- Lifestyle
ทำไม รับน้อง ยังคงมีอยู่? จำเป็นไหมที่ต้องมีคนเสียชีวิต? แล้วจริง ๆ มันเลิกไม่ได้ หรือไม่ยอมเลิก
By DiamondP • on Mar 16, 2022 • 735 Views
วันนี้เรามาชวนคิดกัน กับ การรับน้อง ที่กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง หลังจากที่มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน ที่เสียชีวิตจากการร่วมกิจกรรมรับน้อง โดยข่าวก็ได้ระบุรายละเอียดของกิจกรรมในการรับน้องนี้ ว่ามีทั้งการบังคับให้ถอดเสื้อผ้า และการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อแลกกับสิ่งที่เรียกว่า ‘รุ่น’ ต้องยอมรับจริง ๆ เราได้เห็นข่าวลักษณะนี้วนมาทุกปี และกระแสการต่อต้านการรับน้องก็รุนแรงและเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าหลายมหาวิทยาลัยจะออกมาประกาศว่าตัวเองไม่ได้อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ แต่เราก็ยังเห็นข่าวลักษณะนี้ออกมาเรื่อย ๆ จนเกิดคำถามขึ้นมาตะงิด ๆ ว่า ไอ้การรับน้องเนี่ย มันเลิกไม่ได้ หรือไม่ยอมเลิกกันแน่??
ก่อนอื่นเราต้องย้อนกลับไปถึงรากของการรับน้องกันก่อน มันมาจากคำ 5 คำด้วยกันนั่นคือ Seniority ,Order ,Tradition ,Unity ,Spirit ย่อสั้น ๆ เป็นคำว่า SOTUS (โซตัส) คำ ๆ นี้ถูกใช้เป็นแก่นในการจัดกิจกรรมรับน้องมาโดยตลอด เพื่อปลูกฝังค่านิยมแบบอำนาจนิยม จากผู้ที่มีความอาวุโสกว่า ส่งต่อประเพณี และวัฒนธรรมร่วมที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย หรือคณะการเรียนของตัวเอง หลายสิ่งหลายอย่างได้รับการสืบทอดส่งต่อกันมาเป็นรุ่นสู่รุ่น หลายครั้งไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคหรือสมัยที่เปลี่ยนไป เพียงแค่รับมาแล้วส่งต่อไปแบบเดิม โดยหวังว่ารุ่นน้องรุ่นใหม่จะได้รับ และได้ผลแบบเดียวกับสิ่งที่ตัวเองได้ประสบมา
หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ดี ในขณะที่หลายเรื่องมันก็เลยเถิดจนเกินความเหมาะสม สิ่งหนึ่งที่น่าวิตกก็คือ อาจารย์บางท่านในมหาวิทยาลัยเองก็เป็นผลผลิตจากกระบวนการรับน้องลักษณะนี้ สวมฐานะของรุ่นพี่เข้าไปอีกบทบาท จนสามารถเข้ามามีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กิจกรรมนี้ยิ่งฝังรากลึกลงไปในสังคมมหาวิทยาลัยยิ่งกว่าเดิม แล้วถ้าเราลองสังเกตดูดี ๆ วัฒนธรรมแบบนี้มันสะท้อนวัฒนธรรมไทยของเราได้ไม่น้อยเลย เราอยู่ในสังคมที่ยึดถือการเคารพผู้อาวุโส ดำเนินชีวิตตามประเพณี แต่ทั้งหมดมันต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณที่ถูกต้องเหมาะสม โดยมีพื้นฐานของการเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น
การเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ควรจะต้องหยิบมาเป็นปัจจัยในการจัดกิจกรรมด้วยเช่นกัน หากติดตามข่าวสาร เราก็คงพอจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงแล้วบ้างในหลายมหาวิทยาลัย ที่มีการปรับกิจกรรมให้มีความสอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น เน้นไปที่กิจกรรมที่สามารถให้ประโยชน์ในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย หรือสามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งสิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างชัดเจนก็คือ การเปลี่ยนจุดให้ความสำคัญ จากการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง เป็นการให้ความสำคัญกับสิ่งที่รุ่นน้องควรจะได้รับจริง ๆ
การให้ความสำคัญกับสิ่งที่รุ่นน้องควรจะได้รับ… นี่ไม่ใช่เหรอที่ควรจะเป็นปัจจัยสำคัญตั้งแต่แรก
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกิจกรรมรับน้องนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากคนกลุ่มเดียว แต่ควรเกิดขึ้นจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ตั้งแต่ระดับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ส่งต่อมาที่ระดับมหาวิทยาลัย ระดับคณะ ระดับอาจารย์ และระดับนิสิตนักศึกษา ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น จริง ๆ แล้วถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ สิ่งที่เราโดนทำมาแล้วเราไม่ชอบ ก็ไม่ควรไปทำกับคนอื่น เท่านั้นเอง
ส่วนคำถามสุดท้ายว่า การรับน้องจำเป็นต้องมีคนเสียชีวิตไหม? ตอบได้แบบไม่ต้องคิดเลยว่า… ไม่มีความจำเป็นเลยสักนิดเดียว
ABOUT THE AUTHOR
DiamondP
คนอยากเขียน กับความสนใจเยอะแยะ และเราเชื่อว่า คนทุกคนเท่าเทียมกัน