- Lifestyle
ปัญหา “มลพิษขยะพลาสติก” กระทบมนุษย์-สัตว์ วันนี้ หรือ เมื่อไหร่?
By ทีมงาน bsite • on Jul 24, 2018 • 21,541 Views
นิตยสาร National Geographic ได้ตีพิมพ์ภาพถ่ายสุดตะลึงของปัญหาจากขยะพลาสติก (Plastic Pollution) ที่ส่งผลต่อชีวิตสัตว์ ซึ่งได้นำมาตีพิมพ์ในฉบับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ละภาพนั้นชวนให้เราขบคิดว่าหรือนี่เรากำลังทำร้ายเพื่อนร่วมโลกกันอย่างแสนสาหัส โดยที่เราไม่รู้ร้อนรู้หนาวกันแต่อย่างใดเลยหรือ
โดยเฉพาะหน้าปกที่ทำให้เราอึ้งและสื่อความหมายได้อย่างชัดเจนเลยว่า บางทีปัญหาของมลพิษขยะพลาสติกอาจจะใหญ่โตมากกว่าที่เราเห็น เพราะสิ่งที่เราค้นพบนั้นอาจจะเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวเล็กๆ ของยอดภูเขาน้ำแข็งก็ได้
โลกพลาสติก P = Planet or Plastic
ถ้าเช่นนั้นเราลองลองมาลัดเลาะดูใต้ผิวน้ำกันว่า ปัญหามลภาวะขยะพลาสติกมีอะไรซุกซ่อนอยู่ใต้ยอดภูเขาน้ำแข็งบ้าง ซึ่งข้อมูลแต่ละเรื่องนั้นจะทำให้คุณตระหนักถึงปัญหานี้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ว่ามันส่งผลกระทบกับเรามากแค่ไหน
ปัญหาขยะพลาสติก ที่คุณอาจไม่รู้ (แต่) ถ้ารู้แล้วจะช็อค!
- มีปริมาณขยะพลาสติกรอบชายฝั่งมากถึง 18 ล้านปอนด์ ที่ล่องลอยอยู่ในมหาสมุทร ซึ่งเทียบได้กับว่า ในทุกๆ 1 ฟุตเราจะพบถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อ 5 ถุง ตามชายฝั่งทั่วโลก
- 40% ของการผลิตถุงพลาสติก มาจากแพ็กเกจจิ้ง ที่ใช้เพียงแค่ครั้งเดียวแล้วก็ทิ้งไป ส่วนอุตสาหกรรมที่เพิ่มปริมาณขยะพลาสติกได้แก่ “ก่อสร้าง” รองลงมาได้แก่ สิ่งทอ
- นักช้อปปิ้งสหรัฐฯ ใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ย 1 ถุงต่อ 1 วัน ในขณะที่นักช้อปปิ้งเดนมาร์ค ใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ย 4 ถุงต่อ 1 ปี
- อันนี้น่าสนใจมาก ที่พบว่า เกือบครึ่งของถุงพลาสติกที่ผลิตในทุกวันนี้ เริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2000
- ครึ่งหนึ่งของพลาสติกบนโลกนี้ทำจาก “เอเชีย” โดยเป็น จีน 29% เอเชียอื่นๆ 21% ยุโรป 19% และประเทศตามสนธิสัญญา NAFTA (North American Free Trade Agreement) 18%
- ตัวเลขของผลิตทำให้เราทึ่งแล้ว จะอึ้งไปกว่านั้นหากพบว่าสัดส่วนการนำไปรีไซเคิลน้อยกว่า 5 ของพลาสติกทั้งหมดทั่วโลก ทั้งนี้พบว่าสูงสุดที่มีการรีไซเคิล ได้แก่ แถบยุโรป ซึ่งมีประมาณ 30% จีน 25% และสหรัฐฯ มีเพียงแค่ 9% เท่านั้น
- ขวดน้ำดื่มพลาสติกเกือบล้านขวด ถูกขายทุกๆ นาทีเกือบทั่วโลก โดยในปี 2015 เฉพาะที่อเมริกาขายขวดน้ำดื่มพลาสติกสูงถึง 346 ล้านขวดต่อคน
ไทย ปัญหาขยะพลาสติกลำดับที่ 6 ของโลก
