- Lifestyle
ยิ้มสยามนั้นนามประเทือง? ย้อนรอย 42 ปี 6 ตุลา 19 กับภาพถ่ายรางวัลพูลิตเซอร์
By Sanook D Pipat • on Oct 06, 2018 • 2,854 Views
ร่างรุ่งริ่งลิ้นจุกผูกคอห้อย
กระโดดลอยถีบร่างคว้างร่องแร่ง
เก้าอี้เหล็กหวดโครมโถมสุดแรง
รองเท้าแยงยัดปากกรากเข้ารุม
ทีละร่างซ้อนร่างเอายางทับ
แล้วเปลวไฟก็ไหววับควันจับกลุ่ม
กระดิกดิ้นเดือดมอดเนื้อกอดกุม
กระกดงุ้มหงิกงอตอตะโก
(วันฆ่านกพิราบ, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)
ย้อนกลับไป 42 ปีที่แล้ว วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เกิดเหตุสังหารหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จากฝ่ายรัฐและชาวบ้านที่ตกเป็นเหยื่อของการใส่ร้าย ใส่ความ เกลียดชัง และกล่าวหาว่า นักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ เหตุฆ่ากลางเมืองเกิดขึ้นในเมืองที่เรียกว่าเมืองพุทธและเมืองแห่งรอยยิ้ม
6 ตุลาคม 2519 กลายเป็นประวัติศาสตร์ด่างพร้อย ที่ผู้มีอำนาจและชนชั้นนำต้องการลืมเลือน ถูกบรรจุในแบบเรียนประวัติศาสตร์และสังคมเพียงไม่กี่บรรทัดเท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่สร้างความสั่นสะเทือนและกลายเป็นมรดกแห่งความทรงจำของเหตุการณ์อันรุนแรงนี้ ถูกส่งต่อ แชร์วนซ้ำในทุกปี คือภาพถ่ายรางวัลพูลิตเซอร์ ฝีมือของ นีล อูเลวิช
“ภาพของผู้คนยืนล้อมด้วยรอยยิ้มและความสะใจ ในขณะที่ร่างของชายคนหนึ่งถูกจับแขวนคอใต้ต้นมะขาม
และมีชายอีกคนใช้เก้าอี้เหล็กฟาดไปที่ร่างนั้น หนึ่งในผู้ที่ยืนรายล้อมมีเด็กชายที่ยิ้มเริงร่าอย่างไม่รู้ประสา
เพียงแต่เฮโลสะใจในสิ่งที่ผู้ใหญ่ยัดเยียดความเกลียดชังให้”
เมื่อปี 2016 แฟนเพจ 40 ปี 6 ตุลา ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ นีล อูเลวิช โดย ศาสตราจารย์ ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้สัมภาษณ์นีล ในระหว่างที่เขาอยู่สหรัฐอเมริกา เล่าเบื้องหลังเหตุการณ์ภาพที่โด่งดังนี้ว่า
ในตอนนั้นเขาเป็นนักข่าวประจำสำนักข่าวเอพี ประจำอยู่ที่เวียดนาม แต่ถูกเรียกให้มาประจำที่กรุงเทพฯ เช้าของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เขาได้รับแจ้งจากเพื่อนนักข่าวและรุดไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยที่ยังไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์นั้นรุนแรงแค่ไหนและเกิดอะไรขึ้นกันแน่
เหตุวุ่นวายเกิดขึ้น มีการยิงโจมตีเข้าไปใน มธ.หลายครั้ง เมื่อเข้าไปในมหาวิทยาลัยถึงบริเวณสนามบอลก็พบเจ้าหน้าที่กำลังยืนควบคุม ในขณะที่นักศึกษานอนราบเกลื่อนอยู่กลางสนาม นีล รีบถ่ายภาพและรุดออกจากสถานที่ ระหว่างนั้น นีลสังเกตเห็นว่ามีคนมุงดูอะไรกันอยู่ และพบว่า เป็นร่างของชายสองคนถูกแขวนต้นไม้ นีลรีบถ่ายภาพและเดินทางออกจากที่นั่นทันที
เมื่อกลับไปถึงสำนักงาน นีล ได้เล่าเหตุการณ์ที่พบเห็นให้หัวหน้าทราบและได้รับคำตอบกลับมาว่า ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเรื่องจริง คนไทยไม่ทำเรื่องแบบนั้นหรอก….
