- Lifestyle
เกลียดจัง #งานที่รัก เปลี่ยนได้อย่างไร? Exclusive Interview ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
By ทีมงาน bsite • on Nov 20, 2018 • 3,261 Views
“ท้อฟฟี่ แบรดชอว์” หรือ “ชญาน์ทัต วงศ์มณี” นักสัมภาษณ์ระดับพระกาฬ ให้กับ The Standard ซึ่งทำให้เขามีโอกาสสัมภาษณ์บุคคลดังๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น พี่เบิร์ด ธงไชย แม็คอินไตย, ทาทา ยัง, ลูกเกด เมทินี, พลอย เฌอมาลย์ ฯลฯ ทั้งนี้ เขาได้รับการชื่นชมว่า เป็นนักสัมภาษณ์แถวหน้าที่รู้จักตั้งคำถาม สามารถสะท้อนตัวตนของผู้ถูกสัมภาษณ์ได้ในมุมใหม่ที่หลากหลาย ทำให้เราเห็นตัวตนในแบบที่เราไม่คาดคิดจากคนเหล่านั้น
และนอกจากบทบาทของการเป็นนักสัมภาษณ์ตัวยงแล้ว “ท้อฟฟี่” ยังเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนที่โด่งดังในแวดวงวรรณกรรม และในโลกออนไลน์ ซึ่งนักอ่านส่วนใหญ่รู้จักเขาในผลงานอื่นๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น มนุษย์สุดมโน, วัยว้าวุ่นรุ่น 30 หรือการหยิบยกเอารายการเรียลลิตี้ The Face Thailand หยิบมาเป็นบทเรียนชีวิตและการทำงานในชื่อ Game of Bitch! รวมทั้งผลงานชิ้นใหม่เล่มล่าสุด “I hate my job อย่าปล่อยให้งานเป็นมารร้าย”
ชญาน์ทัต วงศ์มณี นอกจากงานนักเขียนแล้ว ปัจจุบันเขายังอยู่ในตำแหน่ง VP Content Management ธนาคารไทยพาณิชย์
และวันนี้เขาเปิดโอกาสให้ Bsite.In ได้มาพูดคุยถึงแรงบันดาลใจ ในการมานั่งเป็นที่ปรึกษาซ่อมแซมจิตใจให้มนุษย์ทำงานทั้งหลายที่หัวใจบอบช้ำ เปลี่ยนความคิดใหม่ ให้คำว่า “ลาออก” ไม่ใช่คำตอบของทุกปัญหาอีกต่อไป และที่สำคัญอะไรคือเบื้องหลังความคิดของการเขียนหนังสือที่มุ่งมั่นจะทำให้ให้คนอ่านเก่งกว่าตัวเอง! ลองมาฟังเรื่องจริงจากตัวจริงของเขากัน
ปัญหาของคนอื่น ถ้าไม่เจอกับตัวเป็นเรื่องเล็กเสมอ
ก่อนหน้านี้ก็เขียนหนังสือมา 6 เล่มด้วยกัน เช่น มนุษย์สุดมโน, วัยว้าวุ่นรุ่น 30 ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นการเล่าชีวิตโดยรวมของคนรุ่นใหม่ แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เจาะเฉพาะเรื่องของคนทำงานเลย แต่ไม่ใช่แค่ชีวิตที่อยู่แต่ในออฟฟิศ แต่เป็นการทำงานที่มีผลต่อชีวิตในด้านอื่นๆ ด้วย
ความตั้งใจของเราก็คือ ในแต่ละวันเราใช้ชีวิตกันอยู่แต่ในที่ทำงาน 8-10 ชั่วโมง ซึ่งมันนานมาก ถ้าเวลาเหล่านั้นเป็นเวลาที่ซัฟเฟอร์ เขาจะกลับบ้านไปพร้อมกับความรู้สึกแย่ แล้วเอาความรู้สึกนั้นส่งต่อให้กับคนที่บ้านอีก มันพัวพันกันไปหมดเลย แล้วถ้าเราสามารถทำให้เขามีความสุขกับงานได้ ทำให้เขาที่มีความรู้สึก I hate my jobs เป็น I love my jobs ดังนั้น 8 ชั่วโมงที่แย่ในที่ทำงานจะพาไปสู่ ชม.ที่ 9 และ 10 ที่บ้านด้วย
