- Investment
ทำไมเอเซอร์ฯ ถึงมองว่า 50 ล้านคุ้มค่าจัด E-Sport และอาชีพทำเงินใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเกม
By ทีมงาน bsite • on Feb 16, 2019 • 2,220 Views
บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด จัดการแข่งขันรอบแกรนด์ไฟนอลทัวร์นาเมนต์ Asia Pacific Predator League 2019 วันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ 2562 ณ สนามกีฬาแห่งชาติ อาคารกีฬานิมิบุตร พบสุดยอด 26 ทีมอีสปอร์ตจากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตบเท้าเข้าชิงรางวัลรวมมูลค่ากว่า 8,000,000 บาท (250,000 USD)
นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ Director Marketing Division Office บ.เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวถึงการจัดการแข่งขันที่ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรกว่า การจัดการแข่งขัน Asia Pacific Predator League 2019 เป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอีสปอร์ตควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมพีซีเกม พร้อมทั้งส่งเสริมศักยภาพของนักกีฬาฯ ด้วยการสร้างประสบการณ์การแข่งขันผ่านเกมมิ่งคอมพิวเตอร์ที่เปี่ยมประสิทธิภาพอย่าง Predator ที่จะช่วยผลักดันและสร้างแรงบันดาลใจให้นักกีฬาฯ ทำการแข่งขันอย่างเต็มศักยภาพเพื่อชิงความเป็น 1 ของเกม PUBG และ DOTA2
ซึ่งจริงๆ แล้วเอเซอร์เราทำตลาดเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ด้านเกมมิ่งมา 2-3 ปีแล้ว ก็มีทั้งที่สนับสนุนทีมและเป็นสปอนเซอร์ทีม แต่สิ่งที่เรายังไม่ทำคือการทำทัวร์นาเมนต์ของตัวเอง ดังนั้น ในปีที่ผ่านมาเราก็เลยจัดการแข่งันขึ้นที่เรียกว่า Predator Leauge เป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ที่จาร์กาต้า อินโดนีเซีย โดยมี 9 ประเทศลงแข่งขัน แต่แข่งขันเพียงเกมเดียวก็คือ DOTA 2 แต่ปีนี้ประเทศไทยเราได้เป็นเจ้าภาพ แข่ง 2 เกมได้แก่ PUBG และ DOTA 2 โดยมีทีมที่เข้าร่วมในการคัดเลือกทั้งหมด 3,500 กว่าทีม และมีทีมที่ผ่านมาคัดเลือกมาทั้งหมด 26 ทีม จาก 16 ที่ด้วยกัน ได้แก่ มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฮ่องกง, มาเก๊า, ฟิลิปปินส์, ไทย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, อินเดีย, เกาหลี, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, ศรีลังกา, มองโกเลีย พม่า และออสเตรเลีย
สิ่งสำคัญที่เรามองว่าประเทศไทยจะได้ในงานนี้ก็คือ เรามองว่าเป็นการบอกให้กับหลายๆ ประเทศรู้ด้วยว่าคนไทยได้มีศักยภาพที่จัดทัวร์นาเมนต์ระดับนี้ โดยเราใช้ทีมงานคนไทยทั้งหมด และเรามั่นใจว่าสเกลในการจัดงานครั้งนี้เราทำได้มาตรฐานเทียบเท่ากับที่จัดในยุโรปหรืออเมริกาเลย การจัดทัวร์นาเมนต์อีสปอร์ตระดับนี้ โดยเฉพาะเรื่องของการวางเน็ตเวิร์คคอมพิวเตอร์ ซึ่งซับซ้อนมากกว่าการจัดกีฬาโดยปกติมากๆ และส่วนใหญ่มักจะเป็นการจ้างทีมงานเมืองนอกมาทำมากกว่า แต่ในครั้งนี้เราตัดสินใจใช้ทีมงานคนไทยทั้งหมด เพราะเรามั่นใจในศักยภาพของคนไทยซี่งทำงานออกมาได้เนี้ยบไม่ต่างจากเมืองนอกเลย
“เพราะเราอยากให้เมืองไทยเป็นฮับของอีสปอร์ตในเอเชียได้อย่างแท้จริง เพราะเรามั่นใจในศักยภาพของคนไทย ไม่ว่าสถานที่พัก โรงแรม อาหาร มันช่วยในการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้เลย ที่สำคัญคือ อีสปอร์ตจัดเมื่อไหร่ก็ได้ไม่จำกัดเรื่องซีซัน เรื่องนี้คิดว่าสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาประเทศไทยได้”
