ทวิภพ เป็นบทประพันธ์สุดคลาสสิคของทมยันตี ที่คนไทยรู้จักกันดีทั้งหนังสือ ละคร ละครเวทีและภาพยนตร์ เรื่องราวของหญิงสาวนามว่า มณีจันทร์ ที่เธอเป็นสาวหัวสมัยใหม่ เก่งภาษาต่างประเทศ เดินทางข้ามกาลเวลาผ่านกระจกโบราณไปสู่ยุครัชกาลที่ 5 ในช่วงวิกฤติการณ์ปากน้ำ ร.ศ. 112
เวอร์ชั่นที่ถูกตีความได้แตกต่างจากบทประพันธ์ดั้งเดิมมากที่สุดคือ ทวิภพ (The Siam Renaissance) ภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี 2547 กำกับโดย สุรพงษ์ พินิจค้า ทำออกมาด้วยมุมมองใหม่และเก็บรายละเอียดสถานที่ บุคคล เกร็ดประวัติศาสตร์ได้อย่างครบถ้วน…จากหนังเรื่องนี้เองกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เราออกเดินทางตามรอยโลเคชั่นของหนัง ทวิภพ
“มณีจันทร์..ลูกลองบอกพ่อสิว่า
ครั้งหนึ่งหอไอเฟลเคยอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยา”
“หล่อนชื่อมณีจันทร์ขอรับ..อยู่ๆก็มีคนพบหล่อนที่นี่
หล่อนยืนยันว่าเป็นชาวสยามเกิดที่ฝั่งธนบุรี หล่อนใช้คำว่าฝั่งธนฯขอรับ”
ในหนังตอนต้นเรื่องมณีจันทร์ตื่นมาโผล่ที่บ้านหมอบรัดเลย์ ก่อนที่จะวิ่งหนีออกมาผงะกับพระปรางค์วัดอรุณฯ ซึ่งในความจริงบ้านพักและโรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ อยู่ใกล้ๆกับ ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ในเขตพระราชวังเดิม..และแต่ก่อนพื้นที่วัดอรุณฯก็ถือว่าอยู่ในเขตพระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรีด้วย บ้านหมอบรัดเลย์ ตอนนี้ไม่มีเหลือให้เห็นแล้ว ส่วนพื้นที่ตั้งปัจจุบันเป็นพื้นที่ของกองทัพเรือ
– วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร –
วัดอรุณฯ ปรากฎในหนังหลายครั้งเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ที่อยู่คงทนต่อกาลเวลา เป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา ในยุคของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงบูรณะวัดและขยายเขตพระราชฐานให้วัดอยู่ในเขตนั้นด้วย ในครั้งเมื่อตอน อัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากเวียงจันทน์ ได้ทรงให้ประดิษฐานที่วัดอรุณฯ ก่อนย้ายไปประดิษฐานที่วัดพระแก้ว
ปัจจุบันองค์พระปรางค์ได้รับการบูรณะใหม่เป็นสีขาวใกล้เคียงกับภาพในหนัง ตรงชั้น2ของพระปรางค์จะมองเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาและวิวฝั่งพระนคร เปิดให้เข้าชมทุกวัน ปิดเวลา18.00น. นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชม50บาท คนไทยเข้าฟรี
ภาพเปรียบเทียบภาพจากหนัง Vs ภาพสถานที่จริง มุมมองของพระบรมมหาราชวัง ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจากฝั่งธนบุรี
– หอนาฬิกา ที่สวนเจ้าเชตุ –
“ลองจิจูดที่ 0 องศา ในเวลานั้นอยู่ที่หอดูเวลาของชาวสยาม
…สร้างเสร็จก่อนหอนาฬิกาบิ๊กเบน2ปี บางกอกมีนไทม์ เท่มั้ยล่ะ??”
