- Lifestyle
เปิดปูม ‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ งานมหามงคลที่คนไทยควรรู้
By ทีมงาน bsite • on Apr 29, 2019 • 1,626 Views
เปิดเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเก่าแก่ ซึ่งเป็นงานมหามงคลที่คนไทยควรเรียนรู้ ทั้งนี้ ในราชวงศ์จักรี จากกษัตริย์ทั้งหมด 9 พระองค์ เคยมีพระราชพิธีนี้มาแล้วถึง 11 ครั้ง โดยในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวง รัชกาลที่ 10 นี้จะถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 12
นับเป็นข่าวน่ายินดีของคนไทยทั้งประเทศ หลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562
สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือเป็นพระราชพิธีเก่าแก่ ซึ่งมีประวัติความเป็นมาดังนี้
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีสำหรับผู้ที่จะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นองค์พระมหากษัตริย์ เพื่อดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ หรือเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อรับรองฐานะความเป็นประมุขของรัฐอย่างเป็นทางการ ปรากฏหลักฐานครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย สมัยที่พ่อขุนผาเมือง ได้อภิเษกให้พระสหายคือ พ่อขุนบางกลางหาว เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ผู้ครองกรุงสุโขทัย แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดการประกอบพระราชพิธี
กระทั่ง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อขึ้นเสวยราชสมบัติ ได้ทรงทำพระราชพิธีนี้อย่างสังเขป เมื่อปี พ.ศ. 2325 ครั้งหนึ่งก่อน จากนั้นได้ทรงตั้งคณะกรรมการสอบสวนแบบแผนโดยถี่ถ้วน แล้วตั้งขึ้นเป็นตำรา จากนั้นก็ทรงพิธีบรมราชาภิเษกแบบเต็มพิธี ตามตำราอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2328 และได้ใช้เป็นแบบแผนตามตำรากับรัชกาลต่อมาจนถึงปัจจุบัน
หากนับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ได้มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแล้วจำนวน 11 ครั้ง ดังนี้
- พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จำนวน 2 ครั้ง
- พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จำนวน 1 ครั้ง
- พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ครั้ง
- พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ครั้ง
- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 2 ครั้ง
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 2 ครั้ง
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 1 ครั้ง
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 1 ครั้ง
หมายเหตุ : สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเพียง ไม่ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะว่าเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง ๙ พรรษา ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ จึงต้องมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากกนั้น พ.ศ.๒๔๙๘ เสด็จสวรรคต ก่อนที่จะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะเป็นการประกอบพระราชพิธีครั้งที่ 12
ทั้งนี้ หากพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใด มิได้ผ่านการพิธีบรมราชาภิเษก ถือว่าทรงเป็นพระเจ้าอยู่หัวยังไม่เต็มพระองค์ เครื่องยศและพระนามต่าง ๆ จะแตกต่างไปจากพระเจ้าอยู่หัวที่ผ่านการพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว เช่น จะไม่มีคำว่า “พระบาท” นำหน้าพระนาม จะมีแค่เพียงคำว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดยหลังประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ในวันที่เดียวกันนั้นของปีถัดไป จะกลายเป็น “วันฉัตรมงคล”
สำหรับขั้นตอนการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยขั้นตอนหลักสำคัญ 5 ขั้นตอน ได้แก่
ขั้นตอนที่ 1
พิธีเชิญน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญ มาเสกทำพระพุทธมนต์และน้ำเทพมนต์ เพื่อเตรียมน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก ซึ่งตักมาจากแม่น้ำสายสำคัญของประเทศ และมาตั้งพิธีเสกที่พุทธเจดียสถานและวัดสำคัญต่าง ๆ ประกอบด้วย
