- Lifestyle
จับตาเทรนด์อาหารสุขภาพใหม่ Personalised Foods อาวุธใหม่ ‘ครัวไทย’ บุกครัวโลก
By ทีมงาน bsite • on Feb 22, 2019 • 2,390 Views
เทสโก้ โลตัส ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมพัฒนานวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ต่อยอดงานวิจัยจากนักวิชาการ สู่สูตรอาหารเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์เทสโก้ เตรียมส่งเมนูคาวหวานพร้อมทาน ดีต่อสุขภาพ มีรสชาติอร่อยและราคาที่เอื้อมถึงได้ จำหน่ายทั่วประเทศตอบรับเทรนด์ความต้องการอาหารที่มีคุณค่าตามหลักโภชนาการตรงกับสุขภาพเฉพาะบุคคล (Personalised Foods) ของผู้บริโภคยุคใหม่
ทั้งนี้ มร.เดวิด เบียร์ดมอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพาณิชย์ สินค้าบริโภค เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า เทสโก้ โลตัส ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าแบรนด์เทสโก้ทั้งอาหารสดและอาหารแห้ง ให้มีคุณภาพสูง ดีต่อสุขภาพผู้บริโภค รสชาติอร่อย และมีราคาที่เอื้อมถึงได้ นอกจากนั้น ยังสนับสนุนเกษตรกรผ่านการซื้อวัตถุดิบตรงโดยไม่ผ่านคนกลาง ร่วมมือกับผู้ประกอบการ SME และชุมชนเป็นผู้ผลิตสินค้า มีกระบวนการจัดหาสินค้าและกระบวนการผลิตที่มีจริยธรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
ปัจจุบันความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ลูกค้ามีความคาดหวังว่าสินค้าและบริการต่างๆ จะต้องตอบโจทย์ความต้องการของตนโดยเฉพาะ (personalisation) ซึ่งรวมถึงสินค้าประเภทอาหารด้วย ที่นอกจากจะต้องมีรสชาติอร่อย คุณภาพดี ปลอดภัยแล้ว ในด้านของคุณค่าทางโภชนาการ จะต้องเหมาะสมกับความต้องการหรือข้อจำกัดด้านสุขภาพ ดั้งนั้น เทสโก้ โลตัส จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนากลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณน้ำตาล โซเดียม ไขมัน หรือ เพิ่มทางเลือกสำหรับลูกค้าที่แพ้สารบางอย่างเช่น กลูเตน โดยการปรับสูตร แต่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อรสชาติ
ที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส ได้ปรับสูตร สินค้าเบเกอรีให้ปราศจากไขมันทรานส์ทั้งหมดก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ หรือการเปิดตัวน้ำอัดลมแบรนด์เทสโก้ที่มีน้ำตาลน้อยและได้รับตราสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ และปรับสูตรขนมไทย เช่น เต้าส่วน สาคูเปียกข้าวโพด ลูกเดือยเปียก ให้มีน้ำตาลลดลง 30-50% เป็นต้น
กระบวนการพัฒนาสินค้าที่ดีต่อสุขภาพและมีรสชาติอร่อย จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในหลายด้าน ทั้งความเข้าใจลูกค้า วิทยาศาสตร์การอาหาร นวัตกรรมและเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต จึงทำให้เทสโก้ โลตัส ได้ร่วมมือในรูปแบบไตรภาคี กับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สวทน. เพื่อต่อยอดงานวิจัยและนำสูตรมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพแบรนด์เทสโก้ ออกสู่ตลาด ทำให้เกิดการบูรณาการและพัฒนาสูตรอาหารที่ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ ซึ่งเทสโก้ โลตัส ได้ใช้ความเชี่ยวชาญของเราใน ธุรกิจค้าปลีก ผสานกับความเชี่ยวชาญของนักวิจัยและนักวิชาการที่ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ และหลักการทางวิทยาศาสตร์ ใน การพัฒนาสูตร ทำให้มีตัวชี้วัดที่น่าเชื่อถือ
