- Beauty
ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Doice & Gabbana #กระทำการเหยียด ทั้งเรื่องเพศไปจนถึง cyberbullying
By ทีมงาน bsite • on Nov 23, 2018 • 3,091 Views
ต้องขอใช้คำว่า “ม้วนเสื่อกลับอิตาลีแทบไม่ทัน” เลย กับดราม่าร้อนๆ ที่เกิดขึ้นกับแบรนด์แฟชั่นหรู Dolce & Gabbana ที่ตอนนี้แทบจะเรียกได้ว่าไม่สามารถทำตลาดจีนได้อีกนานเลยทีเดียวล่ะ
อย่างไรก็ตาม ขออนุญาตรีรันสักเล็กน้อย สำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามดราม่าล่าสุด ที่เกิดระหว่างแบรนด์ Dolce & Gabbana และคนจีน ทั้งนี้ ต้นตอของเรื่องราวทั้งหมดเกิดจากคลิปวีดีโอโฆษณา 3 ชิ้น ที่ Dolce & Gabbana โพสต์ลงบนโซเชียลมีเดียในช่วงสุดสัปดาห์ก่อน โดยเนื้อหาที่เป็นจุดชนวนเหตุก็คือ การที่ให้นางแบบสาวหน้าตาเอเชียมาใช้ตะเกียบทานอาหารอิตาเลียน เช่น พิซซ่า กับ Sicilian cannolo ซึ่งปรากฏว่าถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการ “เหยียดเชื้อชาติ” อย่างรุนแรง
สรุปย่อ ดราม่า
สร้างความโกรธเคืองให้กับชาวเน็ตจีนเป็นจำนวนมาก มิวายที่มีบางคนได้ไปโพสต์ต่อว่า Stefano Gabbana ดีไซน์เนอร์คนดังของแบรนด์ดังกล่าว ซึ่งแทนที่จะเข้าใจหรือน้อมรับข้อผิดพลาด Stefano กลับเลือกที่จะตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนกลับมา ทำนองว่าไม่เห็นจะเหยียดชาติพันธุ์ตรงไหน ใครๆ บนโลกนี้ก็รู้ดีทั้งนั้นว่าคนจีนนะรับประทานอาหารด้วยตะเกียบ
สำทับด้วยความเห็นของ เฟิง ซี รองประธานของดาต้าเวย์ (Dataway) บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจจีน มองว่าตัวโฆษณาอาจไม่ได้เหยียดเชื้อชาติและแบ่งแยกชนชั้นมากเท่าการตอบโต้ของ Stefano Gabbana ต่อด้วยการแสดงความเห็นของ มิคาเอลา พวง (Michaela Phuong) นักวิจารณ์แฟชั่นรายหนึ่ง ก็ได้ส่งข้อความส่วนตัวผ่านเว็บไซต์อินสตาแกรมถึง Gabbana เพื่อแสดงความเห็นว่าโฆษณานั้นดูเหยียดเชื้อชาติ กาบบาน่า ก็ตอบปฏิเสธอย่างรวดเร็วโดยยังคงยืนยันความคิดเดิม ยิ่งจุดกระแสร้อนระอุมากขึ้นไปอีก
บทสนทนาหนึ่งที่น่าจะเป็นเหตุทำให้ทุกอย่างรุนแรงเท่าทวีคูณก็คือ การที่ Gabbana ใช้คำโต้ตอบว่า “ประเทศเฮงซวย” (the country of shit) พร้อมกับรูปอีโมจิ “อุจจาระ” อีกหลายอัน และเขายืนกรานจะใช้คำพูดแบบนี้กับทุกการสัมภาษณ์ในอนาคต เฟิง บอกว่าการตอบโต้ของกาบบาน่าที่สะท้อนการดูหมิ่นประเทศและประชาชนจีนเป็น ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ และไม่น่าแปลกใจเมื่อภาพบทสนทนาถูกแชร์บนโลกออนไลน์ Gabbana จึงโดนชาวจีนจำนวนโกรธเกรี้ยวด่ากราดใส่อย่างรุนแรง ก่อนที่จะตัดสินใจเปิดการ์ดอ้างว่าอินสตาแกรมของตัวเองนั้นถูกแฮก! (วะ)
ซึ่งในที่สุดผลที่เกิดขึ้นกับทั้งอารมณ์และไอเดียที่ไม่คิดให้รอบคอบของโฆษณาชิ้นนี้ก็คือ การที่ Dolce & Gabbana ต้องยกเลิกโชว์ที่เซี่ยงไฮ้ทันที และคาดว่าน่าจะเป็นการปิดโอกาสไปอีกยาวนานของการทำตลาดในจีนอีกด้วย
แต่เชื่อหรือไม่ว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แบรนด์ดังนี้เกิดปัญหาดราม่าเกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติ ก่อนหน้านี้ก็เคยมีปัญหาอื้อฉาวในเรื่องเหยียดเพศมาแล้วเช่นกัน มาดูกันว่าแบรนด์หรูนี้เคยเผชิญกับปัญหาดราม่าอะไรมาแล้วบ้าง
