- Travel
ทำไม๊.. ทำไม สนามบิน-สถานีขนส่งฯ เดินทางแต่ละที ยากเย็นจนเหนื่อยใจ
By Sanook D Pipat • on Nov 14, 2018 • 10,611 Views
ในกรุงเทพฯ มีสถานีขนส่งผู้โดยสาร 3 แห่ง และสนามบิน 2 แห่ง ไว้รองรับนักเดินทาง แต่เชื่อหรือไม่ว่าการเดินทางไปสถานที่เหล่านี้ยากลำบากเหลือเกิน ถ้าไม่ขับรถไปเองหรือนั่งแท็กซี่ นักเดินทางจะต้องเจอกับอุปสรรคมากมายทั้งการไม่เชื่อมต่อของระบบขนส่งมวลชน สภาพการจราจรและการเอารัดเอาเปรียบผู้โดยสาร ทำให้หลายคนตัดปัญหาด้วยการโบกแท็กซี่รวดเดียวจบแต่บางครั้งก็ติดปัญหาเดิมๆ ที่ว่า ‘แท็กซี่ไม่รับ ไม่ไปส่ง’ วันนี้เราขอพาทุกคนมาเปิดข้อมูลดูปัญหาว่าจะเดินทางไปขนส่ง-สนามบิน แต่ละทีต้องฝ่าฟันอะไรบ้าง?
สนามบินดอนเมือง
สนามบินดอนเมือง เป็นสนามบินนานาชาติและสนามบินที่ใช้เดินทางภายในประเทศของกลุ่มสายการบินทุนต่ำ โดยส่วนใหญ่นักเดินทางจะใช้เป็นตัวเลือกในการเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่างๆ ของไทย เนื่องจากมีหลายสายการบินเปิดให้บริการ มีเส้นทางการบินที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั้งจังหวัดใหญ่และจังหวัดเล็ก ราคาประหยัด ต่างจากสายการบินคุณภาพสูงที่จะบินขึ้นที่สนามบินสุวรรณภูมิแต่มีเที่ยวบินและเส้นทางการบินภายในประเทศน้อยกว่า
ปัญหาการเดินทางมาสนามบินดอนเมืองคือ สนามบินไม่มีระบบรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินจากใจกลางเมืองเชื่อมมาถึงเลย ผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางมาที่สนามบินดอนเมืองจะต้องลงรถไฟฟ้าที่สถานีหมอชิต หรือรถไฟใต้ดินสถานีสวนจตุจักร จากนั้นให้ขึ้นรถเมล์สาย A1 A2 เป็นรถปรับอากาศ ราคา 30 บาทตลอดสาย ยิงตรงจากสถานีหมอชิตไปถึงสนามบินดอนเมืองเลย…เหมือนจะง่ายแต่มันไม่ง่ายเช่นนั้น เพราะรถเมล์สายนี้จะต้องวิ่งจากถนนพหลโยธิน ผ่านห้าแยกลาดพร้าวเลี้ยวซ้ายขึ้นโทลเวย์ ถ้าเป็นวันฝนตกรถติด หรือวันหยุดยาวจะต้องใช้เวลาฝ่าฟันจากสถานีรถไฟฟ้าหมอชิตกว่าจะไปขึ้นโทลเวย์ ใช้เวลานานกว่า 30 นาทีกว่าจะหลุดพ้น
จุดนี้เองทำให้นักเดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติตกเครื่องบินเป็นประจำ ครั้นจะเปลี่ยนไปนั่งแท็กซี่การจราจรก็ติดแหงกไปไหนไม่ได้ หรือมีอีกตัวเลือกคือนั่งรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่มีราคามหาโหด ฝ่ารถติดไปเส้นทางยาวไกลแล้วยังต้องแบกกระเป๋าเดินทางอีก ส่วนใครที่มีรถส่วนตัวหรือใช้รถแท็กซี่ มาจากเส้นทางอื่นก็ง่ายๆแค่ขึ้นโทลเวย์ก็หลุดพ้นสภาพปัญหาการจราจรข้างล่างแล้วเพราะโทลเวย์มีด่านที่ลงตรงสนามบินดอนเมืองพอดีเลย ซึ่งค่าโทลเวย์ก็ราคา 70 บาทถือว่าโหดพอสมควรเลย
เคล็ดไม่ลับ : สำหรับคนที่ต้องการใช้รถแท็กซี่ จากสนามบินดอนเมืองและไม่อยากต่อคิวยาว ไม่อยากเสียค่าธรรมเนียมเรียกในสนามบิน 50 บาท ให้เดินจากสนามบินหาช่องประตูที่เขียนว่าโรงแรมอมารีดอนเมือง เดินข้ามทางเชื่อมมาจะโผล่ฝั่งสถานีรถไฟดอนเมือง จากตรงนั้นสามารถเรียกแท็กซี่ได้ง่ายกว่า ไม่ต้องรอคิวและเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม
ปัจจุบันรถสาย A เชื่อมต่อสนามบินดอนเมือง สู่ใจกลางกรุงเทพฯ มีให้บริการสายต่างๆดังนี้
สาย A1 ท่าอากาศยานดอนเมือง – บีทีเอสหมอชิต ราคา 30 บาทตลอดสาย
สาย A2 ท่าอากาศยานดอนเมือง – บีทีเอสหมอชิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ราคา 30 บาทตลอดสาย
สาย A3 ท่าอากาศยานดอนเมือง – สวนลุมพินี ราคา 50 บาทตลอดสาย
สาย A4 ท่าอากาศยานดอนเมือง – สนามหลวง ราคา 50 บาทตลอดสาย
สาย A5 ดอนเมือง-ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต (โทลล์เวย์) ราคา30 บาทตลอดสาย
สนามบินสุวรรณภูมิ
สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินนานาชาติระหว่างประเทศที่เชื่อมต่อไปสู่ทุกมุมโลก รองรับนักท่องเที่ยวปีละหลายล้านคน แต่ปรากฎว่าสนามบินสุวรรณภูมิก็มีปัญหาเรื่องการเดินทางเช่นเดียวกัน แม้จะมีแอร์พอร์ตลิงค์ เชื่อมต่อจากใจกลางเมืองคือสถานีพญาไท ราชปรารภ และ สถานีมักกะสัน
แต่ปัญหาคือจำนวนเที่ยวรถที่ไม่เพียงพอให้บริการผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน รวมถึงในชั่วโมงปกติที่ต้องรอนานมากถึง 12-15 นาทีต่อขบวน ปัจจุบันค่าโดยสารจากพญาไท ถึง สนามบินสุวรรณภูมิ ราคา 45 บาท ใช้เวลาเดินทางราว 26-30นาที ต่อเที่ยว ถ้าไม่นับปัญหาขัดข้องที่เกิดขึ้นเป็นประจำ
ส่วนการเดินทางด้วยรถประจำทาง ปัจจุบันมีรถเมล์สายที่เชื่อมต่อไปยังสนามบินสุวรรณภูมิได้แก่ สาย 554 สนามบินสุวรรณภูมิ – รามอินทรา – รังสิต ค่าโดยสารรวมสูงสุด 35 บาท ,สาย 555 สนามบินสุวรรณภูมิ – วิภาวดี – รังสิต ค่าโดยสารรวมสูงสุด 33 บาท ,สาย 558 สนามบินสุวรรณภูมิ – เคหะธนบุรี ค่าโดยสารรวมสูงสุด 35 บาท นอกนั้นจะเป็นรถตู้โดยสาร หากเดินทางในช่วงดึกก็จะต้องเรียกแท็กซี่แทน เพราะรถเมล์มีให้บริการไม่ตลอดคืน โดยรถเมล์จะไปจอดที่ ศูนย์การขนส่งสาธารณะ (Bus Terminal) ห่างจากอาคารผู้โดยสารพอสมควร ให้นั่งรถเวียนต่ออีกที ใช้เวลารถเวียนไปอาคารผู้โดยสารราว 15 นาที ควรเผื่อเวลาในการเดินทางให้ดี
สำหรับนักเดินทางที่ลงเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิและต้องการเดินทางเชื่อมต่อไปที่สนามบินดอนเมืองจะต้องเผื่อเวลาในการเดินทางมากๆเพราะอยู่ห่างกันเหมือนอยู่คนละฝั่งของจังหวัดเลย ให้นั่งรถ Airport Shuttle Bus ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – ท่าอากาศยานดอนเมือง ให้บริการบริเวณชานชาลาอาคารผู้โดยสาร ชั้น 2 ประตู 3 ตั้งแต่ เวลา 05.00 น. ถึง 24.00 น. ให้บริการฟรีแต่ต้องแสดงบอร์ดดิ้งพาส หรือเอกสารจองตั๋วเดินทาง และหนังสือเดินทาง ส่วนการใช้บริการรถแท็กซี่จากสนามบินสุวรรณภูมิให้เดินเข้าเครื่องกดบัตร จะได้หมายเลขรถ หมายเลขช่องจอดรถ และเดินไปขึ้นได้เลย เสียค่าธรรมเนียมอีก 50 บาท เพิ่มจากค่าโดยสาร
