- Lifestyle
เมาท์มอย ‘ความตั่ง’ การทำคอนเทนต์ By ปอนด์ ยาคอปเซ่น
By ทีมงาน bsite • on Oct 19, 2018 • 5,956 Views
Exclusive Interview : ล้วงลึก “ปอนด์ ยาคอปเซ่น” มากกว่าแค่คนทำคลิป Parody
เป็นอีกคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ที่จี๊ดจ๊าดสุดในโลกออนไลน์ตอนนี้
บางคนที่อาจจะไม่เคยติดตามเธอมาก่อน ก็อาจจะคิดว่าเธอคือหน้าใหม่ในวงการคอนเทนต์ออนไลน์ แต่อันที่จริงแล้ว ผู้หญิงคนนี้คือ Youtuber ยุคต้นๆ ของวงการเลยก็ว่าได้ ตั้งแต่สมัย “ใจดีทีวี” ที่ทำคลิปสนุกๆ ตลกๆ ขึ้นมาจากเรื่องราวใกล้ตัว ล้อเลียนสำเนียงการพูดจาภาษาอังกฤษของคนไทย
และเธอโด่งดังและเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์พักใหญ่ แต่จู่ๆ ก็หายตัวไป ก่อนที่จะกลับมาอีกครั้งแถมยังดังเปรี้ยงมากยิ่งกว่าเดิม ผู้หญิงคนนั้นคือ
“ปอนด์ ยาคอปเซ่น”
“ปอนด์ ยาคอปเซ่น” หรือ “ภริษา ยาคอปเซ่น” เธอยังมีชื่อเดิมก่อนหน้านี้ก็คือ “วรพรรณ รันตบรรณกิจ” ซึ่งเป็นทั้งชื่อและนามสกุลก่อนแต่งงานกับสามีชาวต่างประเทศ ซึ่งเธอได้เปิดโอกาสให้ BSITE.In เข้าพูดคุย ในทุกๆ แง่มุมของการเป็นคนทำคอนเทนต์ ตั้งแต่อดีต จนถึงช่วงที่ไปคลุกคลีกับวงการทีวีพักหนึ่ง ก่อนที่จะถอยกลับมาปักหลักยังพื้นที่ออนไลน์อีกครั้ง
และที่สำคัญ มุมมองเรื่องของการใช้ “ภาษาอังกฤษ” ซึ่งต้องยอมรับว่าเธอเป็นคนที่มีทักษะทางด้านการใช้ภาษาอังกฤษสูงมาก ทั้งการออกเสียงและการใช้งาน แต่ไม่ใช่เพราะว่าเธอมีสามีเป็นคนต่างประเทศ แต่ทักษะนี้เธอเรียนรู้และฝึกฝนด้วยตัวเองมานานแล้ว จนถึงขั้นว่าชนะเลิศการประกวดปาฐกถาภาษาอังกฤษ ได้ที่ 1 ในระดับประเทศ! และวันนี้เธอจะมาร่วมแบ่งปันกับทุกคนว่าเธอทำได้อย่างไร
ปัจจุบันทำอะไรอยู่บ้าง
ตอนนี้รันแต่ชาแนลใน Youtube ช่อง “ปอนด์ ยาคอปเซน” อย่างเดียวเลย โดยคอนเทนต์ส่วนใหญ่ในชาแนล ก็นอกจากจะมีคลิป Parody (คลิปเลียนแบบคนดัง) ซึ่งจะออกทุกๆ ศุกร์ ตอนนี้ก็มีจะเพิ่มรายการแนวไลฟ์สไตล์ สองวันต่อ 1 สัปดาห์ เป็นคอนเทนต์ที่ปอนด์จะพาไปทำโน่นนี่นั่น ไปทำกิจกรรมสนุกๆ กิน ดื่ม เที่ยว ทำอาหารต่างๆ ในสไตล์ของเรา
“เพราะมองว่าตอนนี้ไลฟ์สไตล์ส่วนใหญ่ จะเป็นฟีลเด็ก เป็นวัยรุ่น แต่เราคือพวกรุ่นเปลี่ยนผ่าน (หัวเราะ) ดังนั้น ก็จะเป็นอีกสไตล์หนึ่ง เราใช้ของอีกแบบหนึ่ง เป็นไลฟ์สไตล์ที่คนรุ่นเราน่าจะชอบ”