รวบตึง D&G ดราม่า
คนฮ่องกงก็ไม่ชอบ
มกราคม 2012 เกิดการประท้วงต่อต้านร้าน Dolce & Gabbana บนถนน Canton Road ที่ฮ่องกง เนื่องจากทางร้านมีนโยบายว่า ไม่ต้องการนักช้อปหรือนักท่องเที่ยวเข้ามาถ่ายรูปทั้งหน้าร้านและในร้าน โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของแบรนด์ โดยชาวฮ่องกงก็เริ่มมีการประท้วงไปตามถนนและเรียกนร้องให้แบน D&G ไปเลย โดยสุดท้ายทางแบรนดืก็ต้องออกมาขออภัยในที่สุด
เหยียดคนผิวสี
ราวเดือนกันยายน ปี 2012 ในโชว์คอลเลคชั่น Spring 2013 ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการนำเอาสัญลักษณ์ของการเหยียดทาสและคนดำมาร่วมในการแสดงแฟชั่นโชว์ นั่นคืองานศิลปะที่เรียกว่า Blackamoor imagery ซึ่งสะท้อนถึงเรื่องการเหยียดชาติพันธุ์คนดำ โดยปรากฏบนตุ้มหูของชุดเดรส
ถูกคนรักร่วมเพศต่อต้าน
ปี 2015 เคยวิพากษ์การที่คนรักร่วมเพศ กับการเป็นพ่อและแม่ โดยตอนนั้นทั้ง Domenico and Stefano แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่สมควรอย่างยิ่งที่คนรักร่วมเพศจะเป็นพ่อแม่คนได้ เพราะนั่นจะทำให้มีปัญหาอื่นๆ ตามมา (แต่พวกเขาก็เป็นเกย์นะ) ซึ่งปรากฏว่าเหล่าคนดังที่เป็นคนรักร่วมเพศ หรือบางคนสนับสนุนเสรีทางเพศออกมาต่อต้านเขาอย่างรุนแรง อาทิ เอลตัน จอห์น ซึ่งเป็นแฟนคลับของแบรนด์มาอย่างยาวนานถึงกับสาปส่ง จนในที่สุด ดีไซน์เนอร์ทั้งสองคนก็ต้องยอมออกมาขอโทษ
เชียร์ Melania Trump
เดือนมิถุนายน ปี 2017 อีกประเด็นเผ็ดร้อน ที่คนในแวดวงบันเทิงและแฟชั่นไม่โอเค. ด้วยความที่ต่างรู้กันดีว่าคนบันเทิงนั้นไม่แฮปปี้กับนโยบายและความคิดแบ่งแยกของ ประธานาธิบดีทรัมป์ เสียเท่าไหร่ ดังนั้น การที่แบรนด์ยกย่องให้เฟิร์สเลดี้ Melania Trump เป็น Endorser ให้กับแบรนด์ถึงกับเรียกว่า #DGWOMAN ทำให้หลายคนเกิดอาการต่อต้านแบรนด์ และไม่อยากสนับสนุนแบรนด์อีกต่อไป
Cyberbullying ใส่ “เซเลนา โกเมซ”
มีนาคม 2018 ดีไซน์เนอร์ปากไวเจ้าเก่า Stefano เรียก Selena Gomez นักร้องสาวชื่อดังว่า เป็นผู้หญิงที่หน้าตาหน้าเกลียด! โดยเป็นการเขียนคอมเมนต์ลงบนอินสตาแกรมของ thecatwalkitalia ซึ่งแน่นอนว่านั่นทำให้แฟนๆ ของ Selena ไม่พอใจมาก พร้อมกับชี้ว่านี่คือตัวอย่างหนึ่งของการ cyberbullying ยิ่งผสมกับการที่วงการแฟชั่นนั้นมักสร้างภาพให้คนเห็นว่าต้องผอมถึงจะเรียกว่าสวย เรียกว่าหนนั้นแบรนด์ก็พลอยฟ้าฟลอยฝนโดนถล่มยับไปด้วย
เหยียดคนญี่ปุ่น
เมษายน 2018 ดีไซน์เนอร์เจ้าเก่ารายเดิม Stefano Gabanna บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เขาไม่ต้องการให้ดีไซน์เนอร์ที่เป็นคนญี่ปุ่นมาดีไซน์ชุดให้กับ Dolce & Gabbana (คลิกอ่านบทความต้นฉบับ)
เรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ต่างกรรมต่างวาระ ที่น่าจะพอสะท้อนทัศนคติของคนที่เป็นทั้งดีไซน์เนอร์และคนสร้างแบรนด์ Dolce & Gabbana ได้พอสมควร แต่อย่างว่าอ่ะนะ เราคงไปกล่าวโทษเขาไม่ได้ เพราะว่า IG ของเค้านั้นถูกแฮกนี่นา. oops!
ABOUT THE AUTHOR
ทีมงาน bsite
Biographical Info