รูปแบบมันจะเป็น Q&A คือมีคนส่งคำถามมา และก็เป็นคำถามจริงๆ ที่มีคนส่งมาให้ เราได้เห็นปัญหาที่ถ้าคนอื่นอ่านจะมองว่าปัญหาเล็กจัง แต่จริงๆ แล้วมันเป็นปัญหาใหญ่ของเขา อย่างเช่นว่า หนูไม่ชอบยูนิฟอร์มของออฟฟิศทำไงดีค่ะ ฟังดูเหมือนมันเป็นเรื่องเล็กๆ ใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วมันสะท้อนถึงเรื่องว่า พนักงานไม่มีความภูมิใจในองค์กร เขาจะตื่นมาด้วยความรู้สึกว่า ชั้นไม่อยากทำงานเลย เพราะว่าชั้นจะต้องใส่ยูนิฟอร์มแบบนั้น คือมันลึกซึ้งไปกว่าเปลือกภายนอกที่เราเห็น หรือ เอาของกินใส่ตู้เย็นในออฟฟิศแล้วของเราหายไป มันเหมือนเรื่องจุกจิกแต่มันสะท้อนเรื่องของความปลอดภัย เขาจะทำงานอย่างมีความสุขได้อย่างไร ถ้าเขารู้สึกว่า ที่ทำงานเขาไม่ปลอดภัย
“ปัญหาที่คนอื่นมองว่าเล็กๆ หยุมหยิม แต่จริงๆ แล้วทุกปัญหาเป็นปัญหาใหญ่หมด เพราะว่าเวลาที่เราไม่เจอปัญหาเอง ปัญหามันเล็กหมดล่ะ”
อย่างบางปัญหาก็เป็นปัญหาใหญ่เหมือนกันนะ หรือปัญหาปกติที่คนเจอกันทั่วไป เช่น โดนไลน์มาทวงงานวันหยุด หรือส่งไลน์มาสั่งงานตอนห้าทุ่มเที่ยงคืนอย่างนี้เราควรปฏิบัติตัวอย่างไร หรือปัญหาคลาสสิคที่ใครๆ ก็เจอ หรือโดนเพื่อนร่วมงานเมาท์จะทำอย่างไร จะจัดการอย่างไรกับสตรอว์เบอร์รี่ตัวแม่ดี หรือปัญหาที่ว่าทำงานแทบตายทำไมไม่โตสักที ยิ่งพอได้มาทำคอลัมน์นี้เราได้เห็นปัญหาที่มันหลากหลายมาก คือตั้งแต่ปัญหาที่มันเล็กมากไปจนถึงปัญหาที่มันใหญ่มาก
“สิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงเบื้องลึกในใจของคนเหล่านี้ก็คือ เพราะว่าเขาอยากจะแก้ตรงนี้ เขาอยากที่จะเดินหน้าต่อ เขาไม่อยากอยู่กับปัญหานี้ตลอดเวลา เขาไม่อยากโดนทวงงานทางไลน์แล้ว เขาไม่อยากจะใส่ยูนิฟอร์มนี้แล้ว คือเขาอยากจะเติบโตบนหน้าที่การงาน นั่นคือเหตุผลทำไมเขาถึงส่งคำถามนี้มาให้เรา ทำให้เราก็เลยมีกำลังใจ นี่ไงคนรอบตัวเจอปัญหาหมด แล้วเขาอยากแก้ไข มันทำให้เรารู้ว่าบางปัญหาที่เราไม่คิดว่าเป็นปัญหา มันเป็นปัญหาได้ แต่ปัญหานี้มันมีผลกับความรู้สึกของเขา”
ทุกคนมีปัญหาในที่ทำงานเหมือนกัน แต่จะเปลี่ยนเป็นพลังบวกอย่างไร
อย่างแรกเลยคือ คนจะได้เห็นว่าปัญหามันเยอะมากเลย (หัวเราะ) แล้วบางทีมันก็ช่วยประลองสมองของเราด้วย เช่น ถ้าคุณอ่านแล้วเจอปัญหาแบบนี้คุณจะแก้มันอย่างไร หรือจะรับมือมันอย่างไร ซึ่งบางสถานการณ์อาจจะเป็นสถานการณ์ที่เราอาจจะยังไม่เจอ แต่ลองดูว่าถ้าเกิดเราเจอแล้ว เราจะรับมืออย่างไร หรือปัญหาบางอย่างก็ตรงกับคุณแต่ยังไม่เคยได้ปรึกษาใครแล้วคนอื่นมีวิธีรับมืออย่างไร หรือเห็นโบนัสมาแล้วอยากร้องไห้อย่างนี้ทำไง คือเป็นปัญหาที่ทุกคนเจอ
