- Money
เจาะเบื้องหลังความคิด ‘แจ๊ค หม่า’ ขอวางมือปีหน้า สร้างโมเดลการสืบทอดอำนาจใหม่ ไม่ยึดติดบุคคล
By ทีมงาน bsite • on Sep 10, 2018 • 2,708 Views
หลังกระแสข่าวฮือฮาของการวางมือลงจากอำนาจของ “แจ๊ค หม่า” (Jack Ma) มหาเศรษฐีจีน ผู้ร่วมก่อตั้ง Alibaba แต่ช่วง 1-2 วันที่ผ่านมากลับปรากฏข่าวว่าไม่ใช่เป็นเพียงแค่การส่งต่อสืบทอดการบริหารเท่านั้น พร้อมกับระบุว่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดอย่างชัดเจนในวันที่ 10 กันยายนนี้
ล่าสุด South China Morning Post ยืนยันชัดแล้วว่า หม่า จะยังคงดำรงตำแหน่งประธานบริหารต่อไปอีกเป็นเวลา 12 เดือนนับตั้งแต่วันนี้ (10 ก.ย.) ไปจนกระทั่งถึงวันที่ 10 กันยายน 2019 เป็นวันสุดท้าย
นอกจากจะยังไม่วางมือตอนนี้แล้ว แจ๊ค หม่า ยังเตรียมที่จะส่งต่ออำนาจในการดูแลบริหาร Alibaba Group Holding ให้กับ แดเนียล จาง (Daniel Zhang) ซีอีโอของบริษัท ซึ่งคาดว่าจะได้รับการโปรโมทขึ้นเป็นประธานบริหาร ในวันที่ 10 กันยายนปีหน้า โดยในช่วงนี้ หม่า จะยังคงทำหน้าที่กำกับควบคุมบอร์ดของ Alibaba Gruoup ต่อไป ซึ่งรายละเอียดังกล่าวปรากฏอยู่ในจดหมายที่เขาส่งให้กับพนักงานขององค์กร
โดยสรุปจากจดหมายดังกล่าวคือ หม่า จะยังคงเป็น ประธานบริหารของ Alibaba ต่อไป จนถึงปีหน้าก็เพื่อที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ ‘ลื่นไหลและประสบความสำเร็จอย่างดีที่สุด’ และจะทำหน้าที่กำกับดูแล Alibaba ไปจนถึงการประชุมผู้ถือหุ้นในปี 2020
“การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่า Alibaba จะก้าวขึ้นไปอีกสเต็ปเลเวลหนึ่งของการเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาล เป็นบริษัทที่ปลดเปลื้องตัวตนออกจากบุคคลคนเดียว เพื่อก้าวขึ้นเป็นองค์กรที่สร้างด้วยระบบและการบริหารจัดการชั้นเลิศ มีวัฒนธรรมที่ยั่งยืนและพัฒนาด้วยพรสวรรค์แท้จริง” ในจดหมายระบุ และประกาศดังกล่าวนี้ยังตรงกับวันเกิดปีที่ 54 ของ แจ๊ค หม่า พอดี (10 กันยายน)
“Alibaba จะไม่ใช่ แจ็ค หม่า
แต่ แจ๊ค หม่า จะเป็นของ Alibaba ตลอดกาล”
“นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นของยุทธศาสตร์ความสำเร็จ ของการสร้างสรรค์การก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำ เพื่อที่จะเตรียมพร้อมผู้นำในรุ่งต่อไป” Joseph P.H. Fan ผู้อำนวยการร่วมสถาบันเศรษฐศาสตร์และการเงินมหาวิทยาลัยไชนีส ของฮ่องกง กล่าว และว่าความรุ่งโรจน์และแสงสว่างของ แจ๊ค หม่า มากเกินไปจนไปบดบังคนที่อยู่ใต้ตัวเขา ดังนั้น เขาจึงจำเป็นที่จะต้องเฟดตัวออกไป แต่บริษัทขนาดใหญ่อย่าง Alibaba จะทำให้เรียบร้อยได้ก็ต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปี
ต้องเข้าใจก่อนว่าขนาดของ Alibaba ใหญ่โตแค่ไหน เนื่องจากเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่า 4.2 แสนล้านเหรียญฯ แล้ว ยังมีพนักงานมากกว่า 86,000 คน มีระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สามารถทำงานข้ามประเทศได้ด้วยแผนงานอย่างชาญฉลาดของ Judy Tong ดำรงตำแหน่ง Chief People’s Officer
เชื่อว่าเป็นความจงใจที่แผนการส่งต่ออำนาจก็ดีหรือการวางมือครั้งนี้ก็ดี ถูกเปิดเผยถึงใน “วันครู” ของทั้งฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ (10 กันยายน) และยังเป็น วันเกิดของหม่า อีกด้วย ซึ่งตัวของ หม่า เองนั้นอดีตก็เคยเป็นคุณครูสอนภาษาอังกฤษในมณฑลเจ้อเจียง ก่อนที่จะผันตัวมาจับธุรกิจจนประสบความสำเร็จในทุกวันนี้
“ครูมักจะให้ศิษย์ประสบความสำเร็จเหนือตัวเองเสมอ สำหรับผมแล้วบริษัทก็เช่นกัน เราก็จะต้องปล่อยให้คนหนุ่มสาวที่มีพรสวรรค์มากกว่าก้าวขึ้นมามีบทบาทสู่ความเป็นผู้นำบ้าง เพื่อสานต่อภาระกิจต่างๆ ของพวกเรา และความเป็นครูในตัวของผมนั้นเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจในทีมของเรา ในความเป็นผู้นำของเรา และในภาระกิจเฉพาะเพื่อขับเคลื่อนวัฒนธรรมขององค์กร และเพื่อสานต่อสิ่งที่ยอเยี่ยมนี้เราได้ผู้นำทางธุรกิจที่เก่งกาจและมีพรสวรรค์อย่าง แดเนียล จาง” คำพูดที่ หม่า พูดถึง แดเนียล จาง