แต่หัวหน้าก็ต้องเชื่อคำบอกเล่าของนีล เมื่อล้างฟิล์มภาพถ่ายเหตุการณ์ออกมานั้นก็พบภาพความรุนแรงดังกล่าว ภาพชุด 6 ตุลาคม จำนวน 17 ใบ ถูกส่งไปสำนักงานใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันภาพเหตุการณ์และม้วนฟิล์มทั้งหมด อยู่ที่ สำนักงานใหญ่เอพี ประจำนิวยอร์ค
เว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา” ได้เผยแพร่คลิป เทปบันทึกเสียงทีวีช่อง 5 และวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเทปเสียง 2 ด้าน ทั้งด้าน A และ B ความยาวกว่า 90 นาที โดย ศาสตราจารย์ ธงชัย วินิจจะกูล ได้รับเทปนี้มาจากเพื่อนคนไทยที่เรียนอยู่ซิดนีย์ โดยในคลิปมีการสัมภาษณ์ พ.ต.ท.สล้าง บุนนาค ผู้ที่นำกำลังตำรวจไปปราบจราจลในตอนนั้นด้วย
[wonderplugin_video iframe=”https://www.youtube.com/watch?v=z5TgFlvRRak&feature=youtu.be” videowidth=600 videoheight=400 keepaspectratio=1 videocss=”position:relative;display:block;background-color:#000;overflow:hidden;max-width:100%;margin:0 auto;” playbutton=”https://bsite.in/wp-content/plugins/wonderplugin-video-embed/engine/playvideo-64-64-0.png”]
แม้ 6 ตุลาคม 2519 จะเป็นเรื่องความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในสังคม แต่อดีตมีไว้เพื่อเรียนรู้ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำในปัจจุบันและอนาคต การพยายามลบลืมกลับอาจจะทำให้เหตุการณ์นี้ซ้ำรอยหากเราไม่เปิดใจที่จะเรียนรู้จากมัน 6 ตุลา ถูกทำให้เหมือนเป็นตราบาปของหน้าประวัติศาสตร์การเมือง หลีกเลี่ยงการพูดถึง หรือแตะในระดับผิวเผิน
“…เพราะไม่กล้ายอมรับความจริงว่ามันคือบาดแผล ถ้าเราไม่เรียนรู้จากบาดแผล เราจะรู้ได้ยังไงว่าสาเหตุของการเกิดแผลพวกนั้นมันมาจากไหน 6 ตุลาคม 2519 ถามคนทั่วไปสิ ว่ารู้จักมันมากแค่ไหน?…”
ในปีนี้ มีการจัดงาน “ครบรอบ 42 ปี 6 ตุลาฯ 2519” ใน วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม ณ สวนประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และห้องประชุม LT 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีกิจกรรมตลอดทั้งวัน เช่น การทำบุญเพื่ออุทิศแด่เหยื่อความรุนแรง กล่าวไว้อาลัยวีรชน 6 ตุลาฯ, เสวนาวิชาการ “เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กับอาจารย์ป๋วย”
การฉายสารคดีสั้นเรื่อง “The Two Brothers” ซึ่งเป็น เรื่องราวของ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย ช่างการไฟฟ้าสองคนที่ถูกแขวนคอที่จังหวัดนครปฐมหลังจากติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับประเทศของ พระถนอม ผู้ถูกขนานนามท้ายชื่อในห้วงนั้นว่า ‘ทรราช’ และร่วมรับฟังการนำเสนอรายงานการสืบค้น “เรื่องที่สูญหาย… จากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ”
ข้อมูลและภาพประกอบจาก บันทึก 6 ตุลา – Documentation of Oct 6
ABOUT THE AUTHOR
Sanook D Pipat