“เรามองเห็นว่าทุกคนมีปัญหาในที่ทำงานหมด แค่เย็นวันอาทิตย์ เราก็จะเห็นแต่สเตตัสว่า ‘วันจันทร์อีกแหละ’ พอวันจันทร์มาคนก็จะบ่น วันจันทร์อีกแล้ว แม้กระทั่งบางครั้งเราเองก็รู้สึก แม้เราจะรักงานของเราแค่ไหน แต่บางมุมเราเองก็รู้สึกเบื่อก็มี เราก็เลยรู้สึกว่าไอ้ความรู้สึกเบื่อนี้ มันเกิดขึ้นกับทุกคนนี่ว่า ความรู้สึกที่ว่า I Hate My Jobs มันเกิดขึ้นกับทุกคนได้เลย ทีนี้เราจะทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่า เขา Love My Jobs ได้ล่ะ นี่คือสิ่งที่ท้อฟตั้งต้นให้ได้มาเขียนบทความนี้”
ไม่เหยียบย่ำซ้ำเติม ไม่ตัดสินใครง่ายๆ แล้วสะกิดให้มองในมุมต่าง
เราเชื่อมั่นมากๆ เลยคือ อย่างแรก ทุกปัญหามีทางออกแน่นอน และทุกปัญหามีทางออกเมื่อเรามีสติ ทุกคนเก่งแต่ว่าเราจะแก้ปัญหาได้เมื่อเรามีสติ ทุกคนที่เขาส่งคำถามมาเชื่อว่าวันหนึ่งเขาหาทางแก้ได้นั่นแหละ แต่หน้าที่ของเราคือการให้กำลังใจเขา หน้าที่ของเราคือไม่ได้ไปเหยียบย่ำเขา ทำไมแกโง่อย่างนี้ล่ะ ห่วงอะไรกับของกินในตู้เย็นล่ะ เราไม่เคยว่าแบบนั้น แม้กระทั่งบางคนส่งมาว่า ผมเป็นหัวหน้าที่ลูกน้องไม่รักเลย ผมเผลอพูดแรงกับเขาอยู่ตลอดเวลา แต่เราจะไม่พูดว่า อ้าวทำไมไม่พูดดีๆ ล่ะ เพราะเรารู้สึกว่าเขาเข้ามาหาเราเพราะเขาอยากแก้ไขปัญหา แต่ขั้นแรกเราต้องให้กำลังใจเขาก่อน แล้วก็บอกเขาว่าไม่ว่าคุณจะยังไง แต่วันนี้คุณบอกเราแล้วว่าคุณอยากจะแก้ไข นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว ดังนั้นเราก็จะให้กำลังใจเขา อย่างที่ 2 เราก็จะบอกเขาว่าทุกปัญหามีทางออกนะ ดังนั้น เรามาช่วยกันคิด แล้วสุดท้าย เมื่อเขามีสติ เมื่อเขาใจเย็นแล้ว ทุกคนสามารถแก้ปัญหานี้ได้หมด
“ที่เหลือมันคือเรื่องของการสะกิดเขา ตอนนี้ตอนที่เรามีปัญหาเราจะรู้สึกเหมือนเราหันหน้าเข้าไปในมุมเดียว คือเราไม่เห็นอะไรเลย แต่ข้างหลังเรา ที่เราไม่เห็นน่ะ มันกว้างใหญ่มหาศาลเลย หน้าที่ของท็อฟในคอลัมน์นี้คือเหมือนกับสะกิดเขาว่า เฮ้ย! ยังมีมุมอื่นนะ แล้วที่เหลือเป็นหน้าที่ของเขาแล้วล่ะว่าเขาจะเห็นทางออกไหม”
สิ่งที่ท้อฟคิดคือว่า เราคือเพื่อนของเขา หนังสือเล่มนี้หรือบทความที่ท้อฟเขียน มันเหมือนเพื่อนคุยกัน เรามักจะมีเพื่อนที่มาบ่นเรื่องงาน หน้าที่ของเราคือรับฟังเขา ไม่ judge เขา ไม่ดูถูกเขา และเราทำให้เขาเห็นว่ายังมีมุมอื่นอีกนี่ไง เราไม่ได้มาบอกว่านี่นะเราต้องแก้แบบนี้ๆ ที่สุดหนังสือทั้งเล่มมันพูดถึงเรื่องการปรับทัศนคติ การสร้างแอดติจูดที่ดี แอดติจูดที่ดีมันเริ่มได้ตั้งแต่เราบอกว่าปัญหานี้มันแก้ได้ และเรายอมรับว่าปัญหานี้เกิดขึ้นจริงกับเรา นั่นก็คือแอดติจูดที่ดีแล้ว
