ประเทศญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่รัชสมัย ‘เรวะ’ เป็นที่เรียบร้อย โดย มกุฎราชกุมาร นารุฮิโตะ ได้ทรงเข้าพิธีสืบราชบัลลังก์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ เมื่อวันพุธที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา หรือ 1 วันหลังจากจั กรพรรดิอากิฮิโตะ เข้าพระราชพิธีสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 30 เมษายน ซึ่งนับเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นองค์แรกในรอบ 200 ปีที่ทรงสละราชบัลลังก์ขณะยังทรงมีพระชนม์ชีพ
มกุฎราชกุมาร นารุฮิโตะ พระชนมายุ 59 พรรษา จะทรงเข้าพิธีที่เรียกว่า ‘เคนจิ-โตะ-โชเค-โนะ-กิ’ หรือพระราชพิธีสืบทอดตราประจำแผ่นดินและพระราชลัญจกร ที่ท้องพระโรงมัตสึโนะ ของพระราชวังอิมพีเรียล
นอกเหนือจากตราประจำแผ่นดินและพระราชลัญจกร มกุฎราชกุมาร นารุฮิโตะ จะทรงได้รับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ศักดิ์สิทธิ์โบราณทั้ง 3 ชิ้นคือ พระแสงดาบ, พระสายสร้อยสังวาล และพระฉาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของราชวงศ์ญี่ปุ่นที่ส่งมอบให้จักรพรรดิพระองค์ใหม่จากรุ่นสู่รุ่น จากนั้นพระองค์จะมีพระบรมราโชวาทในฐานะจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก
ทั้งนี้ กำหนดการอย่างเป็นทางการระบุว่า สมเด็จพระจักรพรรดิและจักรพรรดินีพระองค์ใหม่ จะเสด็จออกพระราชวังอิมพีเรียลทักทายพสกนิกรเป็นครั้งแรกในวันที่ 4 พ.ค. รวม 6 ช่วงเวลา เริ่มตั้งแต่ เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในวันที่ 22 ต.ค. โดยเชิญแขกผู้ทรงเกียรติจากเกือบ 200 ประเทศเข้าร่วม
พระราชประวัติ สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่
ปัจจุบันสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะทรงมีพระชนมพรรษา 59 พรรษา เสด็จขึ้นครองบัลลังก์ดอกเบญจมาศในสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากพระราชบิดาเมื่อ 30 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากไม่ต้องทรงรับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารแต่แรกประสูติเหมือนสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ทำให้ทรงมีช่วงเวลาในวัยเยาว์ที่อิสระเสรีมากพอจะทรงเลือกศึกษาวิชาต่าง ๆ ตามที่สนพระทัยได้
หลังทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยกะกุชูอิง ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาสำหรับวงสังคมชั้นสูงของญี่ปุ่นแล้ว ได้เลือกเสด็จไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับบัณฑิตศึกษา ที่วิทยาลัยเมอร์ตันของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดแห่งสหราชอาณาจักรเป็นเวลาสองปี ระหว่างปี 1983-1985 โดยทรงศึกษาประวัติศาสตร์การคมนาคมทางน้ำในแม่น้ำเทมส์
โดยช่วงเวลาที่ทรงเป็นนักศึกษาที่อ็อกซ์ฟอร์ด ได้รับการจดบันทึกไว้ในสมุดบันทึกส่วนพระองค์ว่าเป็นเวลาที่ทรง “มีความสุขมากที่สุดในชีวิต” ซึ่งต่อมาบันทึกนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและตีพิมพ์เผยแพร่ในชื่อ “แม่น้ำเทมส์กับข้าพเจ้า: ความทรงจำสองปีที่อ็อกซ์ฟอร์ด” (The Thames and I: A Memoir of Two Years at Oxford ) ความสนพระทัยในการศึกษาเรื่องแหล่งน้ำของพระองค์ขยายวงกว้างมากขึ้น เมื่อได้ทรงงานวิจัยต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยกะกุชูอิงอีกครั้ง ซึ่งในขณะนั้นทรงได้รับการสถาปนาเป็นองค์มกุฎราชกุมารแล้วเมื่อปี 1991 และปัจจุบันพระองค์ได้ทรงงานอย่างกว้างขวางเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องแหล่งน้ำของโลก โดยทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของคณะกรรมการที่ปรึกษาเรื่องน้ำและสุขอนามัยของสหประชาชาติ ระหว่างปี 2007-2015
