- Lifestyle
Opinion : Podcast กระแส หรือ นิว เวฟ ? ความท้าทายใหม่ของคนทำสื่อ
By ทีมงาน bsite • on Jan 02, 2019 • 3,706 Views
Podcast (พอดแคสต์) แม้จะเป็นชาแนลที่มีมานานแล้ว แต่สำหรับเมืองไทยนั้นอาจจะเรียกได้ว่าเพิ่งมาเติบโตในช่วง 2-3 ปีมานี้ แต่ก็ยังคงอยู่ในวงจำกัด ทว่า เป็นวงที่ทรงประสิทธิภาพ ด้วยความที่กลุ่มคนฟังส่วนใหญ่เป็นบุคคลระดับครีม ระดับอีเลียท ระดับผู้นำในวงการ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มักเป็นผู้ผลักดันเทรนด์สำคัญๆ ให้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ในขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นสื่อกระแสหลักเริ่มที่จะผลิตงานพอดแคสต์เพิ่มมากขึ้นด้วย แต่ก็นั่นล่ะมันก็จะคงเติบโตในกลุ่มเล็กๆ และยังไม่โตเท่าที่ควรจะเป็นอีกด้วย
นอกจากนี้ ความสงสัยอีกประการคือ พอดแคสต์ คือปรากฏการณ์ของสื่อใหม่ หรือสื่อเก่าที่เทียบได้กับวิทยุกำลังจะกลับมาหรือไม่ อะไรที่เป็นสาเหตุทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งฟังอย่างเหนียวแน่น ในขณะเดียวกันก็แทบจะไม่มีคนสนใจเลย
เราจึงได้เก็บความสงสัยเหล่านี้นำมาถามผู้รู้ทั้ง 3 ท่าน ได้แก่
- คุณลีน่า-ลาวัณย์ ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บีอีซี-เทโร เรดิโอ จำกัด ผู้ที่ค่ำหวอดในวงการวิทยุมากกว่า 30 ปี และเห็นทั้งจุดสูงสุดของสื่อวิทยุก่อนที่จะก้าวมาสู่วิทยุออนไลน์ในปัจจุบัน
- คุณชญาน์ทัต วงศ์มณี หรือ “ท้อฟฟี่ แบรดชอว์” นักเขียนและนักจัดรายการพอดแคสต์ “I Hate My Job” ให้กับ The Standard Podcast
- คุณพรหมเมศร์ ศิริสุขวัฒนานนท์ หัวหน้าบรรณาธิการ และ Chief Editor จาก Brand Inside หนึ่งในสื่อที่ผลักดันงานพอดแคสต์ในช่วงต้นๆ
ลีน่า-ลาวัณย์ ชุมสาย ณ อยุธยา
ที่จริง พอดแคสต์ มีมานานแล้วและมีหลายรูปแบบด้วย แต่ที่ไทยการมาของพอดแคสต์ค่อนข้างจะช้ากว่าที่อื่นด้วยซ้ำ ซึ่งตรงนี้ทางสถานีเราก็เคยทำมานานแล้ว โดยการเอาคอนเทนต์ที่ดีเจ.พูด และน่าสนใจมากกว่าการแค่พูดว่าเพลงนี้คืออะไร นักร้องคนนี้เป็นใคร แต่เป็นการคัดเลือกไฮไลท์ที่น่าสนใจในรายการก่อนนำมาอีดิทขึ้นเว็บไซต์ เราได้ทำมานานแล้วทำมาก่อนที่คนจะเรียกว่าพอดแคสต์ด้วยซ้ำ แต่ที่ต้องหยุดไปเพราะว่าด้วยเทคโนโลยีสมัยนั้นก็ไม่เอื้อต่อการตัดต่อนัก แล้วยังใช้กำลังคนค่อนข้างสูงถ้าเทียบกับจำนวนคนฟังที่สมัยนั้นยังไม่เยอะขนาดนั้นมันเลยไม่ค่อยคุ้มค่ากับเวลาและคนที่เราลงทุนในการผลิต
