- Travel
เปิดตัวแอพพลิเคชั่น walk.in.th ที่จะพาคุณเดินเที่ยวเรียนรู้วัฒนธรรมในชุมชนย่านไซน่าทาวน์
By JellyKiller • on Dec 09, 2020 • 1,302 Views
ชวน ‘เดินไชน่าทาวน์’ พร้อมเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมชุมชน
ผ่าน ‘walk.in.th’ เว็บแอพพลิเคชั่นที่จะทำให้ไชน่าทาวน์เป็นย่านน่าเดินสำหรับทุกคน
ในโครงการย่านน่าเดิน เขตสัมพันธวงศ์ โดย กลุ่มปั้นเมืองและสสส.
กรุงเทพฯ 4 ธันวาคม 2563 – เขตสัมพันธวงศ์หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘ไชน่าทาวน์’ คือหนึ่งในย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยร่องรอยทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบโบราณที่ตกทอดกันมาถึงปัจจุบัน ภายใต้ในบริบทของสถาปัตยกรรมทรงคุณค่าและอัตลักษณ์เมืองอันเป็นเอกลักษณ์
นางสาวอาทิตยา โชคกิจมนัสชัย ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม และกล่าวถึงศักยภาพของเขตสัมพันธวงศ์ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เดินทางเข้าถึงได้สะดวกด้วย รถ-ราง-เรือ จึงเหมาะสมต่อการสัญจรด้วยการเดินเป็นอย่างยิ่ง เพราะสถานที่สำคัญ เช่น ศาสนสถาน ร้านค้า ร้านอาหารเก่าแก่จำนวนหลายแห่งนั้นตั้งอยู่ในตรอกซอยภายในชุมชนที่รถยนต์เข้าไม่ถึง ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของย่านเมืองเก่าแห่งนี้
และในปัจจุบันเขตสัมพันธวงศ์ก็ได้รับความสนใจอย่างมากมาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวและคนรุ่นใหม่ที่นิยมเข้ามาเรียนรู้ เที่ยวชม จับจ่าย ทานอาหาร และถ่ายรูปเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ทางกรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ ก็ได้เห็นถึงโอกาสในการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวด้วยเดินมากขึ้น ซึ่งสามารถลดมลภาวะ สร้างเสริมสุขภาพ และส่งเสริมระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน
จึงมีโครงการปรับปรุงพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและกระแสความต้องการของคนเมืองที่ต้องการออกมาใช้พื้นที่สาธารณะมากขึ้น เช่น การเปิดพื้นที่ถนนคนเดินบริเวณริมคลองโอ่งอ่างในช่วงสุดสัปดาห์ ให้มีกิจกรรมที่หลากหลาย หรือการให้ข้อมูลสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์กิจกรรมของเขตสัมพันธวงศ์ ในหลายๆช่องทาง ดังเช่นการร่วมมือกับโครงการย่านน่าเดิน เขตสัมพันธววศ์ ในการสร้างเว็บแอพพลิเคชั่น ‘เดินไชน่าทาวน์’ (walk.in.th) ที่ช่วยให้ข้อมูลและสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนทั่วไป ได้มาเดินท่องเที่ยวในเขตสัมพันธวงศ์มากขึ้นในอนาคต
นางมัทนา ถนอมพันธุ์ หอมลออ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของสสส. ที่มุ่งหวังให้ ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีขีดความสามารถ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อสุขภาวะ ทั้งนี้นับตั้งแต่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมลงนามในกฎบัตรโตรอนโต ณ ประเทศแคนาดา ในปี 2553
