นาทีนี้ไม่มีซีรีส์วัยรุ่นเรื่องไหนจับความสนใจคนดูได้เท่าซีรีส์เรื่อง “เด็กใหม่” ซึ่งปัจจุบันฉายทุกวันพุธ ทางช่อง GMM 25 และหลังออนแอร์จบครบ 13 ตอนก็จะถูกนำไปออกอากาศฉายทาง Netflix ทันทีพร้อมกันหมด โดยที่จะมีการนำไปรีรันหรือออกอากาศซ้ำที่ไหนเลย
อย่างไรก็ตาม อาจพอบอกได้ว่าเป็นซีรีส์สายพันธุ์ใหม่ที่เราไม่เคยเห็นรสชาติแบบนี้มาก่อนในซีรีส์เรื่องไหนของไทย ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่อง การปูพื้นตัวละคร โดยเฉพาะกับตัวละครนำที่เราไม่แน่ใจว่าเธอเป็น “นางเอก” หรือ “นางร้าย” กันแน่? นั่นยิ่งส่งให้ซีรีส์เรื่องนี้โดดเด่นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทั้งโลกออฟไลน์และออนไลน์ต่างกล่าวขวัญถึง “แนนโน๊ะ” ตัวละครเอกจากเรื่อง ที่สร้างสีสันใหม่ให้กับวงการ
ที่สำคัญเกิดการตั้งคำถามมากมายถึงการกระทำของ “แนนโน๊ะ” ว่า มันสมควรแล้วหรือ ไปจนถึงมันสาสมแล้วหรือยัง? และว่ากันว่าเป็นละครที่เผยด้านมืดของผู้หญิงออกมาได้อย่างอย่างชัดเจนที่สุดด้วย
Bsite.In เราได้มีโอกาสคุยกับทีมที่อยู่เบื้องหลังผลงานชิ้นนี้ ที่ไม่น่าเชื่อว่านี่คือครั้งแรกในการทำงานด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ของพวกเธอ ได้แก่ ดมิสาฐ์ องค์ศิริวัฒนา Co-Founder & Executive Creative Director, วรุณพร ตรีเทพวิจิตร Creative Director & Script Conductor, นพรัตน์ เอกสุวรรณเจริญ Creative Group Head & Art Commander, วรางค์รัตน์ รัตนบำรุง Copywriter & Word Vending Machine, รุจรดา เรียนวัฒนา Copywriter & Part-Time Art Director และ สุธินี เศรษฐ์สวรรค์ Art Director & Space Minister จาก Sour Bangkok เอเจนซี่รสชาติเปรี้ยวแซ่บของผู้หญิงยุคใหม่ ที่วันนี้พวกเธอกล้าที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง และกลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับวงการเอเจนซี่อีกด้วย
ดมิสาฐ์ เล่าจุดเริ่มต้นงานครั้งนี้ว่า มาจากการชักชวนของ ภาวิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิก ซึ่งเคยร่วมงานกันมาก่อนสมัยที่ทำอยู่ บริษัท โอกิลวี่ (บริษัทเอเจนซี่โฆษณา) ชักชวนให้มาทำหลังจากได้รับโจทย์มาจาก ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด ว่า ต่อไปนี้แกรมมี่จะต้องขยายฐานเป็นคอนเทนต์โพรไวเดอร์ให้ได้ในควอลิตี้ระดับอินเตอร์เนชันแนล เป็นที่มาของการได้มาทำงานร่วมกันอีกครั้ง