สำหรับในการจัดทัวร์นาเมนต์ครั้งนี้ เราใช้งบฯ ในการจัด ประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อให้การจัดงานเป็นระดับอินเตอร์เนชั่นแนลอย่างแท้จริง แต่อันที่จริงเรื่องเม็ดเงินไม่ใช่ประเด็น เพราะสิ่งสำคัญคือเราอยากโชว์ศักยภาพในการจัดงานโดยคนไทยด้วยคนไทยให้เทียบเท่ากับระดับยุโรปและสหรัฐฯจริงๆ ซึ่งตรงนี้เรามั่นใจมากว่าคนไทยทำได้
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเกมมิ่งที่เกี่ยวกับ PC เติบโตต่อเนื่องทุกปี เรียกได้ว่าเป็น double growth ซึ่งเราเห็นนักกีฬาเพิ่มขึ้น เห็นเกมใหม่ๆ มีเพิ่มมากขึ้น แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือเราเห็นอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมเกม เช่น การเป็นแคสเตอร์ (นักพากย์เกมส์) ซึ่งทำเงินมหาศาลมาก และได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ อีกอาชีพคือ การทำอนิเมชั่นกราฟฟิคจากเกมส์ หรือนักตัดต่อภาพเกมส์ หรืออาชีพการทำสตรีมมิ่งเกมส์แบบสดๆ ซึ่งตอนนี้ตลาดต้องการคนทำงานด้านนี้มาก ซึ่งตรงนี้และเป็นประเด็นสำคัญที่เราได้จัดการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ขึ้นมากเพื่อให้เด็กไทยได้มีโอกาสได้มาดูงานของจริงในมาตรฐานโลกที่เขาทำกัน
“เปรียบเทียบก็เหมือนกับการรายงานการแข่งกีฬาแบบสดๆ แต่ตรงนี้มีความซับซ้อนกว่า เพราะถ้าเป็นฟุตบอล เราก็สามารถโฟกัสได้อยู่ที่ลูกฟุตบอล แต่การแข่งเกมตรงนี้มันเกิดกระจายไปทั่วบนแม็พ มีการต่อสู้กระจายไปทั่ว นั่นแปลว่า การตัดต่อจะต้องว่องไวมาก และต้องหูตาไวมาก มันคือ 16 ทีม ทีมละ 5 คน แล้วมันเกิดบนแม็พเดียว แต่มันไปเกิดตรงไหนบ้าง มันจึงยากและซับซ้อนกว่า ซึ่งปรากฏว่าด้วยศักยภาพของทีมงานไทย เราได้รับการยอมรรับจากเจ้าของเกม เมื่อเขามาดูการทำงานของเราก็ได้รับความชื่นชมอย่างมาก”
อุตสาหกรรมเกมบ้านเราไทยยังขาดอะไร นิธิพัทธ์ ตอบว่า ในเชิงสังคมอาจจะติดในแง่คนชอบมองในเรื่องเด็กติดเกม ซึ่งแน่นอนว่าทุกอย่างมีทั้งบวกและลบ ภาพบวกอย่างที่กล่าวไปคือทำให้มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้น ดังนั้น เราก็อยากให้เกิดการส่งเสริมในภาพบวก เราไม่ได้มาบอกว่าให้เด็กที่เล่นเกมทุกคนจะมาเป็นนักกีฬาแบบนี้ได้กันหมด มันคือยอดของปิรามิดเล็กนิดเดียว แต่คุณสามารถไปเป็นอย่างอื่นได้ เช่น นักพากย์เกมส์ นักตัดต่อได้ คือมันยังมีเวย์อื่นๆ ออกไปอีกมากมาย และสร้างให้เกิดรายได้ อาชีพ ผลักดันเศรษฐกิตประเทศในภาพรวมได้อีกด้วย
“เด็กๆ เยาวชนที่มางาน นอกเหนือจากความสนุกของเกมการแข่งขันแล้ว ผมอยากให้มองในภาพรวมด้วย จะเห็นว่าอุตสาหกรรมนี้ประกอบไปด้วยองค์ประกอบมากมาย คุณจะเห็นนักพากย์ คุณจะเห็นนักตัดต่อ คุณจะเห็นทีมงานเบื้องหลังทั้งหมด พวกนี้คืออาชีพที่กำลังต้องการอย่างมากทั้งนั้นเลย แล้วยังเป็นอาชีพเกี่ยวกับเกมส์ที่น้องๆ รักอยู่แล้วด้วย ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ก็อยากให้มีโอกาสได้มาดูของจริงกัน กับการสร้างงานสเกลใหญ่ระดับโลกที่คนไทยเราทำเองซึ่งมันสำคัญมากจริงๆ”
กับการแข่งขัน Asia Pacific Predator League 2019 น่าจะจุดประกายให้หลายฝ่ายได้เห็นความสำคัญกับอุตสาหกรรมเกมมิ่งมากขึ้น และสนับสนุนเด็กเยาวชนไปในทางทิศทางที่ถูกต้องได้
Copyright© Bsite.In
ABOUT THE AUTHOR
ทีมงาน bsite
Biographical Info