- Lifestyle
10 เรื่องน่ารู้ “มหาวิหารนอเทรอดาม” อัญมณีแห่งศิลปะกอธิค
By ทีมงาน bsite • on Apr 18, 2019 • 2,792 Views
ข่าวไฟไหม้มหาวิหารนอเทรอดาม ศาสนสถานอายุ 850 ปี ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สร้างความโศกเศร้าจากการสูญเสียสถาปัตยกรรมอันงดงามทางประวัติศาสตร์และศิลปะระดับมาสเตอร์พีซและเป็นข่าวไปทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายังมีคนไทยบางส่วนที่รู้จักมหาวิหารแห่งนี้ไม่มากนัก และยังไม่ทราบว่ามหาวิทหารนอเทรอดามมีความสำคัญต่อวงการศิลปะและประวัติศาสตร์โลกแค่ไหน ทำไมคนทั่วโลกและมหาเศรษฐีจึงยอมที่จะเจียดเงินร่วมบริจาคเพื่อบูรณามหาวิทหารแห่งนี้ เราได้รวบรวมมาให้อ่านเสริมความรู้กันแล้ว
1.เป็นสถานที่ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมมากที่สุดในปารีส
และมากไปกว่านั้นคือเป็นหนึ่งในสถานที่มีผู้เยี่ยมชมมากติดอันดับโลกอีกด้วย ชนะแม้กระทั่ง “หอไอเฟล” สัญลักษณ์สำคัญของฝรั่งเศสอีกด้วย
ทั้งนี้ มีผู้คนแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมวิหารแห่งนี้ มากกว่า 13 ล้านคน เดินผ่านเข้าออก ณ ประตูใหญ่แห่งมหาวิหารนี้ทุกปี โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 35,000 คนต่อวัน โดยประตูมหาวิหารจะเริ่มเปิดประมาณ 07.35 น. ซึ่งถ้าใครได้มีโอกาสมาเที่ยวแนะนำให้ไปช่วงเช้าดีกว่า เพราะสายหน่อยก็จะคราคร่ำไปด้วยผู้คนเป็นจำนวนมากแล้ว
2.สร้างอยู่บน City Island
มหาวิหารนอเทรอดาม สร้างอยู่บน the Île de la Cité ( ที่หมายถึง City Island) โดยตั้งอยู่ใจกลางมหานครกรุงปารีส ซึ่งค่อนข้างยากที่จะจินตนาการว่าเมืองที่ไม่มีมหาวิหารนอเทรอดามนั้นจะเป็นอย่างไร เพราะมันตั้งตระหง่านอยู่มาช้านานนับแต่ศตวรรษที่ 12 เป็นงานกอธิคระดับมาสเตอร์พีซ ที่ดูเหมือนว่าจะคงอยู่ไปนิรันดร์
3.“Point Zéro” ที่มหาวิหารนอเทรอดาม
ถ้าคุณยืนอยู่หน้ามหาวิหารนอเทรอดาม หรือยืนชื่นชมความงามของแม่น้ำแซนอยู่ ด้วยความงดงามของสิ่งเหล่านี้ที่ชวนดึงดูดใจน่าหลงไหลจนทำให้ไม่ได้มองลงดูเบื่องล่าง นั่นอาจจะทำให้คุณพลาดสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่หน้ามหาวิหาร
เพราะที่เบื้องล่างทางเดินหินหน้ามหาวิมหาร มีสิ่งสำคัญที่เรียกว่า “point zéro des routes de France” (Point Zero of French Roads) ซึ่งเป็นเหมือนจุดบ่งชี้เส้นทางต่างๆ โดยเริ่มต้น ‘จุดศูนย์’ จุดแรกตรงนี้ที่ปารีส แล้วนับไปต่อที่อื่นนั้นมีความยาวเท่าไหร่
4.ระฆังของมหาวิหารนอเทรอดามมีชีวิต