“วันสุดท้ายที่ออกจากโอกิลวี่ แกก็มาถามเลยตอนตี 2 ว่า ไปไหน ทำอะไร อยากมาทำซีรีส์ไหม เป็นซีรีส์เกี่ยวกับผู้หญิง ซึ่งมาจากฐานคนฟังของแกรมมี่กลุ่มหลักคือผู้หญิงอายุ 15-34 ปี ซึ่งเราก็มองว่าทาร์เก็ตมันแมทช์กับโพสิชั่นของเราพอดี ก็เลยโดนแกหลอกให้มาทำ ด้วยการพาไปเลี้ยงข้าวซะหลายมื้อ (หัวเราะ) ตอนนั้นก็คิดโง่ๆ ง่ายๆ เลยว่า เราเองก็ทำงานโฆษณามาก็เยอะ มันคงไม่ต่างกันหรอกมั้ง อาจจะแค่เหนื่อยกว่า ก็แค่เวลายาวขึ้น หรืออาจจะง่ายกว่าด้วยก็คงมันดี แต่ที่ไหนได้”
ศาสตร์สองศาสตร์ ที่โดนลองของ
ดมิสาฐ์ องค์ศิริวัฒนา Co-Founder & Executive Creative Director
อย่างที่ “ดมิสาฐ์” บอกมันไม่ง่ายเลย เพราะ ‘ ศาสตร์โฆษณา ’ และ ‘ ศาสตร์งานเอนเตอร์เทนเมนต์ ’ มันคนละเรื่องเลยทีเดียว นั่นทำให้การ ‘ ลองของ ’ ของทีม Sour Bangkok เหมือนกับโดนของเข้าไปเลย
นพรัตน์ กล่าวเสิรมว่า คือมันคนละศาสตร์กันเลย แต่ตอนแรกที่ออกมาจากโอกิลวี่ฯ กับพี่เล็กคือตั้งใจจะมาทำอะไรที่มากกว่าแค่งานโฆษณาอยู่แล้ว เราอยากทำคอนเทนต์ที่ทาร์เก็ตเป็นผู้หญิงเฉยๆ ตรงนี้ก็เลยคิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่ได้สื่อสารอะไรบางอย่างออกมาที่ไม่ใช่แค่โฆษณา แต่พอทำงานก็รู้เลยว่ามันคนละศาสตร์กันโดยสิ้นเชิง
ดมิสาฐ์ ช่วยขยายความว่า มันต่างกันตรงที่ถ้าเป็นโฆษณามันมี Marketing objective ว่าแคมเปญนี้เราทำเพื่ออะไรไดรฟ์เซลล์หรือแบรนด์ดิ่ง แต่ในขณะที่ซีรีส์เราทำเพื่อเอนเตอร์เทนเมนต์อย่างเดียวเลย โดยสิ่งที่พี่เจ๋อบรีฟมาก็คือ ‘ ให้ซื้อใจคนดู ’ ทำยังไงก็ได้ที่ทำให้คนดูได้รับเอนเตอร์เทนเมนต์ในแบบที่เขาอยากจะได้ ดังนั้น กรอบในการทำงานมันเลยต่างกันมาก เช่น แทนที่เราจะต้องมานั่งคิดว่าเสื้อตัวละครจะต้องสีอะไรเพื่อสะท้อนแบรนด์ แต่อันนี้เสื้อมันจะเป็นอะไรก็ได้แต่มันต้องขาดนะเพราะมันโดนข่มขืนมา
“คือสุดท้ายแล้ว มันทำเพื่อตอบมาร์เก็ตติ้ง หรือเพื่อตอบคนดู แค่นี้ความคิดมันก็ต่างกันแล้ว”