นอกจากนี้ ก็เป็นเทรนเนอร์ให้กับองค์กรต่างๆ โดยเน้นการฝึกพูดในที่สาธารณะ เน้นฝึกการพรีเซ็นต์ ทั้งเรื่องการสื่อสาร การพูด และเรื่องความสุขในที่ทำงาน เป็นแนวสร้างแรงบันดาลใจในที่ทำงาน
[wonderplugin_video iframe=”https://www.youtube.com/watch?v=ryXLwRQ64qU” videowidth=600 videoheight=400 keepaspectratio=1 videocss=”position:relative;display:block;background-color:#000;overflow:hidden;max-width:100%;margin:0 auto;” playbutton=”https://bsite.in/wp-content/plugins/wonderplugin-video-embed/engine/playvideo-64-64-0.png”]
ทราบว่าเคยทำด้านทีวีมาก่อนด้วย
คือก่อนหน้านี้ เคยเป็นผู้ประกาศช่องทีวีดิจิทัลที่หนึ่ง เคยเป็นพิธีกรรายการข่าว เป็นผู้ประกาศข่าวบันเทิงก็มี เคยทำไปก่อนหน้านี้ แต่ตอนนี้ไมได้ทำแล้ว
ตอนนั้นมีแนวคิดอย่างไร ทำไมถึงลุกขึ้นมาทำอะไรบนออนไลน์ในยุคที่ยังไม่มีคนไทยกล้าขึ้นมาทำเลย
ตอบตรงๆ ตอนนั้น คือว่างงาน (หัวเราะ) แต่งงานแล้วไปอยู่นอร์เวย์ กลางวันสามีไปทำงาน เราก็เป็นแม่บ้าน ก็ไม่มีอะไรทำ แล้วก็มีคอมพ์ที่เราเอาไว้แชทกับเพื่อน แล้วเราก็ดู Youtuber จากต่างประเทศ เราก็เสพค่อนข้างเยอะ ก็เลยนึกสนุกขึ้นมาพูดกับกล้องเทปแรกก็ไม่ได้คิดจริงจังอะไร พูดนั่นโน่นนี่ไปเรื่อย พอปล่อยออกไปเพื่อนๆ เราก็เป็นนักเขียนอยู่นิตยสารหลายคน ก็เอาไปแชร์ ปรากฏว่ามันไวรัลรวดเร็วมาก คลิปที่จัดว่าไวรัลสุด ก็คงเป็นคลิป ‘คุณพลอย’ ที่ลุกขึ้นมาพูดไทยคำอังกฤษคำ แล้วก็เลียนเสียงเป็นเด็กแอ๊บแบ๊วในยุคนั้น ที่พูดไม่ค่อยชัด สนุกดี
“เสน่ห์ในตอนนั้น คือเราทำเพราะความสนุกล้วนๆ คือตอนนั้นไม่ได้คิดเรื่องทำเงินได้ เพราะช่วงยุค 2005-2007 ต้องบอกว่า Youtube ยังทำเงินไม่ได้จริงๆ ดังนั้น ตอนทำไปเพื่อความสนุกจริงๆ แล้วคนทำก็ยังน้อยอยู่ และมันก็ใหม่สำหรับทุกคนด้วย ช่วงนั้นแม้กระทั่งแค่การ Share ก็ยังเป็นเรื่องโก้เลย แต่เดี๋ยวนี้ใครเอาอะไรมาแชร์ต้องคัดนะจ๊ะ เพราะว่ามันเป็นพื้นที่ของชั้น ของที่แชร์ต้องสวย ต้องดี แต่สมัยก่อนใครแชร์ก่อนคือชนะ”
[wonderplugin_video iframe=”https://www.youtube.com/watch?v=C-e1B3hLay8″ videowidth=600 videoheight=400 keepaspectratio=1 videocss=”position:relative;display:block;background-color:#000;overflow:hidden;max-width:100%;margin:0 auto;” playbutton=”https://bsite.in/wp-content/plugins/wonderplugin-video-embed/engine/playvideo-64-64-0.png”]
