- Lifestyle
เคล็ดลับมนุษย์ออฟฟิศ!! เรียนรู้การทำงานแบบ “มด” ทีมที่ดี เริ่มต้นจากความสามัคคี
By Sanook D Pipat • on Apr 22, 2019 • 5,619 Views
มด เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความน่าทึ่งในเรื่องของ“ความสามัคคี” มันได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ประสบผลสำเร็จด้านการปกครอง ซึ่งมดแดงทุกตัวต่างรู้จักหน้าที่ของตนเองเพื่อรังของมัน ไม่ต่างจากสังคมการทำงานในปัจจุบันที่ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดและพึ่งพาอาศัยกันและกันเพื่อให้การทำงานไหลลื่นประสบความสำเร็จ วันนี้เราขอพาทุกคนมาถอดบทเรียน ชีวิตของมด เพื่อจะได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน นำไปเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ทีมในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย
หน้าที่ของมดแต่ละตัว
1.มดนางพญา หรือราชินีมด (นางพญา อายุ 10ปี) มีลำตัวยาว15 มิลลิเมตร มีสีชมพูหรือสีเขียวอ่อนๆ ท้องโต คือผู้ให้กำเนิดประชากรภายในรังใหญ่ มีหน้าที่ออกไข่ รับข่าวสารจากมดงานและประมวลผลว่า จะออกไข่เมื่อใด กำหนดจำนวนและชนิดของประชากรในรังให้เหมาะสมกับแต่ละฤดูกาล เปรียบเสมือนหัวหน้างาน
2.มดนาง คือมดตัวเมีย ทำหน้าที่เตรียมตัวเป็นนางพญาในวันข้างหน้า มีลักษณะเหมือนนางพญาแต่มีปีก(อาจมีสีชมพู เขียว แดง) เปรียบเสมือนผู้ช่วยหัวหน้างาน
3.มดงาน ซึ่งเป็นมดที่เราเห็นบ่อยๆ มีหน้าที่หาอาหาร สร้างรัง สะสมเสบียงเพื่อเลี้ยงดูประชากรในรัง ทำหน้าที่ปกป้องรังเมื่อถูกรุกราน ทำงานขยันขันแข็ง ไม่เกี่ยงกัน (มดงานมีอายุ 1ปี) เปรียบเสมือนพนักงานในองค์กรทุกคน
การทำงานแบบเกื้อกูลกัน
มดแดงผสมพันธุ์กันในช่วงฤดูฝน โดยแม่เป้งกับมดตัวผู้ หลังจากนั้นแม่เป้งก็จะหาทำเลเหมาะสมเพื่อการวางไข่บนใบไม้เพื่อเพิ่มจำนวนมดงานและสร้างรัง เมื่อมีจำนวนมดงานมากพอแล้ว ก็ช่วยกันทำรังบนต้นไม้ โดยใช้เส้นใยจากตัวอ่อนเป็นกาวเชื่อมต่อใบไม้ให้เป็นรัง มดงานจะต่อตัวเป็นลูกโซ่เพื่อดึงใบไม้มาชิดกัน นี่คือแรงสามัคคีของมดงานเหล่านี้
เรียนรู้การวางแผนจากมด
มดจะมีการวางแผนที่ดีทำให้งานประสบความสำเร็จ พวกมันรู้จักการคิดอย่างเป็นระบบ ดูตัวอย่างได้จากการสร้างรังเพื่อรองรับการใช้งานหลายรูปแบบ เช่น
– รังพักของมดนักล่า คือรังที่พักชั่วคราวของมดงาน เป็นที่ซ่อนอาหารจากสายตาสัตว์อื่นๆก่อนจะลำเลียงสู่รังใหญ่
– รังฉุกเฉิน คือรังที่ใหญ่ขึ้นกว่า รังพัก เล็กน้อย ภายในต้นไม้เดียวกัน มีไว้เพื่อรองรับประชากรมด เมื่อราชินีออกไข่เมื่อรังใหญ่แออัด ประชากรมดก็จะมาอาศัยอยู่ที่รังฉุกเฉินแห่งนี้หรือมีไว้อาศัยเมือรังใหญ่ประสบภัย
– รังใหญ่ คือรังขนาดใหญ่ที่อยู่รวมกันของประชากรมดทั้งหมดและเป้นรังที่นางพญาอาศัยอยู่
มดแดงทำหน้าที่เก็บเศษอาหาร เป็นนักเก็บขยะทำหน้าที่ควบคุมแมลงและหนอนที่จะกัดกินพืช ผลไม้ ป้องกันการวางไข่ของแมลงเจาะผลไม้ ช่วยควบคุมโรคพืชด้วยสารกรดจากมด หรือแม้แต่ประโยชน์ต่อมนุษย์โดยตรง นั่นก็คือเป็นอาหารของนักชิมทั่วไปและเป็นอาหารจานแพงอีกจานหนึ่ง ที่เราๆรู้จักกันดีก็หนีไม่พ้น “ไข่มดแดง”เป็นสินค้าเศรษฐกิจสร้างรายได้งามให้ชาวบ้าน จนไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดและได้เกิดอาชีพการเพาะเลี้ยงไข่มดแดงในสวนมะม่วงเกิดขึ้นมากมาย
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่มดทำแม้จะเพื่อความเอาตัวรอดของเผ่าพันธุ์แล้วยังช่วยเกื้อหนุนธรรมชาติด้วย ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ในการทำงานไม่ใช่เพื่อการทำเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่การคืนประโยชน์สู่คนและสังคมรอบข้างก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน สิ่งที่คนเราควรเอาแบบอย่างเจ้ามดตัวน้อยๆนี้ก็คือ การรู้จักหน้าที่ของตนเอง ไม่เกี่ยงกันทำงาน ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ร่วมใจสามัคคี เสียสละ เท่านี้ สังคมการทำงานและสังคมรอบข้างของเราก็จะมีความสุข
Copyright© Bsite.In
ABOUT THE AUTHOR
Sanook D Pipat