- Sport
ส่องกีฬาที่แข่งในโอลิมปิกที่คุณดูแล้วต้องร้องว่า โอ้โห! นี่ไม่ใช่คนแล้ว มีแต่เทพทั้งนั้น Part 1
By choerryblossom • on Aug 06, 2021 • 997 Views
กีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 เดินทางมาได้ถึงโค้งสุดท้ายของการแข่งขันแล้วนะคะ การแข่งขันครั้งนี้ได้ก่อกำเนิดนักกีฬาขวัญใจที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ประชาชนในหลาย ๆ ประเทศ วันนี้ BSITE เลยรวบรวมกีฬาที่แข่งในโตเกียว 2020 เมื่อคุณได้ชมแล้วถึงกับร้องว้าวออกมาเพราะว่า เป็นกีฬาที่เหนือมนุษย์ค่ะ จะมีกีฬาอะไร ติดตามกันได้ที่นี่ ที่เดียวค่ะ
ไตรกีฬา (Triathlon)
ไตรกีฬาคือ กีฬาที่ต้องใช้ความอดทนและความแข็งแรงของร่างกายสูงมาก ๆ ซึ่งผู้เข้าแข่งขันไตรกีฬาต้องผ่านด่านกีฬาทั้งสามคือ ว่ายน้ำ 1,500 เมตร ปั่นจักรยาน 40 กิโลเมตร และวิ่งอีก 10 กิโลเมตรค่ะ ไตรกีฬาจะแข่งขันโดยไม่ให้นักกีฬาหยุดพักแม้แต่นาทีเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ โดยผู้ชนะคือผู้ที่ทำเวลาได้ดีที่สุด สำหรับผู้ชายเวลาที่จะสามารถชิงเหรียญมาได้คือประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที ส่วนผู้หญิงจะอยู่ที่ 2 ชั่วโมง
ไตรกีฬาเป็นกีฬาที่คิดค้นและพัฒนามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปีค.ศ. 1970 โดยกีฬานี้ถูกนำมาแข่งในโอลิมปิกครั้งแรกเมื่อตอนจัดแข่งขันที่ ซิดนีย์ 2000 ในตอนนั้นมีผลตอบรับจากแฟน ๆ กีฬานี้ดีมากถึงขั้นมีผู้ยืนเชียร์นักกีฬาอยู่ข้างถนนถึง 500,000 คนเลยทีเดียว
สำหรับโอลิมปิกโตเกียว 2020 ในปีนี้ ได้มีการคิดค้นรูปแบบการแข่งขันแบบใหม่ขึ้นมาเพิ่มเติมก็คือ ไตรกีฬาประเภทผลัดระยะสั้น กติกาก็คือ 1 ทีมจะมีผู้เล่นชาย 2 คนและหญิง 2 คน ซึ่งแข่งขันกันด้วยว่ายน้ำ 300 เมตร ปั่นจักรยาน 6.8 กิโลเมตร และวิ่งอีก 2 กิโลเมตรก่อนที่จะแท็กเพื่อนอีกคนให้แข่งขันต่อในระยะทางที่เท่ากันและต้องผลัดให้ครบ 4 คน ซึ่งนักกีฬาจะต้องรักษาความเร็วและคิดค้นกลยุทธ์ที่จะทำให้คนอื่นแซงตนไปไม่ได้ รวมทั้งผู้ชมยังได้ตื่นตาตื่นใจกับความรวดเร็วของนักกีฬาและการแข่งขันที่เปลี่ยนผู้ชนะได้ตลอดเวลาการแข่งขัน
โดยฮีโร่ของไตรกีฬาปีนี้ได้แก่ ฟลอรา ดัฟฟีย์ นักไตรกีฬาหญิง ผู้สร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองแรกให้ประเทศเบอร์มิวดาได้สำเร็จในโตเกียว 2020 ค่ะ
จักรยาน (Cycling Road)