แล้วทำไมถึงเฟดตัวเองออกไป
ช่วงนั้นต้องบอกว่ามีพีคจริงๆ อยู่ประมาณ 10 คลิป เป็นช่วงที่ทำเพื่อความสนุก แต่ก็มีแบรนด์ที่มาจ้างให้ทำด้วย เขาก็รีเควสว่าอยากให้ทำแบบว่าตัวละครนี้มันร้าย มันน่าตบ พูดแบบนี้เลย แต่พอเราลองทำดู ปรากฏว่ามันไม่สนุกเลย มันไม่ได้ใช้จินตนาการได้เต็มที่ เหมือนกับว่ามีกรอบมากำหนดเรา ทำให้เบื่อไปพักหนึ่งจากนั้นก็เฟดตัวเองออกไป แล้วก็มารับงานทีวีอย่างที่เล่าให้ฟัง
ตัวชาแนล Youtube เองก็ทิ้งๆ เอาไว้ไม่ได้จริงจัง แต่ก็ทำตลอดนะ แต่ตอนนั้นก็ไม่เคยรู้ว่าเขาทำเงินกันยังไง อย่างเวลาที่ดู “บี้ เดอะ สการ์” ก็ชื่นชมว่าทำไมเก่งจังเลย หรือคนอื่นๆ แล้วเก่งจัง ทั้งๆ ที่หลายคนเขาทำทีหลังเราด้วยซ้ำ แต่เขาสามารถทำคอนเทนต์ได้สนุกแล้วก็ทำเงินได้ด้วย ก็เลยรู้สึกว่าเราอาจจะต้องกลับมาทำอีกที
“จนกระทั่งตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ปอนด์ก็เริ่มรู้สึกว่าเราจะต้องทำงานบนแพล็ทฟอร์มของเราเอง เพราะว่าทีวี มันไม่ใช่แพล็ทฟอร์มของเรา เขาอยากจะเปลี่ยนพิธีกรก็ได้ เขาอยากจะเอาใครเข้าใครออกได้หมด ดังนั้น มันไม่มีความมั่นคงทางการทำงาน แต่ถ้ามันเป็นแพล็ทฟอร์มของเรา เราก็สามารถอยู่ตรงนั้นได้และก็ทำงานได้อย่างมั่นคง คือเราเป็นตัวของตัวเองมากเวลาที่อยู่บนออนไลน์”
ในฐานะคนทำคอนเทนต์ออนไลน์ยุคต้นๆ เปรียบเทียบยุคก่อนกับปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไร
คือมันเหมือนเป็น ‘ยุคเห่อ ยุคสุดโต่ง แล้วก็เป็นยุคคัดสรร’
ยุคเห่อ ก็คือเร็วไว้ก่อน เหมือนข่าวเด็กในถ้ำ 13 คน จริงไม่จริงไม่รู้ออกข่าวเร็วไว้ก่อน แล้วมันก็เข้ามาสู่ ยุคสุดโต่ง คือหมายความว่า เมื่อสู้กันด้วยความเร็วไม่ได้ ก็จะสู้กันด้วยความแรง ก็จะเป็นคอนเทนต์ที่รุนแรง แบบถอดเสื้อผ้า พูดคำหยาบอะไรแบบนี้เลย ไปสุดโต่งเลย และวันนี้ 2018 ก็ค่อยย้ายกลับมาที่ การคัดสรร คนดูเอง แพล็ทฟอร์มเอง ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มคัดสรรคุณภาพมากขึ้น
แต่ถ้าเปรียบเทียบระหว่างออนไลน์กับทีวี ส่วนตัวมองว่า ทั้ง 2 สื่อนี้ไม่ได้แตกต่างกันมาก ต่างกันแค่โปรดักส์ชัน ต่างกันแค่ภาพเท่านั้นเลย ส่วนคอนเทนต์นั้น ออนไลน์จะทำให้ดีเท่ากัน หรือดีกว่าทีวีก็ทำได้