แต่ทว่าสิ่งที่ให้ซีรีส์เรื่องนี้พิเศษและแตกต่างไปจากเรื่องอื่นก็เพราะ ‘ ศาสตร์โฆษณา ’ ที่ถูกนำมาใช้ในเอนเตอร์เทนเมนต์ ดมิสาฐ์ ย้ำว่ามันคือ วิธีการโปรโมท ถ้าทำในแบบโรงเรียนเอนเตอร์เทนเมนต์วิธีการโปรโมทคือ จะเอาความบันเทิงเอาความสนใจเป็นที่ตั้งเอาที่คอนซูเมอร์อยากฟัง แต่พอเป็นศาสตร์ของโฆษณาเราใช้วิธีพลิกความคิดจากโฆษณา ทั้งคุณภาพของภาพ แมททีเรียลต่างๆ เราทำในรูปแบบโฆษณาเลย
“อย่างที่มาของ “เด็กใหม่” คือมาจาก 13 ความจริงที่ผู้หญิงเป็นเหยื่อ นั่นคือจุดกำเนิดของ “แนนโน๊ะ” ซึ่งตรงนี้เราจะหาไม่ได้เลยจากนิยายหรือซีรีส์ใดๆ เพราะว่าในแง่ตัวละครทุกคนคือต้องเกิดมาจาก ‘ การคลอดของแม่ ’ วิธีการกำเนิดของตัวละครก็ต่างกันแล้ว ตรงนี้ค่อนข้างมีความเป็นโฆษณามากกว่า คอนเซ็ปต์มันถูกห่อหุ้ม เพราะฉะนั้นในแง่เมสเสจการโปรโมท แทนที่เราจะหยิบเอาโค้ทเด็ดที่ในซีรีส์พูดแล้วมันแรงดีเอามาเล่นเหมือนเรื่องอื่นๆ เราก็ไม่ทำแบบนั้น แค่วิธีการโปรโมทมันก็ไม่ใช่แล้ว”
แก้แค้นแบบผู้หญิง เซ็กซี่ และโคตรเท่
นพรัตน์ เอกสุวรรณเจริญ Creative Group Head & Art Commander
จากที่ตั้งโจทย์ไว้ว่า ต้องการสร้างซีรีส์เพื่อผู้หญิงในมุมมองของผู้หญิง วรุณพร บอกว่า เราตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดีมาก เพราะจากการมอนิเตอร์ในเฟซบุ๊กก็พบว่าโพสต์ส่วนใหญ่จะได้รับความสนใจจากผู้หญิงอายุ 18-25 ปี
นั่นเป็นเพราะมีการใส่อินเนอร์ความเป็นผู้หญิงลงไป มีการทวิสต์บิดมุมมองให้เป็นผู้หญิงมากขึ้น โดย ดมิสาฐ์ ยกตัวอย่างลงไปให้ชัดมากขึ้น เช่น บางบทเราอ่านแล้วเอ๊ะ! ทำไมมันคิดล้างแค้นแบบผู้ชายจัง คือตอนโดนข่มขืนในมุมผู้ชายก็จะเขียนให้ว่าเป็นการกราดยิงไปเลย แต่ผู้หญิงเราไม่ได้อยากเห็นหนังแอ็คชั่นขนาดนั้น แต่เราอยากเห็นการเอาคืนกลับแน่นอน แต่เป็นในมุมที่ยั่วยุอารมณ์และเซ็กซี่กว่า เป็นสิ่งที่พอผู้หญิงด้วยกันเห็นแล้วมีความรู้สึกว่า เออ.. เท่จังเลย
งบฯ จำกัดแต่งานสร้างอลังการ ความฉิบหายที่บังเกิด
วรุณพร ตรีเทพวิจิตร Creative Director & Script Conductor
เมื่อถามถึงอุปสรรคในการทำงาน ดมิสาฐ์ เล่าว่ามันคือตัวเรานี่แหละ เพราะเราเคยทำงานโฆษณาที่มีบัดเจ็ทใหญ่มากมาก่อน แต่พอเป็นละครงบฯ มันน้อยกว่าเท่าตัว แต่ความงี่เง่าของพวกเราคือยังคงคาดหวังงานบนงบฯ ที่เท่ากับงานโฆษณา ซึ่งมันยากมากและเหนื่อยมาก