เพื่อดำเนินพันธกิจในการสนับสนุนการมีสุขภาวะที่ดีของประชาชนด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และการจัดการสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาวะสำหรับทุกคน ถึงวันนี้นับเป็นเวลา 10 ปีเต็ม ที่เรื่องของ ‘กิจกรรมทางกาย (Physical Activity)’ และการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ ถูกนำมารณรงค์ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือของภาคีเครือข่าย และองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนประเด็นกิจกรรมทางกายทั้งในระดับสากล และระดับชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายระดับชาติ งานพื้นที่ย่านเดิน เขตสัมพันธวงศ์นี้ จะเป็นต้นแบบสำคัญพื้นที่หนึ่งที่ทำให้พวกเราเห็นชัด ถึงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่ผ่านกระบวนการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การขยายผลทั้งระดับนโยบาย หรือระดับประชาชนเองได้มาเรียนรู้ ผ่านพื้นที่จริงที่ โดยเป็นการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีผู้เชี่ยวชาญในด้านความรู้ และการจัดกระบวนการอย่างปั้นเมืองมาร่วมเกาะติดพัฒนาพื้นที่ ไปพร้อมกับเจ้าของพื้นที่ คือ องค์กรท้องถิ่นอย่างสำนักเขตสัมพันธวงศ์ รวมทั้ง หน่วยงานภาคเอกชน และประชาชน จนทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ และนำมาสู่การที่เราสามารถเปิดพื้นที่ ให้ผู้มาเยี่ยมเยือนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ผ่านการเดินย่านไปด้วยกัน
นายจุฤทธิ์ กังวานภูมิ ผู้รับผิดชอบ โครงการย่านน่าเดินเขตสัมพันธวงศ์ อธิบายถึงเป้าหมายของโครงการในการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านไชน่าทาวน์ เขตสัมพันธวงศ์ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิต วัฒนธรรม สร้างคุณค่า ส่งเสริมการค้า ปรับปรุงกายภาพ และพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่สร้างเสริมสุขภาพและเอื้อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี มีชุมชนที่เข้มแข็ง และสอดคล้องกับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
โครงการดำเนินงานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ภายใต้ชื่อ โครงการย่านจีนถิ่นบางกอก ที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมฟื้นฟูวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการฟื้นฟูและอัตลักษณ์ความเป็นไชน่าทาวน์ บนสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงพัฒนาพื้นที่สาธารณะและปรังปรุงภูมิทัศน์ ในแนวทางของเมืองสุขภาวะ และในปัจจุบันได้พัฒนาประเด็นการทำงานไปสู่ย่านน่าเดินใน โครงการย่านน่าเดินเขตสัมพันธวงศ์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินมากขึ้นในพื้นที่ เพราะการเดินคือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการฟื้นฟูย่าน เนื่องจากสามารถนำพาผู้คนไปสัมผัส เรียนรู้ และเกิดปฏิสัมพันธ์กัน ในขณะเดียวกันยังช่วยสร้างเสริมสุขภาพ ลดการใช้พลังงาน ลดมลพิษจากการสัญจร
ทำไมต้องเดินใน ‘ไชน่าทาวน์’ – ประการแรก พื้นที่นี้เป็นศูนย์รวมแหล่งมรดกวัฒนธรรมไทย – จีน – และอีกหลากหลายเชื้อชาติ เป็นย่านเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมากว่า 200 ปี ผู้อยู่อาศัยในปัจจุบันยังคงดำรงชีวิตตามประเพณีเดิมในอดีตบางอย่าง แม้จะมีการปรับให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปบ้าง แต่แก่นของวัฒนธรรมยังคงเดิม
