- Travel
เสน่ห์หรือไร้ระเบียบ? ดราม่า ‘สตรีทฟู้ด’ สิงคโปร์ดันเป็นมรดกโลก แต่ในไทยช่างแตกต่าง
By Sanook D Pipat • on Nov 08, 2018 • 3,603 Views
เมื่อช่วงที่ผ่านมามีประเด็นข่าวในภูมิภาคอาเซียนที่น่าสนใจ เมื่อ นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีประเทศสิงคโปร์ ได้กล่าวในงานฉลองวันชาติว่า ขณะนี้รัฐบาลของสิงคโปร์มีความพยายามผลักดันสตรีทฟู้ด หรือ Food hawker ขึ้นทะเบียนเป็น Intangible Cultural Heritage (ICH) มรดกทางวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก้
โดยทางการสิงคโปร์มองว่าการผลักดันเรื่องนี้จะช่วยผลักดันวัฒนธรรมการกินอาหารข้างทาง ซึ่งเป็นภาพสะท้อนทางวัฒนธรรมของสิงคโปร์ให้เป็นที่รู้จักไปในทั่วโลก โดยได้เตรียมข้อมูลนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาภายในต้นปี 2562 และในปี 2563 คาดว่าจะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ
เป้าหมายของสิงคโปร์เกี่ยวกับการผลักดันวัฒนธรรมอาหารข้างทาง
1.ทำให้สิงคโปร์มีส่วนร่วมในวัฒนธรรมที่หลากหลายของโลกและมรดกทางวัฒนธรรมของสิงคโปร์เป็นที่ยอมยอมรับจากแนวทางปฏิบัติทางวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก
2.ช่วยส่งเสริมร้านค้าของชุมชนให้มีบทบาทมากขึ้น และให้ศูนย์การค้าเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
3.เพื่อสืบสานวัฒนธรรมให้ยังคงดำเนินต่อไปในอนาคตเพื่อให้ลูกหลานของชาวสิงคโปร์ สามารถเพลิดเพลินไปกับอาหารที่สืบทอดต่อจากบรรพบุรุษได้
โดยเว็บ oursgheritage.sg ซึ่งเป็นเว็บทางการของแคมเปญผลักดันนี้ ได้เผยข้อมูลว่า ต้นกำเนิดของอาหารข้างทางของสิงคโปร์ ย้อนกลับไปในช่วงกลางปี ค.ศ. 1800 เมื่อคนขายเหล้าริมถนน และได้นำสินค้าต่างๆ มาขายข้างทางด้วย ซึ่งเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ตั้งถิ่นฐานในสิงคโปร์ในยุคแรกๆ เพราะว่าเป็นอาชีพที่ใช้ทุนต่ำและทักษะไม่มาก
ปี 1970 ร้านอาหารริมถนน เริ่มผุดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ เช่น ไชน่าทาวน์และถนนออชาร์ด เป็นแหล่งรวมร้านอาหารข้างทางที่ นำเสนออาหารราคาไม่แพง เช่น สลัด สะเต๊ะ โดยมีกลุ่มลูกค้าเป็นคนทุกอาชีพ ในปี 1968 ถึง 1986 รัฐบาลได้มีการอนุญาตให้เปิดร้านอาหารริมถนนได้และมีฟู้ดคอร์ทที่เป็นศูนย์กลางของการทานอาหาร โดยจะต้องมีสุขาภิบาลและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม ปัจจุบันมีศูนย์อาหารมากกว่า 110 แห่งทั่วเกาะ และตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2027 จะมีการขยายและพัฒนาฟู้ดคอร์ทเพิ่มเติมอีก 13 แห่ง
ย้อนดูความพยายามผลักดันของสิงคโปร์ ให้กลายเป็นเมืองวัฒนธรรมแห่งอาหารของภูมิภาคเอเซีย เราจะเห็นได้จากการร่วมมือกับมิชลินไกด์ จัดอันดับร้านอาหารชื่อดังในปี 2016 โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานมิชลิน 5 ข้อในการให้ “ดาว” ได้แก่ข้อพิจารณาดังนี้ 1. คุณภาพของวัตถุดิบ, 2.เทคนิคในการปรุงและรสชาติ, 3.สะท้อนถึงบุคลิกภาพของเชฟ, 4.ความคุ้มค่า, 5.ความสม่ำเสมอของคุณภาพอาหาร
ทั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการให้ดาวมิชลินกับ ร้านสตรีทฟู้ด คือ Hong Kong Soya Sauce Chicken Rice and Noodle และ Hill Street Tai Hwa Pork Noodle ได้ดาวไปประดับร้านละ 1 ดาว ทำให้มีนักชิม นักท่องเที่ยวทั่วโลกแห่ไปต่อคิวซื้อกินเป็นจำนวนมาก ใช้ระยะเวลาต่อคิว 2-3ชั่วโมงเลยทีเดียว
ความจริงจังของสิงคโปร์ในการผลักดัน