“ตอนนี้มันคือคลื่นที่สอง ที่คนฟังอาจจะเริ่มเข้าใจแล้วว่า พอดแคสต์คืออะไร ดังนั้น เราก็เลยวางแผนว่าในอนาคตปีหน้าเราอยากจะทำพอดแคสต์อีกครั้ง โดยเน้นคอนเทนต์ในบางรายการ แล้วตัดมาออกมาเป็นพอดแคสต์ แต่ด้วยความที่ บีอีซี-เทโร เรดิโอ คลื่นของเราส่วนใหญ่จะเป็นคลื่นเพลง เราเน้นไปที่คลื่นเพลงเสียเป็นส่วนใหญ่ เป็นบันเทิง เพราะฉะนั้นจะทำพอดแคสต์แต่เพลงหรือบันเทิงอย่างเดียวไม่ได้ พอดแคสต์ต้องทำคอนเทนต์ล้วนๆ เราก็เลยมองว่าเราน่าจะมีการปรับอะไรบ้างในปีหน้า 2019 นี้ บางรายการที่ให้มีคอนเทนต์มากขึ้น ให้สามารถที่จะปรับเป็นพอดแคสต์ที่น่าสนใจได้”
เมื่อถามว่าอะไรคือความแตกต่างระหว่างการจัดรายการวิทยุกับการทำพอดแคสต์ คุณลีน่า มองว่า เสน่ห์ของการจัดวิทยุที่เป็นไลฟ์เรดิโอ มันคือความว่องไว ที่มันไวกว่าสื่ออื่นๆ คือเพียงแค่ไมโครโฟนก็พูดอะไรออกไปได้แล้ว จะเป็นเหตุที่เกิดเวลานั้นเดี๋ยวนั้นก็พูดได้ทันที ไม่ต้องรอ หรือมีโปรดักส์ชั่นมากมาย นี่คือเสน่ห์ของเรดิโอ แต่ถ้าเป็นพอดแคสต์คงไม่มีใครหรอกอยากฟังว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเมื่อ 3 วันที่แล้วชั้นจะฟังทำไม เพราพอดแคสต์คอนเทนต์ของมันต้องมีความน่าสนใจและอยู่ได้นาน นานนี่หมายถึงว่าอย่างน้อยอาทิตย์หรือ 2 อาทิตย์ ในแบบที่ว่าถ้ากลับมาฟังหรือพลาดไปก็ยังน่าสนใจอยู่ เพราะฉะนั้นการทำพอดแคสต์เราต้องเลือกทำคอนเทนต์ที่น่าสนใจไม่ใช่แค่วันนี้แต่ในอนาคตด้วย
ในขณะที่กลุ่มคนฟังของเรดิโอและพอดแคสต์ คุณลีน่า บอกว่า มันมีความทับซ้อนกันอยู่ คือคนที่ฟังพอดแคสต์ส่วนหนึ่งก็เป็นคนที่ฟังเรดิโอ แต่อาจจะยังไม่เยอะเท่า ซึ่งข้อมูลจาก กสทช. ก็ระบุว่า คนฟังวิทยุยังมีเยอะอยู่แต่อาจจะไม่ได้ฟังจากเครื่องรับเพียงอย่างเดียว สามารถฟังผ่านดีไวซ์ต่างๆ ได้ ดังนั้น สื่อวิทยุเอง ไม่ตายแน่เพียงแต่ว่าพอดแคสต์เป็นอะไรที่เสริมขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น ดีเจ.เอ วีระ ที่ เขาเป็นผู้รอบรู้เกี่ยวกับหนังหรือรางวัลบันเทิงต่างๆ ถ้าเราทำพอดแคสต์เกี่ยวกับเกร็ดบันเทิงต่างๆ ก็สามารถมาฟังดีเจ.เอ วีระ พูดคุยได้ ก็จะเพิ่มอายุของคนฟัง
