- Travel
A Safe Journey EP.4 : How to ผ่าน ตม.และการรับมือเมื่อเจอตรวจคนเข้าเมืองเข้ม!!
By Sanook D Pipat • on Sep 14, 2018 • 3,996 Views
การเดินทางไปต่างประเทศ ด่านแรกที่หลายคนระทึกกันเสมอคือ ตม. หรือ พิธีการตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งจะดำเนินการโดยตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของประเทศนั้นๆ มีอำนาจในการออกคำสั่งให้เข้าหรือไม่ให้เข้าประเทศก็ได้ โดยส่วนใหญ่แล้วหากเราไม่ได้ทำผิด ไม่ได้นำของต้องห้าม ไม่ทำตัวต้องสงสัย ก็จะสามารถผ่านด่านนี้ได้อย่างไม่มีปัญหา
หากใครกลัวจะตื่นเต้น วันนี้เรามีข้อแนะนำ วิธีผ่าน ตม. มาฝาก
Photo by Marc-Olivier Paquin on Unsplash
วีซ่าเข้าประเทศ
ด่านนี้จำเป็นอันดับแรกสุดเลยก็ว่าได้ ก่อนที่เราจะเดินทางไปประเทศไหนควรจะตรวจสอบให้ดีก่อนว่า ประเทศนั้นให้สิทธิ์การเดินทางสำหรับนักท่องเที่ยวไทยหรือไม่? หรือต้องตรวจลงตราทำวีซ่าเพื่อเข้าประเทศ ซึ่งการทำวีซ่า จะเป็นการตรวจสอบคุณสมบัติขั้นต้นก่อนว่า เราสามารถเดินทางเข้าประเทศนั้นได้
โดยการขอวีซ่า แบ่งเป็น 2 ประเภท คือต้องขอล่วงหน้า โดยสามารถทำเรื่องได้จากสถานทูตนั้นๆ และ Visa on Arrival (VOA) ที่สามารถทำได้เลยที่ท่าอากาศยานของประเทศนั้นๆ ก่อนจะผ่าน ตม.
ประเทศและดินแดนที่ผู้ถือหนังสือเดินทางไทยเดินทางไป และไม่จำเป็นต้องขอรับการตรวจลงตราล่วงหน้า โดยสามารถขอ Visa on Arrival (VOA) ได้
- โบลิเวีย หนังสือเดินทางทูต/ ราชการ/ ธรรมดา ระยะเวลา 30 วัน ค่าธรรมเนียม 135 เหรียญสหรัฐฯ (เฉพาะวีซ่าประเภทท่องเที่ยว)
- ฟิจิ หนังสือเดินทางทูต/ ราชการ/ ธรรมดา ระยะเวลา 4 เดือน ไม่มีค่าธรรมเนียม
- จอร์แดน หนังสือเดินทางธรรมดา ระยะเวลา 30 วัน ค่าธรรมเนียม 40 ดีนาร์จอร์แดน
- คีร์กีซสถาน หนังสือเดินทางทูต/ ราชการ/ ธรรมดา ระยะเวลา 15 วันต่อ1 เดือน ค่าธรรมเนียม 50 เหรียญสหรัฐฯ/ 60 เหรียญสหรัฐฯ(สำหรับหนังสือเดินทางธรรมดา)
- เนปาล หนังสือเดินทางธรรมดา ระยะเวลา 15 วัน ค่าธรรมเนียม 25 เหรียญสหรัฐฯ,ระยะเวลา 30 วัน ค่าธรรมเนียม 40 เหรียญสหรัฐฯ,ระยะเวลา 90 วัน ค่าธรรมเนียม 100 เหรียญสหรัฐฯ
- โอมาน หนังสือเดินทางธรรมดา ระยะเวลา 30 วัน ค่าธรรมเนียม 20 เรียลโอมาน
- หมู่เกาะโซโลมอน หนังสือเดินทางทูต/ ราชการ/ ธรรมดา ระยะเวลา 3 เดือน ไม่มีค่าธรรมเนียม
- ติมอร์-เลสเต หนังสือเดินทางธรรมดา ระยะเวลา 30 วัน ค่าธรรมเนียม 30 เหรียญสหรัฐฯ
