- Entertainment
B-Side | เพลงหน้าบี | มาทำความรู้จักกับเพลงหน้าบีที่สูญหาย
By Walrus • on Sep 07, 2018 • 5,624 Views
ในปัจจุบัน “เพลงหน้าบี” นั้น โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่โตมาพร้อมกับการฟังเพลงด้วย CD หรือเครื่องเล่น MP3 อาจจะไม่รู้จัก หรือ ไม่เข้าใจว่าทำไม อาจจะไม่อินว่าคนยุคก่อนมิลเลเนี่ยม เค้าฟังเพลงกันแบบไหนกันนะ ทำไมคนแก่ชอบรำลึกจัดคอนเสิร์ตย้อนยุคกันนะ อย่าง คอนเสิร์ตเด็กเทป, เพลงหน้าB ในความทรงจำจากยุค 90’s บ้าง พอได้ยินแล้วก็อาจจะงงว่า หน้าบี ที่ว่ามันคืออะไร บทความนี้จะพาไปรำลึกให้ฟังครับ
แม้จะขึ้นต้นด้วยว่า ‘เพลงหน้าบีที่สูญหาย’ แต่จริงๆ แล้ว “เพลง” นั้นยังไม่ได้หายไปไหนหรอกครับ ตัวเพลงก็ยังคงอยู่ ที่สิ่งที่สูญหายไป ณ เวลานี้คือ “หน้าบี” หรือ B-Side
และอะไรที่ทำให้ “B-Side” หรือ “เพลงหน้าบี” หายไป มาเริ่มกันเลยครับ
อะไรคือ “เพลงหน้าบี” หรือ B-Side ?
ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อนหลังจากการฟังเพลงผ่านวิทยุกระจายเสียงเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว เราก็เริ่มรู้จักแผ่นเสียง ตามมาด้วยสิ่งที่นิยมและสร้างความเติบโตธุรกิจเพลงถึงขีดสุดนั่นก็คือ “เทป” หรือชื่อเต็มๆ เป็นไทยว่า “ตลับเทป” หรือ “เทปคาสเซต” (Compact Cassette) ซึ่งทั้ง แผ่นเสียง และ เทป นี่เอง ในการฟังเพลงหนึ่งอัลบั้ม ส่วนใหญ่มักกะมี 2 หน้าเสมอ คือ หน้า A และ หน้า B
วัยรุ่นไทยยุค 80’s หรือ 90’s ก็มักจะมีคำพูดเล่นตลกๆ กันบ่อยๆ เวลาเข้าค่ายลูกเสือ หรือ ร.ด. ซึ่งไม่สะดวกแก่การซักผ้าว่า “กลับด้านกางเกงใน หน้า A หน้า B เอา” (กลับในออกนอก) บางคนมันก็แอ๊ดวานซ์ไปอีกบอกทำได้ถึง หน้า C หน้า D (อันนี้ต้องจินตนาการต่อเองนะครับ)
เอาหล่ะ… เดี๋ยวจะนอกเรื่องไปไกล กลับมาพฤติกรรมการฟังเพลงของเมืองไทยกันต่อ ก็ขอเริ่มนับช่วงยุครุ่งเรืองของวงการเพลงไทยที่สามารถขยายไปได้ถึงขนาดระดับอุตสาหกรรมเพลง ก็คือช่วงปี พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา
“แกรนด์เอ็กซ์ โอ(Grand X.O.)” ของวง “แกรนด์เอ๊กซ์” จาก wikipedia