แล้วอะไรคือสิ่งที่จะพอดแคสต์จะดึงดูดคนฟังได้มากกว่ากัน คอนเทนต์หรือคนจัด คุณลีน่าให้ความเห็นว่า ทั้งสองอย่างเลย ซึ่งต้องไปด้วยกัน
“คือทั้งตัวผู้จัดและคอนเทนต์ที่นำเสนอต้องมีความน่าสนใจแบบไปด้วยกัน จากการทำวิทยุมานานสคริปต์อันหนึ่งให้ ดีเจ.คนหนึ่งเล่า กับอีกคนเล่าบางทีก็อาจให้ความรู้สึกที่ไม่เหมือนกันเลย เพราะ ดีเจ.แต่ละคนมีคาแรคเตอร์ของเขาเอง ดังนั้น เราต้องเลือกคอนเทนต์ให้ตรงกับคาแรคเตอร์ของคนนั้น เสน่ห์ตรงนี้ไปพร้อมกันถึงจะดึงดูดคนได้”
แต่จะเรียกว่าเป็นการรีเทิร์นของโอลด์มีเดีย หรือการมาของสื่อใหม่กันแน่ คุณลีน่า บอกว่า จะมองว่าเป็นการรีเทิร์นของโอลด์มีเดียก็ได้แต่ในรูปแบบใหม่ ส่วนสาเหตุที่มีมาสักพักแต่ไม่โตเสียที คิดว่าอุปสรรคสำคัญน่าจะเป็นเรื่องคอนเทนต์ แล้วก็อาจจะเร็วไปสำหรับคนฟังคนไทย
“เป็นสิ่งที่ลีน่าก็เควสชั่นอยู่เหมือนกันว่าทำไมมันยังไม่โต ลีน่าเคยไปที่ออสเตรเลีย ก็พูดคุยเรื่องนี้กับคนทำวิทยุที่ออสเตรเลีย เขาก็บอกว่า อุ๋ย! พ็อดแคสต์เป็นสิ่งที่เวิร์คมากเลยตอนนี้ มีคนเข้ามาฟังเยอะมาก แต่ทำไมที่ไทยถึงไม่ค่อยมีคนที่ตอบสนอง ลีน่าคิดในใจว่า น่าจะเป็นเพราะเขามองเราว่าเป็นไลฟ์เรดิโอ เพราะฉะนั้นเขาจะฟังไปทำไมกับสิ่งที่เราเพิ่งพูดไปเมื่อวานนี้ ฟังสิ่งที่พูดไปวันนี้ดีกว่า เขามีเวลาเท่านี้เขาอยากจะฟังสิ่งใหม่ๆ มากกว่าที่จะหันไปฟังสิ่งเก่าๆ ดังนั้น คิดว่าอุปสรรคสำคัญคือตัวคอนเทนต์ เพราะว่าเราพูดแบบไลฟ์เรดิโอ เราพูดในสิ่งที่กำลังเกิดตอนนั้น แต่ถ้าเรามุ่งไปทางพ็อดแคสต์ อาจจะต้องทำคอนเทนต์อีกอย่างหนึ่งที่มีอายุยาวนานกว่า”
ด้วยความที่โตช้าและโตยาก มีโอกาสไหมที่จะเป็นสื่อที่สร้างรายได้ คุณลีน่า ยอมรับว่าการทำพอดแคสต์เป็นเรื่องยากที่จะเทิร์นกลับมาเป็นรายได้ เพราะมันค่อนข้างเฉพาะกลุ่มมากทีเดียว แต่การที่มันเฉพาะกลุ่มมากก็เป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการโดยตรงเลยมากกว่าทำงานแบบแมสออกไป แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่ที่บายเออร์หรือลูกค้าด้วยว่าจะเล็งเห็นคุณค่าตรงนี้หรือไม่
“ถ้าเราพูดกันง่ายๆ คือเราสร้างคอมมูนิตนี้ในสิ่งที่คนชอบอะไรเหมือนๆ กัน ถ้าคอมมูนิตี้นี้ถ้ามันใหญ่พอ แข็งแกร่งพอ ที่เขาจะเล็งเห็นว่ามาลงโฆษณา แล้วก็ได้ผลด้วยกับสิ่งที่เขาต้องการ ยังไงก็โต”