ในทวิภพ กล่าวถึงทฤษฎีลองจิจูดที่ 0 องศา ว่าสยามมีเวลาใช้เองก่อนที่จะมีเวลามาตรฐานโลก พระอภิเนาว์นิเวศน์ เป็นหมู่ราชมณเฑียร สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 4 มี พระที่นั่งภูวดลทัศไนย เป็นหอนาฬิกาที่สร้างขึ้นตรงตามเวลามาตรฐานโลก จากการคำนวนทางวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ของรัชกาลที่ 4 ต่อมาถูกรื้อในสมัยรัชกาลที่5
ภาพถ่ายหอนาฬิกาที่เราถ่ายมานี้อยู่ในสวนเจ้าเชตุ ตรงข้ามวัดโพธิ์ มีความคล้ายกับหอภูวดลฯ ข้างๆมีหอกลองไว้สำหรับตีบอกเวลาและเหตุต่างๆที่สำคัญ
– ถนนสนามไชยและถนนรอบพระบรมมหาราชวัง –
“ถนนใหม่ใกล้วังหลวง เกิดขึ้นพร้อมกับโลกใหม่ เตรียมรับมือกับพวกมาใหม่
การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่การสูญเสีย ตรองดูด้วยปัญญาให้ดีเถอะ”
ในสมัยก่อนสนามไชยเป็นถนนที่ประชาชนมาเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ที่จะเสด็จฯ ออกมหาสมาคมที่บริเวณ พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท เป็นหนึ่งในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ในรัชกาลที่ 4 และยังคงอยู่ถึงปัจจุบันไม่โดนรื้อ เดินเลียบประตูและกำแพงพระบรมมหาราชวังไปเรื่อยๆ จะพบกับความงดงามของแสงไฟที่ประดับข้างใน มองเห็นปราสาทพระเทพบิดร เป็นความอลังการของสถาปัตยกรรมไทยที่สะท้อนให้เห็นฝีมือของงานช่างในสมัยก่อน
นามของประตูชั้นนอกของพระบรมมหาราชวัง ถูกตั้งให้คล้องจองกัน มีทั้งหมด 12 ประตูดั้งนี้
1. ประตูวิมานเทเวศร์
2. ประตูวิเศษไชยศรี
3. ประตูมณีนพรัตน์
4. ประตูสวัสดิโสภา
5. ประตูเทวาพิทักษ์
6. ประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์
7. ประตูวิจิตรบรรจง
8. ประตูอนงคารักษ์
9. ประตูพิทักษ์บวร
10. ประตูสุนทรทิศา
11. ประตูเทวาภิรมย์
12. ประตูอุดมสุดารักษ์
ประตูสวัสดิโสภา เป็นประตูชั้นนอกของพระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ระหว่างป้อมเผด็จดัสกรและป้อมสัญจรใจวิง เป็นถนนทิศของพระบรมมหาราชวังที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับกระทรวงกลาโหม เดิมทีสวัสดิโสภา มีชื่อสามัญว่า ประตูทอง เพราะเป็นทางผ่านสำหรับประชาชนที่จะไปปิดทองคำเปลวบูชาพระแก้วมรกต
– หอสมุดเมืองกรุงเทพฯ –
“ในสมัยของฉัน ชาวสยามอ่านออกเขียนได้ทุกคนเจ้าค่ะ
// ชาวสยามอ่านออกเขียนได้ เจ้าเพ้อถึงอนาคตอีกแล้ว ทุ
กคนฉลาดหมดใช่ไหม บ้านเมืองคงวุ่นวายกันฉิบหาย”
ในหนังมีพูดถึงหอหนังสือซึ่งเปรียบเสมือนอาวุธลับในวังหลวง คลังแห่งปัญญาที่ตั้งอยู่ในหอดูเวลาของชาวสยาม ปัจจุบันแม้จะถูกรื้อไปพร้อมกับหอนาฬิกาแล้ว…แต่เรายังโชคดีที่ระหว่างทางเดินไปถนนราชดำเนิน มี หอสมุดเมืองกรุงเทพฯ ที่ใครๆก็สามารถเข้าไปอ่านได้ เพียงแค่สแกนบัตรประจำตัวประชาชน ข้างในแบ่งออกเป็น 4 ชั้น มีห้องฉายภาพยนตร์ ห้องนิทรรศการ ห้องค้นคว้า บรรยากาศเงียบคนไม่เยอะ มีห้องสำหรับเด็กด้วย เปิดให้บริการจนถึงเวลา 21.00น. สามารถทำเรื่องยืมหนังสือกลับไปอ่านที่บ้านได้ด้วย
Copyright© Bsite.In