- Money
เผยผลสำรวจบทบาทผู้หญิงในวงการธุรกิจปี 63 บทบาทผู้หญิงในภาคเอกชนแซงหน้า ขณะที่ในภาครัฐยังทิ้งห่างแม้ว่าจะมีสัญญาณดีขึ้นเล็กน้อย
By JellyKiller • on Mar 08, 2020 • 1,588 Views
- ร้อยละ 86 ของบริษัทในประเทศไทยที่ถูกสำรวจ มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงอย่างน้อย 1 คน
- ในประเทศไทยมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงร้อยละ 32 ทั่วโลกร้อยละ 27 และในภูมิภาคเอเชียร้อยละ 26
- แม้ว่าในรัฐสภาไทยจะมีสัดส่วนของ ส.ส. หญิงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.4 เป็นร้อยละ 16.2 หลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่ยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยจำนวน ส.ส. หญิงในรัฐสภาทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 24.9
รายงานผลวิจัยบทบาทผู้หญิงในวงการธุรกิจปี 2563 ของแกรนท์ ธอนตันเผยว่า ในประเทศไทยมีสัดส่วนของผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีผู้หญิงครองตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในตลาดขนาดกลางร้อยละ 32 สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย และสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 27 และค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 26
ข้อมูลดังกล่าวอ้างอิงจากรายงานผลสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอนตัน ที่สำรวจจากบริษัทขนาดกลาง 5,000 แห่ง ในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ในประเทศไทยมีบริษัทที่ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 103 แห่ง รายงานดังกล่าวทำให้ทราบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความก้าวหน้าของผู้หญิงในแวดวงการทำงานทั่วโลก
ในประเทศไทย สัดส่วนของผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้หญิงมีแนวโน้มที่ดี อย่างไรก็ตามยังสามารถยกระดับให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้ โดยในปีนี้ จำนวนธุรกิจในกลุ่มบริษัทขนาดกลางที่ไม่มีผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงเลยอยู่ที่ร้อยละ 14 ลดลงร้อยละ 5 จากร้อยละ 19 ในปี 2562 เช่นเดียวกับตัวชี้วัดอื่นๆ ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นความหลากหลายในแวดวงธุรกิจไทยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในภาพรวมของทั้งระดับภูมิภาค (ร้อยละ 20) และระดับโลก (ร้อยละ 17)
ประเทศไทยยังมีสัดส่วนผู้หญิงที่นั่งในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดขององค์กรมากกว่าค่าเฉลี่ยของระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยมีผู้หญิงรั้งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร/กรรมการผู้จัดการร้อยละ 24 สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 20 และค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งอยู่ที่เพียงร้อยละ 13
เมเลีย ครูซ หุ้นส่วนของแกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังก้าวไปในทิศทางที่เหมาะสมแล้ว แต่จำนวนที่เป็นอยู่ยังคงห่างไกลจากที่เราอยากจะเห็นอยู่มาก นอกเหนือจากประเด็นเรื่องความเท่าเทียมแล้ว ความหลากหลายของบุคลากรในภาคธุรกิจและภาครัฐจะช่วยให้เกิดมุมมองที่กว้างขวางขึ้น และส่งผลให้การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย”
ผลสำรวจยังชี้ว่าในประเทศไทยตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่ถือครองโดยผู้หญิงมากที่สุดคือ ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (CFO) ซึ่งสูงถึงร้อยละ 43 สอดคล้องกับรายงานข้อมูลความหลากหลายทางเพศ CS Gender 3000 Report ของสถาบันวิจัยเครดิตสวิส (Credit Suisse Research Institute) ที่พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนของผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (CFO) มากที่สุดในโลก และครองอันดับสามของประเทศที่มีผู้หญิงนั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) มากที่สุดในโลก
ในประเทศไทย ธุรกิจในตลาดขนาดกลางมีความตื่นตัวที่จะพัฒนาให้เกิดความเสมอภาคตามแนวโน้มดังกล่าว โดยผู้ตอบแบบสำรวจของแกรนท์ ธอนตันร้อยละ 69 เผยว่าองค์กรของตนมีการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศผ่านโครงการริเริ่มต่างๆ โดยสามอันดับแรกได้แก่ การเปิดให้มีการทำงานแบบยืดหยุ่น (ร้อยละ 35) การสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง (ร้อยละ 34) และการให้โอกาสความก้าวหน้าอย่างเท่าเทียม (ร้อยละ 31)
แม้ว่าสถานภาพของผู้หญิงในโลกธุรกิจจะค่อนข้างดี แต่กลับไม่สดใสนักในโลกการเมือง ผู้หญิงไทยครองตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 81 ที่นั่ง จากที่นั่งในรัฐสภาทั้งสิ้น 500 ที่นั่ง คิดเป็นร้อยละ 16.2 เท่านั้น เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ร้อยละ 24.9 แล้ว ถือว่าประเทศไทยยังไร้ความสมดุลระหว่างเพศตามข้อมูลจากสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union)
สัดส่วนของผู้หญิงไทยที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าชี้ให้เห็นแนวโน้มที่ดี หลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีผู้หญิงครองที่นั่งในรัฐสภาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากร้อยละ 5.4 เป็นร้อยละ 16.2
ถึงแม้ประเทศไทยจะมีพัฒนาการด้านความเท่าเทียมทางเพศดีขึ้นเล็กน้อย แต่ในภาพรวมยังคงอยู่ในระดับปานกลาง โดยประเทศไทยรั้งอันดับ 75 จาก 153 ประเทศทั่วโลก ตามรายงานช่องว่างระหว่างเพศปี 2020 ของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ซึ่งใช้ตัวชี้วัด 4 มิติ ได้แก่ การมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษาที่สำเร็จ สุขภาพและการอยู่รอด และการให้อำนาจทางการเมือง
การให้อำนาจทางการเมืองถือเป็นช่องว่างที่กว้างที่สุดส่งผลให้อันดับของไทยไม่ดีนัก ส่วนระดับการศึกษาที่สำเร็จและสุขภาพแทบไม่พบช่องว่าง ขณะที่การมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจมีช่องว่างเล็กน้อยถึงปานกลางและมีอันดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก
ปนิตยา จ่างจิต ผู้อำนวยการแกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย สรุปเรื่องความสำคัญของสัดส่วนความสมดุลระหว่างเพศในพื้นที่สาธารณะว่า “เช่นเดียวกับอีกหลายๆ เรื่อง ภาครัฐของไทยยังคงตามหลังภาคเอกชนอยู่มากในด้านนี้ การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมจะเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การบริหารจัดการอย่างทั่วถึงและสังคมที่มีความเสมอภาค นอกจากนี้ยังนำมาซึ่งนโยบายสาธารณะที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง จากแนวโน้มที่ดีขึ้นในด้านความหลากหลายของผู้บริหารซึ่งสะท้อนผลสำเร็จในภาคธุรกิจ เป็นไปได้ว่าในอนาคตเราจะได้เห็นความหลากหลายที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ทางการเมืองเช่นเดียวกัน”
ABOUT THE AUTHOR
JellyKiller