- Lifestyle
14 ตุลาคม 16 | เหตุการณ์อีกมุมฟากฝั่ง ‘กิตติขจร’ สู่การลี้ภัยและชีวิตปัจจุบัน
By Sanook D Pipat • on Oct 14, 2018 • 5,796 Views
ครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์มหาวิปโยคใน วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ขณะนั้นเป็นช่วงที่นักศึกษาและประชาชน เรียกร้องประชาธิปไตยจากผู้นำเผด็จการ ที่นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี และมีเหตุจลาจลกลางถนนราชดำเนินจนมีผู้เสียชีวิตมากมาย
เหตุการณ์ยุติลงเมื่อ จอมพล ถนอม กิตติขจร, จอมพล ประภาส จารุเสถียร, พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร เดินทางลี้ภัยออกจากประเทศ ซึ่ง รัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชโองการ แต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากนั้น ทำให้เหตุการณ์สงบลง เรื่องราวของเหตุการณ์อย่างละเอียดมีหาอ่านได้จากสื่อและหลายบทความ
แต่มีอีกมุมหนึ่งที่คนไทยไม่เคยรู้เลยว่า ชีวิตของ 3 บุคคลที่หนีลี้ภัยออกนอกประเทศหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นอย่างไรต่อไป ?
ย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้ว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้เผยแพร่รายการ : สารคดี 40 ปี 14 ตุลา หากไม่มีวันนั้น 14 ตุลาคม 2516 บางช่วงของสารคดีได้สัมภาษณ์ ‘พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร’ บุตรชายจอมพลถนอม กิตติขจร และเป็นบุตรเขยของ จอมพลประภาส จารุเสถียร
[wonderplugin_video iframe=”https://www.youtube.com/watch?v=MyQm-EIt7BI” videowidth=600 videoheight=400 keepaspectratio=1 videocss=”position:relative;display:block;background-color:#000;overflow:hidden;max-width:100%;margin:0 auto;” playbutton=”https://bsite.in/wp-content/plugins/wonderplugin-video-embed/engine/playvideo-64-64-0.png”]
กราดยิง นศ.จากบนฟ้า?
มีข้อกล่าวหาหนึ่งที่ถูกเล่าต่อๆ กันมาว่า ในเหตุจลาจลของวันที่ 14 ตุลาคม พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์แล้วใช้อาวุธปืนกราดยิงนักศึกษาด้านล่าง ซึ่ง พ.อ.ณรงค์ ได้เผยในสารคดีเกี่ยวกับเบื้องหลังของข้อกล่าวหานี้ว่า ในช่วงที่เกิดเหตุจลาจล พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้นได้เสนอในที่ประชุมว่า เพื่อเป็นการสกัดกั้นนักศึกษาไม่ให้เข้าไปเพิ่มเติมกำลังในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้มีการเสนอให้มีการปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยการให้ทหารเรือยกพลขึ้นบกทางฝั่งแม่น้ำเจ้าพระเจ้าและให้ทหารบกปิดล้อมทางบก แต่ พ.อ.ณรงค์ ได้เสนอตัวว่าขอใช้เฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปสังเกตการณ์ทางอากาศก่อน และเมื่อขึ้นไปก็ได้รายงานลงมาว่าให้ระงับการยกพลขึ้นบกเพียงเท่านี้ แต่กลับมีกระแสข่าวปล่อยออกมาว่า พ.อ.ณรงค์ เป็นคนกราดยิงลงมาใส่นักศึกษา ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
ช่วงของการลี้ภัย
เมื่อเหตุจลาจลเกิดขึ้น พ.อ.ณรงค์ พอรู้ว่าจะต้องออกนอกประเทศก็เล่าว่า ช่วงนั้นก็คิดแต่เพียงว่าต้องไปอยู่ที่ไหน และจะไปทำอะไรกัน ตอนนั้นคิดอยู่อย่างเดียวว่าถูกหักหลังไม่ได้คิดเรื่องอื่นเลย ข้อผิดพลาดก็ไม่มีนอกจากพวกเดียวกันหักหลังกันเองเพื่อที่จะขึ้นเป็นใหญ่ ซึ่งการให้สัมภาษณ์สารคดีนี้ พ.อ.ณรงค์ไม่อยากให้สัมภาษณ์ ไม่อยากจะรื้อฟื้นเรื่องเก่าๆ
