เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคอหนังไทยคงได้ยินประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในโลกออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นที่กองเซ็นเซอร์มีมติห้ามฉายภาพยนตร์เรื่อง ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2 โดยอ้างว่ามีฉากไม่เหมาะสมและอ่อนไหวต่อความรู้สึกคนดู ซึ่งฉากดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ด้วย
วันนี้เราเลยขอพาทุกคนย้อนดูวงการหนังที่หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับอีกด้านของพระสงฆ์มานำเสนอ ถ่ายทำเสร็จแล้ว ตัดต่อเสร็จแล้ว แต่สุดท้ายไม่ได้ฉาย หรือบางเรื่องต้องยอมตัดต่อใหม่เพื่อให้ได้เข้าฉายในไทย
คนกราบหมา
ภาพยนตร์ไทยแนวทดลอง-ตลกร้าย ที่มีกำหนดฉายในงาน เทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ ครั้งที่ 1 (Bangkok Film Festival) ปี พ.ศ. 2540 แต่สุดท้ายไม่ได้ฉาย และได้ฉายในไทยแค่ครั้งเดียวคือการจัดฉายภายในสถาบันเกอเธ และออกฉายในเทศกาลหนังที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ภาพยนตร์มีเนื้อหาเกี่ยวกับลัทธิประหลาดที่มีผู้คนบูชากราบไหว้หมา.. เสียดสีวงการพระพุทธในไทย แม้จะไม่ได้บอกแบบตรงๆ แต่ก็เกิดความตีความได้ นำแสดงโดย กฤษดา สุโกศล แคลปป์, สันติ อิศโรวุธกุล, Pin Zabriskie มีความยาว 2 ชั่วโมง
หนังกำกับโดย อิ๋ง กาญจนะวณิชย์ หรือ Ink K ต่อมาเธอมีผลงาน เชคสเปียร์ต้องตาย – Shakespeare Must Die (2555) ที่โดนแบนห้ามฉายในไทยเช่นเดียวกัน ความประหลาดของเคสคนกราบหมาคือ ตอนแรกทางกองเซ็นเซอร์จะไม่รู้จักหนังเรื่องนี้เลย
เพราะเป็นหนังอินดี้นอกกระแสไร้การโปรโมทแต่อย่างใด และจัดฉายในเทศกาลหนังเท่านั้น แต่แล้วมีบุคคลปริศนาส่งโทรสารและแจ้งไปที่กองเซ็นเซอร์ว่าหนังมีความไม่เหมาะสม จนทำให้หนังโดนแบนในที่สุด
นาคปรก
นาคปรก ภาพยนตร์โดย ภวัต พนังคศิริ (Six หกตายท้าตาย, อรหันต์ซัมเมอร์, หลุดสี่หลุด, ตีสาม After Shock) นำแสดงโดย สมชาย เข็มกลัด, เรย์ แมคโดนัลด์, ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์, ทราย เจริญปุระ เรื่องราวเกี่ยวกับโจร 3 คนที่ปล้นรถขนเงิน แต่โดนตำรวจไล่จับ จึงตัดสินใจฝังเงินไว้ใต้ดิน ซึ่งพวกเขาไม่รู้ว่าเป็นที่ดินวัดที่ต่อมามีการสร้างโบสถ์ทับที่ตรงนั้น เมื่อโจรจะกลับมาขุดเอาเงินคืนก็ปลอมตัวด้วยการบวชเป็นพระสงฆ์และลักลอบขุดพื้นโบสถ์ในเวลากลางคืน โดยหนังมีคำโปรยบนโปสเตอร์ระบุว่า ปล้นผ้าเหลืองอำพรางตัว..ซ่อนความชั่วใต้ความดี
หนังเรื่องนี้ใช้ระยะเวลาขัดเกลาเนื้อหา 3 ปีเพื่อไม่ให้กระทบต่อความรู้สึกของพุทธศาสนิกชน แต่แล้วเมื่อหนังวางโปรแกรมฉาย มีองค์กรด้านพระพุทธศาสนายื่นเรื่องไปที่กระทรวงวัฒนธรรมแจ้งว่าเนื้อหาทำให้วงการสงฆ์เสื่อมเสีย แต่สุดท้ายหนังก็ได้ฉายโดยไม่ต้องตัดฉากออกสักฉาก เพียงแต่ได้เรทหนัง น.18 เท่านั้น
อาปัติ