หลังจากการจุดประกายและความสำเร็จของอัลบั้ม “แกรนด์เอ็กซ์ โอ(Grand X.O.)” ของวง “แกรนด์เอ๊กซ์” ในปี พ.ศ. 2524 (1981) ซึ่งเป็นอัลบั้มที่มียอดจำหน่ายถึงหนึ่งล้านชุดเป็นครั้งแรกในประเทศไทยนั้น ทำให้ก่อกำเนิดธุรกิจค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ตามมา เช่น อาร์เอสโปรโมชั่น 1992, แกรมมี่, นิธิทัศน์ โปรโมชั่น, คีตา เอ็นเตอร์เทนเมนต์, เบเกอรี่มิวสิค และ อื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งผลงานจากค่ายเพลงเหล่านี้ล้วนผลิตออกมาในรูปแบบของตลับเทป เนื่องจากในประเทศไทย เครื่องเล่นเทปค่อนข้างหาซื้อง่ายหลายราคาและสามารถนำไปฟังในวิทยุติดรถยนต์ได้อีกด้วย
ในยุคนั้น ศิลปินนักร้อง จะออกเพลงครั้งละ 10 – 12 เพลง ต่อ 1 อัลบั้ม ซึ่งจะบรรจุใน ตลับเทป 1 ตลับ และมีทั้งหมด 2 หน้า คือ หน้า A และ หน้า B และ ใน 1 หน้า สามารถบรรจุเพลงได้ประมาณ 5 – 6 เพลง
ตลับเทปและหน้าปก อมิตา ทาทา ยัง ขอบคุณรูปจาก Dek-D.com
ดังนั้นการฟังเพลงในยุคตลับเทป จึงเป็นการฟังไปด้วยความอดทนกว่าสมัยปัจจุบัน กล่าวคือ เราฟังเพลงแกะจากห่อมาใหม่ๆ อาจจะต้องนั่งฟังไปทีละเพลงจนจบหน้า A แล้วค่อยกลับมาหน้า B แล้วก็ฟังไปจนจบ ไม่สามารถเลือกเพลงที่จะฟังได้ง่ายๆ เลย (แม้เครื่องเล่นเทปบางรุ่น สามารถ “กรอ” ไปข้างหน้าข้ามเพลงที่ไม่ชอบได้ โดยอาศัยช่วงเว้นของเพลงก็เถอะ แต่ก็ตามมาด้วยราคาที่ต้องจ่าย)
และด้วยยุคสมัยนั้น การโปรโมทเพลง หรือ การเข้าถึงในในแต่ละเพลงจะค่อนข้างจำกัดกว่าสมัยนี้ หลักส่วนใหญ่ก็ รายการเพลงทางทีวีของแต่ละค่ายเพลง, วิทยุ และ เพลงประกอบละคร/ภาพยนตร์ หากไม่ใช่เพลงโปรโมท ไม่ใช่เพลงฮิต ไม่ได้ซื้อเทป เราแทบจะไม่รู้จักบางเพลงเลยด้วยซ้ำ หรือ มาได้ยินอีกทีก็ตอนเลิกฮิตไปแล้ว หรือซื้อเทปมาแล้ว ก็ฟังแต่เพลงที่โปรโมท ซึ่งการโปรโมทเพลง “ส่วนใหญ่” ในสมัยนั้นมักเรียงดังนี้
เพลง โปรโมท “เพลงเร็ว” ไว้ หน้า A เพลงที่ 1
เพลง โปรโมท “เพลงช้า” ไว้ หน้า A เพลงที่ 3
