- Tech
แรงปะทะ ROV กับอนาคต E-Sports ไทย มันคือ กีฬา หรือ สิ่งมอมเมา??
By DiamondP • on Sep 13, 2018 • 5,712 Views
แรงปะทะ ROV กับอนาคต E-Sports ไทย
มันคือ กีฬา หรือ สิ่งมอมเมา??
ในยุคที่ความบันเทิงมีอยู่หลากหลาย หนึ่งในความบันเทิงที่ดูเหมือนจะเข้าถึงวัยรุ่นในยุคนี้ได้ดีที่สุดคือ เกมออนไลน์ และในประเทศไทยคงไม่มีเกมไหนที่แรง และเป็นกระแสได้มากกว่า ROV หรือ Arena of Valor ด้วย ยอดการดาวน์โหลดมากกว่า 10 ล้านดาวน์โหลด และติดอันดับแอพลิเคชันที่ทำรายได้สูงที่สุดอันดับ 1 ใน Google Play Store ในหมวดเกม แม้นี่จะดูเป็นตัวพิสูจน์ความสำเร็จในทางธุรกิจของเกมนี้ แต่ในความคิดของคนทั่วไปที่อาจจะยังมีคำถามว่า มันคือกีฬา ที่ถูกเรียกขานว่า อี-สปอร์ต (Electronic Sport) หรือสิ่งมอมเมาเยาวชนกันแน่
คำว่า E-Sport กลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงกันขึ้นมาอย่างหนาหูในสังคมวงกว้าง หลังจากที่คณะกรรมการเอเชียนเกมส์ ได้ทำการบรรจุกีฬา อี-สปอร์ต ลงในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ปี 2018 นี้ ในฐานะกีฬาสาธิต (มีการแข่งขันจริง แต่จะไม่นับจำนวนเหรียญที่ได้รับในการแข่งขัน) เพื่อเป็นการทดลอง หาจุดเด่นจุดด้อย เพื่อพัฒนาสู่การบรรจุหรือไม่บรรจุอย่างเป็นทางการต่อไป และประเทศไทยก็ได้ทำการส่งตัวแทนนักแข่งเข้าร่วมแข่งขันในฐานะทีมชาติไทยด้วย แต่ถึงอย่างนั้น สถานการณ์การพิสูจน์ตัวเองของกีฬา อี-สปอร์ต ก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าไรนัก
เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา สำนักข่าว ข่าวสด ได้รายงานการสัมภาษณ์ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ออกมาแสดงความเป็นห่วงเด็กไทย ที่ปัจจุบันให้ความสนใจในการเล่นเกม อี-สปอร์ต กันอย่างแพร่หลาย ด้วยความหวังในการสร้างให้ก้าวขึ้นมาเป็น นักกีฬาอี-สปอร์ตมืออาชีพ แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดความกังวลว่า อาจจะกลายเป็นความลุ่มหลงจนเป็นการซ้ำเติมปัญหาเด็กติดเกมก็ได้
โดยเกมที่เราจะยกตัวอย่างมาพูดคุยกันในวันนี้ เป็นเกมที่ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ อี-สปอร์ต ตามคำนิยามของสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย (Thailand e-Sports Federation) และเป็นเกมที่กำลังได้รับความนิยมสูงในประเทศไทยในตอนนี้ นั่นคือ ROV (Arena of Valor) อยู่ภายใต้การให้บริการของ บริษัท Garena (ผู้จัดจำหน่ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เป็นเกมแนว MOBA หรือวางแผนการรบ บุกทะลวงทำลายป้อมปราการของฝ่ายตรงข้าม จัดการตัวละครฝ่ายตรงข้าม (ฮีโร่) และคว้าชัยชนะในแต่ละเกมด้วยการทำลายฐานใหญ่ของอีกฝ่าย
หากมองอย่างผิวเผินแล้ว ROV หรือ อารีนา ออฟ เวเลอร์ ดูเป็นเกมที่ใช้ความรุนแรง ผ่านตัวละครแต่ละตัวที่ผู้เล่นเลือกมาฆ่าฟันกัน (ฝั่งละ 5 ตัวละคร) เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในเกม เพื่อที่จะสามารถบุกทะลวงทำลายฐานของศัตรูและคว้าชัยชนะมาได้ แต่เมื่อพิจารณาลงลึกเข้าไปในตัวเกมแล้ว ค่อนข้างแตกต่างทีเดียว
