- Lifestyle
ทำไมถึงเกิดซ้ำซาก? แนวทางแก้ปัญหาทางม้าลาย คนขาดจิตสำนึก หรือกฎหมายไม่เข้มพอ
By DiamondP • on Jan 24, 2022 • 439 Views
นับเป็นปัญหาที่แก้กันไม่ตกจริง ๆ ในเมืองหลวง สำหรับปัญหาการจราจร โดยเฉพาะปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับทางม้าลาย ที่ล่าสุดได้รับความสนใจอีกครั้ง เพราะคราวนี้คนที่กระทำผิดดันเป็นผู้รักษากฎหมายเสียเอง ชวนให้เราเกิดความสงสัยขึ้นมาทีเดียวว่ามันจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้จริง ๆ หรือไม่ แล้วต้นตอของปัญหามันอยู่ที่คนขาดจิตสำนึก หรือกฎหมายมันควบคุมไม่เข้มพอกันแน่
กรุงเทพธุรกิจ ได้เปิดเผยรายงานข้อมูลสถิติบริการผู้ป่วยใน ระหว่างปี 2558 – 2561 ระบุว่า ในช่วงปีดังกล่าวมีคนเดินเท้าเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่า 25,000 ราย หรือประมาณมากกว่า 6,200 รายต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการบาดเจ็บเพราะถูกรถจักรยานยนต์ชน และแน่นอนว่า กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่มีเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นสูงที่สุด คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนการรับแจ้งเหตุทั่วประเทศ พูดง่าย ๆ คือในหนึ่งปี เราจะมีคนเดินเท้าเสียชีวิตประมาณ 250 คน
ตัวเลขทางสถิติที่น่าตกใจนี้ พาเราย้อนกลับไปหาสมมติฐานที่เราคิดเอาไว้ว่า สิ่งที่ทำให้เกิดปัญหามันเป็นเพราะคนขาดจิตสำนึก หรือกฎหมายมันควบคุมไม่เข้มพอ หรือมันเป็นเพราะทั้งสองอย่างรวมกันกันแน่ ในเรื่องการขาดจิตสำนึกนั้นเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่ฐานรากของสถาบันทางสังคม เป็นสิ่งที่ต้องบูรณาการตั้งแต่สถาบันครอบครัว, การศึกษา ไปจนถึงสถาบันอื่น ๆ ในสังคม และเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการปลูกฝังและเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ประเด็นเรื่องกฎหมาย คือสิ่งที่ผู้มีอำนาจสามารถจัดการได้ง่ายกว่า
เราไปย้อนดูกันหน่อยว่ากฎหมายควบคุมจราจรของบ้านเราเป็นยังไงบ้าง จากข้อมูลของ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ก็ได้มีระบุข้อมูลอย่างชัดเจน และค่อนข้างครอบคลุมเลยทีเดียว ทั้งการระบุพฤติกรรมควรจะต้องทำของผู้ขับขี่ และคนเดินเท้า หากประพฤติผิดไปจากที่กฎหมายระบุก็จะมีโทษ โดยผู้ขับขี่นั้นจะโดนโทษทาง พรบ. นี้ และหากทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิต ก็จะได้รับโทษทางอาญาเพิ่มด้วย ซึ่งเมื่อสรุปแล้ว หากไม่หยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางข้าม จะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และหากขับรถชนผู้ที่ข้ามถนนบริเวณทางข้ามจนได้รับบาดเจ็บ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หากผู้ถูกชนเสียชีวิต โทษจะเปลี่ยนเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี
กฎหมายก็ดูจะเข้มข้นดี แล้วปัญหามันอยู่ที่ตรงไหน? หรืออีกปัจจัยที่เพิ่มเข้ามาก็คือ การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ไม่เข้มงวดมากพอ นี่อาจเป็นเรื่องที่เราต้องจับตามอง และคอยสอดส่องสังเกตกันต่อไป
สำหรับแนวทางการแก้ไข ในต่างประเทศเองก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหานี้เกิดขึ้น แน่นอนว่าพวกเขาเองก็ประสบพบเจอ แต่การแก้ไขปัญหาของพวกเขาเกิดขึ้นและกระทำอย่างเป็นรูปธรรม โดยผสมผสานทั้งการใช้เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญทางการจราจร รวมไปถึงการศึกษาพฤติกรรมของผู้ขับขี่ และคนเดินเท้าอย่างรอบด้าน ประเทศเราเองก็อาจจะมีการทำอะไรแบบนี้เช่นกัน เพียงแค่พวกเราอาจจะยังไม่รู้ หรือยังไม่เห็นเท่านั้น ซึ่งในเว็บไซต์ Urbanwhy ก็ได้เสนอทางแก้ไขปัญหานี้เอาไว้หลากหลาย อาทิ…
- การทำให้คนอยู่บนถนนให้น้อยที่สุด ด้วยการขยายขอบทางเท้าลงมาบนถนนเพิ่มขึ้น ลดจากการที่คนเดินเท้าต้องข้ามถนนกว่า 4 เลนให้น้อยลง หรือสำหรับถนนที่มีขนาดกว้างก็เพิ่มเกาะกลางถนนเป็นจุดพักสำหรับคนเดินเท้าขึ้นมา
- การทำให้มุมเลี้ยวถนนของรถยนต์แคบลง เพื่อทำให้รถที่ขับมาลดความเร็วลงในช่วงที่ต้องเลี้ยวได้
- การเลื่อนเส้นหยุดรถให้ห่างจากทางข้ามถนนมากขึ้น จากปกติที่เส้นหยุดรถอยู่ใกล้ทางข้ามมาก ทำให้ผู้ขับขี่อาจจะไม่สามารถหยุดรถได้ทัน การขยับเส้นทึบให้ไกลออกไปอาจเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะทำให้รถชะลอได้มากขึ้น
- การจัดระบบเส้นหยุดของรถจักรยานยนต์ ให้แยกออกจากรถยนต์ ในปัจุบันถนนในเมืองของไทยเรา รวมทั้ง 2 เส้นนี้เขาด้วยกัน ทำให้เกิดปัญหารถจักรยานยนต์มักจะจอดติดไฟแดงล้ำขึ้นมาบริเวณทางข้ามอยู่เสมอ และเมื่อประมาณรถมากขึ้น พวกเขาก็ยิ่งล้นมายังบริเวณทางข้ามมากเข้าไปอีก จนบางครั้งแทบจะไม่สามารถข้ามได้เลย
แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะมีการเสนอแนวทางแก้ไข หรือการปรับกฎหมายมากแค่ไหน หากผู้มีอำนาจไม่กวดขัน หรือลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เราก็ไม่สามารถเหตุทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้ เพราะถ้าหวังจะพึ่งแค่จิตสำนึกของผู้ขับขี่บนท้องถนน และคนเดินเท้าแล้ว คุณคิดว่าพวกเราหวังกันได้มากแค่ไหนล่ะ?
ข้อมูลจาก: จากเหตุสลด “หมอกระต่าย” ย้อนสถิติ “คนเดินเท้า” ในไทย เสี่ยงชีวิตบนถนนที่สุด (bangkokbiznews.com)
เช็กเลย! “ขับรถ-คนเดิน” เปิดข้อกฎหมายฝ่าฝืนจราจรบนทางม้าลาย (thaipbs.or.th)
ABOUT THE AUTHOR
DiamondP
คนอยากเขียน กับความสนใจเยอะแยะ และเราเชื่อว่า คนทุกคนเท่าเทียมกัน