- Money
บัตรคนจน | เจาะลึกสวัสดิการรัฐสำหรับคนมีรายได้น้อย ใช้สิทธิ์อะไรได้บ้าง?
By Sanook D Pipat • on Dec 12, 2018 • 3,345 Views
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรียกกันติดปากว่า บัตรคนจน เป็นบัตรในนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปัจจุบันมีผู้มีสิทธิ์ถือบัตรคนจน 14.5 ล้านคนทั่วประเทศ รวมถึงล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติอัดฉีดงบเพื่อบัตรคนจนเพิ่มอีก 38,000 ล้านบาท ทำให้บัตรนี้มีสวัสดิการเพิ่มขึ้นไปกว่าเดิม วันนี้เราเลยขอพาทุกคนมาเจาะลึกบัตรสวัสดิแห่งรัฐว่าของเดิมมีสวัสดิการอะไร? และเพิ่มอะไรใหม่มาบ้าง?
คุณสมบัติของผู้มีรายได้น้อย ที่เข้าเกณฑ์ได้ถือบัตรนี้
1.ต้องมีสัญชาติไทย
2.อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (ต้องเกิดก่อนวันที่ 16 พ.ค. 2542)
3.ว่างงาน หรือมีรายได้ในปี 2559 ไม่เกิน 100,000 บาท
4.ไม่มีสินทรัพย์ทางการเงิน ได้แก่ เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน สลาก ธ.ก.ส. พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ หรือถ้ามีทรัพย์สินทางการเงินดังกล่าวจะต้องมีจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
5.ไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย หรือถ้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
– กรณีที่มีบ้านพร้อมที่ดินที่อยู่อาศัยอย่างเดียว ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา
– ห้องชุดต้องไม่เกิน 35 ตารางวา
– กรณีใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตร หรือหากเป็นที่ดินที่ไม่ทำการเกษตรต้องมีไม่เกิน 1 ไร่
ปัจจุบันปิดให้ลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ของปี 2561 เรียบร้อยแล้ว
สวัสดิการเดิมในบัตรมีอะไรบ้าง?
1.วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ที่จำเป็นสินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าประชารัฐ และ ร้านอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์ กำหนด สำหรับผู้มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้วงเงิน 200 บาท ต่อเดือน และผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อปี จะมีวงเงินซื้อสินค้า 300 บาท ต่อเดือน โดยผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ และผู้สูงอายุสามารถให้บัตรให้สิทธิแก่ผู้ดูแลไปใช้ซื้อของแทนได้ด้วย โดยในทุกวันที่ 1 ของเดือน วงเงินจะถูกปรับเริ่มต้นใหม่อัตโนมัติโดยไม่มีการทบสะสมไปเดือนหน้าแต่อย่างใด
2.วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด โดยจะได้เป็นส่วนลด ก๊าซหุงต้มเป็นจำนวนเงิน 45 บาทต่อ 3 เดือน สำหรับส่วนเกินจะต้องออกเงินเอง ผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ และผู้สูงอายุสามารถให้บัตรให้สิทธิแก่ผู้ดูแลไปใช้ซื้อของแทนได้ด้วย โดยทุก 3 เดือน บัตรจะปรับวงเงินใหม่อัตโนมัติ ใช้ไม่หมดจะไม่ทบไปรอบถัดไป
3.ค่าโดยสารรถ ขสมก./รถไฟฟ้า ใช้สิทธิด้วยตนเอง 1 คนต่อ 1 บัตรต่อ 1 สิทธิ ใช้ชำระค่าโดยสารรถ ขสมก. (ระบบ e-Ticket) / รถไฟฟ้า ได้ 500 บาท ต่อเดือน โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งในการใช้สิทธิ ทุกวันที่ 1 ของเดือนจะปรับวงเงินอัตโนมัติ
4.วงเงินค่าโดยสารรถ บขส. ซื้อบัตรโดยสารรถ บขส. 500 บาท ต่อเดือน โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งในการใช้สิทธิ ทุกวันที่ 1 ของเดือนจะปรับวงเงินอัตโนมัติ
5.วงเงินค่าโดยสารรถไฟ 500 บาท ต่อเดือน โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งในการใช้สิทธิ ทุกวันที่ 1 ของเดือนจะปรับวงเงินอัตโนมัติ
สวัสดิการเพิ่มเติมจากการอัดฉีดรอบใหม่
1.สนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปลายปีคนละ 500 บาท จะได้รับครั้งเดียวในเดือนธันวาคมนี้
2.ช่วยเหลือค่าน้ำ-ค่าไฟ ระยะเวลาตั้งแต่ เดือนธันวาคม 2561 – กันยายน 2562 โดยค่าไฟฟ้า ไม่เกิน 230 บาท/เดือน และใช้น้ำประปา ไม่เกิน 100 บาท/เดือน ต้องใช้ภายในวงเงินเท่านั้น แต่ถ้าหากใช้เกินวงเงินที่กำหนด ผู้ได้รับสิทธิ์จะต้องจ่ายเงินเองทั้งหมด วิธีใช้สิทธิ์คือต้องไปชำระที่ทำการไฟฟ้าและประปา ได้รับสิทธิ์ครัวเรือนละ 1 สิทธิ์
3.ช่วยเหลือค่าเช่าบ้านเดือนละ 400 บาท ระยะเวลาตั้งแต่ เดือนธันวาคม 2561 – กันยายน 2562 จะต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป
4.ค่าเดินทางไปรักษาพยาบาล 1,000 บาท รับสิทธิ์ได้ครั้งเดียว ต้องมีอายุ 65 ปีขึ้นไป
ค่าใช้จ่ายที่ได้เพิ่มมานั้นสามารถกดออกมาเป็นเงินสดได้ด้วย โดยทำรายการที่ ตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทย และใช้บัตร ATM ธนาคารกรุงไทย สอดบัตรเข้าตู้ATM กดเลือกบริการถอน อื่นๆ จากนั้นกดเลือกประเภทของบัตร ATM กด โอน/กระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ ใส่หมายเลขบัตรคนจน 16 หลัก และใส่จำนวนเงินที่ต้องการเติมเข้าบัตร เท่านั้นเงินก็จะเข้าบัตร ATM ของเราแล้ว หรือสามารถทำรายการได้ที่สาขาของธนาคารได้ด้วยเช่นกัน
หากบัตรคนจน สูญหาย หรือชำรุด ให้ผู้มีสิทธิติดต่อที่สาขาของ บมจ.ธนาคารกรุงไทย โดย บมจ.ธนาคารกรุงไทย จะแจ้ง กรมบัญชีกลาง เพื่อตรวจสอบสิทธิ และ บมจ.ธนาคารกรุงไทยจะดำเนินการออกบัตรใหม่
ทั้งนี้ กรมบัญชีกลาง แจ้งว่า ประโยชน์ของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นการช่วยเหลือจากภาครัฐ และส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนในการใช้จ่ายชำระสินค้าในรูปแบบ e-Payment มากขึ้น ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)
Copyright© Bsite.In
ABOUT THE AUTHOR
Sanook D Pipat