- Lifestyle
“เราขอกัดฟันสร้างใหม่ โดยที่คงบุคลิกของเดิมอยู่” ความในใจของ ‘ชนินทธ์’ ทายาทผู้สร้างดุสิตธานี
By ทีมงาน bsite • on Dec 03, 2018 • 2,008 Views
โรงแรมดุสิตธานี โรงแรมเก่าแก่ของไทย ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติหรือคนไทย เพียงแค่หลับตาพูดชื่อก็ยังคงจำได้ดีถึงภาพความสง่างามของตึกโรงแรมที่สวยสง่าประดับด้วยยอดแหลมสูงสีทองเอกลักษณ์โดดเด่น และ ณ ที่นี้นี่เองคือแลนด์มาร์คสำคัญของกรุงเทพมหานคร
และอย่างที่หลายคนคงทราบแล้วว่า เร็วๆ นี้ โรงแรมเก่าแก่ซึ่งมีอายุมากกว่า 50 ปี กำลังเตรียมการปรับปรุง คำว่า “รื้อ” “ทุบ” ถูกเข้ามาใช้กับสถานที่แห่งนี้ แต่กลายเป็นคำที่เหมือนกำลังทุบเข้าไปที่หัวใจของคนไทยหลายคน คนไทยที่มองเห็นคุณค่าของอาคารแห่งนี้ แม้จะเป็นทรัพย์สมบัติของเอกชน แต่คนไทยมากมายก็รู้สึกหวงแหนโรงแรมเก่าแก่ที่เป็นหน้าตา เป็นเสมือนบ้านอันอบอุ่นที่คอยต้อนรับอาคันตุกะนานาประเทศมาอย่างช้านาน ดังนั้น คำว่า “อนุรักษ์” จึงเข้ามาแทนที่อย่างเต็มใจ
“ผมได้รับจดหมายด่าทอต่อว่ามากมาย จดหมาย ผมหมายถึงจดหมายจริงๆ ที่ส่งทางไปรษณีย์ มีบ้างที่เป็นมีเมล์ ส่งมาต่อว่าผมว่าคิดได้อย่างไรที่จะทุบโรงแรมดุสิตธานี คำพูดหนึ่งที่ผมจำได้ไม่ลืมเลยก็คือ จดหมายฉบับหนึ่งเขียนบอกว่า โรงแรมดุสิตธานีไม่ใช่ของบริษัทดุสิตฯ แต่เป็นของคนไทย คุณไม่มีสิทธิที่จะมาทุบทำลาย” ชนินทธ์ โทณวณิก กล่าว
ชนินทธ์ โทณวณิก รองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และเป็นทายาทโดยตรงของ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี กล่าวในงานแถลงข่าวความร่วมมือระหว่าง บ.ดุสิตธานีฯ จับมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อประกาศความร่วมมือในการศึกษา วิจัย อนุรักษ์ และการเก็บบันทึกประวัติศาสตร์ในทุกมิติของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาก่อนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ชนินทธ์ กล่าวว่า เป็นความตั้งใจของคุณแม่ตั้งแต่ต้นที่จะต้องสร้างโรงแรมของคนไทย ที่มีความเป็นไทย เพื่อคนไทย แม้แต่ตอนตั้งชื่อหลายคนก็คัดค้านว่าทำไมตั้งชื่อไทยจะทำให้ต่างชาติเรียกยาก แต่ท่านบอกว่าในเมื่อเราได้ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 ดังนั้น เราจะใช้ชื่อว่า “ดุสิตธานี” คุณแม่ยืนยันว่าจะใช้ชื่อไทยเท่านั้น แม้แต่ห้องอาหารที่ทำ ท่านก็ตั้งใจว่าห้องอาหารที่ดีที่สุดใช้งบประมาณในการสร้างสูงที่สุดก็ต้องเป็นห้องอาหารไทย นั่นจึงทำให้ห้องอาหารเบญจรงค์ของเราทรงคุณค่ามากที่สุด ไม่ใช่เพราะเราลงทุนเยอะแต่เป็นเพราะมันคือห้องอาหารไทย
“เพราะความเป็นไทยคือสิ่งที่แท้จริง เป็นสิ่งที่เราเป็น เราไม่อยากเป็นคนอื่น”
ชนินทธ์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่นำมาสู่ความร่วมมือครั้งนี้ว่า ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย คุณแม่ได้สร้างโรงแรมดุสิตธานีแห่งนี้เพราะเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในเวทีระดับโลก ซึ่งท่านคิดว่าการสนับสนุนที่ดีที่สุดคือ การสร้างโรงแรมที่โดดเด่นและดีที่สุดตามมาตรฐานสากล โดยยึดขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมไทยเป็นหลักเพื่อให้กรุงเทพฯ ปรากฏอยู่บนแผนที่ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโรงแรมดุสิตธานี ได้สร้างความประทับใจให้กับแขกที่มาเยือนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทั้งในเรื่องของการบริการและการดูแลรวมถึงการเป็นอาคารอันเป็นสัญลักษณ์แห่งยุคสมัยด้วยสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว
“ดังนั้น เมื่อจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงผมจึงต้องการที่จะเก็บรักษาส่วนต่างๆ ของโรงแรมดุสิตธานีที่มีคุณค่าทางจิตใจและทางประวัติศาสตร์ไว้ให้ได้มากที่สุดสำหรับคนรุ่นหลังให้ไว้ศึกษา เพราะผมเชื่อว่าอดีตคือแรงบันดาลใจสู่อนาคตที่ยั่งยืน”
ชนินทธ์ กล่าวว่า เราคุยกันเรื่องนี้มานานกว่า 5 ปีแล้วไม่ใช่ว่าเราสู้กับคนอื่นไม่ได้ แต่ว่าแต่ละตึกนั้นถูกออกมาแบบมาอย่างดีเมื่อ 50 ปีก่อน ห้องพักขนาด 30 ตารางเมตร มันคือห้องพักที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ แต่ตอนนี้ที่มีโรงแรมใหม่ๆ ขึ้นมากมาย ไซส์ขนาดนั้นตอนนี้ก็ถือว่าเล็กไป ดังนั้น เพื่อให้สู้กับการแข่งขันในปัจจุบันได้และยืนยันความเป็นโรงแรมของคนไทยเพื่อคนไทย เราได้ทำการปรับปรุงในทุกทาง ทั้งการรวมห้อง 2 ห้องรวมกัน แต่บางห้องก็ไม่สามารถทำได้เพราะด้วยโครงสร้างในอดีต และการวมห้องเองก็ค่อนข้างยากมากทีเดียว ดังนั้น เราก็มานั่งคิดว่าอะไร ที่สำคัญที่สุด และดีที่สุดมันคืออะไร
“เราก็เลยขอกัดฟันสร้างขึ้นมาใหม่ โดยที่ยังคงบุคลิกของโรงแรมเดิมอยู่ ดั่งที่คุณแม่ปลูกฝังเอาไว้ 50 กว่าปีก่อน เพื่อให้เราสามารถแข่งขันกับคนอื่นๆ ได้ต่อไป และเราก็เชื่อมั่นว่าโรงแรมเราเป็นที่ 1 ได้อย่างสบาย”
ด้าน ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติมากที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเก่าแก่และมีความโดดเด่นในด้านศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องการกับอนุรักษ์และเผยแพร่มรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมทุกแขนง ให้ความสนใจร่วมมือกับเราในการเก็บบันทึกเรื่องราวของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ในช่วงเปลี่ยนผ่านให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา และอนุรักษ์ความทรงจำที่เปี่ยมความหมายให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในอีก 4 ปีข้างหน้าเมื่อโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่เปิดให้บริการ
จุดเด่นของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โฉมใหม่ จะเป็นการหลอมรวมระหว่างการเป็นโรงแรมที่มีรากฐานที่แข็งแกร่ง มีประวัติศาสตร์และมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังคงบุคลิกความเป็นไทยร่วมสมัยในแบบดุสิตธานี โดยเรามีความตั้งใจที่จะนำชิ้นงานศิลปะสำคัญ ๆ และองค์ประกอบดั้งเดิมบางส่วนของดุสิตธานี กรุงเทพฯ อาทิ งานไม้สักทองแกะบนฝ้าเพดาน เสาเพ้นท์ลายไทยและภาพจิตรกรรมที่ห้องอาหารเบญจรงค์ ต้นไม้ เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้กระทั่งงานตกแต่งเปลือกอาคาร เป็นต้น ไปอยู่ในโรงแรมแห่งใหม่ด้วย โดยเรามีความคิดที่จะทำห้องแกลอรี่จัดแสดงประวัติความเป็นมา และผลงานศิลปะต่างๆ ของโรงแรมดั้งเดิมนำมาจัดแสดงด้วยภายหลังการปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญเราจะทำโมเดลขนาดย่อ 2 เมตร ตามสัดส่วนจริงมาจัดแสดงไม่เฉพาะแค่ตัวโรงแรม แต่เป็นภูมิทัศน์ทั้งหมดของโรงแรม
“ทั้งหมดนี้เพื่อให้แขกใหม่ ๆ และลูกค้าประจำที่ผูกพันกับโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ รู้สึกอบอุ่นคุ้นเคยเหมือนเดิมเมื่อย่างเท้าเข้ามาในโรงแรมดุสิตธานีแห่งใหม่ ยืนยันว่าโรงแรมที่จะทำการปรับปรุงใหม่ จะยังคงบุคลิก เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ แบบเดิมที่ทรงคุณค่าจะยังคงเก็บไว้อย่างแน่นอน”
เร็วๆ นี้เราคงได้มีโอกาสเห็นอีกหนึ่งตำนานบทใหม่จาก “ดุสิตธานี”
จุดหมายปลายทางที่เป็นทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต.
ภาพประกอบด้านบน ผลงานของ อ. ศุภวัฒน์ วัตนภิโกวิท
Copyright© Bsite.In
ABOUT THE AUTHOR
ทีมงาน bsite
Biographical Info