- Entertainment
หรือ ‘หน่วยงานรัฐ’ จะเป็นแหล่ง PR ชั้นดีให้แก่ ศิลปินเพลงไทย?
By Walrus • on Nov 05, 2018 • 1,465 Views
เป็นที่ทราบกันดีแล้วนะครับ สำหรับเพลง “ประเทศกูมี” เป็นเพลงที่กล่าวขานกันไปทั่วบ้านทั่วเมืองขนาดไหน
เดิมทีแนวเพลงประมาณนี้ ขอบเขตจะดังในหมู่คนที่ชอบเพลงฮิปฮอป คนฟังเพลงป๊อปทั่วๆ ไป บางทีก็อาจจะเข้าไม่ถึง
แต่ด้วยเนื้อหาของบทเพลง ได้ถูกกลั่นกรองออกมาจากความอัดอั้นตันใจ ส่งผลสะท้อนจากสังคมไทยในยุคนี้ได้อย่างตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม
ไม่ได้เป็นเนื้อหาแค่พูดลอยๆ กลางๆ ที่กระเทาะเปลือกไม่แตก เข้าไม่ถึงแก่น อย่างหลายๆ บทเพลงที่นิยมแต่งด่านักการเมืองฝั่งที่ตัวเองไม่ชอบ หรือ เวลาเอ่ยถึง “นักการเมือง” เท่านั้น
“นักการเมืองเลวอย่างโน้น นักการเมืองโกงอย่างนี้” แนวเดียวกับท่านบางคนที่ชอบพูดนั่นหล่ะครับ แต่ถ้าถามหาถึงแก่นแท้ลงไปข้างในนั้น กลับกลวงโบ๋ ลึกๆ อาจเป็นกิเลสที่ยั่วยวน ความอยากได้อยากมีอำนาจก็เป็นได้
เมื่อ “กระเทาะเปลือกไม่แตก”
ความอัดอั้นตันใจในสังคมไทยจึงปะทุขึ้น จากคนที่ไม่เห็นด้วยกับอำนาจนอกระบบ
ย้อนกลับไปช่วงแรกเริ่ม การสื่อสารออกมาได้ลำบาก แกนนำที่เคลื่อนไหวในช่วงนั้น ถูกจับไป “ปรับทัศนคติ” กันเป็นทิวแถว ยังมีหน่วยมาตามกวาดล้าง การจัดกิจกรรมเพื่อแสดงสัญลักษณ์ก็เป็นอย่างยากลำบาก อาทิ นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์, ชูสามนิ้ว หรือแม้แต่ นั่งกินแซนวิซอ่านหนังสือ “1984” ของ จอร์จ ออร์เวลล์ ก็ยังไม่รอด
สุดท้ายกลุ่มที่ต่อต้านก็เหลือแต่ปลาซิวปลาสร้อย แซะกันไปตามช่องทางเท่าที่ทำได้ อย่างเช่น ตามโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คทั้งหลาย จนเกิดความอึดอัดใจของกลุ่มคนที่เหลืออยู่ กลุ่มตัวเล็กๆ ปลาซิวจิ๋วๆ นี่แหละ ที่ร่วมกันสร้างพลังให้แก่กลุ่ม Rap Against Dictatorship ผ่านความคิดเห็นกับข่าวสารต่างๆ และแร็พเปอร์กลุ่มนี้เอง ถ่ายทอดความรู้สึกจาก “ปลาซิวปลาสร้อย” ออกมาเป็นบทเพลงได้อย่างมีพลัง
จึงไม่แปลกใจเลยที่ใครฟังแล้วก็ชอบ ฟังแล้วก็โดน เพราะมันคือเรื่องจริงที่ปฏิเสธได้ยากทั้งนั้น
จะมองว่าเป็นเพลงการเมืองมันก็ใช่ แต่จะมองอีกมุมหนึ่งว่ามันสะท้อนภาวะทางสังคม มันก็ใช่อีกนั่นหล่ะ
ลำพังด้วยตัวบทเพลงเอง ก็กล่าวขานกันปากต่อปากอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เป็นแรงโปรโมตให้ดังยิ่งขึ้นนั้นกลับเป็น หน่วยงานรัฐเสียเอง และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกนะครับ ที่หน่วยงานรัฐ ช่วยโปรโมทศิลปินให้ดังฟรีๆ
แต่ก่อนหน้านี้ ช่วงต้นปี 2540 ตั้ม-สุวิชชา สุภาวีระ หรือชื่อในวงการที่รู้จักกันว่า “ดาจิม” ออกอัลบั้มเพลงฮิปฮอปใต้ดินด้วยเนื้อหาบทเพลงที่หยาบคาย และ ต่อต้านนโยบาย “จัดระเบียบสังคม” ของรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ทำให้เหล่าสีกาไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ จนถูกแจ้งข้อหา “ผลิตเพลงที่มีแต่คำอนาจารและลามก โดยผลิตออกมาเป็นเทปเสียง เพื่อเผยแพร่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี” เกิดเป็นคดีแรกของประเทศไทย
ผลร้ายแต่ดันกลายเป็นดีกับดาจิมไปซะอย่างงั้นอ่ะ
ก่อนโดนจับเทปใต้ดินขายได้อยู่หลักพันม้วนเท่านั้น
แต่หลังโดนจับ ทะยานไปสู่หลักแสนม้วนได้สบายๆ
ค่ายใหญ่ๆ ยังอายกับยอดขายนี้เลยหล่ะครับ ซึ่งเกิดจากความไม่ได้ช่วย PR ของหน่วยงานรัฐ แต่กลายเป็นผลดีต่อตัวศิลปินไปซะอย่างนั้น งานนี้เหล่าศิลปินต้องขอบคุณพวกท่านจริงๆ ฉะนั้น ในยุคนั้น ไม่ต่างกับในยุคนี้เลย
ยิ่งเมื่อเทียบกับการโปรโมทเพลงของรัฐบาลอย่าง เพลงคืนความสุข , เพราะเธอคือประเทศไทย , ความหวัง ความศรัทธา , สะพาน , ใจเพชร และ สู้เพื่อแผ่นดิน นั้น ลงทุนแต่งมา 6 เพลง โปรโมทกันมา 4 ปีต่อเนื่อง ถ้าจะให้พูดตรงๆ ยังไม่โดนใจและครึกโครมเท่า “ประเทศกูมี” เพลงเดียว ในระยะไม่ถึงเดือนเลยครับ!!!
สุขสวัสดิ์จงมีแด่ท่าน
W.
ABOUT THE AUTHOR
Walrus