“ตอนที่เราวางโครงสร้างกันเราก็คิดว่าเอ้ย น่าจะง่ายทำหนังเป็นตอนๆ จบ ก็ไม่เห็นจะยากเลย แต่ปรากฏว่าอันนั้นกลายเป็นความฉิบหายที่ตัดสินใจทำ (หัวเราะทั้งทีม) แต่มันผิดมหันต์มากเพราะมันกลายเป็นว่างบฯ ที่มีจำกัดอยู่แล้วเราไม่สามารถเหมาได้ เราต้องไปเอาไปแบ่งจ่ายเหมือนเป็น 13 เท่า เอาแค่ชุดนักเรียน 13 ตอนก็ไม่เหมือนกันแล้ว”
ดังนั้น ทุกดีเทลมันจึงกลายเป็นความตระหนี่ถี่เหนียวที่เกิดขึ้น
ฉากข่มขืน-ร้องเพลง ซีนตัดสิน
สุธินี เศรษฐ์สวรรค์ Art Director & Space Minister
ส่วนสาเหตุที่เลือก คิตตี้-ชิชา อมาตยกุล นพรัตน์ เล่าว่า ด้วยคาแรคเตอร์ของ “แนนโน๊ะ” เป็นตัวละครที่มีหลายชั้นเชิงมาก เราก็มีการทดสอบด้วยซีนหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นตอนที่ยากที่สุด คือตอนที่จะโดนข่มขืน เราก็อธิบายว่าซีนข่มขืนนี้มีไว้เพื่ออะไร โดยที่ “คิตตี้” เป็นคนเดียวที่ตีความออกมาว่า ซีนข่มขืนคือการส่งอารมณ์ที่ยั่วยุโทสะให้ผู้ชายโมโหจนฆ่าเขาให้ได้ ซึ่งจริงๆ ในสคริปต์ก็ไม่มีบอกเลยให้ยั่วโมโห ดังนั้น เขาจึงเป็นคนเดียวที่โดนข่มขืนแล้วก็ร้องเพลงออกมาเฉยเลย อยู่ดีๆ ก็ร้องเพลงโพล่งออกมา!! ทำให้ผู้ชายหงุดหงิดและโมโหหนักไปกว่าเดิมอีก คือเขามีการ improvise ที่มากกว่าคนอื่นๆ
ดมิสาฐ์ เสริมว่า คิตตี้น่าจะเป็นคนเดียวที่มีการตีความมิติของตัวแสดงที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ซึ่งนอกจากเขาจะมีประสบการณ์ในการแสดงพอควรแล้วเขายังเป็นนักเขียนด้วย แต่ที่ผ่านอาจจะได้รับบทด้านเดียวคือเซ็กซี่ ตัวร้ายที่เซ็กซี่ แต่ตรงนี้เป็นบทบาทที่ท้าท้ายมาก
“เคยได้ยินเขาให้สัมภาษณ์ว่า จริงๆ แล้วเขารับบทเป็นตัวเอง (หัวเราะ)”
Blur the line ความจริง VS ละคร
วรางค์รัตน์ รัตนบำรุง Copywriter & Word Vending Machine
การสร้างตัวตน “แนนโน๊ะ” บนโลกโซเชียลฯ คืออีกหนึ่งรูปแบบโปรโมทงานแบบโฆษณาด้วยหรือไม่ ดมิสาฐ์ เล่าว่า มันมาจากการที่เราเอาเรื่องจริง ที่เราเห็นจากข่าวว่าผู้หญิงโดนกระทำมาสร้างเป็นซีรีส์ จากเรื่องจริงมาสู่ดราม่า เพราะฉะนั้นโดยไอเดียที่เราขาย มันคือกลยุทธ์ที่ว่าเราอยากทำให้เกิดการ “Blur the line” ระหว่างโลกเอนเตอร์เทนเมนต์กับโลกความเป็นจริง
“เพราะฉะนั้นเราก็อยากทำให้เส้นของ ‘ ความเป็นจริง ’ กับ ‘ โลกของเอนเตอร์เทนเมนต์ ’ มันบางลง ด้วยการเอาเขาออกมาสร้างเป็นตัวตนจริงๆ บนโลกโซเชียลฯ ให้คนสามรถคุยได้ เป็นเพื่อนได้ เหมือนแนนโน๊ะมีตัวตนและคอยโต้ตอบกับคนอื่นๆ”