ประเทศและดินแดนที่ผู้ถือหนังสือเดินทางไทยสามารถเดินทางเข้าได้เลยโดยไม่ต้องตรวจลงตรา
- ประเทศที่อนุญาตให้อยู่ได้ 14 วัน : บาห์เรน, บรูไน, กัมพูชา และ เมียนมาร์
- ประเทศที่อนุญาตให้อยู่ได้ 15 วัน : ญี่ปุ่น
- ประเทศที่อนุญาตให้อยู่ได้ 30 วัน : ไต้หวัน, ฮ่องกง, อินโดนีเซีย, ลาว, มาเก๊า, มองโกเลีย, มาเลเซีย, มัลดีฟส์, ฟิลิปปินส์, รัสเซีย, เซเชลส์, สิงคโปร์, แอฟริกาใต้, ตุรกี, เวียดนาม และ กาตาร์
- ประเทศที่อนุญาตให้อยู่ได้ 90 วัน : อาร์เจนตินา, บราซิล, ชิลี, เอกวาดอร์, จอร์เจีย, สาธารณรัฐเกาหลี, เปรู และ วานูอาตู
1. กรอกใบตม.
form ก่อนเครื่องบินจะลงจอด พนักงานต้อนรับจะมีการแจกใบ ตม. หรือ Immigration form เราสามารถกรอกรายละเอียดให้เรียบร้อยได้เลยตั้งแต่ตอนอยู่บนเครื่องบิน เพื่อความรวดเร็วจะได้ไม่ต้องไปเสียเวลากรอกด้านล่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความต้องการข้อมูลพื้นฐานเช่น ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด ประเทศที่มาล่าสุด หมายเลขเที่ยวบิน ระยะเวลาในการอยู่ในประเทศนั้น สัญชาติ อาชีพ จุดประสงค์ในการเดินทาง และคำถามอื่นๆ เกี่ยวกับความปลอดภัย ซึ่งแต่ละประเทศจะมีฟอร์มการกรอกใบ ตม.ที่ต่างกัน สำหรับขาเข้าประเทศไทย ผู้ถือหนังสือเดินทางไทยไม่ต้องกรอกใบ ตม.ขาเข้าแล้ว สามารถเข้า ตม.ผ่านช่องอัตโนมัติได้เลย
(ตัวอย่างใบตม.ประเทศญี่ปุ่น)
2. เข้าช่องต่อแถวเพื่อตรวจคนเข้าเมือง
จุดนี้ให้ถอดหมวก/แว่นตาดำให้เรียบร้อย โดยด่านตรวจคนเข้าเมืองจะแบ่งประเภทตามหนังสือเดินทาง สำหรับประชาชนในประเทศนั้นจะถูกแยกไปอีกโซนและเข้าออกง่ายรวดเร็วกว่า สำหรับหนังสือเดินทางต่างประเทศก็จะมีช่องแยกต่างหาก ขั้นตอนนี้ห้ามถ่ายรูปโดยเด็ดขาด เมื่อถึงคิวของเราแล้วให้ยื่นพาสปอร์ตและบรอดดิ้งพาสให้เจ้าหน้าที่เพื่อทำการตรวจลงตราประทับ ว่าเราเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย
ตรานี้จะระบุว่าเข้ามาวันที่เท่าไหร่ และอยู่ได้ถึงวันที่เท่าไหร่ หากไม่มีปัญหาหรือข้อสงสัยอะไร ตม.ก็จะเปิดประตูให้เราผ่านเข้าไปได้ปกติ หรือเล็กๆ น้อยๆ เขาก็จะถามว่า อยู่ในประเทศกี่วัน เดินทางมาจากไหน ที่พักอยู่ที่ไหน สั้นๆ ซึ่งเป็นการถามตามปกติ ตรงนี้ถ้าเจอถามแนะนำให้ไม่ต้องตื่นเต้น ให้ตอบไปแบบสบายๆ ถ้าฟังคำถามไม่ออก ไม่ชัดให้ถามเขากลับอีกครั้งได้เลย ไม่ต้องเกร็ง หรือแสดงสีหน้าวิตกกังวล
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ตม.ที่ต่างๆ