ดั่งเช่นโบสถ์วิหารอื่นๆ “ระฆัง” ของมหาวิหารนอเทรอดามจะถูกตั้งชื่อเอาไว้ โดยแต่ละใบมีชื่อเรียกของตัวเอง อาทิ Marie, Emmanuel, Gabriel, Anne-Geneviève, Denis, Marcel, Etienne, Benoît-Joseph, Maurice, และ Jean-Marie เป็นต้น แต่ความน่าสนใจของมันมากกว่าเรื่องชื่อ แต่คือเสียงที่ก้องกังวานของระฆังมากกว่า ทั้งนี้ กล่าวกันว่า เสียงของระฆังแต่ละใบมีเอกลักษณ์ของตัวเอง หรือเปรียบง่ายๆ ว่า ระฆังแต่ละใบนั้นมันมีชีวิตของตัวเอง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า หลังจากความเสียหายที่เกิดขึ้นเสียงระฆังที่เคยได้ยินอาจจะไม่เหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงโยกย้ายระฆังใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้น ย้อนไปช่วงเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี 1791 ระฆังส่วนใหญ่ถูกนำออกไปจากมหาวิหารนอเทรอดาม และบางส่วนก็ถูกระเบิดจากปืนใหญ่หลอมละลายไปบ้างด้วย และก็ได้มีการติดตั้งอันใหม่ขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ซึ่งตั้งแต่นั้นก็กลายเป็นเสียงระฆังที่ก้องกังวาลไปทั่วกรุงปารีสเป็นเวลากว่า 150 ปี ซึ่งทำให้ผู้คนจดจำระลึกถึงเสียงสวรรค์ในแบบนั้นนับแต่นั้นมา
5.การ์กอย-ไคมีรา มากกว่าสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณ
อีกสิ่งที่เป็นความงามทางศิลปะของมหาวิหารแห่งนี้ก็คือเหล่ารูปปั้นอสูรและสัตว์ประหลาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัว การ์กอย หรือ ไคมีรา ที่อยู่รอบโบสถ์นั้น ไม่ใช่แค่สร้างมาเพื่อประดับเพื่อความสวยงามหรือสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณแค่นั้น แต่ที่จริงแล้วตัวของ การ์กอย เป็นรูปปั้นที่กลวงเป็นโพรงโบ๋ เพื่อเอาไว้ในการระบายน้ำออกเมื่อเวลามีฝนตกลงมาด้วย เรียกได้ว่าเป็นความชาญฉลาดของตัวผู้สร้างในยุคสมัยกลางอย่างแท้จริง
แต่อันที่จริงทั้งการ์กอยและไคมีราไม่ได้มาจากยุคกลางทั้งหมด แต่หลายๆ ตัวมีการเปลี่ยนแปลงไปจากการบูรณะซ่อมแซม
6.มหาวิหารถูก Quasimodo (ตัวละคร) ช่วยชีวิตเอาไว้
หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส มหาวิหารนอเทรอดามเสียหายไปค่อนข้างเยอะ รูปปั้นบางรูปก็ถูกทำลายและระฆังบางใบก็หลอมละลายเกินกว่าจะซ่อมแซม
จนล่วงเข้าศตวรรษที่ 19 ก็ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญนัก ผลงานของศิลปินหลายๆ ชิ้นก็ถูกหลงลืมและบางส่วนก็ถูกนำไปเก็บยังห้องเก็บของแทนที่จะจัดแสดงอย่างสง่างาม กระทั่งปี 1804 ที่ “นโปเลียน” จะราชาภิเษกตัวเองขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส และตัดสินใจจะใช้วิหารเป็นที่ทำพิธีก็เริ่มมีการหยิบผลงานต่างๆ ออกมาประดับอีกครั้ง
หรือเมื่อปี 1831 นักประพันธ์ชื่อดัง Victor Hugo ก็ได้สร้างสรรค์ผลงานมาสเตอร์พีซออกมาได้แก่ The Hunchback of Notre-Dame ซึ่งมีมหาวิหารแห่งนี้เป็นฉากสำคัญ โดยบทประพันธ์ดังกล่าวมี Quasimodo (กาซีโมโด – ชายหลังค่อมที่มีหน้าที่ตีระฆังวิหารนอเทรอดาม เป็นตัวละครหลักของเรื่อง) ก็ยิ่งทำให้โบสถ์แห่งนี้กลับมาเป็นที่จดจำมากยิ่งขึ้น และได้รับความนิยมมากขึ้น จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ก็ได้มีการบูรณะซ่อมแซมใหม่รวมทั้งเร่งอนุรักษ์งานศิลปะชิ้นต่างๆ มากยิ่งขึ้น และกลายเป็นเพชรเม็ดงามของศิลปะกอธิคที่สำคัญไปเลย
