- Tech
“Data Economy” น่านน้ำเศรษฐกิจใหม่ ไขก็อกปรับนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ปลดล็อกให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้า
By DiamondP • on Oct 27, 2022 • 781 Views
MIT Technology Review Insights พยากรณ์ไว้ว่าในอนาคตอันใกล้ปริมาณข้อมูลหรือ Data จะเติบโตทวีคูณเสมือนห่าฝน โดยในปี พ.ศ.2568 จะเพิ่มขึ้นถึง 175 เซตตาไบต์ (ZB) หรือประมาณ 1,000,000,000,000,000,000,000 ไบต์ ซึ่งเป็น Data ปริมาณมหาศาลที่เคลื่อนไหวครอบคลุมทุกสรรพสิ่งบนโลก ทั้งเรื่องการใช้ชีวิต สุขภาพ การเดินทาง การทำธุรกิจ การทำธุรกรรมหรือการเข้าถึงแหล่งคอนเทนต์ต่าง ๆ ตามการเติบโตของโลกดิจิทัล ซึ่งดาตาเซ็นเตอร์ทำหน้าที่เป็น “House of Data” ที่จัดสรรพื้นที่สำหรับจัดเก็บข้อมูล
ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมที่มีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและพลวัตสูงต่อกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจออนไลน์ ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญในเรื่องความเป็นส่วนตัวและการปกป้องข้อมูลอย่างจริงจัง นับตั้งแต่กรณีการออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ General Data Protection Regulation: GDPR ของสหภาพยุโรป ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 25 พฤษภาคม 61 จนถึงการบังคับใช้กฎหมาย PDPA ของประเทศไทย เมื่อ 1 มิถุนายน 65 จวบจน ณ ปัจจุบัน ข้อมูลจากเว็บไซต์ของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development หรือ UNCTAD) ระบุว่ามีถึง 137 จาก 194 ประเทศได้ออกกฎหมายเพื่อปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัว โดยภูมิภาค Asia-Pacific มีสัดส่วนการบังคับใช้กฎหมายแล้วอยู่ที่ 57%
ซึ่งผลของการเปลี่ยนแปลงนี้ ส่งผลต่อการลงทุนของบริษัทข้ามชาติอย่างชัดเจน โดยยังทำให้บริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ที่ดำเนินธุรกิจอยู่หันมาตั้งเซิร์ฟเวอร์ในพื้นที่เขตอำนาจศาลและปฏิบัติตามกฎหมายถิ่นที่อยู่ของข้อมูล (Data Residency Laws) ที่รัฐบาลออกกฎหมายให้องค์กรต่าง ๆ จัดเก็บข้อมูลในประเทศ ที่นอกจาก Data จะต้องถูกจัดเก็บไว้ในประเทศแล้ว ยังต้องมีการตั้งเซิร์ฟเวอร์และสำนักงานในประเทศอย่างชัดเจนด้วย อาทิ จีน รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น (ซึ่งประเทศไทย ยังไม่ได้เข้มข้นขนาดนั้น – Source: Data Residency Laws by Country: an Overview – InCountry)
โอกาสธุรกิจท่ามกลางความท้าทายของกรอบกฎหมาย
Data Regulation ยังเป็นความท้าทายสำคัญที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุน เนื่องจากบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ยัง “สับสน” กับกฎหมายของแต่ละประเทศจึงทำให้เกิดโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า Regulation as a Services หรือ Data Residency as a Service ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้คำปรึกษาและจัดการเรื่อง Data Privacy รวมถึงการตีความเอกสารข้อมูลให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศนั้น ๆ โดยจับมือร่วมกับผู้ให้บริการระบบคลาวด์ (Cloud Service Provider)
STT GDC Thailand ชี้ 3 แกนหลักสำคัญของ Data ที่จะนำประเทศไปสู่ “Data Economy”
- ความมั่นคงของชาติ (National Security) กับสิทธิปกครอง Data ของเราเองเนื่องจากประเทศไทยมีการ Consume Data อย่างมหาศาล เฉลี่ยต่อวันใช้อินเทอร์เน็ตสูงกว่า 7 ชั่วโมง (อ้างอิงข้อมูลจาก ETDA) ซึ่งสำหรับผู้บริโภคทั่วไป เราควรมีสิทธิ์ปกครอง Data ของเราเอง ในขณะที่ Data ควรอยู่ในประเทศไทย โดยยึด Data Residency Laws ของประเทศนั้น ๆ
- หลักการความเป็นส่วนตัวสำหรับการถ่ายโอนข้อมูลส่วนตัวไปยังประเทศอื่น ๆ (หรือที่เรียกว่า Safe Harbor) จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างความมั่นใจว่าข้อมูลจะถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัยในบริบทของการถ่ายโอนระหว่างประเทศ เป็นกรอบการทำงานเชิง Data ร่วมกันระหว่างประเทศ เปิดโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ และเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศคู่ค้า
- การค้าและการลงทุน (Commercial & Investment) เนื่องจาก Data is a New Oil ไม่ต่างจากพลังงาน ดังนั้นหลาย ๆ ประเทศจึงให้ความสำคัญในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Data เพื่อเพิ่มการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ อาทิ ประเทศอินโดนีเซียที่ออกกฎระเบียบว่า Data จะต้องจัดทำศูนย์ข้อมูลและศูนย์กู้คืนข้อมูลสำรองภายในประเทศ และต้องอยู่ในประเทศเท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศเป็นหลัก