- ตม.ในประเทศสิงคโปร์ จะไม่ค่อยถามอะไรมาก เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนแขก
- ตม.ในจีน จะสวมเครื่องแบบคล้ายทหารดูน่าเกรงขามและไม่ค่อยถามอะไรถ้าเรามีวีซ่ามาเรียบร้อยแล้ว ที่นี่หากเป็นสนามบินเมืองที่ไม่ใหญ่ ช่อง ตม.จะมีอยู่ช่องเดียวคือช่องของคนจีน เราสามารถเข้าไปต่อแถวได้เลย
- ตม.ของประเทศญี่ปุ่นมีความเข้มงวด แต่ไม่ต้องกลัวจะสื่อสารไม่รู้เรื่องเพราะเขามีแฟ้มภาษาไทย คอยชี้ถามให้เราตอบได้เลย
- ตม.เกาหลีมีความเข้มงวดมากและส่วนใหญ่ดูลักษณะท่าทางของเราด้วยว่าจะมาเที่ยวหรือจะมาโดดร่ม
Photo by chuttersnap on Unsplash
3. เมื่อเจอเรียกเข้าห้องเย็น ถามหาเอกสารและคำถามยิบย่อย
ในกรณีของคนที่ผ่าน ตม.ได้ง่ายๆ ข้อนี้คงไม่จำเป็นนัก แต่สำหรับคนที่โดนกักตัว โดนเรียกหาเอกสาร ควรเตรียมข้อมูลเหล่านี้จากประเทศไทย ซึ่งเป็นเอกสารภาษาอังกฤษที่พกติดตัวไว้มีให้ช่วยผ่านด่าน ตม.ได้ ดังนี้
- ข้อมูลการจองที่พักและเบอร์โทรติดต่อที่พัก ให้ปรินท์เอกสารออกมาไว้เลย
- ข้อมูลเบอร์โทรที่ใช้ติดต่อในช่วงระหว่างการพักอยู่ในประเทศนั้น
- ข้อมูลของผู้รับรอง กรณีที่ไปงาน หรือมีผู้เชิญให้ไปเยี่ยม
- จำนวนเงินที่แลกเข้าประเทศเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายตลอดทั้งทริปหรือไม่ คำนวนออกมาให้ดีๆ เพราะหากน้อยเกินไป ก็อาจจะโดนปฏิเสธในการเข้าประเทศ แต่ถ้าเอามามากเกินไปก็จะมีการตรวจสอบที่ยุ่งยากขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นควรพกมาพอดีๆ เผื่อเหลือเผื่อขาดเล็กน้อย
- แผนการเดินทางท่องเที่ยวที่ชัดเจน เช่น วันนี้ไปไหนบ้าง? พักที่ไหน เมืองที่จะไปเดินทางด้วยอะไร กำหนดเป็นตารางเพื่อแสดงให้ตม.เห็นชัดว่า เรามีการวางแผนมาแล้วและตั้งใจจะเดินทางมาท่องเที่ยวจริงๆ ถ้ามีพวกตั๋วสวนสนุก ตั๋วเข้ามิวเซี่ยมอะไรที่จองไว้แล้วให้ขนมาโชว์ให้หมด
- หนังสือรับรองการทำงานเป็นภาษาอังกฤษ รับรองเงินเดือน เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราเป็นคนมีงานมีการทำอย่างชัดเจนไม่ได้มาเพื่อหางานหรือโดดวีซ่าในประเทศนั้นแน่นอน
สุดท้ายการผ่านตม.เป็นเรื่องไม่ยากเลย ถ้าเราไม่ตื่นเต้นและเตรียมข้อมูลเอกสารมาดี
ตอบคำถามให้ชัดเจน ก็สามารถผ่านด่านเข้าประเทศไปท่องเที่ยวได้อย่างสบายใจ….
Good Luck and Safe Journey
[Cover Photo by Nicole Harrington on Unsplash ]
Copyright© Bsite.In
ABOUT THE AUTHOR
Sanook D Pipat