- Investment
เจาะลึกมาตรฐานแรงงานไทย หนึ่งในคุณสมบัติ T Mark
By ทีมงาน bsite • on Nov 07, 2019 • 1,709 Views
ในการผลิตสินค้าและบริการใดๆ นั้น แรงงานเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าประสงค์
ด้วยเหตุนั้นเองผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจจึงไม่ควรมองข้ามกำลังสำคัญเหล่านี้ อีกทั้งปัจจุบันทั่วโลกได้ให้ความสนใจการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อแรงงาน ซึ่งมีผลต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจ และการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค
หน่วยงานรัฐบาลอย่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน มีหน้าที่ในการกำกับดูแล คุ้มครอง ให้ความรู้ ให้สวัสดิการ และให้ความเป็นธรรมแก่แรงงานเสมอมา โดยนายจ้างหรือเจ้าของธุรกิจจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ เข้าใจ และปฏิบัติกับแรงงานด้วยความเป็นธรรม มีสวัสดิการ
ที่เหมาะสมให้กับแรงงาน กระทรวงแรงงานจึงออกข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001-2553) ขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการปฏิบัติกับแรงงานอย่างเป็นธรรม
ประกอบกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้นำข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001-2553) มาเป็นหนึ่งในเกณฑ์การคัดเลือกธุรกิจที่เหมาะสมกับตราสัญลักษณ์แห่งคุณภาพอย่าง T Mark Thailand Trust Mark หรือ T Mark เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าและบริการของไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับไปทั่วโลก โดยใช้ตราสัญลักษณ์
T Mark เพื่อเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงคุณภาพของสินค้าไทยอันมีมาตรวัดจากเกณฑ์มาตรฐานที่น่าเชื่อถือ T Mark เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดที่ว่าสินค้าและบริการจะมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใดนั้น จะต้องขึ้นอยู่กับ ‘คุณภาพ’ มากกว่าคำโฆษณ
คุณภาพของสินค้าและบริการของไทยที่ T Mark ให้ความสำคัญนั้นจะต้องประกอบด้วยการผลิตสินค้าและบริการที่มีมาตรฐานที่ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความไว้วางใจ มีขั้นตอนการผลิตที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีการดำเนินงานตามมาตรฐานแรงงานไทย ทั้งหมดนี้คือที่มาของสินค้าและบริการที่มีคุณภาพนั่นเอง
โดยหนึ่งในคุณสมบัติของผู้ขอรับตรา T Mark ระบุไว้ว่า สถานประกอบการต้องมีการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001 – 2553) อยู่ในระดับขั้นพื้นฐานเป็นอย่างน้อย แล้วมาตรฐานแรงงาน คืออะไร ทำอย่างไรถึงจะได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงาน วันนี้เรามีคำตอบมาตรฐานแรงงานไทยแท้จริงคืออะไร
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ให้ความหมายของมาตรฐานแรงงานไทยว่าเป็นมาตรฐานในการบริหารจัดการแรงงานที่ยึดหลักปฏิบัติตามกฎหมาย การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ยอมรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีความโปร่งใสและมีความรับผิดชอบ เพื่อคุณภาพชีวิตแรงงานและธุรกิจที่ยั่งยืนมาตรฐานแรงงานไทยมีการรับรองกี่ระดับ
มาตรฐานแรงงานไทยมีการรับรองทั้งหมด 3 ระดับด้วยกัน แบ่งออกเป็น
ระดับพื้นฐาน คือ มีค่าล่วงเวลาให้กับแรงงาน และทำงานในวันหยุดไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งระดับนี้จะมีอายุการรับรองมาตรฐานแรงงาน 2 ปี
ระดับสมบูรณ์ คือ มีค่าล่วงเวลาให้กับแรงงาน และทำงานในวันหยุดไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยระดับสมบูรณ์นี้มีอายุการรับรอง 3 ปี
ระดับสมบูรณ์สูงสุด คือ มีค่าล่วงเวลาในการทำงาน และทำงานในวันหยุดไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยระดับสมบูรณ์สูงสุดนี้มีอายุการรับรอง 3 ปี
5 ขั้นตอนง่ายๆ กับการขอรับรองมาตรฐานแรงงานไทย
ศึกษา ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมความพร้อมก่อนรับการประเมิน โดยการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานไทยจากเว็บไซต์ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (https://www.labour.go.th/)