“คือถ้าคุณมีคอนเทนต์ แต่คุณไม่มีเงิน ไม่มีโปรดักส์ชั่น คอนเทนต์มันก็ออกมาได้ เป็นบรอดแคสต์ก็ได้ ในรูปวิทยุก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับรูปแบบ แต่ว่าโปรดักส์ชั่นต้องมีเงินและการทำทีวีมีเงินอยู่แล้ว ดังนั้น ก็สามารถสร้างภาพให้ยิ่งใหญ่อลังการยังไงก็ได้ มันก็ต่างกันแค่นี้เองไม่มีข้อดีข้อเสีย”
การทำคอนเทนต์ออนไลน์ของคนไทยในปัจจุบันแข่งกันด้วยอะไร
ทุกวันนี้ก็ยอมรับว่าโลกออนไลน์ที่แข่งขันกันหนักมาก และมากที่สุด แต่สุดท้ายแล้ว จุดจบมันก็จะดูที่ว่าคอนเทนต์ใครดีกว่ากัน
“เพิ่งไปคุยกับคนทำงานที่เป็น Youtuber ต่างชาติแล้วเขาบอกว่า คนไทยทำคอนเทนต์เก่งมาก (ก.ไก่ ลากเสียงยาว) เก่งแบบขยี้ คนที่ขายเด็กก็บอกให้เด็กปั๊มเลยนะ “ช่วยปั๊มวิวให้หน่อยนะคะ” คือให้เด็กแบบรีเฟรชบ่อยๆ อ่ะ แล้วปั๊มยอดได้เก่งอ่ะ เก่งกว่าประเทศอื่นๆ เป็นตัวท็อปจริงๆ
ดังนั้น ในด้านการแข่งขัน ด้วยความที่ปอนด์น่ะ เอาจริงๆ ปอนด์ทำตรงนี้ก็จริง แต่ปอนด์เสพของไทยน้อยมาก ของส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ตลาดเรา ก็เราอ่ะมีอายุแล้วน่ะ เราคงไม่สามารถมานั่งดูคน ไปเที่ยวใสๆ ได้นานๆ”
ดังนั้น เราก็เลยไม่รู้ว่าเขาแข่งกันด้วยเรื่องอะไร เราก็เพียงแค่โฟกัสว่า เราเป็นแบบนี้ เราโฟกัสในสิ่งที่เราถนัด และเอ็นจอยกับมันดีกว่า
ถามถึงเรื่องการเรียน และการใช้ภาษาอังกฤษของ คุณปอนด์บ้าง
เคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศมา 2 ปี ปีนึงไปอยู่อเมริกา ตอน ม.2 และอีกปีไปอยู่ที่อังกฤษ ตอน ม.5 สมัยนั้นเรียนมัธยมอยู่โรงเรียนสุรนารีวิทยา จ.นครราชสีมา “เป็นเด็กโคราชหลานย่าโม”
ทราบมาว่าสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เคยเป็น “เเชมป์ปาฐกถาภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย” มาแล้วด้วย ทำไมตอนนั้นถึงตัดสินใจเข้าร่วมแข่ง
ก็คือตอนนั้นปี 2004 เราเห็นโฆษณาในทีวี การประกวดปาฐกถา ภาษาอังกฤษ ระดับประเทศ ที่ช่องทรูวิชั่นจัด เราก็รู้สึกสนใจ เพราะสมัยก่อนเป็นคนชอบพวกเรื่องกิจกรรม ชอบทำงานอะไรแบบนี้มากกว่าเรียน (หัวเราะ) เราก็เลยไปถามที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงที่เราเรียนอยู่ว่า ถ้าจะเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยจะต้องทำยังไง เขาก็บอกว่าให้ไปสอบถามที่ชมรมภาษาอังกฤษ เราก็ไปเลย แล้วก็บอกว่าเราอยากไปเป็นตัวแทนประกวดอันนี้
