เรื่องของความเชื่อ เครื่องรางของขลัง หรือวัตถุมงคลกับคนไทยนั้นมีมาช้านานแล้ว แต่เมื่อ “ความเชื่อ” กับ “แฟชั่น” จู่ๆ ก็มารวมตัวกัน ก็กลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่น่าสนใจ แล้วยังมาปลุกกระแสทำให้วัยรุ่นหันมาใส่เครื่องราง ราวกับเป็นเครื่องประดับจากดีไซน์เนอร์แบรนด์ดัง แม้แต่เหล่าศิลปินดาราก็นิยมใส่เช่นกันและอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จุดกระแส #แฟชั่นสายมู หรือ #แฟชั่นสายมูเตลู ที่แพร่กระจายอยู่ในขณะนี้
และหนึ่งในแบรนด์ สายมู ที่ได้รับความนิยมที่สุดได้แก่ Leila Amulets ซึ่ง Bsite.In ได้มีโอกาสคุยแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับ 2 สาวสวยที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์นี้ ได้แก่ คุณจันทร์ จันทรา จันทร์พิทักษ์ชัย และ คุณเจนนี่ เจนจิรา ตรีวิชาพรรณ
สำหรับ คุณจันทร์ นั้นมีหน้าที่หลักได้แก่ ด้านดีไซน์ ศิลปะ ให้กับแบรนด์ พร้อมกับเสริมมุมมองด้านแฟชั่นให้กับเครื่องรางที่ได้มา เล่าถึงความเป็นมาของแบรนด์ Leila Amulets ว่า แบรนด์นี้ก็เกิดจากคน 3 คน ได้แก่ คุณอา จัน และน้องสาวเจนนี่ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน จุดเริ่มต้นของแบรนด์นี้ คงต้องย้อนกลับไปสมัยก่อนที่คนนิยมใส่พระ คล้องวัตถุมงคลกัน ซึ่งดีไซน์ในสมัยนั้นก็สวยงามตามยุค แต่ถ้าให้มาใส่ตอนนี้มันก็ไม่ได้แล้ว ประกอบกับ ด้วยเรื่องราวของเครื่องราวที่อาจจะดูน่ากลัว ทำให้คนปัจจุบันนี้ไม่กล้าใส่ ดังนั้น เราจึงพยายามคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่หันมาใส่เครื่องรางได้เหมือนเดิม
คุณอาซึ่งเป็นผู้บุกเบิกแบรนด์ ก็ตั้งโจทย์ให้เรามาว่า ทำไมเดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่ถึงไม่ใส่เครื่องรางกัน เราก็มีหน้าที่ตีโจทย์ให้แตกว่า ทำไมดีไซน์เก่าถึงเข้าไม่ถึงคนรุ่นใหม่ มันเกิดอะไรขึ้น เป็นไปได้ไหมที่เราจะมาปรับดีไซน์ใหม่ เราก็เลยเอามาปรับกับตัวตะกรุด คือด้วยดีไซน์ข้างใน มันมีดีไซน์ของเขาอยู่แล้ว เราแค่มาปรับส่วนดีไซน์วิธีการใหม่ให้มันง่ายขึ้น พอลูกค้าไปใส่มันก็จะมีของมงคลมีพุทธคุณ และได้รับดีไซน์ที่ดีกลับไปด้วย นำไปใช้ได้จริง
“เรามาปรับดีไซน์ให้ดูน่าใส่ได้มากขึ้น ให้มีความเป็นแฟชั่นมากขึ้น ให้ดูฟังก์ชั่นนัล คือใส่ได้ในชีวิตประจำวันจริง และดูเหมาะสม สวยงามตามยุคสมัย เหมาะกับการใช้ในชีวิตประจำวัน”