ภาพยนตร์โดย ขนิษฐา ขวัญอยู่ นำแสดงโดย ชาลี ไตรรัตน์,พลอย ศรนรินทร์,อรรถพร ธีมากร เรื่องราวของซันที่ถูกพ่อแม่บังคับให้มาบวชเพื่อเป็นการดัดนิสัย แม้จะอยู่ในผ้าเหลือแต่ไร้ศรัทธาทำให้เขาทำตัวเหมือนเป็นเด็กวัยรุ่นปกติ เขาแอบลักลอบคบหากับ ฝ้าย เด็กสาวในหมู่บ้านที่เชื่อว่ารักนี้ไม่ใช่รักต้องห้าม ซึ่งความบาปครั้งนี้นำพาไปสู่เหตุการณ์สุดสยอง เมื่อมีเปรตและดวงวิญญาณออกมาหลอกหลอนพวกเขาเพื่อตอกย้ำความผิดในสิ่งที่ทั้งสองกระทำลงไป
อาปัติ เป็นหนังตัวแทนประเทศไทย เข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (Best Foreign Language Film) เดิมทีหนังเรื่องนี้มีชื่อว่า อาบัติ แต่ได้รับการร้องเรียนเรื่องความไม่เหมาะสมกระทบต่อพระพุทธศาสนา เช่น มีพระสงฆ์ประพฤติผิดพระธรรมวินัย ไม่เคารพพระพุทธรูป จนหนังโดนตัดออกเหลือเรทฉาย น.18 จากกระแสเกือบโดนห้ามแบนส่งผลดีต่อหนังดันให้กระแสหนังแรงขึ้นและเป็นการประชาสัมพันธ์หนังไปในตัว
ต่อมา สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล ได้นำเวอร์ชั่นตัดต่อสมบูรณ์มาฉายอีกครั้งในชื่อ เปรต อาบัติ มีฉากที่โดนตัดออกไปรวมอยู่ด้วยเพื่อคงเจตนาเดิมที่ผู้สร้างหนังต้องการบอกเล่า ถือเป็นเรื่องราวขยายเวอร์ชั่นเก่า ซึ่งยังคงแก่นเรื่องของบาปบุญคุณโทษและผลแห่งการกระทำ
ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2
เป็นหนังภาษาอีสานบอกเล่าวิถีชีวิตและความรักแบบท้องถิ่น หนังโดนห้ามฉายเพราะมีฉากหนึ่งที่ไม่เหมาะสมกระทบต่อภาพลักษณ์ของพระสงฆ์แม้จะยื่นฉายในเรท 18 ก็ตาม โดยฉากที่เป็นปัญหาคือ ฉากที่ พระเซียง ตัวละครที่เพิ่งบวชเป็นพระขึ้นสวดศพอดีตแฟนที่เพิ่งเสียชีวิต แต่พระเซียงทำใจไม่ได้สวดศพด้วยความเศร้าและเดินไปเคาะโลงศพร้องไห้ ไม่สามารถเก็บอารมณ์สำรวมของความเป็นพระสงฆ์ได้อีกต่อไป ทำให้ฉากนี้ไม่ผ่านเซ็นเซอร์
โดยทางแฟนเพจได้โพสต์ข้อความแถลงการณ์ในช่วงที่หนังไม่ผ่านเซ็นเซอร์ว่า ในทางผู้สร้าง ผู้กำกับ ทีมงาน ได้ดูฉากในภาพยนตร์ที่ทางกองเซ็นเซอร์ได้ท้วงติงเรามาแล้ว และกำลังดำเนินการแก้ไขให้เร็วที่สุด เราคิดว่าผู้ชมและแฟนคลับของเรามีวิจารณญาณพอที่จะรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้
สุดท้าย ผู้สร้างหนังต้องเอาหนังมาตัดต่อใหม่โดยใช้ฉากอื่นเข้ามาแทนที่เพื่อให้ได้ความรู้สึกที่พระสงฆ์ฟูมฟายน้อยลง โดยตัดออกราว 7-10วินาที หนังได้เรทฉาย น.15 แทน และเข้าฉายในโรงภาพยนตร์
กฎหมายข้อห้ามภาพยนตร์
สำหรับข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาพยนตร์ ยึดตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มีคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ในรูปแบบการจัดเรท และคณะกรรมการมีอำนาจที่จะไม่อนุญาตให้ฉาย โดยลักษณะของหนังที่ห้ามฉายดังนี้
1. กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2. เหยียดหยามหรือนำความเสื่อมเสียมาสู่ศาสนา
3. เนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกแยกของคนในชาติ
4. เนื้อหาที่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
5. สาระสำคัญของเรื่องเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์
6. เนื้อหาที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ
Copyright© Bsite.In