ท้ายสุดมุมมองของคุณลีน่า ที่มีต่อทิศทางของพอดแคสต์ เห็นว่า ยังไงเราในฐานะสื่อก็ต้องลองทำ ลองในแบบ Learning by Doing มากๆ เลย แต่สิ่งหลักของเราคือวิทยุ ดังนั้น เราต้องทำวิทยุให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะออกจากลำโพงหรือมือถือของคุณ คุณภาพของการฟังวิทยุต้องดี แต่พอดแคสต์เราจะทำเป็นสิ่งเสริมก่อน แล้วค่อยมาดูว่าคนฟังมีเยอะไหม คอนเทนต์ควรเป็นอะไร แล้วถ้ามันได้รับการตอบสนองที่ดีก็อาจจะเอาเวลาเอาคนไปใส่กับมันมากขึ้น
ชญาน์ทัต วงศ์มณี หรือ “ท้อฟฟี่ แบรดชอว์”
จากเดิมที่เป็นนักเขียน และนักสัมภาษณ์มือฉมังของ The Standard ล่าสุด ท็อฟฟี่ ก็ยังเป็นนักจัดรายการพอดแคสต์ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องปัญหาต่างๆ ในที่ทำงานและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความสนใจนี้ ท้อฟฟี่บอกว่า โลกมันเปิดกว้างแล้ว เราต้องผลิตคอนเทนต์ให้ได้หลายอย่าง คนที่เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ต้องทำได้หลายแบบทั้งสัมภาษณ์แบบวิดีโอ หรือแบบไม่เห็นหน้าเห็นแต่เสียงก็ต้องทำได้ แล้วยังสามารถแปรเปลี่ยนไปได้ทุกแพล็ทฟอร์มอีกด้วย เรียกได้ว่าโลกการทำคอนเทนต์ตอนนี้สนุกมาก ยิ่งเราทำได้หลายอย่างตัวเราก็จะเก่งขึ้นเพิ่มพูนทักษะได้มากขึ้น
แต่ถ้าถามว่าพอดแคสต์เหมือนวิทยุไหม ท้อฟฟี่ให้ความเห็นว่า ไม่เหมือนกัน คือวิทยุต้องฟังตอนนั้น เดี๋ยวนั้น มีความสดใหม่กว่า เช่น ฟังคลับฟรายเดย์ก็ต้องทุกศุกร์สองทุ่ม แต่ถ้าเป็นพอดแคสต์คุณจะเอามาฟังเมื่อไหร่ก็ได้ หัวข้อคอนเทนต์มันครอบจักรวาล แม้แต่คนฟังวิทยุกับพอดแคสต์ก็ต่างกัน คนฟังวิทยุจะค่อนข้างแมสกว่าสามารถกระจายไปได้กว้างที่สุดเพราะว่าเป็นการเช่าว่าดังนั้น เขาต้องจัดรายการเพื่อให้มีคนฟังเขามากที่สุด แต่ถ้าพอดแคสต์กลุ่มคนฟังจะค่อนข้างนิชมากกว่า เช่น พอดแคสต์ที่พูดเรื่องงานอย่างเดียวที่เราทำอยู่ หรือพูดแค่เรื่องวิ่งอย่างเดียวเลย ดังนั้น กลุ่มคนฟังก็จะเล็กๆ เฉพาะกลุ่ม เป็นความสนใจที่เฉพาะด้าน นอกจากนี้ พฤติกรรมของคนฟังก็จะไม่เหมือนกัน คนฟังวิทยุจะเป็นการเปิดผ่านๆ ไม่จำเป็นต้องโฟกัส แต่ถ้าเป็นพอดแคสต์ด้วยน้ำเสียงของคนเล่า ที่แนบอยู่กับหูเราดังนั้นจะสามารถพาคนฟังดำดิ่งไปกับเราได้ และการฟังก็ต้องตั้งใจฟังเพราะเขาต้องฟังเนื้อหาตรงนี้เป็นชั่วโมงๆ