แต่เรื่องดีไซน์นั้น คุณจันย้ำว่าแท้จริงแล้วมันคือของดั้งเดิมเสียมากกว่า โดยบอกว่า หลายๆ อันจันไม่ได้แตะดีไซน์เดิมของทางวัดเลย จริงๆ แทบจะเป็นดีไซน์เก่าแต่ดั้งเดิมของวัดมาแบบนั้นก็ว่าได้ คือจันให้เขาอยู่ในแบบโบราณของเขา 80% เลย แต่สิ่งที่เราแตะเราจะเรียกว่าการประกอบงาน เพียงแค่ 20% เท่านั้น โดยทำให้เข้ากับเสื้อผ้าแฟชั่นในปัจจุบันได้เท่านั้น เช่น จากเดิมอาจจะเป็นเงินเป็นทอง ที่ใส่แล้วดูไม่ทันสมัย เราก็แค่มาปรับดีไซน์เล็กน้อยให้ใส่ได้กับเสื้อผ้าให้มีความแฟชั่นนิดนึง
ส่วนสิ่งที่คิดว่าทำให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาสนใจพวกเครื่องรางของขลังมากขึ้น คุณจัน มองว่าอันที่จริงแล้ว สิ่งเหล่านี้มันคลุกคลีกับคนมาแต่โบร่ำโบราณ เป็นของคู่คนไทยมาช้านาน ดังนั้น มันไม่ยากเลยที่เราคนไทยจะสนใจเรื่องนี้ เพียงแค่เราให้ความรู้เขาอีกนิดนึงว่า สิ่งนี้ก็เป็นอีกสิ่งที่คลุกคลีกับเรา แค่เราเพียงแค่ให้ความรู้เพิ่มกับเขาไป เช่นว่า ตะกรุดเป็นเครื่องรางของขลังนะ ที่เป็นกุศโลบายในการใช้ชีวิต เป็นสัญลักษณ์ในการใช้ชีวิต ให้เรามีขวัญกำลังใจในการใช้ชีวิต ตรงนี้เราสามารถให้คำแนะนำได้ เหมือนกับไปเสริมกำลังใจให้กับเขา ให้เขามีกำลังใจในการใช้ชีวิต
เท่าที่สังเกตเห็นว่าผู้หญิงวัยรุ่นนิยมใส่กันมาก เป็นเพราะอะไร คุณจันมองว่า อันที่จริงผู้หญิงส่วนใหญ่ชอบดูดวง ชอบเรื่องโชคลางเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แรกๆ คนอาจจะกลัวกับเรื่องแบบนี้ เพราะดูเล่นของอะไรรึเปล่า หรือทำไมงมงายจังเลย แต่จริงๆ แล้ว พอเราให้ความรู้ในทางที่ถูกต้อง เช่น ถ้าคุณเอาไปใช้ แล้วเอาไปเป็นกำลังใจในการทำงาน เป็นเครื่องเตือนตัวเองเรื่องงาน โดยที่มีพลังอันนี้บวกขึ้นไปอีก เมื่อพลังบวก มันมาบวกด้วยกัน มันก็จะขับเคลื่อนชีวิต ก็จะส่งให้ใช้ชีวิตประสบความสำเร็จมากขึ้น เพราะเราคิดบวกคิดดี ก็ช่วยให้คนรุ่นใหม่เข้าใจและกล้าที่จะใส่มากขึ้น
เมื่อถามว่าอะไรที่สาวๆ รีเควสมากที่สุดคืออะไร คุณจัน บอกว่า ส่วนใหญ่เรื่อความรัก จะขอตะกรุดความรัก ซึ่งแต่ละดอกก็จะมีเนื้อความแตกต่างกันไป เช่น อยากได้ความรักแบบคนมีคู่ ก็อยากให้คู่ของเรารักเรามากขึ้น กับบางคนยังไม่มีคู่ก็อยากได้คู่ ส่วนผู้ชายส่วนใหญ่ก็จะขอเรื่องการเงิน การงาน ความสำเร็จในชีวิตทำนองนี้
“จันทร์คิดว่าแบรนด์ไลลาน่าจะเป็นจุดใหม่ที่เปลี่ยนวงการจิวเวอร์ลี่ในวงการพระ พอเราได้ปูพื้นฐานเรียบร้อยแล้วว่า เราสามารถปรับดีไซน์อะไรตรงนี้ได้ ก็จะทำให้มีทางเลือกอื่นๆ ที่เขาทำขึ้นมาด้วย มันก็เหมือนช่วยขยายตลาด ณ ตรงนี้ก็เหมือนกับว่า เขาเรียกว่าเปิดช่องทางตลาดใหม่ให้คนด้านนอกเขามีรายได้เพิ่มขึ้น ตะกรุดเมื่อก่อนคนอาจจะมีแล้วแต่เก็บ แต่เราก็เอามาเพิ่มมูลค่าให้มีค่ามากขึ้น น่าสวมใส่มากขึ้น ซึ่งเขาก็มีคุณค่าในตัวเองอยู่แล้ว เราแค่มาทำดีไซน์ให้ร่วมสมัย ให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าในประวัติศาสตร์แล้วพวกเขาก็จะสืบทอดต่อไป”