Passion ยังจำเป็นไหมในการทำงาน
ยุคนี้คนมักจะบอกว่า คนเราทำงานต้องมี passion แล้ว passion จะพาเราไปสู่ความสำเร็จ แต่ในมุมของท้อฟนะ passion อย่างเดียวไม่พอ คือมันอาจจะเป็นจุดตั้งต้นที่ดี อาจจะเป็นเชื้อเพลิงที่ดีทำให้เราตั้งใจอยากไป ทำให้เรามีเป้าหมาย แต่มันอาจจะทำให้เราเสียเวลาด้วยหรือเปล่า?
“ในชีวิตคนเราจะมีสิ่งที่เรา อยากทำจังเลย สิ่งที่เราควรทำ และสิ่งที่เราต้องทำ ดังนั้น ถ้าเราดันไปมี passion ในสิ่งที่เราอยากทำ แต่เราไม่มี expertise (ความเชี่ยวชาญ) เช่น เราอยากเป็นนักว่ายน้ำจังเลย และเราก็รู้สึกว่าเราต้องว่ายน้ำได้เก่งแน่เพราะว่าเรามี passion แต่จริงๆ แล้วความสามารถที่แท้จริงของคุณ คือการวาดรูปเก่ง คุณว่ายน้ำได้เร็วเลยนะ แต่ยังไงก็เป็นนักว่ายน้ำกีฬาโอลิมปิคไม่ได้ แต่ถ้าคุณไปวาดรูปนะ คุณอาจจะได้เป็นศิลปินระดับโลกก็ได้ เห็นไหมว่านี่มันไม่ใช่แค่ passion แล้ว แต่มันคือการรู้ว่า เรามีความสามารถอะไรและเรารักอะไร และทำอะไรที่มันสามารถเติบโตขึ้นได้พัฒนาขึ้นได้มากกว่า”
อันต่อมา แล้วเวลาทำงานมันต้องมี passion ใช่ไหมวะ ท็อฟก็มานั่งคิดดูว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะมี passion และการที่เขาไม่มี passion ก็ไม่ใช่เรื่องผิดนะ เขาอาจจะมี passion เรื่องอื่น เช่น เคยมีคนส่งคำถามมาหาว่าเขาไม่รู้สึกว่าเขามี passion กับงานตัวเอง เขาแค่อยากมาทำงานเพื่อที่ว่าจะได้กลับบ้านไปเลี้ยงแมวและได้กินข้าวกับแม่ ฟังดูแบบนี้เราอาจจะรู้สึกว่าโหยทำไมช่างตื้นเขินขนาดนี้ ทำไมเธอไม่มี passion อะไรเลย
แต่มองอีกมุมคือนั่นไงความสุขของเขา ความสุขของเขาคือการได้อยู่บ้านเลี้ยงแมว ดังนั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมี passion ในเรื่องงานนะ แต่เขามี passion กับแมวกับการกินข้าวกับแม่ ถ้าคิดดีๆ นั่นไงคุณเจอแล้ว! ดังนั้น หน้าที่ของเราคือบอกว่า คุณเจอมันแล้วคุณไม่ได้ผิดนะกับความต้องการแบบนี้ นั่นแปลว่าคุณต้องมีงานที่ดี คุณต้องทำให้งานนี้ให้มันมั่นคงนะ เพราะงานนี้มันสามารถทำให้คุณกลับบ้านไปเลี้ยงแมวได้กินข้าวกับแม่ได้ เพราะฉะนั้นคุณจะมานั่งทำงานแบบปวกเปียก ทำงานแบบเช้าชามเย็นชามไม่ได้ เพราะถ้าคุณทำงานชิ้นนี้หลุดมือคุณจะไม่ได้เลี้ยงแมวและกินข้าวกับแม่อย่างมีความสุข
ทางออกมีร้อยทาง แต่อย่าเพิ่งโดดออกไปจุดสุดทาง