“นอกจากนี้ ใครก็ทำพอดแคสต์ได้ คอนซูเมอร์ก็สามารถลุกขึ้นมาทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น ดีเจ. หรือมีสถานี แค่มีไมค์คุณก็บันทึกทุกอย่างลงไปได้ มันเลยกลับมาสู่ประเด็นที่ว่า คนทำพอดแคสต์จะต้องเป็นคนที่โคตรสะกดคนได้ มันไม่มีอะไรมาดิสแทร็กได้อีกแล้วนอกจากสเน่ห์ของเขาเอง เพราะฉะนั้นคุณจะจัดแบบเจื้อยแจ้วไปเรื่อยๆ ไม่ได้ แต่คนจัดจะต้องมีบุคคลิกที่สามารถสะกดคนได้ และต้องมีความ Expert เรื่องนั้นจริงๆ”
ถ้าเช่นนั้นเสน่ห์ของพอดแคสต์อยู่ที่ตรงไหนบ้าง ท้อฟฟี่ตอบเราว่า มันคือการเข้าใจคนฟังแบบมีอินไซด์ ไม่ได้จัดแบบแมสๆ เป็นดีเทลที่เราต้องเห็น Persona คนฟังอย่างละเอียด นอกจากนี้ ก็คือเสน่ห์ของคนจัด ด้วยความที่คนฟังโคตรนิชดังนั้นคนพูดต้อง Geek สุดๆ Expert สุดๆ เพราะกลุ่มคนฟังเขาตั้งใจฟังเราจริงๆ ไม่ได้แค่เปิดผ่าน แต่อาจไม่จำเป็นต้องเป็นคนดังมาก่อน แต่เขาอาจจะเป็นที่รู้จักในวงการนี้เท่านั้น เพราะไม่ได้หมายความว่าคนฟังทั้งประเทศจะต้องชอบฟังสิ่งที่เขาพูด
“ถามว่าจำเป็นต้องเป็นคนดังมาก่อนไหม ท้อฟคิดว่าไม่ขนาดนั้น หลายๆ คนที่มาฟังพอดแคสต์ของท้อฟ ก็ไม่ได้รู้จักเราในฐานะนักเขียนมาก่อน แต่ก็ชอบการจัดรายการของเราเลยก็มี ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าเรายืนอยู่บนจุดเดียวกับคนฟัง คนฟังเขาก็จะเปิดใจรับเราเอง มันอาจจะมาจากจุดเริ่มต้นว่าใครวะท็อฟฟี่แบรนด์ชอว์ก็ได้ แต่เมื่อเขาฟังไปเรื่อยๆ ก็อาจจะชอบเนื้อหาของเราที่ตรงกับชีวิตเขาเขาก็อาจจะชอบฟังเราก็ได้ หรือยกตัวอย่าง พี่หนุ่ม มันนี่โค้ช ผมก็เพิ่งมารู้จักเมื่อฟังจากพอดแคสต์ ซึ่งคนอื่นอาจจะรู้จักมาจากที่อื่น แต่นั่นก็ไม่ได้ความว่าผมจะไม่ฟังที่อื่น แต่พอดแคสต์อาจเป็นจุดเริ่มที่ทำให้เราได้ฟังเขา”
เมื่อถามความเห็นเรื่องรายได้ในเมื่อกลุ่มคนฟังค่อนข้างนิชและยังมีจำนวนจำกัด ท้อฟฟี่ มองว่า คิดว่าเรื่องสปอนเซอร์นั้นถ้าคอนเทนต์ดีถ้าวิชั่นเข้ากับแบรนด์มันก็อาจจะไปด้วยกันได้ แต่พอดแคสต์ไม่ใช่คอนเทนต์ที่จะเข้าไปพูดแล้วอวยแบรนด์นั้นๆ คอนเทนต์จะต้องคลีนจริงๆ ดังนั้น เรื่องเงินอาจจะมาไม่ค่อยได้เพราะไม่ได้ทำเพื่อโฆษณา แต่อย่างที่บอกว่าถ้าแบรดน์มีวิชั่นที่ตรงกันก็อาจจะไปด้วยกันได้
“ในระยะแรกคนอาจจะจับตาดูอยู่ว่าจะเป็นยังไงบ้าง แต่มันคือการปลูกต้นไม้ที่ต้องรอการผลิดอกออกผล เป็นของใหม่สำหรับคนไทยมาก ดังนั้น มันเลยต้องการระยะเวลาในการสะสมมากๆ เลย”