7.หลังคามหาวิหารมีชื่อเล่นด้วยนะ
มหาวิหารนอเทรอดาม มีความสูงถึง 127 เมตร ความกว้าง 48 เมตร และมีความลึก และเฉพาะตัวหลังคาก็สูงขึ้นไปอีกถึง 43 เมตร และที่น่าทึ่งไปกว่านั้นก็คือ โครงสร้างของหลังคาทั้งหมดทำจากไม้ ซึ่งนับย้อนไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 นับว่าเป็นความน่าอัศจรรย์อย่างยิ่งที่มันยังอยู่ท้าทายกาลเวลาได้
และด้วยความที่มันสร้างจากต้นไม้มากถึง 1,300 ต้น ทำให้มันได้รับชื่อเล่นอย่างน่าเอ็นดูว่า The Forest ที่แปลว่าป่า เพื่อสื่อให้เห็นถึงปริมาณต้นไม้จำนวนมากที่ถูกนำมาใช้
8.มหาวิหารเป็นสถานที่บั่นหัว
อันที่จริงก็ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น แต่หมายถึงการบั่นหัวของรูปปั้นมากกว่า ต้องย้อนไปในช่วงของการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งผู้คนตอนนั้นต่อต้านราชวงศ์อย่างมาก ทำให้สัญลักษณ์ใดๆ ที่เกี่ยวกับราชวงศ์ในปารีสจะถูกทำลายให้สิ้นซาก
กระทั่งนักปฏิวัติรายหนึ่งเห็นผลงานที่มหาวิหารและเข้าใจว่ารูปปั้นและภาพวาดต่างๆ นั้นสื่อถึงราชวงศ์ฝรั่งเศส จึงตัดสินใจทุบทำลายศีรษะของรูปปั้นไปถึง 28 รูปปั้น อย่างไรก็ตาม ก็มีคนไปพบเจอศีรษะดังกล่าวจนได้ถึง 21 เศียร และนำไปตั้งแสดงไว้พิพิธภัณฑ์ยุคกลางแห่งชาติ คลูนี (Musée du Moyen-Âge de Cluny) ที่กรุงปารีส
9.มหาวิหารนอเทรอดาม มีสัดส่วนทองคำ
Golden ratio หรือ สัดส่วนทองคำ มาจากทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ เป็นทฤษฎีที่คำนวณหาสัดส่วนที่งามที่สุดในโลก เป็นสูตรคำนวณที่คิดค้นโดย ลีโอนาโด ฟีโบนัชชี นักคณิตศาสตร์ชาวอิตาลี ที่ได้พยายามใช้ตัวเลขมาอธิบายความงามของธรรมชาติ ซึ่งสามารถใช้ได้กับงานศิลปะแทบจะทุกแขนงได้เลย ไม่ว่าจะเป็น การวาดรูป การออกแบบ การถ่ายภาพ และงานด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งอาคารที่โด่งดังและมีสัดส่วนทองคำ อาทิ วิหารพาร์เธนอน กรุงเอเธนส์ และ ทัชมาฮาล อินเดีย เป็นต้น และแน่นอนว่างดงามเพียงนี้ มหาวิหารนอเทรอดามก็มีสัดส่วนทองคำเช่นกัน
10.มหาวิหารคือที่เก็บรักษา มงกุฏหนามของพระเยซู
และท้ายที่สุด สมบัติที่ไม่อาจประเมินค่าได้และถูกเก็บรักษาอยู่ที่มหาวิหารนอเทรอดาม ได้แก่ The Holy Crown หรือ มงกุฏหนามของพระเยซูคริสต์
ซึ่งว่ากันว่าเป็นมงกุฏหนามที่พระเยซูทรงเคยสวมจริงเมื่อครั้งถูกทหารโรมันทรมานก่อนที่จะทรงสิ้นพระชนม์ โดยที่มีการครอบแก้วปกป้องหนามเอาไว้ (ว่ากันว่าหนามหลายดอกถูกริดออกไปจำนวนมากแล้วก่อนถูกครอบ ซึ่งไม่บ่อยนักที่โบสถ์จะนำออกมาให้ได้ชมเป็นบุญตา แต่สิ่งนี้ได้รับการยืนยันว่าถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีปลอดภัยจากเหตุเพลิงไหม้แล้ว
Source : discoverwalks.com
ABOUT THE AUTHOR
ทีมงาน bsite
Biographical Info