วิธีการพูดที่เราบอกเขาคือ ท็อฟเป็นเพื่อนเขา เพราะเราะไม่ได้วางตัวเป็นคนที่เก่งที่สุด เราก็บอกในฐานะที่ว่าเราก็เคยเจอปัญหาเดียวกับคุณนั่นแหละ และเราเปลี่ยนมุมมองของปัญหานี้อย่างไร แล้วไอ้แอตดิจูดแบบนี้ไม่ได้มาจากท้อฟคนเดียวนะ แต่มาจากรุ่นพี่ที่สอน จากลูกค้าที่สอน จากประสบการณ์การทำงานที่สอน และหลายๆ ปัญหาที่ท้อฟได้เจอมาแล้ว เพราะแต่ละคนก็มีประสบการณ์ที่ต่างกัน แต่ละคนก็มีมุมมองที่ต่างกันก็นำมาแชร์กัน อารมณ์เหมือนเวลาเพื่อนมีปัญหาเรื่องงานเราก็มานั่งคุยกัน
เพราะฉะนั้นจะกลายเป็นทุกๆ วันจะมีคนส่งคำถามมาหา และความชื่นใจของผมก็คือ มันทำให้ท้อฟรู้สึกว่างานของเรามันมีความหมาย โดยเฉพาะเวลาที่อ่านแล้วเขาบอกว่า ได้ลองนำไปใช้แล้วทำให้คิดได้ว่าการลาออกมันไม่ใช่ทางออกทางเดียว เพราะก่อนหน้านี้เขาจะมองว่าลาออกจบเลย ลาออกดีไหมครับพี่ แต่พอเราไล่ปัญหาต่างๆ ไป ว่าทุกปัญหามีทางออกก่อนจะไปถึงขั้นการลาออกนี่หว่า อย่างไรก็ตาม บางทีถ้ามันรุนแรงมากการเปลี่ยนสถานที่ก็อาจจะจำเป็น
“ทางออกของปัญหามันมีอยู่ร้อยทาง การลาออกมันไม่ควรจะเป็นทางเลือกแรกๆ เรากระโดดออกไปตรงทางที่ร้อยเลย หรือไปตรงที่มันสุดทางเลยคงไม่ได้”
3 เหตุผลใหญ่ๆ ที่ทำให้อยากลาออก
การลาออกมันง่ายขึ้นนะ แต่อันที่จริงแล้วก็มาจาก 3 สาเหตุใหญ่ๆ อันแรกเลยคือ เป็นความต้องการเรื่อง การเติบโต คือเขาได้เรียนรู้จากคนรุ่นก่อนว่าการอยู่ที่เดียวตลอดมันโตยาก เงินเดือนเพิ่มทีละนิด อันที่ 2 คือ อยากเรียนรู้ เวลาเราอยู่ในองค์กรใดองค์กรหนึ่งนานๆ เราจะได้รับอยู่บทบาทประมาณหนึ่ง หรือรู้อยู่แค่เรื่องเดียว แต่ถ้าเราอยากรู้เรื่องอื่นเพิ่มล่ะ นั่นแปลว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่สามารถทำให้เขาเรียนรู้เพิ่มเติมได้ ดังนั้น เขาจึงต้องกระโดดไปเรียนที่อื่น
“ทำงานที่เดียวอาจจะได้ตำราเล่มหนึ่ง แต่ถ้าไปทำงานหลายๆ ที่อาจจะได้ตำราหลายเล่ม เพราะว่าประมวลได้ คนรุ่นใหม่พยายามที่จะสำรวจตัวเองอยู่ว่าจริงๆ แล้วเขาชอบอะไร ไม่ใช่เรื่องของการที่ความอดทนน้อยลง เพราะว่ามันมีทั้งคนที่อดทนน้อยลง และคนที่ก็ชั้นอยากรู้ ว่าชั้นชอบอะไร”
อย่างที่ 3 ท้อฟว่าอาจจะเป็นความรีบร้อนในความ อยากจะประสบความสำเร็จ มันจะมีเทรนด์อย่างหนึ่งคือการ ฮอปงาน ฮอปงานบ่อยๆ เพื่ออัปเงินเดือน เพื่ออัปตำแหน่ง เพราะรู้สึกว่าเขาอยากประสบความสำเร็จเร็วๆ ข้อดีคือเงินเดือนและตำแหน่งมันขึ้นเร็วแหละ แต่ว่าเราต้องเก่งให้ทันตำแหน่งเราด้วยนะ เพราะเงินเดือนและตำแหน่งมาพร้อมกับความคาดหวัง และแปลว่าฝีมือเราต้องถึง แต่ถ้าฝีมือเราไม่ถึงแล้วขาเราไม่แข็งแรงพอมันหล่นลงมาจะเจ็บมาก
การบริหารช่องว่างระหว่างกันใน Social Media