สอง กระแสการท่องเที่ยวของ ‘ไชน่าทาวน์’ ดีขึ้นมากตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่และชาวต่างชาติ นอกจากผู้มาท่องเที่ยว ย่านนี้ยังคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลต่างๆ เนื่องจากเป็นย่านค้าปลีก – ส่ง และยังโด่งดังในฐานะย่านกินดื่มตลอดทั้งกลางวันและกลางคืนอีกด้วย
สาม ปัจจุบันการเข้าถึง ‘ไชน่าทาวน์’ เป็นไปได้ง่ายและสะดวกสบาย นอกจากนี้ท่าเรือเจ้าพระยา ยังมีสถานีระบบขนส่งมวลชนทางรางสายสีน้ำเงินถึง 3 สถานีบนถนนเจริญกรุงตลอดเส้นทาง ซึ่งสามารถเดินมายังถนนเยาวราชที่อยู้ใกล้กันเพียง 200 เมตร และในอนาคตจะมีสถานีระบบขนส่งมวลชนทางรางเพิ่มขึ้นอีกในส่วนต่อขยายสีม่วงและสีแดง ทำให้การเดินทางมาย่านนี้เป็นเรื่อง่ายและใช้เวลาน้อยลงอย่างมากโดยไม่ต้องกังวลถึงรถติดและที่จอดรถ
และสุดท้าย การผลักดันความเป็น Creative District ในหลายพื้นที่เก่าแก่ที่กำลังค่อยๆ เบ่งบานขึ้น ตั้งแต่ย่านเจริญกรุงเรื่อยมาถึง ‘ไชน่าทาวน์’ ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินไปจนถึงคนรุ่นใหม่หลากหลายแวดวง สามารถเข้ามาสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ ในพื้นที่ได้หลากหลายและร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ไปจนถึงการเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้
จากการทำงานในพื้นที่กับผู้ใช้งานหลากหลายกลุ่มมาเป็นระยะเวลาหลายปี พบว่าคนส่วนมากไม่รู้จัก ‘ไชน่าทาวน์’ ไม่ทราบว่าต้องเดินไปทิศทางไหน ไม่ทราบชื่อของแต่ละสถานที่ ไม่ทราบเรื่องราว ที่มาที่ไปของเทศกาลสำคัญทางวัฒนธรรม และมักหลงทางเนื่องจากพื้นที่เต็มไปด้วยตรอก ซอก ซอย เกิดเป็นพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเดิน และเลือกที่จะโดยสารรถรรับจ้างประจำทาง ข้ามองค์ประกอบทางวัฒนธรรมสองข้างทางเหล่านี้ไป นำมาสู่การสูญเสียโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจชุมชน และโอกาสในการรับรู้ข้อมูล เรื่องราว ประวัติศาสตร์และความสำคัญของสถานที่เหล่านั้นไปอย่างน่าเสียดาย ส่งผลให้มรดกวัฒนธรรมของย่านมีความเสี่ยงที่จะสูญหายไปหากไม่ได้รับการให้คุณค่าและดูแลอย่างเหมาะสม
จึงเป็นที่มาของ โครงการย่านน่าเดิน เขตสัมพันธวงศ์ ที่เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ พ.ศ. 2560 มีจุดประสงค์ในการนำเสนอความน่าสนใจของชุมชนทั้ง 16 แห่งในเขตสัมพันธวงศ์ ผ่านกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมที่ชวนคนในชุมชนขบคิดว่าจะแนะนำย่านให้เพื่อนที่มาเยี่ยมรู้จักมากขึ้นได้อย่างไรในฐานะเจ้าบ้าน พื้นที่ ร้านอาหาร หรือกิจกรรมใดที่ห้ามพลาดเมื่อมาถึงบ้านหลังนี้ เพราะคนในย่านโดยเฉพาะคนดั้งเดิมในพื้นที่เป็นเสมือนนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคนสำคัญ
ผลลัพธ์ของกระบวนมีส่วนร่วมดังกล่าวคือ 10 เส้นทางน่าเดินใน ‘ไชน่าทาวน์’ ที่เชื่อมโยงจุดตัดการสัญจร ผ่านชุมชนและที่ตั้งมรดกวัฒนธรรมสำคัญของย่านมากกว่า 48 จุด จากมุมมองของเจ้าบ้านอย่างชุมชน