ด้านประวัติการของคู่พระบารมีซึ่งมาจากหญิงสามัญชนนั้น สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ทรงได้พบกับนางสาวมาซาโกะ โอวาดะ พระชายาในอนาคตเป็นครั้งแรก หลังเสด็จนิวัติญี่ปุ่นในปี 1986 โดยนางสาวโอวาดะซึ่งพูดภาษาต่างประเทศได้อย่างคล่องแคล่วหลายภาษา เป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่พูดจาฉาดฉาน และเพิ่งผ่านการสอบที่ยากที่สุดเพื่อเตรียมก้าวขึ้นเป็นนักการทูตชั้นนำของญี่ปุ่น
ทั้งสองใช้เวลาพูดคุยดูใจกันค่อนข้างนาน โดยความล่าช้าที่เกิดขึ้น มาจากการที่นางสาวโอวาดะกังวลเรื่องการใช้ชีวิตภายในสถาบันจักรพรรดิที่มีความอนุรักษ์นิยมสูงของญี่ปุ่น แต่ในปี 1993 เธอก็ตกลงที่จะเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับองค์มกุฎราชกุมารในขณะนั้น
อย่างไรก็ตามชีวิตในวัง มิได้สวยงามดุจเทพนิยายเป็นไปดังคาด หลังนางสาวโอวาดะซึ่งได้รับสถาปนาเป็นเจ้าหญิงมาซาโกะ พระชายาในองค์มกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ ต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากสำนักพระราชวังในการเร่งให้ทรงมีพระรัชทายาท รวมทั้งการเข้ามา “พยายามปรับแก้” ลักษณะนิสัยของพระองค์ในการปฏิบัติพระกรณียกิจต่าง ๆ จนทำให้ทรงเครียดและแท้งพระครรภ์แรกไปในที่สุด เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้องค์มกุฎราชกุมารทรงตำหนิสื่อมวลชนและข้าราชสำนักอย่างเปิดเผย ในเรื่องที่เข้ามาจุ้นจ้านวุ่นวายจนเกินไป
ในปี 2001 ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระธิดาคือเจ้าหญิงไอโกะ แต่ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการสืบสันตติวงศ์แต่อย่างใด หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหญิงมาซาโกะก็ทรงเริ่มไม่เสด็จออกหรือปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชนเป็นเวลานานเกือบ 10 ปี ทรงอ่อนล้าหมดกำลังพระวรกายเนื่องด้วยทรงระทมทุกข์จาก “อาการผิดปกติในการปรับพระองค์” ซึ่งปัจจุบันเชื่อกันว่าหมายถึงภาวะซึมเศร้า
แรงกดดันเรื่องการให้กำเนิดรัชทายาทเพื่อสืบราชบัลลังก์ผ่อนคลายลงในปี 2006 เมื่อเจ้าชายฟุมิฮิโตะ พระอนุชาขององค์มกุฎราชกุมารทรงมีพระโอรสคือเจ้าชายฮิซะฮิโตะ ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเจ้าหญิงมาซาโกะกลับมาปรากฏพระองค์ต่อสาธารณะบ่อยครั้งขึ้น
ตลอดช่วงเวลาที่สมเด็จพระจักรพรรดินีพระองค์ใหม่ประชวรด้วยปัญหาสุขภาพจิต สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะได้ทรงยืนหยัดเคียงข้างเป็นกำลังใจ และทรงปกป้องพระชายาจากการถูกกดดันโจมตีมาโดยตลอด ถือเป็นแบบอย่างของชายชาวญี่ปุ่นยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวมาเป็นลำดับแรกกันมากขึ้น ทั้งยังทรงดูแลพระราชธิดาด้วยพระองค์เองระหว่างที่พระชายาทรงประชวรอีกด้วย
ทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้ชาวญี่ปุ่นยุคใหม่ มีความรักเทิดทูนและศรัทธาต่อ สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีพระองค์ใหม่อย่างมาก
ภาพจาก BBC.com