แต่ใช่ว่าจะไม่ทำเงินเลย เพราะอย่าลืมว่าการลงทุนมันน้อยมาก เพราะทุนที่เราลงคือประสบการณ์และความรู้ความเชี่ยวชาญของเราเอง คือถ้าเป็นบล็อกเกอร์หรือยูทูบเบอร์โปรดักชั่นก็ต้องมีระดับหนึ่ง ดังนั้น ถ้าถามว่าคนทำพอดแคสต์ถ้าอยากมีรายได้ก็คงต้องอดทนไว้หน่อยเพราะต้องใช้เวลามากกว่าช่องทางอื่น แต่การลงทุนที่น้อยก็อาจจะไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าต้องรีเทิร์นกลับมาเร็วๆ ก็ได้ คืออยากให้คนทำโฟกัสกับการทำคอนเทนต์ให้ดีเสียก่อน
ถ้าถามว่ามันคือการกลับมาของโอลด์มีเดียหรือไม่ ส่วนตัวมองว่ามันคือ นิว มีเดีย มากกว่า มันเหมือนโอลด์มีเดียแค่เพราะว่าเสียงที่ไปทางวิทยุ แต่คนฟังก็คนละกลุ่มแล้ว วิธีตั้งต้นการทำคอนเทนต์ก็คิดไม่เหมือนกัน เราเป็นเจ้าของคอนเทนต์นั้นๆ ตั้งแต่ต้น จะทำอะไรก็ได้เพราะไม่ยึดติดกับสัมปทานใดๆ
แต่อุปสรรคที่มันยังไม่ขยายตัวเป็นเมนสตรีมมีเดียสักที ท้อฟฟี่ให้ความเห็นว่า คิดว่ามันอยู่ในช่วงการขยายเส้นขอบฟ้า นึกถึงตอนที่มีเฟซบุ๊กเพจใหม่ๆ มันก็จะเวรี่แมสมากๆ แต่พออยู่ๆ ไปก็เกิดเพจเฉพาะทางมากขึ้น เช่น เพจหมา เพจแมว เพจคนรักการท่องเที่ยว เพจการเงิน ฯลฯ เรากำลังเริ่มเห็นความนิชๆ เต็มไปหมด ดังนั้น คิดว่าพอดแคสต์อยู่ในยุคของการเจริญเติบโต
“อย่างไรก็ตาม คิดว่าทิศทางของพอดแคสต์คือแนวโน้มมันจะโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะต่อให้หัวข้อนิชแค่ไหนก็มีคนพร้อมจะฟังอยู่แล้ว คนทำพอดแคสเตอร์ก็จะเยอะมากขึ้น เพราะทุนก็แค่คน ไมโครโฟน กับคอมพ์ และจากนี้ไปน่าจะมีคนทดลองทำมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราเห็นความหลากหลายของคอนเทนต์ ซึ่งมันจะดึงคนมาได้อีกเยอะเลย มันคือความสวยงามของสื่อครับ”
พรหมเมศร์ ศิริสุขวัฒนานนท์
Brand Inside หนึ่งในเว็บธุรกิจการเงินการตลาด ที่ทำคอนเทนต์พอดแคสต์อยู่ช่วงหนึ่ง ทว่า ก็ได้หยุดไปชั่วคราว แต่จากประสบการณ์การทำพอดแคสต์มาได้ระยะหนึ่ง เขาจะมาเล่าประสบการณ์จากการทำให้เราฟัง พร้อมกับเผยเหตุผลที่หยุดไป ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนดีๆ ที่เราจะได้ฟังจากตัวจริง
พรหมเมศร์ หรือ คุณเมท ได้เล่าว่าสาเหตุที่มาทำพอดแคสต์เพราะว่าอยากได้ชาแนลเพิ่มเติมในการปล่อยคอนเทนต์ผ่านช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น เปิดช่องทางใหม่เพื่อให้คอนเทนต์เราได้เจอกับคนมากขึ้น ที่สำคัญคือได้ลองทำในสิ่งใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน
กลุ่มเป้าหมายที่เรามองไว้คือ กลุ่มตลาดบน เป็นกลุ่มอีเลียดระดับผู้นำ แต่พอทำไปสักพักเรากลับได้รู้อินไซต์บางอย่างคือคนฟังอีกกลุ่มได้แก่ พวกคนออกกำลังกาย และกลุ่มคนที่ขับรถด้วย ซึ่งสิ่งนี้ก็เกิดจากการทำไปเรียนรู้ไป
“คอนเทนต์ที่พวกเราทำส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวกับข่าวคราวในแวดวงธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ อยู่ในช่วงการทดลองทำ ทดสอบการทำก่อนว่าจะเป็นแบบไหนดี หรือเล่าแบบไหนดี ทำไปปรับกันไปเรื่อยๆ แต่พอถึงจุดหนึ่งก็ต้องหยุดก่อนเพื่อหาแนวทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะวิธีการเล่าเรื่อง การเรียงลำดับคอนเทนต์ที่ทำไปคือเหมือนการทดลอง เพื่อให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น เรียกว่า Brand Inside เรากำลังหาทางที่เป็นของตัวเองมากกว่า”
เมื่อถามว่ามอง พอดแคสต์เป็นสื่อทางไหน คุณเมท บอกว่า ไม่ได้มองว่าเป็นสื่อเก่าหรือสื่อใหม่แต่มันคือช่องทางการสื่อสารหนึ่งมากกว่านอกเหนือจากออฟไลน์และออนไลน์ แต่ก็ไม่ได้คิดว่ามันคือเรดิโอ ไม่ได้เกี่ยวว่ามันคือการฟื้นคืนของวิทยุ เพราะวิทยุไม่เคยตาย แต่มันแค่เปลี่ยนรูปแบบตัวเองไป
ส่วนเรื่องการเทิร์นกลับมาเป็นรายได้นั้น คุณเมทมองว่า ตอนที่ทำตอบง่ายๆ คือไม่มีเลย เพราะคนฟังเป็นกลุ่มตลาดบนถึงกลางบน พอมันนิชมากๆ แล้วโอกาสหารายได้ก็ยังยากอยู่ ต้องยอมรับว่ามันยังไม่สามารถเทิร์นกลับมาเป็นรายได้ คือยังไม่คุ้มกับการลงทุนเท่าไหร่ ส่วนมันจะไปได้ต่อไปอีกนานแค่ไหน ก็อยู่ที่ความคุ้มค่าว่าควรจะทำหรือไม่ ถ้าคนฟังร้อยคน แต่การลงทุนมากกว่า เราก็ต้องประเมินตัวเองอีกทีกับการลงแรงไป
แต่แม้ว่าจะมีมานานก็ยังไม่ขยายวงกว้างหรือทำให้เกิดรายได้เสียที คุณเมทให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า อุปสรรคสำคัญคือ ตัวของพอดแคสต์เองด้วย เพราะมันมีแค่เสียง มันอาจจะเอื้อต่อการกระทำบางอย่าง แต่ถ้าเทียบแล้ว Youtube มันก็ฟังได้นะ หรือจะไปฟังพวกสตรีมมิ่งอย่าง Joox, Sportify ก็ฟังได้นะ คือตัวมันจำกัดเฉพาะเสียง อีกอย่างคือเวลาจะฟังพอดแคสต์การเข้าถึงก็ไม่ง่าย ต้องเปิดผ่านเว็บบ้างกว่าจะเข้าถึง นอกจากนี้ ถ้าเทียบกับต่างประเทศแล้วด้วยความที่เราทำเฉพาะภาษาไทยมันก็อาจจะไม่ได้ไปไกลนัก เพราะถ้าต่างประเทศเขาทำเป็นภาษาอังกฤษก็จะไปได้กว้างขวางกว่า มาร์เก็ตแคปตลาดเรายังน้อยอยู่มาก พูดง่ายๆ คือข้อจำกัดหนึ่งคือด้านภาษา ยังไงก็ออกนอกประเทศไม่ได้ถ้าไม่ทำภาษาอังกฤษ