อย่างไรก็ตาม การวางแผนส่งต่อผ่านอำนาจครั้งนี้ของ Alibaba แตกต่างจากธุรกิจทั่วไปของจีน ที่มักจะส่งต่อการบริหารให้กับทายาทในครอบครัว ซึ่งโดยมากจะทำการส่งต่อจากพ่อให้กับลูกชาย (คนโต) ถึงแม้ว่าบริษัทจะเข้าสู่ตลาดหุ้นก็ตาม
“สำหรับหม่าแล้ว เขาเป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญท่ามกลางนักธุรกิจชาวจีน ที่ค้นพบโมเดลที่ดีที่สุดที่จะรับมือกับความสำเร็จในการส่งต่อไปยังสู่รุ่นต่อไปได้” Fan ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยไชนีส ผู้ร่วมเขียนหนังสือ The Family Business Map: Assets and Roadblocks in Long Term Planning กล่าว
เทียบกับ ลี กาชิง หรือ ลีจาเฉิง (Li Ka-shing) ประธานบริษัท ซีเค ฮัทชิสัน โฮลดิงส์ และซีเค แอสเซท มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ก็ประกาศลงจากตำแหน่งมาได้เกือบปีแล้ว โดยส่งต่ออำนาจให้กับบุตรชายคนโต วิกเตอร์ ลี หรือ ลีซาเค ซึ่งเขานั้นก็ใช้เวลาหลายปีในการฟูมฟักลูกชายก่อนที่จะปล่อยวางและให้รับไม้ต่อจากเขา
กับการส่งต่ออำนาจของครอบครัวเอเชียแล้ว เคสของ ลี ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการส่งต่อไปยังรุ่น 2 ซึ่งการเกษียณอายุการทำงานของเขาทำก่อนที่เขาจะมีอายุ 90 ปี และเกือบปีกว่าที่เขาจะแต่งตั้งลูกชายขึ้นสู่อำนาจแทน
Fan ยังวิเคราะห์ต่อว่า และเมื่อ Alibaba ไม่สามารถส่งต่อหุ้นจากพ่อสู่ลูกชายได้ ดังนั้น บริษัทก็ต้องสร้างระบบในการส่งมอบขึ้นเอง ซึ่งมันเป็นโมเดลยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนด้วย เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่ามันเวิร์คหรือไม่
แต่ หม่า คือหน้าตาของ Alibaba บริษัทระเบิดตัวขยายไซส์อย่างรวดเร็วในช่วงเวลาประมาณ 20 ปี จนก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่เริ่มต้นก่อตั้งบริษัทด้วยเงินเพียงแค่ 60,000 เหรียญเท่านั้น จากผู้ก่อตั้ง 17 คนเมื่อปี 1999
“ทุกๆ คนที่ Alibaba เป็นผู้มีวิชั่นที่ไกล
แต่เราต่างรู้ดีกว่า แจ๊ค คิดไกลกว่าพวกเราไปอีก 20 ปี”
Joe Tsai รองประธานกรรมาการบริหาร และยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเมื่อปี 1999 อีกด้วย กล่าวถึง แจ๊ค หม่า
และว่า “ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเราฟอร์มพาร์ทเนอร์ชิพของ Alibaba เราตั้งใจว่า การขับเคลื่อนของบริษัทจะต้องรวมถึงการวางโครงสร้างที่ต้องอยู่ได้นานกว่าบรรดาผู้ก่อตั้งทั้งหมดด้วย” Tsai กล่าว
แจ๊ค หม่า มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุด เขาได้ทิ้งตำแหน่ง CEO บริษัท Alibaba ในปี 2013 พร้อมกับดัน แดเนียล จาง ในอีก 2 ปีต่อมา และตั้งแต่นั้นเขาก็ใช้เวลาเกือบ 40% ในการเดินทางไปรอบโลก เพื่อที่จะนำแนวคิดหลักการทำงานต่างๆ ไปเผยแพร่ให้กับโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การค้าเสรี และการพัฒนาเทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งเขาเองก็เคยกล่าวว่าเขาเดินทางมากกว่า 800 ชั่วโมงเมื่อปี 2016 และ 840 ชั่วโมงเมื่อปี 2017 แต่ในปีล่าสุดนี้ (2018) เขาใช้เวลาถึง 1,000 ชั่วโมงบนอากาศ
“ผมยังคงมีความฝันมากมากที่จะไล่ตาม คนที่รู้จักผมดีจะทราบว่าผมไม่ใช่ประเภทที่จะอยู่เฉยๆ ได้
และโลกใบนี้มันใหญ่โตเหลือเกินแล้วผมก็ยังหนุ่มแน่น
ผมจึงต้องการที่จะเรียนรู้ลองสิ่งใหม่ๆ เสมอ
ดังนั้น จะเป็นอย่างไรล่ะถ้าทำให้ความฝันเป็นจริงได้” แจ๊ค หม่า
Source : scmp.com
ABOUT THE AUTHOR
ทีมงาน bsite
Biographical Info