เขาก็บอกแบบ งงๆ ด้วยความที่เขาก็ไม่รู้จักเรามาก่อน ก็ไปเอาหนังสือภาษาอังกฤษง่ายๆ ใกล้มือแถวนั้นมาให้เราอ่าน พวกนิทานเด็กมาให้เราอ่าน บอกลองอ่านก่อนนะคะ เราก็อ่าน พออ่านจบเท่านั้นล่ะ “นี่คะใบสมัคร กรอกเลย”! ในงานนั้นเราก็ต้องแข่งกับหลายๆ สถาบัน มหาวิทยาลัยทุกแห่งเลย เราก็สามารถเข้าไปถึงรอบไฟนอลได้ และรอบไฟนอลก็มีเรากับ นศ.จากจุฬาฯ อีก 3 คน
พอรอบไฟนอล สารภาพเลยว่าไม่ได้ซ้อมเลย ไม่ได้เตรียมตัวด้วยเพราะคิดว่าจะไม่ไปแข่งแล้วด้วยซ้ำ เพราะคิดว่าคงไม่ชนะเด็กจุฬาฯ อีก 3 คนแน่นอนเลย แต่จู่ๆ เราก็คิดว่า จะมีสักกี่คนได้ไปไฟนอลปาฐกถาระดับประเทศแบบนี้ ก็เปลี่ยนใจคิดได้ประมาณ 2 วันก่อนวันแข่ง พอคิดปุ๊บก็เขียนบทเลย 1 คืนกับอีก 1 วันที่ได้ซ้อม ทั้งๆ ที่มีเวลาก่อนหน้านี้เหลือเฝือตั้ง 3 เดือนแต่เพิ่งมาซ้อม
“พอถึงวันจริงก็ด้นเลย ได้ไม่ได้ก็แล้วแต่เลย อาจจะเป็นเพราะเรามีกลิ่นของความแอ็คติ้งเล็กๆ คือเราไม่ได้ขึ้นไปพูดๆ แต่เราก็มีแอ๊คติ้งนิดนึง มีความแสดงนิดนึง ซึ่งกรรมการก็บอกว่าที่เราได้เพราะเรามีแอ็คติ้งดีนี่แหละ โดยกรรมการในตอนนั้นก็คือ คุณแอนดรูว์ บิ๊กส์ ไอดอลด้านภาษาอังกฤษในยุคนั้น เขาบอกว่าที่เราได้เพราะมีความเอ็นเตอร์เทน”
และมันคือหนึ่งในความภูมิใจของเรา เวลาไปนั้นก็คือจะบอกว่า “ชั้นคือแชมป์ปาฐกถาภาษาอังกฤษแห่งประเศไทย”
[wonderplugin_video iframe=”https://www.youtube.com/watch?v=qf-V-gl8eFk” videowidth=600 videoheight=400 keepaspectratio=1 videocss=”position:relative;display:block;background-color:#000;overflow:hidden;max-width:100%;margin:0 auto;” playbutton=”https://bsite.in/wp-content/plugins/wonderplugin-video-embed/engine/playvideo-64-64-0.png”]
มุมมองการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในไทย
ส่วนตัวเรามองว่านักเรียนต่อห้องเยอะไป ทำให้ครูไม่สามารถจะสอนแบบจี้ได้ และการศึกษาไทยก็เป็นการเรียนแบบ ‘เรียนเพื่อสอบ’ ไม่ได้ ‘เรียนเพื่อปฏิบัติ’ ดังนั้น ส่วนใหญ่มันก็จะอยู่ในกระดาษ พอคุณเขียนมากคุณอาจจะเขียนเป็น แต่คุณฟังไม่ได้พูดไม่ได้ เพราะการสอบมันอยู่ในกระดาษหมด
“แต่ปอนด์ว่ารุ่นนี้ไม่ขาด (ทักษะภาษาอังกฤษ) นะ รุ่นเปลี่ยนผ่านอ่ะอาจจะยังขาดอยู่ แต่รุ่นนี้ไม่ขาดแล้ว ปอนด์ไม่เห็นว่าจะมีอะไรขาดในเด็กรุ่นนี้ แล้วเขาก็ดูการ์ตูนฝรั่ง ดูหนังฝรั่ง เสพสื่อฝรั่ง ปอนด์ว่ารุ่นนี้ ตั้งแต่อายุ 25 ปีลงมาคือดีกว่ารุ่นเราแน่นอน ด้วยสื่อที่มันเปิดกว้าง แล้วเขาก็เปิดรับได้ดี เขามีความสนใจมากขึ้น แถมยังมีหลากหลายช่องทางอีกด้วย”
