- Lifestyle
มะเมียะ ตำนานรักต่างวรรณะ ‘หญิงพม่า-เจ้าเชียงใหม่’ โศกนาฎกรรมหรือนิยาย?
By Sanook D Pipat • on Nov 13, 2018 • 3,780 Views
หากเอ่ยถึงชื่อของ มะเมียะ เด็กสมัยนี้ หรือคนในพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่ภาคเหนืออาจจะไม่รู้จักชื่อที่แปลกประหลาดนี้ แต่นี่คือชื่อของหนึ่งในตำนานรักยิ่งใหญ่ที่ชาวเชียงใหม่รู้จักกันดี ถูกเล่าสืบต่อกันมาหลายร้อยปี มีการนำโศกนาฎกรรมมาแต่งเป็นนิยาย สอดแทรกตัวละครและสถานที่จริงที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์ล้านนา ทำให้หลายคนเชื่อว่า ตำนานรักของมะเมียะ เคยเกิดขึ้นจริง
เรื่องราวของ มะเมียะ เกิดขึ้นครั้งแรกใน หนังสือเพ็ชรลานนา เล่ม 1 ปี 2507 เขียนโดย ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง อ้างเรื่องเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่ เมื่อครั้ง เจ้าน้อย ศุขเกษม ณ เชียงใหม่ พระโอรสของ เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 กับ เจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ เมื่อเจ้าน้อย มีพระชันษาได้ 19 ปี ถูกส่งไปร่ำเรียนศึกษาวิชาที่เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า ระหว่างนั้นได้พบรักกับสาวแม่ค้านามว่า มะเมียะ และได้อยู่กินกันฉันสามีภรรยาและได้สาบานมั่นรักต่อหน้า พระธาตุใจ้ตะหลั่น (ปูชนียสถานสำคัญของเมืองมะละแหม่ง) โดยสาบานว่าจะรักกันไปชั่วชีวิต หากใครผิดคำสาบานก็ขอให้อายุสั้น
…แต่แล้ววันเวลาเดินทางกลับเชียงใหม่ก็มาถึง เจ้าน้อยได้เสด็จกลับเมือง โดยมีมะเมียะปลอมเป็นเพื่อนชายกลับไปด้วย โดยหารู้ไม่ว่า เจ้าเชียงใหม่ได้เตรียมคู่หมั้นไว้ให้เจ้าน้อยแล้ว ทั้งสองต้องแอบรักกันแบบหลบๆ ซ่อนๆ จนกระทั่งเรื่องแดง มะเมียะ ถูกบีบบังคับให้ต้องเดินทางกลับไปพม่า ในขณะที่เจ้าน้อยสัญญาว่าจะกลับไปรับตัวกลับมาครองรักกัน โดยวันส่งมะเมียะกลับมะละแหม่งได้จัดขบวนช้างไปส่ง มะเมียะได้สยายผมลงเช็ดพระบาทของเจ้าน้อยเพื่อเป็นการแสดงความรักตามธรรมเนียมล้านนา
เมื่อกลับไปที่มะละแหม่ง มะเมียะรอแล้วรอเล่า เจ้าน้อยก็ไม่มีทางมารับจึงได้ตัดสินใจบวชชี จนกระทั่งทราบข่าวว่าเจ้าน้อยจะแต่งงานก็ได้เดินทางมาที่เมืองเชียงใหม่ แต่เจ้าน้อยทำใจไม่ได้จึงให้เพื่อนคนสนิทนำเงินมาทำบุญให้กับแม่ชีมะเมียะ เธอเลยตัดสินใจบวชชีไปตลอดชีวิต ในขณะที่ชีวิตบั้นปลายของเจ้าน้อยศุขเกษม ติดสุราหนักและเสียชีวิตในวัยแค่ 33 ปี ดั่งคำสาบานที่เคยตั้งมั่นไว้ว่า หากใครผิดคำสาบานก็ขอให้คนนั้นอายุสั้น
ตำนานมะเมียะ โด่งดังอีกครั้งเมื่อ จรัล มโนเพชร นำเรื่องราวมาแต่งเป็นเพลง และมี สุนทรี เวชานนท์ เป็นผู้ขับร้อง จากนั้นได้แพร่หลายไปในสื่อต่างๆ รวมทั้งมีละครโทรทัศน์ เมื่อมีการนำเสนอเรื่องนี้ เริ่มมีการสืบหาความจริงว่า มะเมียะ มีตัวตนจริงหรือไม่? รวมถึงมีข่าวลือกันว่า เมื่อมะเมียะสิ้นชีพได้มีการนำอัฐิมาเก็บรวมไว้ที่ กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ หรือ สุสานราชตระกูล ณ เชียงใหม่ ณ บริเวณลาน วัดสวนดอก แต่เรื่องนี้ก็ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
[wonderplugin_video iframe=”https://www.youtube.com/watch?v=J9aKrCKNx6E” videowidth=600 videoheight=400 keepaspectratio=1 videocss=”position:relative;display:block;background-color:#000;overflow:hidden;max-width:100%;margin:0 auto;” playbutton=”https://bsite.in/wp-content/plugins/wonderplugin-video-embed/engine/playvideo-64-64-0.png”]
เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ หรือ เจ้ายาย เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับตำนานนี้ที่ได้รับฟังเรื่องนี้จากเจ้าแก้วนวรัฐ ว่า
“ได้ข่าวจากเชียงตุงว่า…ไปเฮียนหนังสือมันก็บ่เฮียน ไปเมาสาวเหีย ถ้ามีลูกมีเต้าจะเยี๊ยะจะได เพราะว่าเขาต้องมาสืบความเป็นเจ้าหลวงต่อนะ มันบ่เฮียนหนังสือ เอามันกลับมาเหีย ก็เลยเอากลับมา มาก็มากันสองคน คนหนึ่งปลอมเป็นผู้ชายมาคือมะเมี๊ยะ มาแล้วก็บอกว่ามันอยู่กันบ่ได้เลย ก็เลยบอกว่าให้เอาอีมะเมี๊ยะไปส่งเหีย”
แปล :: ได้ข่าวว่าเจ้าน้อยไปเรียนหนังสือก็ไม่เรียนไปมีหญิง ถ้ามีลูกมีเต้าจะทำอย่างไร เพราะว่าขาต้องมาสืบความเป็นเจ้าหลวงต่อ ถ้าเจ้าน้อยไม่เรียนหนังสือก็ให้เอาตัวกลับมาเสีย ก็เลยกลับมากันสองคน คนหนึ่งปลอมเป็นผู้ชายคือมะเมียะ แล้วก็บอกว่าอยู่กันไม่ได้เลยเอามะเมียะส่งคืนกลับไป
ในขณะที่ เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ มีศักดิ์เป็นหลานปู่ ใน พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เคยเล่าว่า เรื่องนี้ไม่เป็นเหมือนอย่างที่นิยายเล่า มันเป็นเรื่องของความรักไม่เหมาะสมเพราะตามตำแหน่งเจ้าน้อยฯ จะต้องสืบเป็นเจ้าหลวง คงจะลำบากใจหากมีเมียเป็นชาวพม่า ครั้นผู้เป็นพ่อเป็นแม่ก็ต้องโมโหเป็นธรรมดาที่ส่งลูกไปเรียนแต่ได้เมียกลับมา ซึ่งเจ้าน้อยก็เป็นคนรูปหล่อ เป็นคนสำราญ แต่ถึงขนาดตรอมใจจนตายเหมือนในนิยายนั้นคงไม่ใช่เพราะเพิ่งจะมาปรากฎเนื้อหานี้ตามที่มีการแต่งเป็นหนังสือนั่นเอง
ส่วนเรื่องที่ มะเมียะสยายผมลงเพื่อเช็ดพระบาทเจ้าน้อยก่อนกลับพม่านั้นคล้ายกับธรรมเนียมที่เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลือยพระเกศาออกเช็ดพระบาทด้วยความจงรักภักดี ก่อนเสด็จกลับไปเยี่ยมนครเชียงใหม่หลังพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ ซึ่งอาจจะเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเรื่องเล่าของมะเมียะขึ้นเพื่อให้เห็นภาพการแสดงความซื่อสัตย์ต่อความรักที่ยิ่งใหญ่ และกลายเป็นท่อนจบของเพลงจรัล
“…มะเมี๊ยะตรอมใจ๋ อาลัยขื่นขม ถวายบังคมทูลลา
สยายผมลงเจ๊ดบาทบาทา ขอลาไปก่อนแล้วจ๊าดนี้
เจ้าชายก็ตรอมใจ๋ตาย มะเมี๊ยะเลยไปบวชชี
ความฮักมั๊กเป๋นจะนี้แลเฮ้อ…”
จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เชื่อได้ว่า เรื่องราวความรักระหว่างเจ้าน้อยกับมะเมียะมีอยู่จริงแน่นอน แต่อาจจะถูกแต่งเสริมเพื่ออรรถรสของความเป็นนิยาย สอดคล้องกับพระประวัติในช่วงบั้นปลายของเจ้าน้อย ศุขเกษม ที่ถือถูกแต่งตั้งเป็น เจ้าอุตรการโกศล ถือศักดินา 1,600 แต่ด้วยนิสัยไม่เอาการเอางาน ชอบดื่มแต่เหล้าย้อมใจ ทำให้ไม่มีสิทธิในการครองนครเชียงใหม่ เจ้าน้อยเข้าพิธีสมรสกับเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ และ ถึงแก่กรรมด้วยโรคเส้นประสาทพิการเรื้อรัง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2456 โดยอัฐิถูกนำไปไว้ที่กู่หลวง ณ วัดสวนดอก
แม้วันเวลาจะผ่านไปหลายร้อยปี แต่เรื่องราวความรักที่ซื่อสัตย์ของมะเมียะยังคงถูกเล่าขาน
และบางครั้งอาจจะมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาลบล้างเรื่องเล่านั้น
แต่เชื่อได้เลยว่า เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ให้แก่ความรักและสะท้อนให้เห็นขนบธรรมเนียม ตำนานของชาวล้านนาที่หากไม่ได้รับการเล่าต่ออาจจะเลือนหายไปตามกาลเวลาก็ได้
Copyright© Bsite.In
ABOUT THE AUTHOR
Sanook D Pipat