ประเทศไทยมีขยะพลาสติกและขยะมูลฝอยในจังหวัดที่ติดทะเลประมาณ 11.47 ล้านตัน เป็นขยะพลาสติก ประมาณ 3 แสน 4 หมื่นตัน มีที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม กิจกรรมบนบก และกิจกรรมทางทะเล ทำให้มีโอกาสปนเปื้อนสู่ทะเลได้ง่าย ทำให้ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุด จาก 192 ประเทศ
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พบว่า ปริมาณขยะพลาสติกในประเทศไทย มีประมาณสูงถึง 2 ล้านตันต่อไป โดยคิดเป็น 20% ของปริมาณขยะทั้งหมด แต่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์น้อยมาก เฉลี่ยนแล้วอยู่ที่ประมาณ 0.5 ล้านตันต่อปีเท่านั้น โดยส่วนที่เหลือนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบหรือเตาเผา และบางส่วนก็ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม! ซึ่งอายุในการย่อยสลายเฉลี่ยประมาณ 450 ปี แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมของเราในระยะยาว หรือถ้าหากนำไปเผาอย่างผิดวิธีก็จะทำให้เกิดมลภาวะโรคร้อนตามมาอีก
นอกจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง ยังเปิดเผยข้อมูล ‘ขยะทะเล’ ในไทย ปี 2558 พบว่า
- 13% เป็นถุงพลาสติก
- 10% เป็นหลอดเครื่องดื่ม
- 8% เป็นฝาพลาสติก
- 8% เป็นภาชนะบรรจุอาหาร
ที่น่าตกใจคือ นอกจากชิ้นส่วนขยะพลาสติที่ล่องลอยในทะเลแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องของ ไมโครพลาสติก ซึ่งเป็นพลาสติกขนาดเล็กมากล่องลอยอยู่ในทะเล ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า แม้แต่แพลงตอนก็ยังดูดซับไมโครพลาสติกนี้ได้ ซึ่งมันจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหาร ที่จะมีสัตว์ทะเลทั้งเล็กและใหญ่มากินกันเป็นทอดๆ และในที่สุดสัตว์ทะเลพวกนี้มนุษย์ก็จะนำมากินเป็นอาหาร ดังนั้น เราจึงหลีกเลี่ยงที่จะไม่ได้รับพิษจากขยะพลาสติกนี้ไม่ได้เลย
5 สัตว์ทะเล ที่อยู่ในภาวะวิกฤตจากมลภาวะพลาสติก
นั่นคือภาพรวมของปัญหามลภาวะขยะพลาสติกที่เราเจอทั้งไทยและทั่วโล แต่ไม่ใช่แค่มนุษย์เราเท่านั้นที่เผชิญ เพื่อนร่วมโลกของเราก็ตกเป็นเหยื่อในสิ่งที่เราผลิตขึ้นมาด้วย ซึ่งนอกจากไปทำลายบ้านของพวกเขาแล้ว ยังไปทำร้ายสุขภาพร่างกายของพวกเขาอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ทะเล
ทั้งนี้ จากการศึกษาของ Plymouth University พบว่า มลภาวะจากขยะพลาสติกส่งผลต่อสัตว์ทะเลอย่างน้อย 700 สปีชีส์ ขณะที่ค่าเฉลี่ยของสัตว์ทะเลระบุว่า อย่างน้อย 100 สัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม เสียชีวิตจากมลภาวะขยะพลาสติก ดังนั้น ลองมาดูว่าสัตว์ชนิดไหนที่อยู่ในภาวะวิกฤติจากปัญหาขยะพลาสติกกันบ้าง
1.เต่าทะเล
