- Tech
ล้วงลึกตัวตน “แชมป์ Xyclopz” นักพากย์ E-Sport มืออาชีพ อันดับ 1 เอเชีย อันดับ 9 ของโลก
By ทีมงาน bsite • on Apr 10, 2019 • 3,664 Views
คงปฏิเสธกันไม่ได้แล้วว่า อี-สปอร์ต (E-Sport) เป็นชนิดกีฬาใหม่ ของการเล่นเกมส์ออนไลน์ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก และมากกว่าการเป็นกิจกรรมที่ฮ็อตฮิตทั่วโลกยังกลายเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมสร้างงานสร้างอาชีพเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทำเงินสร้างรายได้มหาศาล ประเทศไทยเองจากตอนแรกที่เกิดกระแสต่อต้านในช่วงหลังก็เริ่มยอมรับมากขึ้น และเล็งเห็นว่าสามารถสร้างเป็นอาชีพและเป็นรายได้ที่มีอนาคตต่อเศรษฐกิจประเทศได้
แต่ใช่ว่าอาชีพ อี-สปอร์ต จะมีแต่เฉพาะนักเล่นเกมส์ หรือ Player เท่านั้นที่ทำเงินได้ แต่ในอีโคซิสเท็มของ อี-สปอร์ตนั้น ยังเป็นแหล่งอาชีพที่ยังขาดแคลนคนอยู่มาก เป็นตลาดแรงงานที่มีศักยภาพและทำเงินได้เยอะทีเดียว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “อาชีพนักพากย์เกมส์”
ซึ่ง Bsite.In มีโอกาสได้ไปพูดคุยกับ “แชมป์ Xyclopz” หรือ ตรีภพ เที่ยงตรง นักพากย์เกมส์อี-สปอร์ต อันดับ 1 เอเชียและอันดับ 9 ของโลก (อันดับจัดปี 2018) เพื่อทำความเข้าใจและรู้จักอาชีพนี้ให้ลึกถึงแก่นมากยิ่งขึ้น
นักพากย์อี-สปอร์ตทำอะไรบ้าง
นักพากย์อีสปอร์ต ในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Commentator ก็จะมีหน้าที่บรรยายเกม เหมือนกับบรรยายกีฬาทั่วไป ที่เวลาเราดูกีฬาก็จะมีการบรรยายเกมส์ให้เราฟัง เพื่อบอกว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง มีผู้เล่นชื่ออะไร ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับทีม ฯลฯ แต่ของผมมีหน้าที่ในการบรรยายการแข่งขันอี-สปอร์ต
ส่วนใหญ่ผมจะพากย์ทั้งหมด 5 เกม มี DOTA2, PUBG, Mobile Legend, Rainbow Six Siege และ Street Fighter 5 แล้วผมเองก็พากย์ฟุตบอลปกติด้วย แต่พายก์เป็นภาษาอังกฤษ
ความแตกต่างของการพากย์กีฬาทั่วไปกับอี-สปอร์ตต่างกันอย่างไร
โดยส่วนใหญ่อีสปอร์ตจะเป็นกีฬาที่เร็วกว่ากีฬาปกติ มีสปีดที่เร็วกว่า และหลายสิ่งหลายอย่างบนเกมมันเกิดขึ้นเร็วมาก เพราะฉะนั้นเราต้องมีรีแอ็คชั่นที่เร็วกว่าการพากย์กีฬาทั่วไป แล้วก็มีรายละเอียดในตัวเกมส์เยอะค่อนข้างมาก มันก็เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ และต้องใช้สมองมากๆ เลย ยิ่งถ้าเป็นแชมป์โลกด้วยแล้ว มันคือความฉลาดของคน 5 คนมารวมกัน