“เบื้องต้นเราได้นำสูตรวาฟเฟิลกรอบ ที่ใช้แป้งข้าวเจ้าและแป้งมันสำปะหลังทดแทนแป้งสาลี สำหรับผู้ที่แพ้กลูเตนมาพัฒนาเป็นสินค้า ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ นอกจากนั้นยังอยู่ระหว่างการร่วมพัฒนาอีก 3 สูตร คือ เส้นโซบะข้าวชาใบหม่อนจากแป้งข้าวอบแห้ง พุดดิ้งข้าวแหล่งใยอาหาร และพรีไบโอติกส์ และโอโวฟิชโปรตีนสูงจากแหล่งไข่ขาวและเนื้อปลา โดยนอกจากสินค้าจะดีต่อสุขภาพผู้บริโภคแล้ว ยังสร้าง มูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร เช่น ข้าวจาวมะพร้าว และใบหม่อนลดการเกิดขยะอาหาร (food waste) โดยไม่จำเป็น”
ด้าน รศ.ดร.อนุวัตร แจ้งชัด คณบดี คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งรับหน้าที่หัวหน้าโครงการวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปอหาร กล่าวว่า ผลสำเร็จของการวิจัยผลิตภัณฑ์อาหารเชิงสุขภาพโดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี ผสมผสานกับการคัดเลือกวัตถุดิบตั้งต้นที่มีคุณภาพให้ได้เป็นอาหารเชิงสุขภาพและมีรสชาติดีนั้น ในระยะแรกสามารถพัฒนาชุดอาหารออกมาเป็น อาหารคาว 9 ชนิด อาหารหวาน 2 ชนิด อาหารขบเคี้ยว 2 ชนิด เครื่องดื่ม 1 ชนิด รวมทั้งหมด 14 ชนิด และยังได้ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสและส่วนผสมอาหารอีก 2 ชนิด โดยมีจุดเด่นของอาหาร เช่น อาหารที่มีสัดส่วนโปรตีนสูงแต่ย่อยง่าย อาหารที่มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง อาหารที่มีแหล่งใยอาหารและพรีไบโอติกส์ โดยมีเทสโก้ฯ ได้นำผลิตภัณฑ์จากโครงการไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ให้ เพื่อตอบสนองเทรนด์การรับประทานอาหารที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งสอดรับกับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังเกิดขึ้นด้วย
ทั้งนี้ อาหารสำเร็จรูปที่วางขายในร้านสะดวกซื้อปัจจุบันมีข้อด้อยในเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการแปรรูป ทำให้มีปริมาณสารด้านอนุมูลอิสระในอาหารลดลงมาก เมื่อเทียบกับอาหารสด มีคุณภาพโปรตีนต่ำ หรือมีปริมาณแป้งที่ย่อยได้เร็ว เกลือ น้ำตาล หรือไขมันทรานส์มากเกินไป นอกจากนั้นยังขาดการออกแบบให้มีคุณค่าตามหลักโภชนาการตรงกับสุขภาพเฉพาะบุคคล จึงเป็นที่มาให้คณะนักวิจัยร่วมกันพัฒนาอาหารให้มีจุดเด่น เช่น มีสัดส่วนโปรตีนสูงแต่ย่อยง่าย มีปริมาณสารต้นอนุมูลอิสระสูง มีแหล่งใยอาหาร เป็นต้น และใช้วิธีการแปรรูปอาหารที่ทันสมัยเพื่อรักษาคุณภาพและสารอาหารเอาไว้ให้ได้มากที่สุด
“ความร่วมมือในครั้งนี้มีความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยเป็นการผนวกความเชี่ยวชาญทางวิชาการและเทคโนโลยีเข้ากับความเข้าใจและความต้องการของลูกค้า เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์และมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีโภชนาการสูง อร่อย ในราคาที่เหมาะสม ที่สำคัญยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการขนาดย่อมอีกด้วย”
นับเป็นอีกก้าวของการพัฒนาอาหารไทยผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยได้การต่อยอดพลังจากภาคเอกชน ซึ่งถ้าเป็นไปได้ความฝันที่ว่า “ครัวไทย” จะเป็น “ครัวโลก” อย่างแท้จริงคงไม่ไกลเกินเอื้อม.
ABOUT THE AUTHOR
ทีมงาน bsite
Biographical Info