ดังเช่น สัตว์ทะเลอื่นๆ เต่าทะเลมักเข้าใจผิดว่าขยะพลาสติกคือแหล่งอาหาร และส่งผลให้พลากสติกเข้าไปปิดกั้นระบบการย่อยอาหาร ซึ่งทำให้มันถึงตายได้ แล้วก็ยังส่งผลต่อประชากรของเต่าทะเลที่ลดลงอีกด้วย ทั้งนี้ ในปี 2013 มีเต่าทะเลมากกว่า 50% กลืนขยะพลาสติก ส่งผลทำให้เกิดอัตราการตายสูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมทั้งยังมีการตรวจวินิจฉัยว่า ลูกเต่าทะเลกว่า 15% กินพลาสติกจนไปกีดขวางระบบการย่อยอาหาร และเป็นสาเหตุทำให้ป่วยจนถึงเสียชีวิต
2.แมวน้ำและสิงโตทะเล
นอกเหนือจากตาข่ายจับปลา เชือกในทะเล เหยื่อตกปลา ฯลฯ ที่เป็นสาเหตุทำให้แมวน้ำและสิงโตทะเลได้รับบาดเจ็บ ก็ยังมีปัญหาขยะพลาสติกอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้สัตว์สองชนิดนี้ป่วย ทั้งนี้ ขยะพวกแพ็กเกจจิ้งและห่วงรัดสิ่งของต่างๆ ส่งผลทำให้เกิดการบาดเจ็บของสัตว์เหล่านี้ โดยผลการศึกษาทางตะวันออกเฉียงใต้ของอลาสก้าและรัฐบริติชโคลัมเบียพบว่า ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาจำนวนประชากรสิงโตทะเล 388 ตัว ได้รับบาดเจ็บจากเศษพลาสติกโดยเฉพาะพวกที่มาจากแพ็กเกจกระป๋องน้ำดื่ม ซึ่งหลายตัวถูกฝังเข้าไปยังผิวหนังของมันนำไปสู่การติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด
3.นกทะเล
เป็นสัตว์ทะเลอีกชนิดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกับปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งส่งผลให้ประชากรนกทะเลเสียชีวิตปีละหลายล้านตัว โดยเฉพา ‘นกอัลบาทรอส’ ที่ส่วนใหญ่กลืนพลาสติกเข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจแต่เกิดจากเทคนิคการล่าเหยื่อของมันเอง ในช่วงที่ดิ่งลงไปดำน้ำเพื่อจับปลาหรือปลาหมึกมากิน ซึ่งเลี่ยงที่จะหลบขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ในทะเลค่อนข้างยาก ทั้งนี้ พบข้อมูลน่าตกใจว่า 98% ของนกอัลบาทรอส จะต้องเคยกลืนพลาสติกเข้าท้อง ซึ่งส่งปัญหาให้กับระบบย่อยอาหารของมัน และหลายตัวก็ไม่สามารถขย้อนออกมาได้
4.ปลา
อาจบอกได้ว่าปลามีความเสี่ยงในเศษไมโครพลาสติกมากที่สุด (ผลการศึกษาของ University of Exeter สหราชอาณาจักร) โดยการกลืนผ่านสายน้ำที่มันใช้ชีวิตอยู่ แม้ว่าการได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติกไม่ต่างจากสัตว์ชนิดอื่น แต่อย่าลืมว่าปลาเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่มนุษย์บริโภค ซึ่งนั่นหมายความว่า เรามีโอกาสที่จะนำไมโครพลาสติกนี่เข้าสู่ร่างกายด้วยเช่นกัน
5.วาฬ และโลมา
ปัญหาค่อนข้างคล้ายกับนกอัลบาทรอส ด้วยความที่ปลาวาฬต้องใช้ปากขนาดกว้างในการหาอาหาร ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงที่จะไม่กลืนพลาสติกเข้าไปด้วยค่อนข้างยาก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ย่อยสลาย และอยู่ภายในท้องของมันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุการเสียชีวิต ซึ่งนอกจากปัญหาลงท้องแล้ว ก็ยังเป็นเรื่องของเน็ตตาข่าย หรือพลาสติกคมๆ บาดตัวบ้างพันตัวบ้างทำให้บาดเจ็บ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทั้งวาฬและโลมาเจอบ่อยๆ