สิ่งสำคัญที่จะต้องผลักดันด้านการเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมให้เด็กไทย
ต้องเน้นเรื่องการใช้งานด้วย เน้นเรียนเพื่อใช้ไม่ได้เรียนเพื่อสอบ ถ้าเป้าหมายมันเปลี่ยน วิธีการก็จะเปลี่ยน แต่ตอนนี้เป้าหมายก็คือว่า อยากให้เด็กสอบให้ผ่าน ต้องรู้จัก Grammar เพราะสิ่งเดียวที่วัดได้คือในกระดาษ คือพูดก็ได้แหละ แต่ครูไม่มีเวลามานั่งคุยกับทุกคน
“ดังนั้น อาจจะต้องเปลี่ยนวิธีการวัดผล แทนที่จะเป็นในกระดาษก็อาจจะเป็นการนั่งคุยกับครูมากกว่า”
คิดอย่างไรกับประโยคที่ว่า ‘คนไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นใคร’ ก็เลยไม่จำเป็นต้องเก่งภาษาอังกฤษ
คือตรงนี้มองว่าทุกคนก็มีสิทธิ์คิด แต่แค่เรามีความรู้สึกว่า เรื่องนี้ถ้าจะทำได้ก็ต้องทำได้ด้วยตัวเอง ทุกอย่างมีข้อแม้หมดเลย
เมื่อเราบอกว่า คนไทยพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เพราะว่าเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้น นั่นเท่ากับว่าเรามองกลับไปที่อดีต แล้วเอาเรื่องมาผูกมาโยงเอง โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า แต่สิ่งที่จริงอยู่ตรงหน้าก็คือ ทุกวันนี้เราสอบด้วยกระดาษ แต่อยากให้เด็กพูดได้ มันเป็นไปไม่ได้ และต้องมีความชัดเจนด้วยว่าเรียนเพื่ออะไร
และถ้าอยากจะให้คำแนะนำแก่น้องๆ ที่อยากเก่งภาษาอังกฤษบ้าง คุณปอนด์แนะนำว่า
“ฟังเยอะๆ ฟังภาษาอังกฤษ แล้วก็พูดตามเขา ก็อปในสิ่งที่เขาพูด แค่นั้นเลยค่ะ”
สุดท้าย ถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรี 1 วัน จะทำอะไร
“1 วันเองเหรอ แค่วันเดียวทำอะไรไม่ได้จริงๆ ให้วันเดียวเหรอคะ…”
“ปิดเครือข่ายอินเตอร์เน็ททั้งหมด ปิดทีวี ปิดสื่อทั้งหมด 1 วัน
เพื่อให้ได้กลับมาคอนเน็คกันเองบ้าง”
[wonderplugin_video iframe=”https://www.youtube.com/watch?v=JBhF_50AUtM” videowidth=600 videoheight=400 keepaspectratio=1 videocss=”position:relative;display:block;background-color:#000;overflow:hidden;max-width:100%;margin:0 auto;” playbutton=”https://bsite.in/wp-content/plugins/wonderplugin-video-embed/engine/playvideo-64-64-0.png”]
Copyright© Bsite.In
ABOUT THE AUTHOR
ทีมงาน bsite
Biographical Info