แต่ก่อนทำแบรนด์ Leila Amulets ก็เคยทำแบรนด์เครื่องประดับ OLVD มาก่อน ซึ่งคุณจันยอมรับว่าไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่านั้น เธอเล่าว่า การทำงานในเคสของ OLVD มันสอนเราได้เลยว่า การเป็นตัวของตัวเองมากเกินไป มันทำให้คนอื่นไม่เข้าใจ เพราะบางทีเราต้องเข้าใจด้วยว่าลูกค้าต้องการอะไร ไม่ใช่เราต้องการอะไรเพียงอย่างเดียว บางอย่างมันก็ต้องมาครึ่งทาง เพราะคนที่ซื้อก็คือลูกค้า
“จริงๆ ก็ต้องขอบคุณตัวเองที่มันไม่ประสบความสำเร็จแต่แรก มันทำให้เรามองเห็นอะไรหลายๆ อย่างจากการล้มครั้งนั้น และเราก็รู้วิธีการที่จะลึกขึ้นมาด้วยว่าจะลุกขึ้นมาอย่างไร แล้วก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคงอย่างไร”
สิ่งที่คุณจันอยากฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่บูชาเครื่องรางว่า
“ก็อยากให้ทุกคนตั้งมั่นอยู่ในสติให้ดี เราต้องกลับมามองตัวเองด้วยว่าตอนนี้เราทำอะไรอยู่ เรามีสติพอหรือเปล่าว่า อะไรทำให้เกิดปัญหา ปัญหานี้เกิดจากเราหรือเปล่า คือต้องทบทวนตัวเองด้วย ตรงนี้มันแค่ขับเคลื่อนให้เราส่วนหนึ่งเท่านั้น อย่าไปโทษว่าเพราะสิ่งนี้สิ่งเดียวเท่านั้นทำให้ชั้นล่มจม คือถ้าสุดโต่งไปเราก็ต้องกลับไปอยู่ตรงกลาง”
ด้าน “เจนนี่” อีกหนึ่งสาวที่อยู่เบื้องหลังแบรนด์ไลลา เล่าถึงการเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ฟัง ว่า ความจริงพวกเครื่องรางหรือความเชื่อแบบนี้มันก็มีความละเอียดอ่อน เวลาที่เราจะขายหรือเผยแพร่ก็อาจจะต้องพูดเป็นรายคนเลย เพราะแต่ละคนเองก็มีความเข้าใจอะไรไม่เหมือนกันด้วย ซึ่งมีคนที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธมาบูชาก็มี ตรงนี้เราก็ให้คำแนะนำในการบูชาไป เช่น เอาไว้เป็นเครื่องรางเตือนใจเตือนสติ ไม่ได้นำมาอยู่เหนือศาสนาอะไรแบบนี้ ช่วยเรื่องโชคลาภไม่ได้ไปเปลี่ยนความเชื่อทางศาสนานะอะไรลักษณะนี้ หรือเป็นลักษณะการขอพรก็ได้
“ถ้าวัยรุ่นเขาเห็นตอนแรกก็อาจจะเป็นเรื่องของเทรนด์ว่า เอ๊ะ! คนใส่กันเยอะ เขาเข้ามาเพราะอันนี้ก่อน คือมันกำลังเป็นแฟชั่น พอใส่เสร็จบางคนก็อาจจะรู้สึกว่ามันเริ่มดี มีสิ่งดีๆ เข้าหาชีวิตมากขึ้น ก็อาจจะเริ่มหันมาสวดมนต์ และเชื่อในเรื่องนี้บ้างก็ได้ เน้นเรื่องดึงดูดจากรูปลักษณะภายนอกมากขึ้น เขาก็อาจจะสบายใจเริ่มเชื่อเริ่มสวดมากขึ้น”
เจนนี่ ยืนยันว่า การสื่อสารกับกลุ่มคนรุ่นใหม่กับเรื่องเครื่องราง ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะส่วนใหญ่มีเพื่อนแนะนำกันมาก่อนแล้ว เพื่อนเขาก็จะบอกกันมาระดับหนึ่งแล้ว พอมาเจอเราเขาก็จะคุยแบบเหมือนคอเดียวกัน