ในแต่ละเกมของ ROV ไม่ได้มุ่งเน้นที่การฆ่าฟันเท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องของการวางแผน ตั้งแต่การเลือกตัวละคร, การจัดทีมป้องกันแต่ละป้อมปราการ, การช่วงชิงความได้เปรียบทางการเงิน หรือการสื่อสารภายในทีมที่ต้องใช้ทั้งความช่วยเหลือและการร่วมมือร่วมใจกัน เพราะชัยชนะของเกม ไม่ได้สิ้นสุดที่ว่า ใครสามารถฆ่าได้มากที่สุด แต่ ปัจจัยของผู้ชนะในแต่ละเกมคือ ทีมไหนสามารถทำลายฐานปราการใหญ่ของฝ่ายตรงข้ามได้สำเร็จ
หากพิจารณาในแง่ของการเล่นเป็นทีมแล้ว ROV อาจสามารถมองในลักษณะของการเป็นกีฬาได้ แต่เมื่อมองในแง่ของคำนิยามความเป็นกีฬานั้น อาจจะแตกต่างและมีเส้นบางๆ กั้นอยู่เล็กน้อย นั่นคือ การช่วงชิงชัยชนะต้องผ่านการใช้ความรุนแรง หากขาดการควบคุมอารมณ์ที่ดีแล้ว มันอาจส่งผลถึงพฤติกรรมของผู้เล่นนอกเกมได้ ดังนั้น มันจึงเป็นที่ถกเถียงกันว่า อี-สปอร์ต (หรือ ROV ในกรณีนี้) เหมาะสมจะเป็นกีฬาหรือไม่?
อีกหนึ่งประเด็นที่ อี-สปอร์ต จะต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ คือ การเป็นอิสระจากการแทรกแซงทางธุรกิจ ที่อาจมีบางฝ่ายมองว่า การจัดการแข่งขันในแต่ละครั้งนั้น อาจไม่ได้มุ่งเน้นในแง่ของการเป็นกีฬาอย่างชัดเจน แต่เป็นการจัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์และทำการตลาดของบริษัทเจ้าของเกม นับเป็นอีกโจทย์หินที่วงการอี-สปอร์ตไทยต้องพิสูจน์ตัวเองและก้าวผ่านมันไปให้ได้
ภาพจากเกม Garena ROV (การแข่งขัน ROV Pro League Season 2 )ทั้งนี้ สำหรับเกม อี-สปอร์ต ที่ได้รับความนิยมสูงมากจนเป็นกระแสในปัจจุบัน อย่าง ROV (Arena of Valor) ก็ได้มีการผลักดันและพยายามอย่างต่อเนื่องในการสร้างการยอมรับ ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ การจัดการแข่งขันเกม ROV ในระดับโปรเฟซชันนอลลีค (Pro League โดยในปีนี้มีเงินรางวัลรวมกว่า 6 ล้านบาท
อีกทั้งยังมีการจัดการแข่งขันอื่น ๆ ที่มีรางวัลเป็นทุนการศึกษาในสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยด้วย ถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เล่นเกมคนอื่น ๆ ที่ต้องการจะก้าวเข้าสู่วงการอี-สปอร์ต ว่ามันไม่ใช่แค่เกม แต่สามารถทำเงินและสร้างชื่อเสียงได้
อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับกีฬาทุกประเภท ผู้เล่น ROV ก็เปรียบเสมือนคนทั่วไปที่ชื่นชอบการเล่นกีฬา มันอาจจะมีจำนวนมากมาย แต่อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถก้าวขึ้นสู่จุดที่เป็นความฝันของตนเองได้ เพราะนอกจากการแข่งขันที่จริงจังแล้ว มันจำเป็นต้องใช้แรงใจ และการฝึกซ้อมไม่ต่างจากการก้าวเข้าสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพของกีฬาทั่วไปเลยแม้แต่น้อย
ดังนั้นเราไม่อาจตัดสินได้ว่า อี-สปอร์ต เป็นกีฬาหรือไม่ แต่เช่นเดียวกับกีฬาทั่วไป อี-สปอร์ตควรได้รับการควบคุม การทำความเข้าใจ และการยอมรับ เพื่อที่จะสามารถเปิดโลกใหม่ที่จะสามารถสร้างความสำเร็จได้โดยไม่ย่ำอยู่กับชุดความคิดเดิม ๆ ของสังคมในอดีต
ตอนต่อไป > จริงจัง ROV เมื่อ E-Sport สร้างอาชีพ เล่นเกมยังไงให้มีงานทำ (เร็ว ๆ นี้)
Copyright© Bsite.In
ABOUT THE AUTHOR
DiamondP
คนอยากเขียน กับความสนใจเยอะแยะ และเราเชื่อว่า คนทุกคนเท่าเทียมกัน