ส่วนจะมีต่อหรือไม่หลังซีรีส์จบก็อยู่ระหว่างคุยกันว่าจะปั้นต่อไปไหมหรือจะต่อยอดจากตรงนี้ยังไง
ความสำเร็จที่ต่อยอด Business Model
รุจรดา เรียนวัฒนา Copywriter & Part-Time Art Director
ได้ข่าวมาว่าจากโปรเจ็คต์นี้ ทำให้ต้องหยุดรับงานโฆษณาไปเลย ดมิสาฐ์ บอกว่า ไม่ถึงขนาดไม่รับงานเลย ลูกค้าใหม่ที่เราเห็นว่าโปรเจ็คต์มันใหญ่มากต้องใช้พละกำลังสูง เราก็ต้องขอตัว เพราะกลัวว่าจะทำงานให้เขาออกมาไม่ดีเพราะเราไม่มีเวลา แต่ลูกค้าเก่าก็ยังทำงานให้ต่อเหมือนเดิมซึ่งทุกท่านน่ารักมาก
“นั่นหมายถึงว่า จันทร์ถึงศุกร์ก็ทำงานโฆษณาไป ส่วนเสาร์อาทิตย์ก็ทำซีรีส์”
เมื่อถามว่าสนุกอย่างนี้แล้วจะยังทำงานโฆษณาต่อไปไหม ดมิสาฐ์ ตอบว่า งานโฆษณายังเป็นแพสชั่นที่สำคัญอยู่ แต่ในแง่งานเอนเตอร์เทนเมนต์ก็อาจจะมองเป็นบิสสิเนสหนึ่งได้ เราเชื่อว่างานส่วนนี้มันเติมเต็มโพสิชั่นนิ่งของเรา และเติมเต็มแพสชั่นของเด็กๆ ซึ่งมีหลายคนที่ชอบงานแบบนี้ แน่นอนว่ามันทำให้เกิด Businness Model ใหม่ๆ ได้ที่เราสามารถต่อยอดออกไปได้เช่นกัน
“ซึ่งจริงๆ ตอนนี้ก็มีติดต่อมาหลายเจ้ามาก แต่แค่กำลังคิดอยู่ว่าจะออกมาเป็นโมเดลบิสสิเนสแบบไหน เพราะว่าใจเราก็ไม่อยากขายตัวเองให้ขาดไปกับใคร ความสนุกของเราก็คือ เราทำกับเกาหลีก็ได้ ทำกับคนไทยก็ได้ เราจะได้เปิดกว้าง เราไม่ได้ปิดโอกาส แต่ก็ดูโปรเจ็คต์ที่เหมาะกับเรามากกว่า”
“สวยเลือกได้ ว่างั้น” วรุณพร หยอกใส่ก่อนหัวเราะเสียงดัง
ซีรีส์ที่สร้าง ‘ บทสนทนา ’ ขึ้นในสังคม
เมื่อถามว่าซีรีส์นี้ใครคือผู้สมควรดูที่สุด ดมิสาฐ์บอกว่า อันที่จริงกลุ่มคนดูหลักก็คือ กลุ่มเด็กนักเรียนเลยไปจนถึงกลุ่มเด็กมหาวิทยาลัยและเป็นผู้หญิง แต่พอมาถึงจุดหนึ่งพอคอนเซปต์มันเปิดกว้างให้เกิดบทสนทนาหรือเกิดคอนเวอร์เซชัน ทำให้เกิดการวิพากย์วิจารณ์กันในสังคมทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ดังนั้น กลุ่มรองที่เราเล็งเห็นคือ กลุ่มเด็กผู้ชาย ที่กำลังเป็นผู้กระทำหรือกำลังกระทำอยู่จะได้บทเรียนจากตรงนี้ อีกส่วนคือกลุ่มผู้ปกครองที่นั่งดูกับลูก หรือแก๊งคนทำงานทั่วไป เพราะความเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์มันก็ค่อนข้างแมส มันคือรักโลภโกรธหลง
ส่วนฟีดแบ็คหลังออนแอร์ไปได้สักพัก ดมิสาฐ์ภูมิใจว่า ฟีดแบ็คดีมาก ติดเทรนด์ฮิตตลอด ขนาดเว็บเถื่อนที่เอาเราไปขึ้นยังยอดดีเลย ซึ่งคนดูก็น่ารักมากมีอินบ็อกซ์มาบอกมาฟ้องเราด้วย
