ และแม้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตแค่ไหน หรือในอนาคตหลายอาชีพอาจจะถูกหุ่นยนต์ดิสรัพท์ แต่เชื่อว่าไม่มีอะไรจะแทนที่การทำหน้าที่ของ “ครู” ได้
เพราะงานของ “ครู” อะไรก็มาแทนไม่ได้
ABOUT THE AUTHOR
ทีมงาน bsite
Biographical Info