สอบถาม ปรึกษาขอคำแนะนำ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ได้ที่สายด่วน สายด่วน 1506 กด 3 ซึ่งปัจจุบันก็มีการว่าจ้างที่ปรึกษาเฉพาะทางมาให้คำปรึกษาเรื่องแรงงานโดยเฉพาะเลยทีเดียว
ขอแบบคำขอ-ยื่นแบบคำขอ หลังจากที่ศึกษาและสอบถามเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานไทยแล้ว ดาวน์โหลดเอกสารแบบคำขอการรับรอง มรท.8001-2553 (กรร.03) จากลิงก์ http://tls.labour.go.th/2018/index.php/vchakan/downloads/2011-09-07-00-47-20 หรือสามารขอแบบคำขอเพื่อกรอกข้อมูลและยื่นขอการรับรองได้ตามสถานที่ดังต่อไปนี้
– ภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่
– หน่วยรับรองเอกชน ได้แก่ บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ และบริษัท โกลบอล เซอร์ติฟิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด
– หน่วยตรวจเอกชน ได้แก่ บริษัท ทูฟ ชูด (ประเทศไทย) จำกัด
รับการประเมิน
หลังจากที่กรอกข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว สามารถยื่นคำขอตามสถานที่ที่กล่าวไปข้างต้น หลังจากนั้นหน่วยงานที่มีหน้าที่ประเมินสถานประกอบการ จะมีการจัดทำแผนและประเมินภายใน 120 วัน ในกรณีที่ไม่พบข้อบกพร่อง หน่วยงานจะสรุปผลการประเมินและจัดทำรายงานภายใน 30 วัน ตัวอย่างข้อบกพร่องที่พบจากการประเมินมาตรฐานแรงงานไทย เช่น กำหนดวันหยุดตามประเพณีไม่ถูกต้อง นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยไม่ถูกต้อง ไม่มีระบบน้ำดับเพลิงและอุปกรณ์ดับเพลิง ไม่มีป้ายบอกทางหนีไฟ เป็นต้น หากพบข้อบกพร่องเหล่านั้น หน่วยงานจะแจ้งข้อบกพร่องนั้นให้ดำเนินการแก้ไขภายใน 180 วัน ก่อนจะติดตามผลและสรุปผลการประเมินต่อไป
ได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือหน่วยรับรองที่ได้รับการรับรองระบบงานตามมาตรฐานISO/IEC 17021 จากคณะกรรมการรับรองหน่วยรับรอง สำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติจะเป็นผู้พิจารณาให้คำรับรองและจัดทำใบรับรองเป็นลำดับถัดไป เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการของการขอใบรับรองมาตรฐานแรงงานไทยแล้ว
ประโยชน์ของการรับรองมาตรฐานแรงงาน
การรับรองมาตรฐานแรงงานแน่นอนว่าผู้ที่ได้ประโยชน์คือนายจ้างหรือเจ้าของธุรกิจกับแรงงาน หรือลูกจ้างจะมีกำลังใจในการทำงาน มีความมั่นคงเพราะสิทธิมนุษยชนของพวกเขาได้รับการคุ้มครอง
มีสิทธิในการเจรจาต่อรอง มีความเสมอภาค ไม่มีการเลือกปฏิบัติแม้ต่างชาติต่างภาษา อีกทั้งยังมีความปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ในขณะเดียวกันเจ้าของธุรกิจจะได้รับประโยชน์จากภาพลักษณ์ของการปฏิบัติกับแรงงานอย่างเป็นธรรม ด้วยภาพลักษณ์นี้จะทำให้สินค้าและบริการเป็นที่น่าเชื่อถือ และไว้วางใจ เพราะองค์กรมีการบริหารจัดการกับแรงงานที่เป็นธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงออกถึงคุณภาพของการดำเนินงานอย่างมีมาตรฐานของสถานประกอบการ นอกจากนั้นยังเป็นเครื่องหมายทางการตลาดที่ทำให้แข่งขันทัดเทียมในเวทีการค้าทั้งในและนอกประเทศอีกด้วย
อีกแง่หนึ่งก็ส่งผลต่อดีประเทศ เมื่อใดก็ตามที่สินค้าและบริการของไทยผ่านการผลิตที่มีการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม มีการบริหารจัดการเรื่องแรงงานอย่างเป็นธรรม ย่อมทำให้ภาพลักษณ์ของการส่งออกสินค้าของประเทศดำเนินไปในทิศทางที่ดีมากยิ่งขึ้น
จะเห็นว่า มาตรฐานแรงงานถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าปัจจัยอื่นๆ ที่จะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการให้มีความน่าเชื่อถือและผู้บริโภคไว้วางใจ ซึ่งแน่นอนว่าการดำเนินการตามมาตรฐานแรงงานนั้นสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกจ้าง และยังส่งผลต่อการผลิตสินค้าและบริการอันเป็นกำลังในการขับเคลื่อนธุรกิจไทยสู่การแข่งขันในตลาดโลกอีกด้วย
ผู้ประกอบการท่านใดสนใจสมัครขอรับตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandtrustmark.com หรือโทร. 02 507 8266
เรียบเรียงข้อมูลจาก :
http://tls.labour.go.th/2018/
http://tls.labour.go.th/2018/attachments/article/628/Book_Thai.pdf
ABOUT THE AUTHOR
ทีมงาน bsite
Biographical Info