เพลงที่เหลือในอัลบั้มก็อยู่ที่การคิด การลงตัวในแต่ละเพลง ที่ค่ายเพลงเลือกที่วางให้เหมาะสมในอัลบั้มนั้นๆ หรือบางอัลบั้มก็อาจไม่ได้เรียงตามนี้ เช่น อัลบั้มแรกของวงร็อครุ่นเก๋าอย่าง “หิน เหล็ก ไฟ” 2 เพลงแรกเป็นเพลงร็อคบัลลาด์ คือ “ยอม” และ “เพื่อเธอ” พอเพลงที่ 3 เป็นเพลงเฮฟวีเมทัลสุดดังอย่าง “นางแมว”
จากที่เล่ามา เทป 1 ตลับ ถ้าฟังแค่เพลงที่ 1 ถึง 3 แล้วเปลี่ยนตลับไปฟังอัลบั้มอื่นต่อ หรือ ขี้เกียจนัก ก็ซื้อเทปเปล่ามา “อัดเทป” รวมๆ เอาเพลงที่ชอบไว้ม้วนเดียวกันซะเลย ก็อาจทำให้พลาดเพลงดีๆ ที่อยู่ในหน้าบี ก็เป็นได้
ดังนั้น จะคิดว่าไปว่าเพลงที่อยู่ในหน้าบี หรือ B-Side เป็นเพลงลูกเมียน้อย เพลงเติม เพลงแถมให้เต็มๆ อัลบั้ม ก็เกรงว่าจะดูถูกนักแต่งเพลงกันเกินไปสักหน่อย ศิลปินหลายๆ คนก็ออกผลงานออกมาด้วยความตั้งใจและพิถีพิถันเพื่อให้คนอุดหนุนเทปทั้งทีฟังให้เพราะได้ทุกเพลงในอัลบั้มมันซะเลย โดยอัลบั้มเหล่านี้มักจะประสบความสำเร็จด้วยการออกอัลบั้มพิเศษตามมา ที่เราได้ยินได้เห็นกันบ่อยๆว่า “อัลบั้มฉลอง 1 ล้านตลับ”
อัลบั้มพิเศษ BEAU 1,000,000 Copies celebration ของ โบ สุนิตา ลีติกุล ฉลองจำหน่ายครบล้านตลับ
ขอบคุณรูปจาก paepatter.blogspot.com
ช่วงเริ่มและการหายไปของหน้าบี
สิ่งที่ทำให้”หน้าบี”หายไปก็คือ เทคโนโลยีและพฤติกรรมของนักฟังเพลงในปัจจุบันเปลี่ยนไป
ซึ่งก็มีผลให้ธุรกิจเพลงก็เปลี่ยนตามเช่นกัน
ก็สามารถบอกได้เลยว่า การหายไปของหน้าบี ในการฟังเพลงของบ้านเราก็เริ่มด้วยเทคโนโลยี CD (Compact disc) ที่มีราคาเริ่มถูกลง ในเมื่อการเข้าถึง CD ได้อย่างง่ายดาย สิ่งที่เรียกว่า “เทป” ก็เริ่มถูกลืมเลือน เมื่อไม่มี “เทป” ก็ไม่มีเพลงในหน้าบี อีกต่อไป เนื่องความจุของแผ่น CD 1 แผ่น สามารถบรรจุเพลงได้ 1 อัลบั้มที่มีเพลงได้มากถึง 14 – 15 เพลง(หรือมากกว่านั้น) โดยไม่ต้องกลับด้าน A-B อีกแล้ว แถมคุณภาพเสียงที่ดีกว่า และ การเลือกเพลงที่ง่ายกว่า “เทป” หลายเท่าตัว
