- Lifestyle
เครียด เกรดตก! ปรึกษาได้ Wall of Sharing แพลตฟอร์มปรึกษาจิตใจออนไลน์
By ทีมงาน bsite • on Jan 23, 2019 • 2,609 Views
Ooca (อูก้า) และ Taejai.com (เทใจดอทคอม) จับมือสร้าง Wall of Sharing แพลตฟอร์มปรึกษาจิตใจ หวังให้นักศึกษาไทยสุขภาพจิตดีขึ้น ตั้งเป้าปี 2562 ให้นักศึกษาจาก 13 มหาวิทยาลัย ที่ทำงานร่วมกันได้ใช้บริการ 50,000 ครั้ง เชิญชวนคนใจดีและบริษัทช่วยสมทบทุนค่าใช้จ่ายให้นักศึกษาได้ใช้ฟรี
บริษัท เทเลเมดิก้า จำกัด หรือ Ooca ร่วมกับ เว็บไซต์เทใจดอทคอม โครงการภายใต้ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์ จับมือทำ โครงการส่งเสริมสุขภาพจิตใจที่ดี ให้กับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีปัญหาด้านจิตใจในชื่อ Ooca: Wall of Sharing
ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ผู้ริเริ่มโครงการ Ooca: Wall of Sharing และหนึ่งใน BBC 100 Women ปี 2018 กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า Ooca เป็นบริษัท Healthtech Startup ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเยียวยา ปัญหาจิตใจของคน โดยสร้างระบบให้ผู้ที่มีความต้องการใช้งานสามารถเชื่อมต่อกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาออนไลน์ผ่านวีดีโอคอลที่มีความเป็นส่วนตัวสูง Ooca เปิดใช้งานมาแล้ว 14 เดือน มีผู้ใช้งานมากกว่า 30,000 ราย โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นองค์กรในบริษัทชั้นนำในไทยและต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับการดูแลจิตใจพนักงาน
ก้าวต่อไปเพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการให้กลุ่มเยาวชนที่ไม่มีรายได้ ประกอบกับผลการสำรวจของกรมสุขภาพจิต โดย สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่า ในปี 2561 ปัญหา 5 อันดับแรก ที่วัยรุ่นโทรปรึกษา และเดินเข้ามารับการปรึกษาคลินิกจิตเวชวัยรุ่น มาจาก 1.มีความเครียด กดดัน พฤติกรรมเสี่ยง 2.มีความรัก คุณภาพการเรียนตก 3.ปัญหาเพศ การใช้สารเสพติด 4.สุขภาพจิต ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย 5. ครอบครัว ไม่เข้าใจ โดยปัญหา ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตัวนักเรียน นักศึกษา ครอบครัว และสังคม ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในฐานะที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต จึงอยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ด้วยการ ริเริ่มโครงการ Ooca: Wall of Sharing
โครงการนี้ถือเป็น CSR หรือการตอบแทนสังคมของ Ooca และ กลุ่มจิตแพทย์และนักจิตวิทยาของอูก้า โดยทาง Ooca ไม่คิดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบ Ooca analytic ที่ใช้การควบคุมดูแลข้อมูลของนักศึกษา ซึ่งปรกติมีค่าใช้จ่ายถึงหลักล้านบาทสำหรับการดูแลคนหลักหมื่น ขณะที่กลุ่มจิตแพทย์และนักจิตวิทยาช่วยลดค่าบริการ ลง 80 % ทำให้ค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งอยู่ที่ 470 บาท โดยขณะนี้ได้มีการประสานไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 13 มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมลงนาม MoU ความร่วมมือในโครงการนี้ และตั้งเป้าหมายว่า ปี 2562 จะสามารถให้บริการนักศึกษาได้ 50,000 ครั้ง
เอด้า จิระไพศาลสกุล ผู้อำนวยการเว็บไซต์เทใจดอทคอม เว็บไซต์ระดมทุนออนไลน์เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม กล่าวเสริมว่า สำหรับโครงการนี้เทใจได้ให้ความร่วมมือกับ Ooca โดยเปิดช่องทางให้คนใจดีและบริษัทต่างๆที่ต้องการแก้ไขปัญหานี้ มีส่วนร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่ายของการบริการผ่านการบริจาค เพราะเรามีวัตถุประสงค์ให้นักศึกษาที่มีปัญหา และไม่มีรายได้ใด ๆ ได้รับบริการฟรี ทุกการบริจาค 470 บาท จะทำให้นักศึกษาได้รับคำปรึกษา 1 ครั้ง โดย ผู้บริจาคยังสามารถขอรับใบเสร็จเพื่อหักลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
อ.ทพญ. ภัทริกา อังกสิทธิ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษา คณะทันตแพทยศาสตร์ ม. เชียงใหม่ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้ลงนามใน MoU เข้าร่วมโครงการ Wall of Sharing กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยนั้นมีการจัดระบบอาจารย์ที่ปรึกษา และมีโครงการให้คำปรึกษาด้วยนักจิตวิทยา เพื่อรับฟังให้คำปรึกษาปัญหาของนักศึกษาอยู่แล้ว แต่การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้บางครั้งยังไม่ครอบคลุมสำหรับนักศึกษาบางคนที่ไม่อยากพูดปัญหาส่วนตัวให้กับคนใกล้ชิดหรือคนรู้จักฟัง เพราะรู้สึกอาย นักศึกษาในยุคปัจจุบัน ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมและความกดดันจากปัจจัยต่างๆในสังคม หลายคนไม่สามารถจัดการทุกปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง การที่เราร่วมมือกับ Ooca เพราะเราต้องการสร้างทางเลือกที่หลากหลายเพิ่มขึ้นให้กับนศ.ในการให้คำปรึกษาทางด้านจิตวิทยาที่เป็นรูปแบบใหม่ น่าสนใจ เข้าถึงง่าย ผ่าน Application โดยนักศึกษายังคงได้รับสิทธิในการรักษาความลับ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะได้เพียงข้อมูลภาพรวมสถานการณ์ ในกรณีที่มีนักศึกษาที่ต้องได้รับการดูแลเพิ่มเติมด้วยนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ ก็จะมีการแจ้งให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบที่ดูแลในส่วนนี้ ได้ทำการดูแลนักศึกษาต่อไปอย่างใกล้ชิดในระบบต่อไป
ด้าน พงศ์วราวุฑฒิ หมื่นยุทธิ Chief Academic Office, โครงการจัดตั้งสถานพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักศึกษา (Student Entrepreneurship Development Academy: SEDA) ม. เทคโนโลยีสุรนารี อีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่ ได้ร่วมลงนามใน MoU โครงการ Wall of Sharing กล่าวว่า โครงการนี้ ถือว่าเป็นโครงการพัฒนาสุขภาพและสุขภาวะของนักศึกษา (Good Health and Wellbeing) ซึ่งจะทำให้นักศึกษาของเรามีโอกาส เข้าถึงการดูแลสุขภาพจิตจากผู้เชี่ยวชาญ ขณะเดียวกัน จะมีการเก็บข้อมูลและประเมินผลการใช้งานร่วมกับทีม Ooca เพื่อพัฒนางานนี้ต่อไป
ABOUT THE AUTHOR
ทีมงาน bsite
Biographical Info