ประเด็นเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียในที่ทำงานกับความเป็นส่วนตัว มองว่าอะไรที่ออกสู่สาธารณะแล้ว ไม่มีคำว่าไพรเวท แม้ว่าเราจะบอกว่านี่คือเฟซบุ๊กของชั้น ชั้นจะโพสต์อะไรก็ได้ แต่มันออกไปแล้วทุกสิ่งที่เราโพสต์ไปมันจะย้อนกลับมาหาเรา บอกว่าเราเป็นคนแบบไหน เราเชื่ออะไร เราคิดอะไร เราโตมาแบบไหน ที่สุดแล้วเราก็ต้องรักษาภาพของตัวเองให้ดีทั้งในโลกจริงและโลกโซเชียลฯ ต่อให้เรามีโลกโซเชียลฯ ที่ดูหรูหรายังไงก็ตาม แต่ตัวตนของเราเปลือกมาก กลวงมาก เราก็จะไม่ได้ดูดีเหมือนโซเชียลมีเดีย
ส่วนในเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียให้ดีกับคนในที่ทำงาน ท้อฟมองว่า คนแต่ละคนจะมีช่องว่างของกันและกันอยู่ แต่ว่าเราต้องบริหารว่าระยะห่างของเราแค่ไหนที่จะไม่ทำร้ายกัน บางคนอยู่ด้วยกันแล้วชิดมากเกินไปก็ไม่ดีเขยิบออกมาหน่อยก็อาจจะดีกว่า ซึ่งอะไรที่เราอยากเก็บไว้คุยเฉพาะครอบครัวหรือเพื่อนฝูงเดี๋ยวนี้มันก็สามารถเซ็ทได้ อันไหนที่เรารู้สึกว่าเปิดเผยได้ก็โอเค.
“เพราะว่าโซเชียลมีเดียมันมีประโยชน์อย่างหนึ่งก็คือ มันทำให้เราเห็นชีวิตของเพื่อนร่วมงาน นอกจากเรื่องงาน”
บางครั้งตอนเราทำงานเราเห็นเขาแค่มุมเดียว แต่เวลาเขาอยู่กับลูกเขาน่ารักจังเลย มันอาจจะทำให้เราสบายใจและรู้จักกันมากขึ้น หรือว่าอาจจะมีบางอย่างที่เราชอบเหมือนกันแล้วมันมาช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ มันช่วยให้เรามีคอนเวอร์เซชันร่วมกันได้ แต่อย่างไรก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกันอยู่ดี
3 Magic Words “ขอบคุณ ขอโทษ ให้อภัย”
เคล็ดลับสำคัญที่ท้อฟใช้ในการฝึกฝนวิธีคิดให้เกิดเป็นแง่มุมดีๆ ในการทำงานด้วยคำ 3 คำ ที่ใช้เป็นประจำ ได้แก่ “ขอบคุณ” กับ “ขอโทษ” และ “ให้อภัย”
“ขอบคุณ” นี่คืออย่างแรก ทุกคนเป็นครูที่ดีให้เราได้ ไม่ว่าจะเป็นทางดีหรือไม่ดี เราขอบคุณเขาหมด เพราะวันนี้เขาอาจจะทำร้ายเราใครจะไปรู้ว่าที่จริงแล้วมันคือการสร้างภูมิต้านทานในชีวิตให้กับเรา แล้ววันหนึ่งเราจะพบว่า อ๋อ..เพราะเราเคยเจอแบบนี้เธอเคยทำแบบนี้นี่นาชั้นถึงได้แกร่งขึ้นมาได้ นั่นคือเราขอบคุณเขา
“ขอโทษ” คือถ้าเราทำผิด เราจะต้องรีบขอโทษเราไม่ควรปล่อยเอาไว้ แพราะเวลาเราทำงานอาจจะกระทบกับคนอื่นบ้าง ดังนั้น เราไม่ควรนำความรู้สึกแย่ๆ กลับไปที่บ้าน หรือว่าเมื่อเขาลาออกแล้วเราไม่ควรทำให้เขาเกิดบาดแผลนี้ในใจ “ให้อภัย” คอนเซปต์นี้คือ ไม่ว่าใครทำอะไรไม่ดีกับเราก็ตาม เราต้องให้อภัยเขาก่อน เพราะถ้าเมื่อไหร่เราให้อภัยเขาแล้ว เราจะไม่เป็นคนแบบเขาแล้ว เราจะจบแล้ว สมมุติเราเจอคนที่ทำไม่ดีกับเรามากๆ รีบให้อภัยก่อนเลย แม้ว่าเขาจะไม่ขอโทษเราแม้ว่าเขาจะไม่สำนึก แม้ว่าเขาจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเขาทำเลว เขาทำผิด เราให้อภัยก่อนเลย เพราะว่าเราไม่เกี่ยวแล้วนะ ชั้นออกมาแล้วนะ