“ฟีดแบ็คดีแค่ไหนล่ะ ขนาดทำโฆษณามา 10 กว่าปี ยังไม่เคยถูกสัมภาษณ์ถี่ขนาดนี้เลย” วรุณพร จิกเข้าให้อีกแล้ว
ดมิสาฐ์ ภูมิใจเล่าอีกฟีดแบ็คว่า คือต้องยอมรับว่าโอเวอร์เอ็กซ์เปกมาก มีคอนซูเมอร์จำนวนมหาศาลเลยที่เข้ามาช่วยกันบอกว่าละครเรื่องนี้กำลังบอกอะไร กำลังสอนอะไร และมีเด็กหลายคนที่บอกว่าตัวเองก็เคยโดน Bully แบบนี้เลยตอนเด็กๆ แล้วก็มีคนอื่นๆ มาช่วยกันว่าเห้ยแกควรทำแบบนี้นะควรตอบแบบนี้นะ มันเกิดคอมมูนิตี้เล็กๆ ที่พูดคุยกัน และเปิดเผยสิ่งที่เขาเก็บไว้ในใจมาตลอด แล้วไม่พอยังมีคนเข้ามากันซัพพอร์ตด้วย เกิดเป็นเพื่อนกันในคอมมูนิตี้เล็กๆ แล้วยังมีบางคนบอกว่าเอาไปเปิดดูสอนกันในโรงเรียนด้วย
วรุณพร นักเสริมมือฉมังบอกอีกว่า “บางคนเขียนเลยว่า ต่อไปนี้รู้แล้วว่าถ้ามีใครมาข่มขืนต้องทำไง หัวเราะใส่แม่มเลย หยุดแน่นอน”
ทั้งหมดนี้เกิดจากซีรีส์เรื่องเล็กๆ ออกอากาศเพียงแค่ 13 ตอนก็สร้างรอยข่วนเบาๆ ให้กับสังคมไทย ที่หน้าฉากคือสยามเมืองยิ้ม แต่ใน “รอยยิ้ม” มีน้ำตาซ่อนอยู่? !!
สุดท้ายเราถามพวกเธอทุกคนว่า นอกจากความสะใจแล้ว “คนดู” จะได้อะไรจากเรื่องนี้
นพรัตน์ : ความสนุก
วรุณพร : ได้ เอ็มพาวเวอร์ สำหรับผู้หญิง
วรางรัตน์ : ได้ใช้เวลาวันพุธให้มีประโยชน์
รุจรดา : ความสนุก และมุมมองผู้หญิงที่ไม่เคยเห็นจากซีรีส์เรื่องไหน
สุธินี : ได้แง่คิดที่ไม่น่าเบื่อ เพราะเอามาสอนผ่านซีรีส์
ดมิสาฐ์ :
“ตอบในฐานะคนทำเอเจนซี่โฆษณา เรื่องนี้อยากให้ไฟท์ในวงการคือ
เรื่องการมองหาวิธีการทำบิสสิเนสใหม่ๆ
มันได้อินสไปร์ในแง่โครงสร้าง มันอาจจะไม่ได้กระโดดทุกเจ้าที่จะมาทำเอนเตอร์เทนเมนต์ก็ได้
แต่ว่าแค่หาหนทางว่าคนทำเอเจนซี่เล็กๆ อย่างเราแค่ 10 กว่าคนยังทำโปรเจ็คต์ขนาดนี้ได้เลย”
แล้วคุณล่ะได้อะไรจาก “แนนโน๊ะ” บ้าง .
[wonderplugin_video iframe=”https://www.youtube.com/watch?v=JS5XQof_Es0″ videowidth=600 videoheight=400 keepaspectratio=1 videocss=”position:relative;display:block;background-color:#000;overflow:hidden;max-width:100%;margin:0 auto;” playbutton=”https://bsite.in/wp-content/plugins/wonderplugin-video-embed/engine/playvideo-64-64-0.png”]
Copyright© Bsite.In