สถานีขนส่งผู้โดยสารสายตะวันออก (เอกมัย)
เป็นสถานีขนส่งผู้โดยสารที่มีปัญหาการเดินทางน้อยที่สุดเพราะอยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้าเอกมัย เดินไม่กี่ก้าวถึงเลย เป็นสถานีขนส่งผู้โดยสารที่จะเชื่อมไปฝั่งภาคตะวันออก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด มีทั้งรถตู้ มินิบัส และรถทัวร์ โดยส่วนใหญ่จะเป็นรถของผู้เดินรถเอกชน
สถานีขนส่งผู้โดยสารสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ (จตุจักร)
เป็นสถานีขนส่งผู้โดยสารที่สร้างความสับสนให้กับคนเดินทางมากที่สุด เพราะชื่อว่า หมอชิต ที่ไปคล้ายกับชื่อของสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต ทำให้หลายคนคิดว่ามันเชื่อมต่อกัน แต่ความจริงแล้วมันห่างกันเกือบ 3 กิโลเมตร คนที่ลงรถไฟฟ้า หรือรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีหมอชิต/สวนจตุจักร และต้องการเดินทางไปต่อที่ขนส่ง มีทางเลือก 3 ทาง คือ 1. เรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างให้ไปส่ง ราคาไม่ควรเกิน 100 บาท ราคาปรับขึ้นตามอารมณ์และสภาพการจราจร 2.รถแท็กซี่ ถ้าไปหลายคนเราแนะนำวิธีนี้เพราะหารแล้วถูกกว่าวินมอเตอร์ไซค์แน่นอน 3.รถประจำทาง
ปัจจุบันเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับคนเดินทาง รถเอกชนหลายเจ้าก็ไปเปิดสถานีผู้โดยสารของตัวเองที่มีความสะดวก สะอาดและลดความแออัดจากคนใช้บริการที่ขนส่งหมอชิต เช่น สมบัติทัวร์ ที่เน้นให้บริการพื้นที่ภาคเหนือและบางจังหวัดของภาคใต้ ขึ้นรถได้ที่สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดี,นครชัยแอร์ ขึ้นรถที่ศูนย์เดินรถ ถนนกำแพงเพชร 2 รถทุกคันเมื่อจะรับผู้โดยสารแล้วจะเวียนเข้าขนส่งหมอชิตตามระเบียบการเดินรถโดยสาร
สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ถนนบรมราชชนนี) หรือ สายใต้ใหม่ (ตลิ่งชัน)
เป็นสถานีขนส่งที่จะวิ่งไปภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศ ความงงของสายใต้คือมันมีหลายเวอร์ชั่นมาก สายใต้เก่า อยู่บริเวณสามแยกไฟฉาย,สายใต้ใหม่ จะอยู่ที่ปิ่นเกล้าและสายใต้ใหม่ ตลิ่งชัน จะอยู่เลยจากสายใต้ใหม่ปิ่นเกล้าไปอีก 5 กิโลเมตร ไม่มีรถไฟฟ้าเชื่อมถึง นอกจากแท็กซี่แล้วต้องใช้บริการรถเมล์หรือรถตู้เท่านั้น ในช่วงวันศุกร์ วันหยุดยาวสภาพการจราจรถนนบรมราชนนีจะติดหนักมากควรเผื่อเวลาในการเดินทาง
บทสรุป
อย่างไรก็ตาม เราก็หวังว่าจากปัญหานานาที่เราพบ จะได้รับการมองเห็นและนำไปแก้ไข ไม่เฉพาะเพื่อความสะดวกในการเดินทางเพื่อรองรับการท่องเที่ยวแล้ว แต่ยังนำไปสู่การแก้ปัญหาการจราจรอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย ซึ่งเราก็หวังว่ารถไฟฟ้าระบบรางทั้งหลายที่กำลังก่อสร้างอยู่จะช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้ลงได้และทำให้มันดีขึ้น.
Copyright© Bsite.In
ABOUT THE AUTHOR
Sanook D Pipat