แต่ยุคของ Audio CD ก็อยู่ได้ไม่นานเท่ายุคของเทปเท่าไหร่ เมื่อคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและอินเตอร์เนตเป็นที่นิยมและแพร่หลายขึ้น พฤติกรรมการฟังเพลงผ่านคอมพิวเตอร์กับโปรแกรมฮิตๆ อย่าง winamp กับ เอ็มพีสาม (.mp3) ก็เป็นที่นิยมมากขึ้นตามเช่นกัน ด้วยการที่สามารถบรรจุเพลงที่ชอบไว้ในคอมพิวเตอร์ได้มากขึ้นกว่าเดิม การเรียงเพลงตามใจฉันได้ง่ายกว่าการ “อัดเทป” หรือ “ไรท์ซีดี” เสียอีก และตามมาด้วยสิ่งที่กระทบธุรกิจเพลงขั้นสุดคือ “เทปผีซีดีเถื่อน” ที่ก็อปปี้มาขายง่ายซื้อง่าย หรือจะหาดาวน์โหลดฟรีๆ จากอินเตอร์เน็ตได้ง่ายเช่นกัน
พอมาถึงยุคปัจจุบันการเข้าถึงเพลงต่างๆ ได้ง่ายดาย ผ่านสมาร์ทโฟน และ บริการการสตรีมมิ่งเพลงทั้งฟรี และ เข้าถึงได้ง่าย เช่น YouTube, Joox หรือ มีค่าบริการที่จ่ายได้แบบคุ้มค่า เช่น Spotify หรือ Apple Music นั้น อย่าว่าฟังเพลงเป็นอัลบั้มเลย ค่ายเพลงไทยเองยังปรับตัว ออกมาเป็นซิงเกิ้ลมากกว่าอัลบั้มเต็ม เพื่อปรับตามพฤติกรรมของนักฟังเพลงไทย รวมถึงการเกิดเพลงตลาดใหม่ๆ ค่ายเล็กๆ แต่ไม่ธรรมดา ที่ดูจากยอดวิวแล้วมันไม่ธรรมดาจริง ๆ เช่น “มหาลัยวัวชน” วงพัทลุง, “รักควายควาย” โดย มิน เฉาก๊วย Feat. มิ้ว ไม้ขีดไฟ หรือ “ผู้สาวขาเลาะ” ของ ลำไย ไหทองคำ เป็นต้น ออกมาเพลงเดียวความดังของเพลงไม่แพ้ค่ายใหญ่ๆ กันเลยทีเดียว
เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว คำว่า “เพลงหน้าบี”
ยิ่งไม่มีใครเข้าใจหรือนึกถึงอีกต่อไปแล้ว
ช่วงแนะนำเพลงหน้าบีในอดีต
ผู้เขียนก็ขอแนะนำเพลงที่อยู่ในเทป”หน้าบี” ของศิลปินไทยที่ชอบตามรสนิยมส่วนตัว เป็นเพลงที่ในยุคตลับเทปยังเฟื่องฟูอยู่ครับ ไม่ได้เรียงตามความชอบและความดังนะครับ เชิญชมด้านล่างเลย
หัวใจสะออน : อัสนี;วสันต์ – ฟักทอง พ.ศ. 2532
เพลงรองสุดท้ายในอัลบั้มเลยเพลงนี้ เป็นผลงานแต่งเพลงร่วมกันระหว่าง ป้อม-อัสนี และ แอ๊ด-ยืนยง โอภากุล เปิดด้วยเสียงกีต้าร์แบบจิ๊กโก๋อกหักของ อัสนี นับว่าสำเนียงแบบนี้เป็นลายเซ็นต์ของเค้าเลยทีเดียว ทำนองติดหูง่าย เนื้อเพลงติดหูง่าย เข้าใจได้ไม่ยาก
หมอกหรือควัน : เบิร์ด ธงไชย – บูมเมอแรง พ.ศ.2533