“ส่วนในการบรรยายอี-สปอร์ต ซึ่งเป็นกีฬาที่มีกฎกติกาค่อนข้างซับซ้อนกว่ากีฬาทั่วไป แถมยังมีหลากหลายเกมเข้าไปอีก อย่างเช่น DOTA2 หรือ Counter-Strike พวกนี้จะมีวิธีเล่นที่ต่างกัน และก็มีกฎกติกาการแข่งขันไม่เหมือนกัน ดังนั้น ใครที่เป็นนักพากย์เกมก็ต้องรู้กฎกติกาของเกมส์ที่เราจะพากย์ด้วย”
จุดเริ่มต้นของการมาพากย์อี-สปอร์ต และการพากย์ภาษาอังกฤษ
แชมป์ บอกว่า ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจที่จะมาเป็นนักพากย์เกมส์เลย เดิมทำงานเป็นวิศวกร แต่เป็นคนชอบเล่นเกมส์เหมือนคนทั่วไป กลับบ้านเวลาพักผ่อนที่ดีที่สุดก็คือการเล่นเกมส์ พอเล่นไปสักพักผมก็เกิดความคิดว่าเราน่าจะลองจัดการแข่งขันดู อยากรู้ว่าในย่านอาเซียนนี่มีใครเก่งกันบ้างในเกมส์ DOTA2 ก็เลยลองจัดดู ตอนแรกก็คิดว่าจะมีคนมาสมัครไม่เยอะมากแค่ 16 ทีมก็ดีใจมากแล้ว แต่ไปๆ มากลายเป็นว่าคนมาสมัครตั้งร้อยกว่าทีมเลย คือสเกลมันใหญ่ขึ้นมากแล้ว มีหลายทีมจากต่างประเทศเข้าร่วมแข่งขันเยอะด้วย ก็เลยตัดสินใจอัปเกรดโปรแกรมให้ใหญ่ขึ้น
พอตัดสินใจเดินหน้าต่อ ก็มาติดปัญหาว่าหาคนพากย์ไมได้ เลยตัดสินใจพากย์เองซะเลย ไหนๆ เราก็เป็นคนจัดก็ต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่วันแรกผมก็พากย์เป็นภาษาไทย ปรากฏว่าคนเข้ามาต่อว่าผมเต็มไปหมดเลย บอกว่าพากย์ภาษาไทยคนฟังไม่รู้เรื่องเพราะมีหลายประเทศเข้ามาแข่ง จากนั้นผมก็เริ่มปรับใหม่ พากย์ภาษาอังกฤษแบบงูๆ ปลาๆ ใส่ไปเลย เช่น ฮีไฟท์ ฮีดาย อะไรแบบนั้นไปเลย แต่ปรากฏว่าคนดูชอบ เขาชมว่าอย่างน้อยมันก็พยายามวะ อะไรแบบนี้ พอวันที่ 2 ผมก็เริ่มกล้าขึ้น เริ่มใช้ศัพท์แสงยากๆ ขึ้น มีการใช้เทนส์อะไรบ้างด้วย แต่ถึงตรงนั้นก็ยังไม่คิดจะเป็นนักพากย์ภาษาอังกฤษนะครับ แค่คิดว่ามันน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้เราเรียนการใช้ภาษาอังกฤษให้ดีขึ้นได้แค่นั้นก่อนเลย กระทั่งพอเรียนไปเรื่อยๆ ก็เริ่มคิดว่าบางทีเราน่าจะพัฒนาให้ดีขึ้น แล้วทำเป็นอีกหนึ่งอาชีพไปก็ได้
คุณสมบัติของนักพากย์ที่ดีต้องเป็นอย่างไร
คุณสมบัติของนักพายก์ที่ดีมันก็จะมีหลักพื้นฐานวางอยู่ว่าเราควรจะต้องทำตรงนี้ๆ ได้นะ แต่ทีนี้ถ้าเปรียบนักพากย์ 2 คน ซึ่งทั้งสองคนสามารถทำตาม fundamental ได้หมด แต่สิ่งที่จะทำให้คนหนึ่งได้รับเลือกอีกคนไม่ได้รับเลือกในการจ้างงาน ขึ้นอยู่กับ ‘สไตล์’ ที่แตกต่างกัน ดังนั้น ถ้าใครมีสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์มีความเป็นตัวเอง มีความโดดเด่นแตกต่างจากคนอื่น โอกาสที่จะได้รับเลือกจ้างงานบ่อยๆ ก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย แต่การสร้างตัวตนในพาร์ทของสไตล์คือส่วนที่ยากที่สุด เพราะจากที่ผมได้ทำเวิร์คช้อป หรือการที่ทำการคัดสรรนักพากย์รุ่นใหม่ บางคนผมเห็นแล้วผมรู้เลยว่าเค้าชอบดูนักพากย์คนไหน เพราะว่าเขาพากย์เหมือนกับนักพากย์คนนั้นเป๊ะเลย ซึ่งอันที่จริงก็เป็นเรื่องดี เพราะนักพากย์คนนั้นเขาเก่งมากเลย แต่ถามว่าในระยะยาวอาจจะไม่ดี ถ้าคุณไม่สามารถสร้างแบรนด์ของตัวเองได้
“ดังนั้น เรื่องของสไตล์ผมให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เลยเพราะว่าตัวผมเอง เป็นผู้ฝึกสอนการพากย์ด้วย ผมฝึกสอนและผลักดันน้องนักพากย์รุ่นใหม่ ผมก็จะมีวิธีในการมองนักพากย์แต่ละคน และแนะนำในการสร้างตัวตนขึ้นด้วย ส่วนใหญ่ผมจะสอนให้ 60% ส่วนที่เหลืออีก 40% ก็จะเป็นสิ่งที่เขาสร้างตัวตนขึ้นมา”
วงการของการเป็นนักพากย์อีสปอร์ตตอนนี้มีมากน้อยแค่ไหน
ในเมืองไทยเริ่มมีเยอะขึ้นนะครับ ถือว่ามีเยอะทีเดียว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นมือสมัครเล่นกันอยู่ คนที่จะเป็นอาชีพจริงๆ มันยังน้อยมากๆ
อาชีพนี้มีรายได้อย่างไร
มันแล้วแต่บุคคลเลย ว่าคนนั้นหาเงินเก่งไหม สร้างแบรนด์ตัวเองเก่งไหม เขามีฐานฟอลโลว์เวอร์เยอะแค่ไหน อย่างสำหรับผม ผมพากย์ภาษาอังกฤษในระดับสากล ก็มีโอกาสเลือกงานดีๆ ที่จะพากย์ได้เยอะ ผมเลยมีโอกาสเดินทางไปพากย์ได้ทั่วโลก ซึ่งถ้าเปรียบกับคนที่พากย์ภาษาไทยได้อย่างเดียวรายได้อาจจะไม่ได้สูงเท่ากับผมนัก
(ข้อมูลเสริม : ปกติมาตรฐานของการจัดทัวร์นาเมนต์การแข่งขันระดับโลก จะต้องมี 3 ภาษาหลักที่ใช้ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ จีน และรัสเซีย ดังนั้น หากคุณคิดจะจัดการแข่งขันที่ได้มาตรฐานโลกที่วางเอาไว้จำเป็นต้องมีนักพากย์ทั้ง 3 ภาษานี้รวมอยู่ด้วย นั่นหมายความว่า ถ้าสามารถพากย์ 3 ภาษานี้ได้ ก็สามารถพากย์ได้ทั่วโลก เปิดโอกาสด้านอาชีพนี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น)
สำหรับผมถ้าเป็นงานแถบเอเชียหนึ่งงานก็ตกประมาณ 30K ซึ่งเรตนี้ต้องเรียนว่า จริงๆ ก็ไม่เท่ากันไม่ได้มีมาตรฐาน เพราะมันก็ขึ้นอยู่กับหลายๆ อย่างด้วย รวมทั้งขึ้นอยู่กับรูปแบบการพากย์ด้วย เพราะมีทั้งพากย์แบบบินไปพากย์ที่นั่นเลย ราคาก็ค่อนข้างแพง หรือพากย์อยู่ที่สตูดิโอของบ้านเราเองเป็นลักษณะการพากย์ออนไลน์ก็มี
“ถ้าบินไปฝั่งอเมริกาก็อาจไปได้ถึง 400K แต่ถ้าเป็นการพากย์ออนไลน์หรือพากย์ในสตู ก็จะอีกราคาหนึ่ง ส่วนเรตต่ำสุดก็คือพากย์แบบไม่เห็นหน้ามีแต่เสียง ซึ่งผมก็สามารถนั่งพากย์อยู่ที่ห้องเองก็ได้เลย ดังนั้น เรตราคาจึงไม่เท่ากันอย่างที่บอกไป”
