- Tech
ทางออกวิกฤตขยะล้นโลก? นักวิทย์ฯ พบหนอน Superworm ที่สามารถรอดชีวิตจากการกินโฟมได้
By DiamondP • on Jun 20, 2022 • 535 Views
วิกฤตขยะล้นโลก คือหนึ่งในปัญหาสำคัญทางสิ่งแวดล้อมที่โลกใบนี้กำลังเผชิญอยู่ เหตุผลหนึ่งก็มาจากการขยายตัวของประชากรโลกที่เพิ่มความหนาแน่นมากขึ้น การเกิดขึ้นของเมือง รวมไปถึงการจัดการของภาครัฐฯ ที่อาจจะยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ นั่นทำให้ทุกฝ่ายต้องเร่งหาทางรับมือกับเรื่องนี้ เพื่อแก้ไขมันก่อนที่จะกลายเป็นวิกฤตลูกโซ่ แล้วทำให้ระบบนิเวศวิทยาล้มระเนราดกันไปหมด ล่าสุดดูเหมือนว่าเราจะเริ่มเห็นทางออกแล้วกับการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่ถูกขนานนามว่า Superworm ที่มันสามารถกินขยะจำพวกพลาสติก และโฟม แล้วยังสามารถรอดชีวิตได้
ผลการศึกษาล่าสุดได้รับการตีพิมพ์ลงบนวารสาร Microbial Genomics โดยคนที่ค้นพบก็คือทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย ที่ได้โชว์ความสามารถของเจ้าหนอนด้วงดำ หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า zophobas morio สามารถรอดชีวิตจากการกินพลาสติกจำพวก Polystyrene หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ Styrofoam หรือให้คุ้นกว่านั้นก็คือ บรรดาโฟมที่ถูกใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารนั่นเอง
ในการศึกษานั้น ทีมวิจัยได้ให้อาหารของเจ้า Superworms แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกให้กินเป็นสารละลายรำเพื่อสุขภาพ, กลุ่มที่ 2 ให้กินเป็นพลาสสิกโพลิสไตรีน และกลุ่มที่ 3 ให้อดอาหาร ผลการวิจัยออกมาว่า 90% ของหนอนที่กินรำสามารถกลายเป็นด้วงได้ ในขณะที่หนอนที่กินพลาสสิกกลายเป็นด้วงได้ที่ 66% ในขณะที่มีเพียง 10% ของหนอนที่อดอาหารเท่านั้นสามารถรอดชีวิตไปสู่การวิวัฒนกาการขั้นต่อไป และจากผลการวิจัยนี้เองทำให้นักวิจัยพบว่าในลำไส้ของพวกมันมีเอนไซม์ที่สามารถใช้ย่อยพลาสสิกได้นั่นเอง
จากการค้นพบนี้ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ได้มุ่งเป้าไปที่การศึกษาเอนไซม์ดังกล่าว เพื่อที่จะพัฒนาให้กลายเป็นนวัตกรรมในการย่อยสลายพลาสสิกได้ในปริมาณมาก พวกเขาให้เหตุผลว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการที่จะสร้างฟาร์ม Superworm แต่อยากจะมุ่งเน้นไปที่การศึกษาตัวเอนไซม์ตัวนี้มากกว่า และหากการวิจัยนี้ประสบความสำเร็จ บรรดาหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการจัดการขยะก็จะสามารถรวบรวมบรรดาขยะพลาสติกเหล่านั้นมา แล้วใช้สารละลายที่มีส่วนผสมของเอนไซม์นี้ทำลายเหล่าพลาสติกนั้นได้ในทีเดียวเป็นปริมาณมาก
อย่างที่กล่าวไปว่าตอนนี้ โลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาวิกฤตขยะ ซึ่งโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ ได้เปิดเผยว่าในแต่ละปีนั้น เราจะมีขยะจากพลาสติกเหล่านี้มากกว่า 14 ล้านตัน โดยส่วนใหญ่เป็นพลาสติกที่มาจากการสร้างขึ้นเพื่อใช้เพียงครั้งเดียว จำพวกขวดน้ำ, แก้วโฟม หรือถุงพลาสติก ทั้งหมดกลายเป็นขยะที่เข้าไปอุดตันหลุมฝังกลบขยะ และด้วยการที่มันสามารถย่อยสลายได้ช้านั้น ก็กลายเป็นผลร้ายในการคร่าชีวิตเหล่าสัตว์และสิ่งแวดล้อมทางทะเลเป็นอย่างมาก
ที่มา: https://www.washingtonpost.com/technology/2022/06/17/plastic-eating-superworm-garbage-crisis/
ABOUT THE AUTHOR
DiamondP
คนอยากเขียน กับความสนใจเยอะแยะ และเราเชื่อว่า คนทุกคนเท่าเทียมกัน