- Lifestyle
ฝุ่น PM 2.5 จะผ่านไป แล้วไงต่อ? ในมุมความคิดของนักออกแบบอาคาร
By ทีมงาน bsite • on Jan 29, 2019 • 2,039 Views
จับกระแสฝุ่น PM 2.5 รับมือวิกฤตร้าย นำทัพโดยประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมนักวิชาการมากมาย หาแนวทางแก้ไขปัญหา สร้างตึกอย่างไรให้ปลอดภัยจากวายร้าย 2.5 และบทบาทปัจเจกกับสภาพแวดล้อมไทย
สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมแห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนาพิเศษเรื่อง “ฝุ่น PM 2.5 จะผ่านไป แล้วไงต่อ?” โดยได้พูดถึงแนวทางการออกแบบเมือง อาคาร บ้านพักอาศัย เพื่อรับมือวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 จากมุมมองด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อันธิการ สวัสดิ์ศรี ประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า ทำไมสถาปัตยกรรมและการออกแบบถึงมาพูดเรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นกระแสบนโลกโซเชียลมีเดีย โดยให้เหตุผลว่า เพราะวิกฤตฝุ่นนั้นเกี่ยวข้องกับบุคคลในทุกภาคส่วน ไม่เพียงแค่สถาปัตย์เท่านั้น และมีโอกาสที่จะซึมซับเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมจึงนำมาช่วยในการป้องกันและปกป้องคนในครอบครัวจากละอองฝุ่นได้
จากข่าวทางโซเชียล ผลกระทบจากฝุ่นดังกล่าวมีมากมาย ทั้งโรคปอด และโรคทางเดินหายใจต่าง ๆ รวมไปถึงภาวะทางจิต เช่น เกิดความกลัว การแก้ไขปัญหาระยะสั้นอาจจะเป็นหน้าของตัวบุคคล เช่น การหาหน้ากากมาใส่ หรือไปพบแพทย์ แต่ในระยายาวเป็นหน้าที่ของเรา สถาปนิก ในการออกแบบอาคารบ้านเรือนเพื่อรับมือเหตุการณ์นี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการ เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ปอดของพวกเขาทำงานฟอกอากาศได้ไม่ดีเท่ากับคนอื่น ๆ จึงต้อได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
ผศ. ดร. อันธิกาได้กล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจในการออกแบบ คือการออกแบบบ้านซึ่งเป็นหน่วยที่อยู่อาศัยที่ใกล้เรามากที่สุดและเล็กที่สุด เราสามารถทำอะไรกับบ้านของเราได้บ้าง เครื่องกรองอากาศ การออกแบบอาคารโดยดูทิศทางของแดดและลม การเอาต้นไม้มาช่วยในการกรองอากาศ โดยกล่าวเสริมในประเด็นเรื่องฝุ่นเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่เพียงแค่รถยนต์ที่สร้างฝุ่นดังกล่าวอย่างเดียว สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สร้างฝุ่นด้วยเช่นกัน เช่น บ้านที่ไม่ได้ทำความสะอาดเป็นเวลานาน หรือช่องเล็ก ๆ ระหว่างเฟอร์นิเจอร์ ดังนั้นต้องวางให้มีช่องเปิดรับลม เช่น ห้องนอนผู้สูงอายุ ตอนแรกตั้งไว้ในทางทิศตะวันออก หรือเหนือ เพื่อรับลมและอากาศที่ถ่ายเท ช่วยในการหายใจ อาจต้องเปลี่ยนมาตั้งไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้แทน และเอาต้นไม้มาช่วยในการกันลมพัดพาฝุ่นมา โดยหาต้นไม้ที่ไม่ต้องการแดดจัดและสามารถดักจับฝุ่นได้
