- Lifestyle
The Hunger Games VS สงครามรัสเซีย-ยูเครน ภาพสะท้อนของสงครามผ่านสื่อสมัยใหม่
By DiamondP • on Mar 01, 2022 • 958 Views
หากพูดถึง สงคราม หลายคนคงจะนึกถึงการยกพลพร้อมยุทโธปกรณ์เต็มรูปแบบเข้าปะทะกัน ตั้งแต่ยุคสมัยที่เน้นกำลังพล ดาบ โล่ หอก ทหารม้า ไปจนถึงเครื่องยิงหิน ก่อนจะพัฒนามาเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น กลายเป็นกำลังรบทั้งทางอากาศ, ทางบก และทางน้ำ ซึ่งสงครามที่ใกล้ตัวพวกเราที่สุดในตอนนี้ก็คือ การตั้งรับของยูเครน และการบุกอย่างหนักหน่วงของรัสเซีย หลายคนอาจจะมองเห็นแค่ภาพการต่อสู้ที่สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน และชีวิตผู้คน แต่ภาพที่ซ่อนอยู่ก็คือ การใช้สื่อเป็นเครื่องมือในสงครามของทั้งสองฝ่ายที่เข้มข้น
เราได้เห็น ประธานาธิบดี โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ปรากฏตัวตามหน้าสื่อหลายต่อหลายครั้ง บ่อยครั้งไม่ใช่สื่อหลัก แต่เป็นการใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารโดยตรงกับประชาชน และประชาคมโลก เขามักจะปรากฏตัวในชุดเสื้อยืดที่ดูทะมัดทะแมง เข้าถึงง่าย สะท้อนภาพว่าในภาวะนี้เขายังคงทำงานอย่างขันแข็งอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังใช้สื่อในมือตอบโต้ข่าวลือจากฝ่ายตรงข้ามอย่างรวดเร็ว สร้างความเชื่อมั่น, ขวัญกำลังใจ และเรียกคะแนนสงสารจากประชาคมโลกได้อย่างอยู่หมัด เรียกได้ว่าเป็นการเลือกใช้สื่อที่ชาญฉลาด และทันสมัยมากเลยทีเดียว
ขณะเดียวกันทางฝั่งรัสเซียเอง ก็เลือกที่จะใช้การสื่อสารแนว Propaganda ในการประชาสัมพันธ์ว่า การบุกเข้าจู่โจมยูเครนนั้นเป็นเรื่องชอบธรรม และทำไปเพื่อปกป้องและปลดปล่อยยูเครนจากลัทธินีโอนาซี และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยเลี่ยงที่จะนำเสนอความสูญเสีย หรือภาพความรุนแรงที่อาจจะมาบั่นทอนความชอบธรรมในการโจมตีครั้งนี้ เพราะพวกเขารู้ว่าประชาชนของตัวเอง และประชาคมโลกไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขาจะทำ การโน้มน้าวในวิธีนี้ค่อนข้างจะเก่าพอสมควร และไม่แปลกเลยที่มันไม่สามารถซื้อใจใครได้
ไม่เพียงเท่านั้น การใช้สื่อของยูเครน ไม่ได้จบแค่ฝีมือของประธานาธิบดีเท่านั้น แต่ประชาชนยูเครน และสื่อมวลชนเองก็ออกมาเคลื่อนไหว ทั้งการสอนทำระเบิดโมโตลอฟแบบ D.I.Y หรือกระทั่งวิธีการขับรถถังรัสเซียผ่านโซเชียลมีเดียสุดฮิตอย่าง Tiktok สะท้อนภาพของโลกยุคสมัยใหม่ได้อย่างชัดเจน
การทำสงครามเช่นนี้ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์เรื่อง The Hungers Game โดยเฉพาะ 2 ภาคสุดท้ายกับ Mockingbird ทั้งพาร์ท 1 ที่เน้นหนักไปที่การทำสงครามสื่อ ตัวละครเอก อย่างแคตนิส เอฟเวอร์ดีน ถูกเลือกให้เป็นมาสคอต เพื่อทำ Propaganda ในการแสดงให้เห็นความโหดร้ายของการโจมตีจากแคปปิตอล จนกลายเป็นวลีเด็ดสุดโด่งดัง “If we burn, You burn with us!” เช่นเดียวกันกับทางอีกฝ่ายที่นำโดยประธานาธิบดีสโนว์ ที่ใช้สื่อในมือโจมตีฝั่งตรงข้าม โดยเน้นไปที่การทำลายตัวแคสนิส เอฟเวอร์ดีนโดยตรง เป็นการต่อสู้กันด้วยสื่ออย่างเข้มข้น
ทั้งหมดนี้ยังไม่นับ สงครามที่เกิดขึ้นบนโลกไซเบอร์ ที่เหล่าแฮกเกอร์อาสาระดมพลโจมตีเว็บไซต์ของรัสเซีย เพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยในการกระทำของรัสเซีย หรือการโจมตีด้านการเงิน การค้า และการคมนาคมทางอากาศจากนานาประเทศที่มีต่อรัสเซีย นี่คือภาพที่แสดงให้เห็นว่าสงครามในยุคสมัยนี้ การต่อสู้ด้วยอาวุธอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญเพียงหนึ่งเดียวอีกต่อไป เพราะทุกช่องทางบนโลกใบนี้ที่เชื่อมถึงกัน มันสามารถถูกนำมาใช้เป็นอาวุธได้ทั้งสิ้น
ABOUT THE AUTHOR
DiamondP
คนอยากเขียน กับความสนใจเยอะแยะ และเราเชื่อว่า คนทุกคนเท่าเทียมกัน