อุตสาหกรรมอาชีพนักพากย์อี-สปอร์ตในไทย คิดว่ายังขาดอะไรและต้องการการสนับสนุนอะไรบ้าง
อุตสาหกรรมอาชีพนี้ในแง่ของนักพากย์ สิ่งที่ผมคิดว่าขาดคือ มาตรฐาน คืออาชีพนี้มันไม่มีมาตรฐาน มันไม่มีหลักสูตรหรือว่าใบปริญญาหรือใบอะไรรับรอง ที่แสดงว่าถ้าคนๆ นี้ผ่านตรงนี้ และมีใบยืนยันแสดงว่าคนนี้คือตัวจริง คนนี้ชัวร์
“คือต้องบอกว่า ตอนนี้มันก็ไม่มีมาตรฐานครับ แม้แต่ตัวผมเองก็ตาม อันนี้ก็คือสิ่งที่ขาด เพราะมันไม่มีสถาบันใดสถาบันหนึ่งที่จะมาการันตีว่า คนนี้ชัวร์ อันนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมลุกขึ้นมาทำ Workshop ผมเริ่มเขียนคอร์สของตัวเองขึ้นมา แล้วก็มาเริ่มสอนในมหาวิทยาลัย ด้วยการเป็นอาจารย์พิเศษเพื่อที่จะสร้างมาตรฐานในอนาคต ซึ่ง โอเค. ในยุคผมอาจจะไม่มีมาตรฐาน แต่รุ่นถัดไปจากผม จะต้องมีมาตรฐานให้ได้”
นอกจากนี้ สำหรับเมืองไทยแล้วผมยังมองว่าผู้จัดบางราย คือไม่ได้ทุกเจ้านะครับแต่เฉพาะบางรายที่ยังมองว่า คนพากย์เกมส์ไม่ได้มีความสำคัญอะไรมากนัก บางคนจะมองว่าเป็นใครก็ได้ ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่เพราะว่านักพากย์คือหน้าตาของการแข่งขัน
“เช่น ถ้าผมใส่ชุดไม่เรียบร้อย ใส่เสื้อยืดกางเกงขาสั้น แล้วผมไปออกหน้ากล้อง ในรายการเงินรางวัลมูลค่า 10 ล้านบาท ก็จะทำให้รายการนั้นมูลค่าเหลือแค่ 5 หมื่นบาทไปเลย แต่ถ้าผมดูดีแต่งตัวดูดี แล้ววิธีการพูดการพากย์ของผมทุกอย่างออกมาดี มีความสุภาพ แต่ก็คงความสนุกอยู่ ไม่มีคำหยาบ รายการก็ดูดีมีระดับขึ้นมาเลย”
ที่สำคัญเลยคือ เพราะอาชีพนักพากย์คืออาชีพที่ปฏิสัมพันธ์กับคนดูโดยตรง ไม่ใช่ผู้เข้าแข่งขัน ไม่ใช่คนที่อยู่เบื้องหลัง ไม่ใช่โปรดิวเซอร์ แต่คือเรา ดังนั้น ถ้าผมพูดกับคนดู ถ้าผมพูดไม่ชัด ไม่มีอักขระ เด็กวัยรุ่นหรือกลุ่มผู้ชมที่เป็นเยาวชนมาฟังผมพูด เขาก็จะมองว่าเรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญก็ได้ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นอาชีพที่สำคัญมากที่เราต้องเข้าไปอบรมและสอนตั้งแต่แรกเริ่มจนเขาเติบโตมาเป็นนักพากย์ที่ดี
คิดว่าอาชีพนี้มีเสน่ห์อย่างไร
ผมว่ามันเป็นอาชีพไม่กี่อย่างที่สามารถระบายความเป็นตัวเองออกไปสู่คนดูทั่วโลกได้ อย่างที่ผมพากย์เมื่อวันก่อนมีตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น มันหาอาชีพที่คนดูดูเราอยู่ทั่วโลก มันหาได้ยากมากเลยนะ แล้วทุกคนก็มานั่งฟังสิ่งที่เราพูด และเราก็พูดไปเรื่อยๆ คนก็มานั่งฟังแล้วก็สนุกกับเรา