- แม่น้ำป่าสัก ณ ตำบลท่าราบ ไปทำพิธีเสกน้ำที่พระพุทธบาท อันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในมณฑลประเทศที่ตั้งกรุงละโว้และกรุงศรีอยุธยา
- ทะเลแก้วและสระแก้ว แขวงเมืองพิษณุโลก ไปทำพิธีในพระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุ จ.พิษณุโลก อันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในโบราณราชธานีฝ่ายเหนือ
- น้ำโชกชมภู่ น้ำบ่อแก้ว น้ำบ่อทอง แขวงเมืองสวรรคโลก ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุ เมืองสวรรคโลก อันเป็นมหาเจดียสถานโบราณราชธานีครั้งสมเด็จพระร่วง (ปัจจุบันอยู่ในเขต จ.สุโขทัย)
- แม่น้ำนครไชยศรี ที่ตำบลบางแก้ว ไปทำพิธีที่พระปฐมเจดีย์ เมืองนครไชยศรี อันเป็นโบราณมหาเจดีย์ตั้งแต่สมัยทวารวดี
- บ่อน้ำวัดหน้าพระลาน บ่อวัดเสมาไชย บ่อวัดเสมาเมือง บ่อวัดประตูขาว ห้วยเขามหาชัย และน้ำบ่อปากนาคราช ในเมืองนครศรีธรรมราช ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช อันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในโบราณราชธานีนครศรีธรรมราช
- บ่อทิพย์ เมืองนครลำพูน ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุหริภุญไชย อันเป็นมหาเจดียสถานในแว่นแคว้นโบราณราชธานีทั้งหลายในฝ่ายเหนือ คือ นครหริภุญไชย นครเขลางค์ นครเชียงแสน นครเชียงราย นครพะเยา และนครเชียงใหม่
- บ่อวัดธาตุพนม ทำพิธีเสกที่พระธาตุพนม เมืองนครพนม มณฑลอุดรอันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในประเทศที่ตั้งโบราณราชธานีโคตรบูรพ์หลวง
นอกจากนี้ ยังได้ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปตั้งทำพิธี ณ วัดสำคัญในมณฑลต่าง ๆ อีก 10 มณฑล ได้แก่
- วัดบรมธาตุ เมืองชัยนาท มณฑลนครสวรรค์
- วัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มณฑลเพชรบูรณ์
- วัดกลาง เมืองนครราชสีมา มณฑลนครราชสีมา
- วัดสีทอง เมืองอุบลราชธานี มณฑลอีสาน
- วัดยโสธร เมืองฉะเชิงเทรา มณฑลปราจีนบุรี
- วัดพลับ เมืองจันทบุรี มณฑลจันทบุรี
- วัดตานีนรสโมสร เมืองตานี มณฑลปัตตานี
- วัดพระทอง เมืองถลาง มณฑลภูเก็ต
- วัดพระธาตุ เมืองไชยา มณฑลชุมพร
- วัดพระมหาธาตุ เมืองเพชรบุรี มณฑลราชบุรี
รวมสถานที่ที่ทำน้ำอภิเษกทั้งหมด 17 แห่ง และน้ำอภิเษกนี้ ยังคงใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนจากวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มาที่พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ และเพิ่มอีกแห่งหนึ่งที่บึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด จึงรวมเป็นที่ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกที่หัวเมืองมณฑลต่าง ๆ รวม 18 แห่ง
แต่ต่อมาพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เปลี่ยนจากพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ มาเป็นพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน
ขั้นตอนที่ 2
พระราชพิธีจารึกดวงพระราชสมภพและพระบรมนามาภิไธยพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติลงพระสุพรรณบัฏ
ขั้นตอนที่ 3
พระราชพิธีโสรจสรงพระมุรธาภิเษก รับน้ำพระพุทธมนต์และน้ำเทพมนต์ เพื่อสรงสนานพระองค์และสรงสนานพระเศียรด้วยสหัสธารา อันเป็นการชำระและบังเกิดสิริสวัสดิมงคลยิ่งโดยโบราณราชประเพณี
ขั้นตอนที่ 4
พระราชพิธีถวายพระราชสมบัติอันบริบูรณ์ในพระราชอาณาจักร ประมวลเป็นประมาณมาทั้งอัฐทิศแด่พระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงรับไว้อภิรักษ์ และอภิบาลให้เป็นอาณาประโยชน์แก่พสกนิกร
ขั้นตอนที่ 5
พระราชพิธีถวายดวงพระบรมราชสมภพ พระบรมนามาภิไธย พระมหาราชครูพราหมณ์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ แสดงพระราชฐานะสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าโดยสมบูรณ์ ทรงรับเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ แล้วจึงมีพระราชดำรัสดังปฐมราชโองการ
โดยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ในวันนั้นได้มีปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
และในวันที่ 6 พฤษภาคม 2562 น่าจะเป็นประวัติศาสตร์สำคัญครั้งแรกที่จะมีการเผยแพร่พิธีอันศักดิ์สิทธิ์และหาชมได้ยาก ผ่านการถ่ายทอดผ่านสื่อโทรทัศน์เป็นครั้งแรก นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งที่ประชาชนชาวไทยมิควรพลาด.
Source
ABOUT THE AUTHOR
ทีมงาน bsite
Biographical Info