STT GDC Thailand ในฐานะผู้นำไฮเปอร์สเกล ดาต้า เซ็นเตอร์ เข้าใจและตระหนักดีถึงความท้าทายและโอกาสที่จะนำพาประเทศไทยเดินหน้าไปสู่น่านน้ำทางเศรษฐกิจใหม่จึงได้ดำเนินการสำรวจความเห็นของภาคเอกชนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัลและซอฟต์แวร์ซึ่งพบว่ามาตรการส่งเสริมและหลักเกณฑ์ควบคุมต่าง ๆ ของภาครัฐมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนร่วมกับภาคเอกชน นอกจากนั้นการปรับนโยบายสนับสนุนเพียงเล็กน้อยก็สามารถพาประเทศไปสู่การเป็นผู้นำใน Data Economy ที่สร้างทั้งเม็ดเงินลงทุนมหาศาลเข้าประเทศได้ โดยสรุปได้ดังนี้
- ภาครัฐต้องมี “มาตรการพิเศษ” เพื่อจูงใจผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ ให้เลือกลงทุนในประเทศไทย (เหนือกว่าทุกประเทศในทวีปเอเชีย) ต้องมีสิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่ากฎหมายการส่งเสริมการลงทุนทั่วไป (ทั้งกฎหมาย BOI และ EEC)
- ด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าที่เป็นทรัพยากรหลักในอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ จากสถิติในอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใช้พลังงานในปริมาณไม่ต่างจากอุตสาหกรรมสายการบิน หรือประมาณ 2% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในโลก ดังนั้นนโยบายความมั่นคงด้านพลังงาน การสนับสนุนด้านการผลิตไฟฟ้า แรงจูงใจด้านราคาหรือการจัดสรรหาแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ ๆ จึงเป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะพลังงานไฟฟ้า คือ ต้นทุนหลักของสรรพสิ่งในดิจิทัล
- ปรับกฎหมายหรือกฎระเบียบให้ชัด เปลี่ยนจากการกีดกันตั้งแต่แรกเริ่ม เป็น กำหนดแนวทางควบคุมการประกอบกิจการ นอกจากส่งเสริมและยังช่วยผลักดันอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกันหลากหลาย อาทิ Data Center, Automated E-Commerce, Industrial Park, E-Medical, Tourism และ 5G Smart Farming แน่นอนว่าช่วยสร้างรายได้จากการลงทุนใหม่ให้ประเทศไทยได้มหาศาล
- เทคโนโลยี คือ ฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยผลักดัน Data Economy ประกอบด้วย AI, Cloud, และเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย (Security Technology) รวมถึง Tokenization ที่เป็นการผสมผสานความสามารถของเทคโนโลยี Blockchain บวกกับ Cryptocurrency อันนำไปสู่การสร้าง Property & Real Estate สมัยใหม่ ที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า “ถ้าประเทศไทยไม่เริ่มเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก Data ตรงนี้ จะทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสด้านการลงทุนใหม่ ๆ ในมุมกฎหมายและการจัดทำนโยบายของภาครัฐ สามารถปรับได้ แต่ต้อง “สมดุล” และ “ทันสมัย” เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลให้กลายเป็นธุรกิจ S-Curve ของประเทศ โดยมี ดาต้า เซ็นเตอร์ เป็น “House of Data” สำคัญ เพื่อนำประเทศไปสู่น่านน้ำเศรษฐกิจใหม่ STT GDC Thailand เราพร้อมสนับสนุนให้มีการจัดเก็บข้อมูล หรือ สำรอง ข้อมูลในประเทศไทยเพื่อความปลอดภัย และให้เกิดประโยชน์ด้านการลงทุนเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจที่ดีขึ้นแก่ประเทศ”
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังผันผวน ทุกภาคส่วนที่กำลังเดินหน้าทำ Digital Transformation การปรับตัวของภาครัฐ-เอกชน ในเชิงนโยบาย การวางแผน การลงทุน และการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Data Privacy มาใช้ ล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญและส่งผลต่อการขับเคลื่อน นอกจากนี้ยังมีภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับ Data Privacy ที่สร้างความเสียหายและปั่นป่วนแก่ธุรกิจเป็นระยะ
อำนาจอธิปไตยของข้อมูล (Data Sovereignty) คือสิ่งที่ทุกฝ่ายควรคำนึงถึง และนำมาใช้เพื่อช่วยให้ประเทศเดินหน้าไปตามเทรนด์โลก เนื่องด้วยข้อมูลดิจิทัลเสมือนสสารชนิดหนึ่งที่ต้องการแหล่งจัดเก็บและการเชื่อมต่อ และการจ่ายพลังงานที่มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน ซึ่ง Data Center คือโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ต้องการการสนับสนุนและการส่งเสริมจากภาครัฐฯ อย่างจริงจัง ทั้งในด้านการเชื่อมต่อพลังงานทางเลือกใหม่ และการลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้า พร้อมคำนึงถึงมาตราฐานใน Data Center เช่น ISO27001 ครอบคลุมเรื่องการดูแลข้อมูลภายใน การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่เข้ามาเยี่ยมชม แต่ Data Center ไม่ได้เป็นผู้บริหารจัดการข้อมูลที่อยู่ใน Server ที่เป็นสิทธิ์ขาดของผู้ให้บริการดิจิทัล
ABOUT THE AUTHOR
DiamondP
คนอยากเขียน กับความสนใจเยอะแยะ และเราเชื่อว่า คนทุกคนเท่าเทียมกัน