มาช่วยกันลดด้วย 2 มือกันเถอะ
อันที่จริงแล้วเชื่อว่าหลายคนก็คงรู้ดีถึงหนทางในการแก้ ซึ่งเป็นทางออกง่ายๆ แต่เป็นการลงมือกระทำที่ค่อนข้างยาก นั่นก็คือการเริ่มต้นด้วยการ “เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเอง” เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศให้คงไว้ ซึ่งมีหลักการง่ายๆ ที่เราสามารถเริ่มต้นทำได้เลย ดังนี้
1.ทำความสะอาดให้เกลี้ยง
เป็นคำอธิบายด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ชายหาด สวนสาธารณะ ฯลฯ ให้พึงระลึกไว้เสมอว่า ‘จะมาจากไหนก็ไม่ควรทิ้งอะไรไว้’ เปรียบเทียบง่ายๆ ว่าถ้าคุณไปเที่ยวบ้านของเพื่อนบ้านแล้วก็ไม่ควรทิ้งขยะเอาไว้ที่บ้านเขานั่นเอง เพียงแค่นี้ชายหาด ทะเล ป่า ภูเขา สวนสาธารณะ ก็จะสะอาดน่าอยู่ แล้วยังช่วงสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
2.รีไซเคิล
คำนี้เชื่อว่าหลายคนได้ยินมาแต่เด็กแล้ว “รีไซเคิล” เป็นเรื่องง่ายๆ ที่คุณสามารถทำได้ทุกวัน โดยการรีไซเคิลข้าวของภายในบ้านตัวเองให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง หรือแม้แต่การที่คุณใช้ของนอกบ้านที่เป็นพลาสติก ก็ยังสามารถนำติดตัวกลับมาใช้ประโยชน์ที่บ้านได้ ซึ่งเพียงเท่านี้ก็ไม่เป็นการเพิ่มขยะให้กับโลกแล้ว
3.แค่พูดว่า “ไม่”
เข้าใจดีกว่าการใช้พลาสติกทุกวันนี้สร้างความสะดวกสบายให้กับชีวิต และกลายเป็นความคุ้นเคยไปแล้ว หลักง่ายๆ ในข้อนี้เลยก็คือ ปฏิเสธ หรือบอกปัดไปเลย! บอกไม่กับการใช้ถุงพลาสติก ไม่กับการใช้หลอด ไม่ใช้ขวดพลาสติก หันมาใช้ถุงผ้า หรือขวดน้ำดื่มที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ทำทุกๆ หนทางที่จะลดการใช้พลาสติก
ท้ายที่สุด เราหวังว่าทั้งหมดนี้จะช่วยกระตุ้นเตือนให้เราจดจำได้ว่า ปัญหามลพิษขยะพลาสติกไม่ใช่ตื่นตัวแค่ตามกระแส แต่หวังว่าจะกลายเป็นประเด็นสำคัญทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และปัจเจคบุคคล ให้พึงระลึกเสมอว่าสิ่งแวดล้อมที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี สร้างได้ด้วยสองมือของคุณเอง.
Source เนื้อหาและภาพ
https://news.nationalgeographic.com/2018/05/plastics-facts-infographics-ocean-pollution/
https://www.nationalgeographic.com/photography/proof/2018/06/animals-wildlife-plastic-pollution/
https://www.bbc.com/thai/international-44266276
http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/60571/
https://thaipublica.org/2017/03/waste-in-the-sea/
http://www.adfg.alaska.gov/index.cfm?adfg=marinemammalprogram.entanglements
ABOUT THE AUTHOR
ทีมงาน bsite
Biographical Info