“ใครจะมองผมยังไง ผมก็เป็นตัวของผม
ใครจะคิดว่าผมทำไม่ถูกก็ช่วยไม่ได้ จะพิพากษาก็พิพากษาไป ผมไม่ว่าอะไร
จะเห็นผมเป็นเขียด เป็นกิ้งกือ เป็นหมาก็ได้ ผมก็เป็นผมอยู่อย่างนี้…”
พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร : สารคดี หากไม่มีวันนั้น 14 ตุลาคม 2516 โดยไทยพีบีเอส
คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี บุตรีของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ให้สัมภาษณ์ในสารคดีว่า เมื่อทราบข่าวว่าคุณพ่อ (จอมพลถนอม) จะต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ พวกลูกๆ ไม่อยากให้ไปเพราะตอนนั้นก็มีตัวอย่างของคนที่ไปแล้วไม่ได้กลับมาที่ประเทศมีเยอะ จึงได้ส่งตัวแทนไปเข้าพบ พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก โดยยื่นข้อเสนอว่าจอมพลถนอมขอไม่ลี้ภัยต่างประเทศและถ้าอยู่ในเมืองไทยจะไม่วุ่นวายอะไรทั้งสิ้น จะอยู่กันอย่างสงบไม่ขอวุ่นวายกับการเมืองอีก แต่คำตอบจาก พลเอกกฤษณ์ กลับบอกว่าอยู่ในไทยไม่ได้ยังไงก็ต้องออกนอกประเทศ จึงต้องลี้ภัยไปอยู่ที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา
การยึดทรัพย์ โดยมาตรา 17
หลังยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร รัฐบาลได้ประกาศใช้ มาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2502 ให้ทรัพย์สินทั้งหมดของจอมพลถนอมตกเป็นทรัพย์ของรัฐบาล ซึ่งอำนาจนี้คล้ายคลึงกับมาตรา 44 ในยุครัฐบาล คสช.
อำนาจของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 17 ระบุไว้ดังนี้
“ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวนหรือคุกคามความสงบที่ เกิดขึ้นภายใน หรือมาจากภายนอกราชอาณาจักรให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ”
การยึดทรัพย์ครอบครัวกิตติขจร ทำให้ บ้านพักถกลสุข ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนระนอง และทรัพย์สินของจอมพลถนอมทั้งหมด ถูกยึดให้เป็นสมบัติของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันทุกอย่างก็ยังคงสภาพเป็นของรัฐอยู่อย่างนั้น ปัจจุบันครอบครัวกิตติขจร ต้องเช่าบ้านหลังนี้เพื่ออยู่อาศัย
การกลับเข้ามาในประเทศ
19 ก.ย. 2519 จอมพล ถนอม กิตติขจร อายุ 65 ปี ได้เดินทางกลับเข้าประเทศไทยเป็นครั้งแรกหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม โดยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้กลับเข้ามาได้ ซึ่ง จอมพลถนอม มาด้วยการบวชเป็นเณร เดินทางมาจากสิงคโปร์ เมื่อมาถึงไทย ได้มุ่งตรงไปยังวัดบวรนิเวศวรวิหารเพื่อทำพิธีอุปสมบทเป็นภิกษุที่วัดบวรฯ โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒนมหาเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา ‘สุกิตติขจโรภิกขุ’ ซึ่งเหตุผลของการกลับมาบวชในไทยเพื่อบวชให้กับพ่อที่ใกล้จะเสียชีวิต การกลับมาของพระถนอมทำให้เกิดชนวนของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ส่วน พ.อ.ณรงค์ ได้เดินทางกลับไทยหลังเหตุการณ์สงบ ได้มีการก่อตั้งพรรคการเมือง ได้รับเลือกเป็น ส.ส. รวมถึง ได้รับแต่งตั้งเป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2534
Copyright© Bsite.In
ABOUT THE AUTHOR
Sanook D Pipat