เพลงฮิตเพลงนึงเลยทีเดียวสำหรับเพลงนี้ อยู่ในหน้าบี เพลงที่ 2 (ลำดับที่ 8 ในอัลบั้ม) ทำนองเพราะๆ ติดหูง่ายๆ แล้ว เนื้อเพลงที่เขียนโดยฝีมือ “สีฟ้า” นั้นยิ่งลึกซึ้งเข้าไปอีก เปรียบกับความไม่แน่ใจต่อคนคนนึง เทียบกับ หมอกและควัน แยบยลยิ่งนักนำสองยิ่งนี้มาเปรียบกันถึงการมองไม่ออกด้วยตาเปล่าคนกว่าจะสัมผัสเอง ในคอนเสิร์ตเองพี่เบิร์ดยังเต้นเพลงโดยใช้ภาษามือ เพื่อสื่อสารเพลงไปยังผู้พิการจากหูอีกด้วย
เก็บตะวัน : อิทธิ พลางกูร – ให้มันแล้วไป พ.ศ.2531
นับว่าเป็นเพลงที่ดีเพลงนึงไว้ฟังเรียกกำลังใจในยามท้อแท้จากศิลปินผู้ล่วงลับ อิทธิ พลางกูร เนื้อเพลงที่ให้ความหมายและกำลังใจดีดีเช่นนี้ เขียนขึ้นโดย เสือ-ธนพล อินทฤทธิ์ เพลงนี้นับว่าดังมากของอิทธิ แต่เพลงนี้ก็อยู่เพลงที่ 2 ในหน้า B
18 ฝน : เสือ – ธนพล อินทฤทธิ์ – ทีของเสือ พ.ศ.2537
เพลงปัญหาวัยรุ่นอ่ะ แล้วพี่เสือก็ร้องเองแต่งเองนักเลงพอ แล้วพี่แกก็ร้องเพลงนี้ได้โคตรจะกินใจวัยรุ่นวัยร้าว ฟังแล้วรันทดฉิบหายให้ตายเหอะ ฮ่าๆๆๆ เพลงนี้ไม่ได้เป็นเพลงโปรโมทแต่แรก แต่ออกมาหลังจากเพลงโปรโมทดังมากแล้ว มาดันเพลงนี้ให้พีคต่อ วัยรุ่นช่วงนั้นตัดผมทรงสกินเฮดตามพระเอกมิวสิควีดีโอ “โด่ง-สิทธิพร นิยม” กันเป็นแถว เพลงนี้อยู่เพลงที่ 2 ในหน้า B
หัวใจขอมา : คริสติน่า อากีล่าร์ – นินจา พ.ศ.2533
อัลบั้มแรกของนินจาสาวก่อนที่จะมาเป็นราชินีเพลงแด๊นซ์ในคราวหลัง ในอัลบั้ม “นินจา”ของ คริสติน่า มีหลายเพลงซึ่งโด่งมากในยุคนั้น เช่น “นินจา”, “พลิกล็อก”, “เปล่าหรอกนะ”, “ประวัติศาสตร์” ส่วนเพลง “หัวใจขอมา” เป็นซิงเกิ้ลที่ 3 ในการโปรโมท อยู่ในหน้า B ลำดับที่ 4 และเป็นเพลงช้าเพลงแรกที่ทำการโปรโมทของอัลบั้มนี้ เนื้อเพลงบิ้วท์อารมณ์เหมือนทีมหงส์แดง ลิเวอร์พูล มาทวงบัลลังค์แชมป์ลีคที่ห่างหายไป 28 ปีเลยครับ
จิ๊จ๊ะ : Silly Fools – Mint พ.ศ.2543
มาเพลงวัยรุ่นๆ อีกหน่อยดีกว่ากลัวจะเบื่อกัน ฮ่าๆๆ ว่าด้วยอัลบั้มนี้เกิดในยุคมิลเลเนี่ยม ก็เป็นช่วงคาบเกี่ยวการเริ่มจางหายของเทปเพลง กับการเริ่มมาแทนที่ด้วย CD/MP3 อย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น เพลง “จิ๊จ๊ะ” ถูกปล่อยออกมาทางทีวี/วิทยุ ก่อนวางจำหน่ายจริงพอควร ช่วงนั้นเป็นที่ฮือฮามากเนื่องจากดนตรีของ Silly Fools เองเริ่มปรับเข้าหากลุ่มตลาดมากยิ่งขึ้น ริฟท์กีต้าร์มันส์ๆ ท่อนฮุคร้องวนไปวนมา แป๊ปเดียวก็ติดหูเลย เสียดายเพลงนี้ ต้น-จักรินทร์ ไม่ได้โชว์โซโล่ยาวๆ เท่านั้นเอง เพลงนี้เป็นเพลงแรกที่อยู่ในหน้า B ของ อัลบั้ม Mint