“มันเป็นอาชีพที่มหัศจรรย์มากนะในการที่เราได้ส่งสารของเราออกไปให้คน แล้วก็มีคนรับฟังเรา เขายอมสละเวลาในชีวิตเขามานั่งฟังเราพูด ดังนั้นผมก็เลยมองว่า มันก็สนุกดี”
เสียดายไหมกับการที่เราต้องเลิกเป็นวิศวกร
อาชีพวิศวกรเป็นอาชีพที่ดีมาก แล้วผมก็รักอาชีพนั้นด้วยเพราะเป็นวิชาชีพที่เราเรียนมา แต่เหตุผลที่ทำให้ผลตัดสินเลิกการเป็นวิศวกรเลยก็คือ พอเราเริ่มมีรายได้ และหลายครั้งก็ไปเบียดบังเวลางานฝั่งวิศวกร มันก็ทำให้เราทำอะไรได้ไม่เต็มที่สักอย่าง ผมก็เลยต้องเลือก
“แต่เหตุผลใหญ่เลยที่ผมคิดว่าเป็นจุดสำคัญที่ตัดสินใจมาเป็นนักพากย์เกมส์ก็คือ ผมมองว่า คือถ้าผมจะทำงานวิศวกร ผมอาจจะเก่งสุด ผมอาจจะขึ้นไปถึงได้ Top10 ของประเทศไทยในอาชีพนี้ ซึ่งผมอาจจะทำงานวิศวกรไปเรื่อยๆ โตตามขั้น เงินเดือนขึ้น 5,000-10,000 บาท แต่กับอาชีพนักพากย์อีสปอร์ต มันเป็นอาชีพที่ผมสามารถไปถึง เบอร์ 1 ของโลกได้ ซึ่งถ้าเราคิดว่าเราทำอะไรได้ที่เก่งที่สุดในโลกได้ ผมว่าเราก็ควรจะเลือกสิ่งนั้น มันต่อไปถึงระดับโลกได้ ในเมื่อถ้าผมเชื่อว่าถ้าผมทุ่มเทตรงนี้ ผมสามารถไปถึง TOP 5 โลกได้แน่”
“นักพากย์เกมส์ ไม่ได้มีวาลูกับสังคม แต่มันคือการให้ความบันเทิงกับผู้คน”
ท้ายที่สุด แชมป์ พูดถึงความภูมิใจในอาชีพการเป็นนักพากย์แถวหน้าระดับโลกว่า เมื่อก่อนผมก็จะเก็บนักพากย์เกมส์ไว้อยู่ในเงาของวิศวกร ผมก็ซ่อนมันเรื่อยมา จนถึงวันที่ผมรู้สึกว่า คือถ้าตัวผมเองยังไม่ภูมิใจกับสิ่งที่ผมทำอยู่ ผมก็จะไม่มีวันก้าวหน้าไปไหนได้ จนวันหนึ่งผมไปเข้าวงสังคมกลุ่มใหม่ พอมีคนถามว่า ทำงานอะไร ผมก็ตัดสินใจบอกไปว่า ผมเป็นนักพากย์เกมส์ พอผมบอกตรงนั้นออกไป ผมก็รู้สึกว่า มันก็ปลลดปล่อยดีนะ ช่างแม่ง เหมือนมันปลดล็อค แล้วมันก็รู้สึกภูมิใจมากขึ้น บางคนก็มีแอ็คชั่นต่างกันไป บางคนมองว่าเอ๋.. พวกคนติดเกมส์หรือเปล่า มองแบบเหมือนผมกระจอกอะไรแบบนี้ก็มี บางคนก็ให้ความสนใจ ผมก็เจอมาหลากหลาย แต่ผมก็เข้าใจนะว่าเป็นเรื่องของแต่ละคน
“แต่ผมคิดว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักพากย์เกมส์รุ่นใหม่ ให้ภูมิใจสิ่งที่เราทำ เพราะนักพากย์เกมส์ ไม่ได้มีวาลูกับสังคม แต่มันคือการให้ความบันเทิงกับผู้คน เช่น บางคนไปทำงานมาเหนื่อย ๆ เขากลับบ้านมาเหนื่อยๆ มาฟังเราพากย์เกมส์โอ้วแฮปปี้ไทม์วะ เอาเบียร์มานั่งดูเฮฮา แล้วผมก็ให้ความบันเทิงเขา แล้วก็มีโอกาสปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ด้วยในเรื่องดีๆ อะไรก็ตาม เพราะผมสามารถสื่อสารกับคนดูได้โดยตรงเลย มันทำให้ผมภูมิใจกับอาชีพนี้ที่สุด”
ABOUT THE AUTHOR
ทีมงาน bsite
Biographical Info