คำแนะนำในการใช้ของพวกนี้ เจนนี่ บอกว่า คำนะนำก็คือ เช่น ถ้าเราใส่เรื่องเสน่ห์ อยากให้คนรัก อยากให้คนเข้าหาเยอะ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ไม่ปรับปรุงตัวเอง ทำตัวไม่ดี หรืออยู่บ้านเฉยๆ ไม่ออกไปพบปะผู้คนข้างนอก แบบนี้ก็ไม่มีโอกาสที่จะพบใครได้ ชีวิตมันก็เหมือนเดิม มันก็ไม่ส่งผลดีต่อชีวิต
“แต่ถ้าเป็นเรื่องการเงิน การงาน เราได้ไปแล้วเราก็ทำตัวเหมือนเดิมอีก ก็อาจจะทำให้มีโอกาสเข้ามาหาเราแต่เราอาจจะทำได้ไม่ดี หรือเราไม่ตั้งใจทำ ก็เท่ากับว่าเราใส่เครื่องประดับหนึ่งเลย ดังนั้น คนที่มีของอยู่แล้วก็อยากจะให้ตั้งใจทำให้ดีด้วย ในการทำงาน”
มองว่าการใช้เรื่องดีไซน์แบบนี้ ดึงดูดคนรุ่นใหม่มากขึ้นหรือไม่ เจนนี่ บอกว่า อันนี้ช่วยได้มากเลย ของสมัยก่อนถ้าเป็นตะกรุดเฉยๆ เราก็ไม่รู้จะพกไว้ทำไม เก็บไว้ที่ไหน แต่พอมาใส่แบบนี้มันทำให้ดูน่าใส่มากขึ้น พกติดตัวได้ด้วย คนก็เข้าถึงได้มากขึ้นด้วย ทำให้คนกล้าใส่มากขึ้น บางคนคุณพ่อคุณแม่ให้ไว้แต่ไม่กล้าใส่ พอมาปรับแต่งดีไซน์ก็กล้าใส่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตะกรุด หรือสีผึ้งที่เคยอยู่ในตลับ เราได้มาก็ไม่รู้จะทำยังไงดี แต่พอมาใส่แบบนี้ก็สวยมากขึ้น กล้าใส่มากขึ้น
การใช้โซเชียลมีเดียในการรันแบรนด์ ส่วนตัวเจนนี่มองว่า ก็เข้าใจว่ายุคนี้คนสั่งซื้อของออนไลน์กันเยอะมากขึ้น เพราะอาจจะไม่อยากเดินทางมากันเอง รถติด หรือมาแล้วก็อาจจะไม่ได้อย่างที่ต้องกัน แต่ว่าการซื้อของออนลน์ตอนนี้ มันก็ใช้เวลานานในการขายของ เช่น กว่าจะเลือกหินที่ชอบ หรือหินที่ต้องการ แต่ระบบของออนไลน์ก็ช้าหน่อยอาจจะไม่ได้ทันใจเท่า หรือบางทีก็มีระยะเวลาส่งของมีปัญหาค่อนข้างเยอะ เช่น ปัญหาเรื่องข้อมือของคนเราที่ไม่เท่ากัน ก็ต้องมีส่งแก้กันกลับไปกลับมา คือถ้าเดินทางมาวัดด้วยตัวเองก็จะง่ายกว่า
“คือก็อยากให้ลองมาเลือกด้วยตัวเองดีกว่า ได้มาลองวางทาบกับตัวเอง ได้มาจับสินค้าเอง เลือกหินเลือกแบบด้วยตัวเองก็จะง่ายกว่าเลย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าขายออนไลน์มันก็สำคัญ เพราะบางคนอยู่ต่างจังหวัด หรืออยู่ต่างประเทศ มาไม่ได้จริงๆ ตรงนี้เราก็เข้าใจ คนไทยต่างประเทศที่เห็นแล้วอยากได้มีเยอะจริงๆ ขนาดบางคนทนไม่ได้นานกว่าจะส่งถึงก็บินมาซื้อถึงที่ก็มี”
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าดราม่าที่เกิดขึ้นกับไลลาจะเป็นอย่างไร แต่เรื่องของความเชื่อนั้น
ควรจะใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจให้ดี ยุคนี้เป็นยุคที่ผู้บริโภคฉลาดที่จะหาข้อมูลได้เยอะขึ้นแล้ว
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นของใช้หรือของศักด์สิทธิ์ควรพิจารณาในการตัดสินใจก่อนนำมาครอบครอง.
Copyright© Bsite.In