บัวลอย (ถึกควายทุย ภาค 5) : คาราบาว – เมด อิน ไทยแลนด์ พ.ศ.2527
ไหนๆ ก็เอ่ยถึงเพลงวัยรุ่นแล้ว เพลงนี้ก็วัยรุ่นนะ อินโทรกีต้าร์ขึ้นในคอนเสิร์ตขึ้นเมื่อไหร่ ฮึกเหิมจนอยากโดนตีนคนข้างๆ เลยหล่ะครับ ใครชอบความตื่นเต้นแนะนำเลยครับ เพลงนี้น้าแอ๊ดแกมักจะเล่นเป็นเพลงสุดท้ายในคอนเสิร์ตและก็เป็นสุดท้ายในอัลบั้ม “เมด อิน ไทยแลนด์” เช่นกัน เพลงนี้เป็น 1 ในซีรี่ย์เพลง “ถึก ควาย ทุย” ซึ่งมีทั้งหมด 10 ภาค กับอีก 1 ภาคพิเศษ
เป็นบทเพลงที่กล่าวถึง พลทหารบัวลอย เพื่อนของ “มะโหนก” พระเอกของซีรี่ย์ “ถึก ควาย ทุย” ซึ่งบัวลอยเป็นตัวแทนของความเสียสละและมีน้ำใจในท่ามกลางความเห็นแก่ตัวในสังคม เลยออกมาเป็นภาพลักษณ์เป็นคนที่พร้อมเสียสละและห่วงใยผู้อื่นอยู่เสมอ แม้ตัวเองกำลังจะตายก็ตาม น้าแอ๊ดเขียนเพลงนี้ด้วยภาษาและความหมายที่แยบยล ชื่อของบัวลอยก็เปรียบกับเสมือนบัวที่พ้นน้ำแล้วตามคำสอนของศาสนาพุทธ
พลังรัก : หิน เหล็ก ไฟ – หิน เหล็ก ไฟ พ.ศ.2536
คำ คำเดียว ให้โลกคุณสดใส ให้ขมเป็นหวานมีกำลังใจ คำ คำเดียว อาจทำให้คุณร้อง ให้คุณหมดหวังอยากจะ “ลาตาย” เพลงที่ 2 ในหน้า B เพลงนี้เนื้อหากินใจ รวมกับดนตรีร็อคที่ไม่หนักมาก มีความเป็นป็อป/ร็อค เจือนิดๆ รับรองฟังแล้วต้องชอบ!
ดีเกินไป : สไมล์บัฟฟาโล่ – SMILE BUFFALO พ.ศ.2538
มาถึงยุค “เด็กอัลเตอร์ฯ” กันบ้างกับวงที่ชื่อแปลเป็นไทยได้ว่า “ควายยิ้ม” เพลงนี้ปรากฏในเพลงแรกของหน้าบี เป็นเพลงร็อคเนื้อหาอกหักและน้อยใจแบบมันส์ๆ เสียงกลองอินโทรฯ ที่ได้ยินเมื่อไหร่แล้วรู้เลยว่าเป็นเพลงนี้ ยิ่งถึงท่อน “เลิกพูดได้ไหม… ว่าฉันดีเกินไป…” ฟังแล้วต้องโดดเลยอ่ะครับ
บางสิ่ง (Something) : Moderndog – เสริมสุขภาพ พ.ศ.2537
เมื่อมี “ควายยิ้ม” ก็ต้องมี “หมาทันสมัย” กับอัลบั้มแรกของวงโมเดิร์นด็อก เป็นอีกหนึ่งอัลบั้มประวัติในวงการเพลงไทย ที่จุดประกายให้ศิลปินหลายๆ วง ไม่จำเป็นต้องเดินตามแพทเทิร์นของศิลปินค่ายใหญ่ๆ ก็ดังได้นะ