ส่วนทิศทางพอดแคสต์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร คุณเมทมองว่า ยังคิดว่าอีกนานกว่าตลาดพอดแคสต์จะโตและไปได้ไกลถ้าเทียบกับสื่ออื่น แต่มันก็ยังมีตลาดเฉพาะของมันอยู่นะ เพียงแค่เราต้องมองวิธีในการหาเงินหรือหารายได้จากมันด้วย เช่น อาจจะเป็นแพ็กเกจขายพ่วงไปด้วย แต่จะให้ขายพอดแคสต์เดี่ยวๆ เลยคงทำได้ยาก แต่ในอีกแง่หนึ่งถ้าสื่อของเรามีมันก็มีประโยชน์ในแง่ของการสร้างแบรนด์ดิ้งได้นะ เช่น เวลาเราไปขาย เรามีครบหมดทุกสื่อเลย ไม่ว่าจะเป็น ช่องยูทูป หรือพอดแคสต์ ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของเว็บดูดีในสายตาบายเออร์
“ถ้าถามว่าเราอยากทำอีกไหม เราอยากทำนะ เราอยากจะกลับมาทำอีก ก็มีคนเข้ามาถามมาทักเยอะเหมือนกันว่าหายไปไหน ก็ยืนยันตรงนี้ว่าเราไม่ได้เลิกทำนะ แค่หยุดชั่วคราวเพื่อไปปรับปรุงอะไรให้มันดีขึ้นก่อน เรากำลังจัดสรรทรัพยากรภายในกันอยู่ คือถ้าทำแล้วก็ต้องมีความสม่ำเสมอ เป็นประจำ คนฟังจะได้รู้ว่าวันนี้หรือวันไหนที่มีแล้วจะได้รอดู พอเป็นพอดแคสต์มันทำตามอารมณ์ไม่ได้นะ ดังนั้น ช่วงนี้ก็เรียกว่าเป็นช่วงทบทวนก่อนว่าจะมุ่งไปทางไหนอย่างไรไม่ให้มันเสียเวลาและเกิดความคุ้มค่าที่สุด”
ท้ายที่สุดนี้ ไม่ว่า Podcast จะเป็นมีเดียคลื่นลูกใหม่หรือมีเดียคลื่นลูกเก่า แต่ชัดเจนว่า มันคือปรากฏการณ์ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในแวดวงสื่ออย่างแน่นอน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนสนใจอย่างจริงจังที่จะฟัง และมีคนสนใจที่จะทำอย่างตั้งใจเช่นกัน แต่สิ่งนี้จะเป็นเพียงแค่กระแสที่พัดมาแล้วพัดหายไป ด้วยเพราะรายได้ที่ไม่อาจช่วยจุนเจือหล่อเลี้ยงในยุคที่สื่อต้องดิ้นรน หรือเป็นสิ่งที่อยู่ต่อไปได้อีกยาวนานบนก้าวที่มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ เราอาจตัดสินไม่ได้แค่ เดือนสองเดือน แต่คงติดตามกันในระยะยาวต่อไป.
Copyright© Bsite.In
ABOUT THE AUTHOR
ทีมงาน bsite
Biographical Info