ใครจะไปนึกกันว่าการปั่นจักรยานเพื่อการเดินทางหรือออกกำลังกายจะเป็นกีฬาที่ดูเหนือมนุษย์ กีฬาจักรยานเกิดขึ้นในโอลิมปิกครั้งแรกที่ เอเธนส์ 1896 และเป็น 1 ในกีฬาไม่กี่ประเภทที่มีการจัดการแข่งขันกีฬามวลมหาชนอย่างโอลิมปิกในเกือบทุกปีที่จัดการแข่งขัน เดิมทีอนุญาตให้แค่นักปั่นมือสมัครเล่นลงแข่งเท่านั้นแต่ในโอลิมปิก แต่ใน แอตแลนต้า 1996 เริ่มมีการอนุญาตมืออาชีพสามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ด้วยเพื่อความดุเดือดของการแข่งขันมากยิ่งขึ้น โดยการแข่งขันจักรยานในโอลิมปิก โตเกียว 2020 จัดการแข่งขัน 2 ประเภทได้แก่ Road Race และ Individual Time Trial โดยทั่วไปการแข่งขันจักรยานมักจัดเส้นทางการแข่งขันแบบจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดคือที่เดียวกัน แต่ในโอลิมปิกโตเกียว 2020 นั้นจะกำหนดแบบใหม่ด้วยการให้จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดอยู่คนละจุดกัน ซึ่งเส้นทางการปั่นนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่ถนนธรรมดา แต่ยังเป็นเส้นทางที่ลาดชันที่ต้องใช้แรงในการปั่นขึ้นที่สูง โดยระยะทางและความสูงของเส้นทางปั่นในการแข่งขันประเภทชายจะอยู่ที่ 244 กิโลเมตร มีระดับความสูงรวมทั้งหมด 4,865 เมตร และของประเภทหญิงจะอยู่ที่ 147 กิโลเมตร มีระดับความสูง 2,692 เมตร กีฬาประเภทนี้ต้องใช้พละกำลังเยอะมากในการปั่นตั้งแต่จุดเริ่มต้นถึงจุดสิ้นสุด พลาดไม่ได้แม้แต่วินาทีเดียว
นอกจากนี้ยังรวมถึงการใช้สมองวางกลยุทธ์ในการปั่นแซงคู่แข่ง ว่ากันว่านักกีฬามืออาชีพบางคนยอมให้นักกีฬาคนอื่น ๆ ปั่นแซงไปก่อนช่วงแรกและตนจะปั่นไปเรื่อย ๆ แล้วค่อยไปเริ่มแซงผู้เข้าแข่งขันอื่นเมื่อพวกเขาเหล่านั้นเริ่มหมดแรงในช่วงโค้งสุดท้าย ปกติเราปั่นจักรยาน 5-10 กิโลเมตรยังรู้สึกเมื่อยกันแล้วใช่ไหมละคะ แต่นักกีฬาจักรยานต้องปั่นถึง 100-200 กิโลเมตร แถมยังไม่รวมการใช้แรงปั่นเพื่อขึ้นที่สูงอีกด้วย เห็นไหมล่ะคะ ว่ากีฬานี้เหนือมนุษย์มากจริง ๆ โดยฮีโร่ของการแข่งขันจักรยานรุ่น Road Race ปีนี้ได้แก่ แอนนา คีเซนโฮเฟอร์ นักปั่นจักรยานจากประเทศออสเตรีย ผู้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและคว้าเหรียญทองแรกให้แก่ประเทศออสเตรียในรอบ 17 ปีอีกด้วย
ยกน้ำหนัก (Weightlifting)