ผศ. ดร. อันธิกา กล่าวเสริมว่าจากงานวิจัยการนำต้นไม้มาช่วยกรองอากาศ ช่วยสร้างความขื้น โดยต้องดูว่าต้นไม้ประเภทไหนช่วยกรองฝุ่น 2.5 ได้ โดยดูที่ใบ ใบที่ดีต้องมีสักษณะคล้ายใบสน ใบเล็กแหลม และแน่น แต่บ้านเรามีต้นไม้ประเภทนี้ไม่เยอะ จึงแนะนำให้ปลูกต้นเข็มเล็ก ช่วยในการดักจับฝุ่นได้ โดยเฉพาะในเมืองที่มีการชุมนุมของฝุ่นเป็นจำนวนมาก ควรตกแต่งด้วยต้นไม้ โดยอาจจะนำมาประดับตกแต่งผนัง แทนการใช้กระเบื้อง และยังเป็นอีกหนทางที่ช่วยให้เมืองร่มรื่นและเพิ่มความชื้นในอากาศมากขึ้นอีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภูมิสถาปนิก กล่าวเสริมด้านภูมิสถาปัตย์ว่า เมืองมีความหนาแน่นค่อนข้างสูง และมีพื้นที่สีเขียวน้อยต่อพื้นที่ทั้งหมด เช่น ในกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพียง 10% ต่อพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งหากเปรียบเทียบกับ สิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียว 47% ต่อพื้นที่ทั้งหมด การวางเมืองในพื้นที่ว่างให้มีพื้นที่สีเขียวเพื่อกรองฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศมีความจำเป็น โดยกรุงเทพฯ มีความหนาแน่นสูงแต่ช่องว่างน้อยมาก ทำให้ช่วงที่มีปัญหาด้านมลภาวะ จึงสร้างปัญหา และส่งผลกระทบต่อเราอย่างมาก ซึ่งภูมิสถาปนิกจึงมาช่วยในเรื่องดังกล่าว ในการจัดการพื้นที่สีเขียว เช่น การสร้างเมืองอยู่ในสวน ซึ่งพื้นที่สีเขียวควรมี 9 ตร.ม./คน และควรกระจายและแทรกในตัวเมืองให้ช่วยเป็นฟิลเตอร์กรองอากาศ ซึ่งในยุทธศาตร์ 20 ปี ก็มีพูดถึงพื้นที่สีเขียว แต่อยู่ในช่วงเริ่มต้น อาจจะต้องเริ่มปรับปรุงยุทธศาสตร์ให้เร็วขึ้นต่อไป
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พลเดช เชาวรัตน์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในประเทศเยอรมนีนั้นมีปัญหาฝุ่นมาก่อนเราหลายปี โดยเยอรมนีเป็นประเทศอุตสาหกรรม จึงเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดวิกฤตการณ์ดังกล่าว การปรับที่ผังเมือง การพัฒนาระดับย่านจึงมีความสำคัญและต้องรีบเร่งแก้ไข เช่น การปรับให้แหล่งอำนวยความสะดวกเดินไปถึงได้ โดยไม่ต้องใช้รถ การใช้แนวคิดเมืองต้องเติบโตพร้อมพื้นที่สีเขียว คนเดินไม่เกิน 500 เมตรต้องเจอต้นไม้ เจอสวน เพราะสัตว์และแมลงทำหน้าที่สำคัญในระบบนิเวศน์ การเพิ่มและลดอุณหภูมิในเมืองนอกเมือง และระบบการขนส่ง มีการจำกัดการใช้รถยนต์ ห้ามรถยนต์ที่ไม่มีมาตรฐานเข้าเมืองในโซนที่กำหนด และใช้จักรยานในการเดินทางมากขึ้นหากมีการปรับผังเมือง
ผศ. อาสาฬห์ กล่าวเสริมว่านี่เป็นโอกาศในการปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของคนในสังคม หากไม่มีปัญหาก็จะไม่มีทางแก้ไข เราสามารถนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วย เช่น การกรองอากาศจากข้างนอกสู่ข้างใน เช่น การใช้ ภูมิทัศน์ข้างนอกเพื่อกรองอากาศ และนำเข้าสู่ภายในบ้าน
ผศ. ดร. พลเดช กล่าวเพิ่มเติม งานนี้ไม่ใช่เพียงเราคนเดียว ทุกคนมีส่วนรวมกันหมด เรามามองตัวเองว่าเราทำให้สิ่งแวดล้อมกระทบอะไรบ้าง หันมาดูแลบ้านตัวเอง ทำความสะอาดรถยนต์นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยส่งคม ทำหน้าที่ต่อตัวเองและสังคม
โดย ผศ. ดร. อันธิกา กล่าวสรุปว่า เมื่อเกิดวกิฤตที่เกี่ยวข้องกับทุกคน เราควรมาดูตัวเอง ทำอะไรได้บ้าง เพราะทุกคนมีบทบาทและหน้าที่ในตนเองต่อสังคม สื่อทุกท่านมีส่วนช่วยในการให้ข้อมูล เพราะเป็นกระบอกเสียง ให้คนตระหนักไม่ใช่ตระหนก ค่อย ๆ ทำไปทีละก้าว ประชาชนกับรัฐช่วยกัน รัฐก็มีงานน้อยลง โดยในวันนี้ เริ่มจากตัวเองก่อน ทำความสะอาดบ้านของตนให้สะอาด เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ที่ทุกท่านสามารถทำเองได้ที่บ้านของตน
ABOUT THE AUTHOR
ทีมงาน bsite
Biographical Info