- Lifestyle
ทำไมแค่ พ.ร.บ. คู่ชีวิตมันยังไม่พอ? LGBTQ+ เรื่องมาก หรือมันไม่ใช่ความเท่าเทียมที่แท้จริง
By DiamondP • on Jun 09, 2022 • 621 Views
กลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้งสำหรับร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ได้ล่าสุด คณะ ครม. ได้รับร่างหลักการแล้ว และเตรียมเสนอเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาในวาระต่อไป ทุกอย่างดูเหมือนจะสวยงามและก้าวเข้าสู่ความเท่าเทียมทางเพศสมกับการเป็น Pride Month แต่มันจะใช้ความเท่าเทียมที่แท้จริง หรือจะเป็นแค่การแก้ขัดเพื่อลดกระแสต่อต้าน เพราะยังมีสิ่งที่เรียกว่า พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม กับสิทธิทางสังคมของเพศที่หลากหลายซึ่งดูเหมือนจะแตกต่างกันพอสมควร งานนี้มันจึงอดไม่ได้ที่จะมีส่วนหนึ่งของสังคมเกิดคำถามว่า ทำไมแค่ พ.ร.บ. คู่ชีวิต มันยังไม่พอ? LGBTQ+ เรื่องมาก หรือมันไม่ใช่ความเท่าเทียมที่แท้จริงกันแน่?
ก่อนอื่นเราต้องไปลองดูกันก่อนว่ารายละเอียดของ พ.ร.บ. คู่ชีวิตคืออะไร?
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ครม. ที่นำโดย กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของทุกกลุ่ม เพื่อให้ได้ความคิดเห็นในทุกมิติอย่างครบถ้วน จนมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตเป็นที่เรียบร้อย โดยสาระสำคัญของร่างที่ทาง ครม. จัดทำขึ้นนี้ จะมีการระบุว่า คู่ชีวิต หมายถึง บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตกันได้ตาม พรบ. นี้ โดยจะต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย และหากผู้ที่มีอยู่ต่ำกว่า 20 ปีต้องการจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับการยินยอมจากบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาลก่อน
สิทธิที่ผู้จดทะเบียนคู่ชีวิตจะได้รับก็คือ…
- คู่ชีวิตสามารถเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลซึ่งกันและกันได้
- คู่ชีวิตสามารถอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันได้
- คู่ชีวิตสามารถรับมรดกได้ในฐานะทายาทโดยชอบธรรม
- คู่ชีวิตสามารถจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญาได้เช่นเดียวกับสามีหรือภรรยา
- คู่ชีวิตสามารถมีสิทธิในการจัดการศพได้
- คู่ชีวิตสามารถมีสิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้
- คู่ชีวิตมีสิทธิในการเป็นผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ หากอีกฝ่ายเป็นคนไร้ หรือเสมือนไร้ความสามารถได้
ทุกอย่างดูเหมือนจะสวยงามและเท่าเทียมใช่ไหม? แต่รายละเอียดของ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ที่พรรคก้าวไกลเสนอนั้น มันมีรายละเอียด และสิทธิที่พึงได้มากกว่านั้น
ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมนั้น ได้มอบสิทธิและเสรีภาพให้กับคู่สมรสได้เหมือนกับ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตที่ระบุเอาไว้ข้างต้น แต่ไม่ใช่แค่นั้น มันมีความแตกต่างกันทั้งในเชิงหลักการและการปฏิบัติ เริ่มต้นตั้งแต่ การใช้คำว่า คู่สมรสเหมือนกับคำที่ใช้กับคู่สมรสต่างเพศ แทนคำว่า คู่ชีวิต ที่ถูกแยกออกมาใช้เฉพาะคู่สมรสเพศเดียวกัน
ไม่เพียงเท่านั้น แต่รายเอียดของสิทธิยังมีความครอบคลุมมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น
- สิทธิในการหมั้น
- สิทธิในการลดหย่อนภาษี
- สิทธิประกันสังคม
- สิทธิสวัสดิการข้าราชการ
- สิทธิในการขอสัญชาติไทยในกรณีที่คู่รักเป็นชาวต่างชาติ
นี่คือสิทธิที่หายไป หาก ครม. ตัดสินใจรับร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต แทนที่จะเป็น พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ซึ่งสิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิที่คู่รักต่างเพศได้รับ หากพวกเขาจดทะเบียนสมรส แล้วอย่างนี้มันจะเรียกว่าเป็นความเท่าเทียมทางเพศที่แท้จริงได้อย่างไร ในขณะที่บางคนอาจจะมองว่า การรับ พ.ร.บ. คู่ชีวิตเอาไว้ก่อนย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่า ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย การคิดเช่นนี้อาจจะไม่ถูกต้องเท่าไรนัก ในเมื่อเราสามารถทำให้มันเท่าเทียมกันได้ ทำไมเราจะต้องผ่อนผันไป ทั้ง ๆ ที่หากทำให้มันเหมือนกัน เท่ากัน มันสามารถทำได้
จริง ๆ แล้วหากมองด้วยเหตุและผลจริง ๆ สิ่งที่ชาว LGBTQ+ เรียกร้อง มันไม่ได้มากมายเกินกว่าความจำเป็น หรือสิ่งที่มันมีอยู่แล้วเลย พวกเขาต้องการเพียงแค่เป็นพลเมืองที่มีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ในสังคมเท่านั้นเอง เพราะคำว่า คนเท่ากัน มันไม่ควรจะต้องมานั่งพิจารณาด้วยซ้ำว่า คนไหนควรได้รับสิทธิมากกว่า หรือน้อยกว่าคนอื่นแค่ไหน
ABOUT THE AUTHOR
DiamondP
คนอยากเขียน กับความสนใจเยอะแยะ และเราเชื่อว่า คนทุกคนเท่าเทียมกัน