“การที่เขาเอามีดจ้วงเรา แล้วเรายังมัวคิดถึงแต่เขา ก็เหมือนเราเอามีดจ้วงตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราต้องรีบให้อภัยเขาก่อน เขาจะเป็นยังไงก็ตามเราไม่สนแล้วนะ เราให้อภัยไปก่อนเลย”
เดินเล่นในทุ่งลาเวนเดอร์ ที่สอดส่องหาพิษร้ายไปด้วย
คำว่าโลกสวยสำหรับเรามันคือการมองเห็นสิ่งที่ดีในสถานการณ์ที่ร้ายที่สุด ซึ่งท้อฟว่ามันเป็นแอดติจูดที่ดีมากนะ เวลาที่เราเห็นอะไรสิ่งที่มันเกิดขึ้นในชีวิต มันมีทั้งเรื่องดีและไม่ดี แม้กระทั่งเรื่องดีที่สุดมันก็อาจจะมีเรื่องร้ายอยู่ในนั้น เพราะว่าเรายึดติดกับเรื่องดีๆ จนเราประมาท ไอ้เรื่องดีเหล่านั้นก็จะกลายเป็นเรื่องร้ายได้ เช่นเดียวกัน บนเรื่องไม่ดีมันก็มีครูอยู่ในนั้น เป็นบทเรียนของเราหมดเลย ถ้าเรามองเห็นตรงนี้ ต่อให้มันเลวร้ายแค่ไหน ถ้าเรามองให้มันเป็นบทเรียนของเราได้ เราก็มีทัศนคติที่ดีแล้วนะ
“คือมันอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ได้ แต่ต้องรู้ว่าทุ่งลาเวนเดอร์นี้มันจะมีพิษอะไรกับเราได้บ้าง เราต้องเรียนรู้จากมันด้วย”
นอกจากนี้ การมองโลกในแง่ร้ายก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เราเห็นเรื่องที่ร้ายที่สุดแต่เรามีความหวัง และเราเตรียมตัวไว้สำหรับสิ่งที่มันจะแย่ มองโลกในแง่ร้ายมันก็ทำให้เราไม่ประมาท ถ้าเราเห็นทุกอย่างดีหมด แล้วเกิดความบรรลัยขึ้นมามันจะเจ็บมาก เพราะฉะนั้นถ้าเรามีเพื่อนร่วมงานที่ชอบมองโลกในแง่ร้ายตลอด นั่นแหละคือคนที่จะช่วยอุดความฉิบหายให้กับเราได้ เพราะเขาจะมองเห็นสิ่งที่มันอาจจะเกิดขึ้น เพราะเขาจะเป็นคนที่ประเมิณความเลวร้ายให้กับเราต่อสถานการณ์นั้นได้
“มองให้เห็นในสิ่งที่ดีที่สุดบนสิ่งที่ร้ายที่สุด และมองเห็นสิ่งที่ร้ายที่สุด บนสิ่งที่ดีที่สุดให้ได้ อันนั้นคือการมองโลกในแง่ดี”
เก่งกว่าไม่ใช่แน่กว่า และโง่กว่าไม่ได้แปลว่าห่วย
ความคิดว่าทำไมถึงอยากเขียนหนังสือให้คนอ่านเก่งกว่าตัวเอง อย่างแรกเลยคือต้องบอกก่อนว่า ท้อฟไม่ใช่คนที่เก่งที่สุดเลย คนเรามีความเก่งที่ต่างกันหมดเลย เราเอาความเก่งของเราไปเทียบกับคนอื่นไม่ได้ เรื่องบางเรื่องเขาไม่ได้เก่งแบบเดียวกับเราไม่ได้แปลว่า เขาแย่ เช่นเดียวกันเรื่องที่เราไม่เก่ง ไม่ได้แปลว่า เราห่วย แต่มันกำลังบอกเราว่า ทุกคนรอบตัวเป็นคนเก่งหมด แล้วเราอย่าได้กร่างแล้วเราอย่าได้ลำพองว่าข้าแน่ที่สุด เจ๋งที่สุดในโลก เราจะต้องมีความเคารพคนอื่นด้วย แต่ขณะเดียวกัน เราสามารถเก่งขึ้นได้ มันไม่มีคำว่าเก่งที่สุดหรอก มันมีแต่คำว่าเก่งขึ้นๆ
“เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท็อฟสามารถมอบให้คนได้ก็คือว่า ทำยังไงให้เขาเก่งขึ้น ดีขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้นเลยอ่ะ ถ้าเราทำให้ช่วงเวลาในการทำงานของเขาเปลี่ยนจาก I hate my job เป็น I love my job ได้ มันไม่ได้ช่วยชีวิตเขาแค่เรื่องงานแล้ว แต่ทำให้เขามีแอดติจูดที่ดีกับที่บ้านกับเพื่อนร่วมงานหรือส่งคืนอะไรกลับไปให้สังคมอะไรแบบนี้”
เราอยากสร้างวัฒนธรรมแบบนี้ สร้าง culture ที่ว่าเราเก่งอะไรมาเราเรียนอะไรมาเราแบ่งปันให้คนอื่นเพื่อให้คนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้น คนเรามีความเก่งหมดเลยนะ แล้วเรามีส่วนทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้อย่างไร ทุกงานเลย คุณเป็นช่างแต่งหน้า คุณกำลังทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะว่าคุณกำลังทำให้เขามีความมั่นใจมากขึ้นเวลาที่ออกจากบ้านไป คุณทำบัญชีความเก่งของคุณคือ การที่คุณตรวจสอบบัญชี ตรวจสอบเงินเข้าเงินออกของบริษัทเพื่อทำให้บริษัทโปร่งใส และไม่มีใครมาทำร้ายบริษัทได้ นี่ไงคือคุณกำลังช่วยชีวิตคนอื่นอยู่ ทุกงานมีคุณค่า และมีหน้าที่ที่จะทำให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้นได้
“แน่นอนในฐานที่เราเป็นนักเขียน และเป็นมนุษย์ออฟฟิศด้วยกันด้วย มันคือการทำให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้น ผ่านกับสิ่งที่เราทำคือการเขียน การคิด และมีต้นทุนที่มีประสบการณ์ต่างๆ ตั้งเยอะแยะ ดังนั้น การที่ท้อฟแบ่งปันอะไรแบบนี้มันทำให้คนอื่นดีขึ้น และตัวเราดีขึ้นได้ด้วยมันก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี”
แล้วคุณล่ะหลังอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ได้ถามตัวเองหรือยังว่า คุณสามารถเปลี่ยน I hate my job เป็น I love my job ได้แล้วหรือยัง.
[wonderplugin_video iframe=”https://www.youtube.com/watch?v=UxPLu0BQFvQ” videowidth=600 videoheight=400 keepaspectratio=1 videocss=”position:relative;display:block;background-color:#000;overflow:hidden;max-width:100%;margin:0 auto;” playbutton=”https://bsite.in/wp-content/plugins/wonderplugin-video-embed/engine/playvideo-64-64-0.png”]
Copyright© Bsite.In
ABOUT THE AUTHOR
ทีมงาน bsite
Biographical Info