มีเพลงดังๆ อย่าง “บุษบา”, “ก่อน” และ “มานี” เป็นเพลงชูโรง โดยเพลง “บางสิ่ง” อยู่ในลำดับที่ 4 ของหน้าบี นับว่าเป็นที่ฟังแล้วล้ำสมัยเหมือนชื่อวง ทำนองแปลกหูแต่เพราะ โดยทางวงเคลมว่าเพลงนี้เพลงเดียวในอัลบั้มที่ไม่ได้บันทึกเสียงสดทั้งหมด ซึ่งดนตรีทำโดย สุกี้-กมล สุโกศล ส่วนเนื้อเพลงแต่งโดยนักร้องนำ ป๊อด-ธนชัย อุชชิน เป็นเพลงที่กล่าวถึงว่า เตือนให้คำนึงถึงสิ่งใกล้ตัวที่ไม่เห็นคุณค่าหรือลืมเลือน วันนึงอาจจะนึกเสียดายเมื่อหายไปแล้วจริงๆ
หลอกกันเล่นเลย : Nuvo – เป็นอย่างงี้ตั้งแต่เกิดเลย พ.ศ.2531
มาดูวงซินท์ป็อปชื่อดังของไทยบ้าง กับอัลบั้มแรกของนูโว เพลงอกหักแบบเจ็บๆ กับเสียงร้องของ โจ-จิรายุส บวกกับเสียงกีต้าร์โซโล่นี่บาดใจสุดๆ โดยเพลงนี้เป็นเพลงรองสุดท้ายในอัลบั้ม
ยอมรับคนเดียว : ติ๊ก ชิโร่ – โชะ ไชโย พ.ศ.2533
หนึ่งในศิลปินไทยที่มากกว่าความสามารถ ทั้งแต่งเพลง, ร้อง, เต้น, เล่นดนตรี เรียกได้ว่าครบเครื่องในคนเดียวกันเลยทีเดียว โต้ ชีริก ติ๊ก ชิโร่ ออกมาเป็นเป็นศิลปินเดี่ยวอัลบั้มแรกปุ๊ป! ก็ดังเปรี้ยงเลย และน่าจะเป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของเค้าเลยครับ โดยเพลง “ยอมรับคนเดียว” ถูกวางไว้เพลงสุดท้ายหน้าบี ซึ่งตัว ติ๊ก ชิโร่ เองก็คาดไม่ถึงว่าเพลงนี้จะได้รับความนิยมขนาดนี้ ตอนที่เลือกเพลงนี้ไว้ท้ายสุดเพราะว่า มันไม่น่าสนใจ เท่านั้นเอง
นักเดินทาง : กัมปะนี – ไม่มีจำกัด พ.ศ.2534
เมื่อเบื้องหลังอยากออกมาเป็นเบื้องหน้า จ๊อด, ฉ่าย, ป๋อง 3 โปรดิวเซอร์ของแกรมมี่ก็เลยออกอัลบั้มกับเค้าบ้าง แม้ในหน้าบี จะมีเพลงที่ดังมาก คือเพลง “กลับคำเสีย” แต่ส่วนตัวชอบเพลง “นักเดินทาง” ของวงนี้มาก ด้วยความลุ่มลึกของดนตรี เนื้อเพลงที่ฟังแล้วอยากออกไปเที่ยวซะเดี๋ยวนี้เลย
ก็แนะนำเพลงหน้าบี ที่เดี๋ยวนี้ฟังแล้วอาจจะไม่รู้ว่ามันเคยอยู่หน้าบีมาก่อน ก็แนะนำมาพอประมาณแล้ว หวังว่าจะมีความสุข และ จำบทเพลงบางเพลงในหน้าบีกันได้นะครับ
ขอให้มีความสุขครับ
Copyright© Bsite.In
ABOUT THE AUTHOR
Walrus