กีฬายกน้ำหนักเป็นกีฬาที่มีประวัติมาอย่างช้านาน และได้ปรับปรุงรูปแบบการแข่งขันใหม่ใน เอเธนส์ 1896 จากนั้นใน แอนต์เวิร์ป 1920 ได้มีการจัดการแข่งขันแบ่งรุ่นให้ตามน้ำหนักตัวเพื่อความเท่าเทียมในเรื่องของร่างกาย ส่วนใน มอนทรีออล 1976 ได้แบ่งการแข่งขันวิธีการยกออกเป็นสองประเภทคือ snatch ที่ยกน้ำหนักจากพื้นไปเหนือศีรษะด้วยการเคลื่อนไหวเพียงครั้งเดียว และ clean and jerk เป็นการยกน้ำหนักสองครั้งจากพื้นคือครั้งแรกยกมาไว้ที่หน้าอกก่อนที่จะยกไปเหนือศีรษะในลำดับถัดไป นอกจากนี้ใน ซิดนีย์ 2000 ยังมีการจัดแข่งขันยกน้ำหนักเพศหญิงเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศอีกด้วย โดยการแข่งขันจะเริ่มที่ ผู้หญิง 49 กิโลกรัมไปจนถึง +87 กิโลกรัม ส่วนผู้ชายจะเริ่มต้นที่ 61 กิโลกรัมถึง +109 กิโลกรัม
กีฬายกน้ำหนักที่ฟังดูแล้วอาจดูง่าย ๆ เพราะเราเห็นในฟิตเนสว่ามีคนยกน้ำหนักเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ แต่แท้ที่จริงแล้วนั้นเป็นกีฬาที่ต้องประสานระหว่างร่างกายและจิตใจ รวมถึงยังต้องใช้สมาธิอันแน่วแน่ จิตวิญญาณอันแรงกล้าในการต่อสู้ และเทคนิคการยกน้ำหนักจากการฝึกฝนต่าง ๆ นอกจากนี้กีฬายกน้ำหนักยังให้โอกาสนักกีฬาแค่ 3 ครั้งในการยก ถ้านักกีฬาประมาทอาจจะทำให้ตนพลาดเหรียญรางวัลไปได้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยการตัดสินใจ วิจารณญาณ และความเชื่อมั่นในตนเองอีกด้วย ปกติแล้วถ้าเรายกของกันแค่ 5-10 กิโลกรัมก็รู้สึกว่าหนักแล้ว แต่นักกีฬาต้องยกน้ำหนักมากกว่า 5-10 เท่ากันเลยทีเดียว เห็นไหมละคะว่าคนธรรมดาอย่างเรายกไม่ขึ้น แต่นักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันตลอดจนได้เหรียญติดไม้ติดมือต้องฝึกฝนและรวบรวมร่างกาย จิตใจ และสมาธิเพื่อฝ่าฟันให้ตนชนะได้ ถือว่าเหนือมนุษย์จริง ๆ ค่ะ โดยฮีโร่ของกีฬายกน้ำหนักนี้ได้แก่ ฮิดิลิน ดิอาซ นักยกน้ำหนักหญิงชาวฟิลิปปินส์ ที่คว้าเหรียญทองเป็นคนแรกให้แก่ฟิลิปปินส์ โดยการยกท่า Clean and Jerk ทำสถิติ 97 กิโลกรัม และ ท่า Snatch ทำลายสถิติโอลิมปิกที่ 127 กิโลกรัม พร้อมกับทำลายสถิติน้ำหนักร่วมของโอลิมปิกที่ 224 กิโลกรัมอีกด้วย และเอาชนะคู่แข่งตัวเต็งจากประเทศจีนเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เนื้อหาสาระที่ทำให้เรารู้สึกร้องว้าวกันเลยทีเดียว แต่ยังไม่จบเพียงเท่านี้นะคะ ติดตาม กีฬาโอลิมปิกเหนือมนุษย์ Part 2 ได้เร็ว ๆ นี้ค่ะ แล้วเจอกันนะคะ
แปลและเรียบเรียงจาก;
olympics.com, thairath.co.th, beartai.com,
khaosod.co.th
ABOUT THE AUTHOR
choerryblossom
สาวน้อยนักเขียนฝึกหัด ประสบการณ์น้อยแต่แพชชั่นร้อยเต็ม