- Lifestyle
เลือกตั้ง 62 เมื่อโซเชียลเข้ามามีบทบาท หาเสียงออนไลน์ ทำได้หรือไม่?
By Sanook D Pipat • on Jan 29, 2019 • 2,305 Views
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 โดยมีหมวดที่น่าสนใจที่เหมาะกับยุคสังคมออนไลน์ ซึ่งจะเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันได้กว่าป้าย หรือรถแห่หาเสียง วันนี้เราขอพาทุกคนมาดูกันว่าระเบียบนี้สามารถทำได้หรือห้ามทำ และการหาเสียงแบบไหนที่เข้าข่ายผิดระเบียบจนทำให้เสี่ยงต่อการตัดสิทธิ์เลือกตั้งได้
ช่องทางหาเสียงที่สามารถทำออนไลน์ได้
ในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สมัคร พรรคการเมืองหรือผู้ใด แล้วแต่กรณีสามารถใช้วิธีการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยตนเอง หรือมอบหรือว่าจ้างบุคคลหรือนิติบุคคล ดำเนินการแทนได้ด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้
– เว็บไซต์
– โซเซียลมีเดีย
– ยูทูป
– แอปพลิเคชัน
– อีเมล์
– เอสเอ็มเอส
– สื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นทุกประเภท
โดยการหาเสียงผ่านช่องทางดังกล่าว จะต้องระบุชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำของตัวผู้สมัคร ชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของ พรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง คติพจน์ คำขวัญ หรือข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้ อย่างชัดเจนด้วย
ต้องแจ้งข้อมูลก่อนหาเสียง
– ในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้สมัครแจ้งวิธีการรายละเอียด ช่องทาง ระยะเวลาในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องตามแบบที่กำหนด ให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบตั้งแต่วันสมัครรับเลือกตั้งเป็นต้นไปหรือก่อนดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์
– ในกรณีพรรคการเมืองจะดำเนินการการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้แจ้งวิธีการ รายละเอียด ช่องทาง ระยะเวลาในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องตามแบบที่กำหนด ให้เลขาธิการทราบตั้งแต่วันสมัครรับเลือกตั้งเป็นต้นไปหรือก่อนดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์
หากทำผิดระเบียบจะเป็นอย่างไร?
เมื่อกกต.พบว่ามี ผู้สมัคร พรรคการเมือง ทำผิดต้องให้คณะกรรมการสั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูล และให้เลขาธิการแจ้งคำสั่งให้ ผู้สมัคร พรรคการเมือง แก้ไขโดยเร็ว กรณีที่ไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงภายในเวลาที่กำหนด ให้เลขาธิการแจ้งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และผู้ให้บริการเพื่อพิจารณาดำเนินการ หากมีค่าใช้จ่ายในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ
ข้อห้ามอื่นๆ
– ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับ การหาเสียงเลือกตั้ง
– ห้ามผู้ประกอบอาชีพหรือเป็นเจ้าของกิจการเกี่ยวกับรายการทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์
สื่อมวลชน สื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร สื่อมวลชน เป็นต้น ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมือง
– ห้ามแจกจ่ายเอกสารเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการวาง หรือโปรยในที่สาธารณะ
– ห้ามหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม
– ห้ามช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่ผู้ใด ตามประเพณีต่างๆ
ABOUT THE AUTHOR
Sanook D Pipat