โครงการจึงได้จัดทำเว็บแอพพลิเคชั่น ‘เดินไชน่าทาวน์’ (walk.in.th) ขึ้น ภายใต้แนวคิด ‘สารานุกรมชุมชน’ เพราะข้อมูล (Data) คือสิ่งที่มีความสำคัญในยุคปัจจุบัน ผู้มีข้อมูลคือผู้กุมอำนาจ และอำนาจควรอยู่ในมือของชุมชนเจ้าของพื้นที่ โดยที่ชุมชนมีส่วนเป็นเจ้าของและสามารถบริหารจัดการข้อมูลได้ด้วยตนเอง สามารถเพิ่มเติมข้อมูลใหม่ๆ ของย่าน รวมถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เพิ่งค้นพบในสารานุกรมออนไลน์ฉบับนี้ได้อย่างอิสระ
โดยเว็บแอพพลิเคชั่น ‘เดินไชน่าทาวน์’ (walk.in.th) สามารถนำมาต่อยอดการใช้งานได้หลายรูปแบบ นอกจากช่วยจัดการข้อมูลด้านความรู้และประวัติศาสตร์ของชุมชนแล้ว ฟังก์ชันสำคัญคือการเป็นระบบพาเดินเที่ยวที่ใช้งานผ่านเว็บไซต์ ที่สามารถเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานไว้ได้เหมือนแอพพลิเคชั่น ทำหน้าที่เป็นระบบนำทางช่วยเหลือด้านการเดินท่องเที่ยว (Town Guide) ที่รวบรวม 10 เส้นทางน่าเดินใน ‘ไชน่าทาวน์’ และแนะนำกิจกรรมหรือเทศกาลอื่นๆ ในย่านแก่นักท่องเที่ยวผู้มาเยี่ยมเยือน เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมภายในพื้นที่
และเป็นเสมือนหน้าต่างประชาสัมพันธ์ที่เชื่อมเจ้าบ้านทั้ง 16 ชุมชนและผู้มาเยี่ยมเยือนเข้าหากัน โดยผู้ใช้งานสามารถมอบข้อเสนอแนะเพื่อนำไปวางแผนพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ต่อในอนาคต นอกจากนี้ผู้ใช้งานยังสามารถแชร์เส้นทางและความสนุกจากการท่องเที่ยว ‘ไชน่าทาวน์’ ลงในโซเชียลมีเดียส่วนตัวได้ เพื่อให้การสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนบนโลกออนไลน์ ดึงดูดพวกเขามาพบปะ ชื่นชม และเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมร่วมกันในสถานที่จริง
10 เส้นทางน่าเดินใน ‘ไชน่าทาวน์’ – แต่ละเส้นทางมีเอกลักษณ์ กิจกรรมสนุก ความพิเศษของแต่ละจุดแวะที่แตกต่างเฉพาะตัว และมีระยะเวลาในการเดินจากต้นจนจบเส้นทางระบุไว้ด้วย ดังนั้นนอกจากผู้ใช้งานจะสามารถเลือกเส้นทางจากความสนใจและกิจกรรมที่อยากทำได้แล้ว ยังสามารถเลือกเส้นทางจากระยะเวลาเดินที่มีตั้งแต่ 15 นาทีเป็นต้นไป
ตัวอย่างเส้นทางที่ 1 ทอดน่องท่องริมน้ำท่าจีน ระยะเวลาเดิน 35 นาที
เส้นทางสายหลักที่เปรียบเสมือนหัวใจของ ‘ไชน่าทาวน์’ เพราะหัวใจของย่านนี้ล้วนเริ่มต้นจากพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จุดแวะประกอบไปด้วยอาคารเก่า วิถีการค้า พื้นที่ศรัทธา และความเชื่อที่หลากหลายอันเป็นต้นกำเนิดของย่านการค้าสำคัญระดับประเทศ อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก ตึกผลไม้ วัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ และตึกแถวตรอกไกร
ตัวอย่างเส้นทางที่ 10 MRT หัวลำโพง – ท่าเรือสวัสดี ระยะเวลาเดิน 20 นาที
เส้นทางเดินที่ให้ประสบการณ์สำหรับการมาเยือนย่านตลาดน้อยอย่างแท้จริง เพราะผ่านแลนด์มาร์คของย่านและร้านค้า ร้านอาหารเก่าแก่ให้ได้ชิมและช็อปปิ้งหลายแห่ง ทั้งพระศาลเจ้าแม่ทับทิม (ถนนทรงวาด) ย่านขายถังไม้หน้าวัดปทุมคงคา ซุ้มประตูวัฒนธรรมไทย – จีน (ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ) จนถึงวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร และศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช
ABOUT THE AUTHOR
JellyKiller