หากจะถามว่าสิงคโปร์จริงจังแค่ไหนกับเรื่องนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่จริงมาก กระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำของสิงคโปร์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้ชื่อว่า Hawker Center 3.0 โดยมีหลายหน่วยงานที่เข้าไปช่วยดูว่าจะทำอย่างไรให้ผ่านการประเมินของยูเนสโก้ ได้มีการจัดอบรมให้กับกลุ่มร้านค้า แนะนำการปรุงอาหาร จัดอบรมทักษณะทางธุรกิจอย่างจริงจังและเตรียมจัดตั้งศูนย์สารสนเทศ และบริการแบบครบวงจรซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการสำหรับการสอบถามเกี่ยวกับร้านอาหารที่ร่วมในโครงการนี้
ดราม่าจากความฉุนเฉียวของ ปท.เพื่อนบ้าน
ท่ามกลางความมุ่งมั่นของสิงคโปร์ เสียงคัดค้านอีกด้านของชาวสังคมออนไลน์ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงไทย และเหล่านักวิจารณ์อาหาร มีความคิดเห็นว่า สตรีทฟู้ดในสิงคโปร์ไม่ใช่ของจริงเพราะมีราคาแพง ไม่ได้จัดจำหน่ายริมถนนเหมือนอย่างที่ไทย มาเลเซีย หรือประเทศอื่นๆ มี
แต่สตรีทฟู้ดของสิงคโปร์คือร้านที่ถูกจัดสรรพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วน รวมถึงกระจุกตัวอยู่ตามฟู้ดคอร์ทไม่ใช่ตามริมถนนแบบที่ควรจะเรียกว่า “สตรีทฟู้ด” รวมถึงมีการแสดงความคิดเห็นว่าอาหารสตรีทฟู้ดของสิงคโปร์ก็ไม่ใช่อาหารของชาติอย่างแท้จริงเพราะมีอิทธิพลมาจากอาหารของมาเลเซีย จีน อินโดนีเซีย ด้วย การจะขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมฝ่ายเดียวนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
หันมามองที่ “ไทย” คิดอะไรกันอยู่?
ประเด็นนี้หากมองมาที่ฝั่งไทย ไม่มีการส่งเสริมวัฒนธรรมอาหารข้างทาง แต่มุ่งไปที่การจัดระเบียบ โดยอ้างว่าเป็นการจัดระเบียบเพื่อความเรียบร้อย ปลอดภัย แต่ในอีกมุมก็เป็นการลดเสน่ห์ของเมืองท่องเที่ยว ซึ่งชาวต่างชาติชื่นชอบสตรีทฟู้ดเมืองไทยที่ราคาถูก อร่อยและมีความหลากหลาย ส่งผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยและการกระจายรายได้สู่ชุมชนด้วย
และแม้จะมีการเข้มงวดในการจัดระเบียบแต่ดูเหมือนว่าผู้ค้าก็ยังอาศัยช่องว่างทางกฎหมายและช่วงเผลอของเจ้าหน้าที่ลักลอบขายอาหารริมทางเหมือนเดิม และได้มีการออกข้อผ่อนผันให้กับถนนข้าวสารซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวยอดนิยม
สำหรับในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยมี พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ระบุว่า
มาตรา 20 ห้ามมิให้ผู้ใด
(1) ปรุงอาหาร ขายหรือจําหน่ายสินค้าบนถนน หรือในสถานสาธารณะ
(2) ใช้รถยนต์หรือล้อเลื่อนเป็นที่ปรุงอาหารเพื่อขายหรือจําหน่ายให้แก่ประชาชนบนถนน
หรือในสถานสาธารณะ
(3) ขายหรือจําหน่ายสินค้าซึ่งบรรทุกบนรถยนต์รถจักรยานยนต์หรือล้อเลื่อนบนถนน
หรือในสถานสาธารณะ
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การปรุงอาหารหรือขายสินค้าตามข้อ (1) หรือ ข้อ (2) ในถนนส่วนบุคคลหรือใน
บริเวณที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศจุดผ่อนผันให้กระทําได้ในระหว่างวัน เวลาที่กําหนด ด้วยความเห็นชอบของเจ้าพนักงานจราจร
ทั้งนี้ ระหว่างสิงคโปร์ที่พยายามผลักดันให้สตรีทฟู้ดไปไกลระดับโลกกับไทยที่พยายามจัดระเบียบสตรีทฟู้ด
ใครจะถึงจุดหมายฝั่งฝันได้ไวกว่ากัน
และหากมาถึงวันที่สิงคโปร์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจริงๆ
ประเทศไทยจะแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร จะมานึกเสียดายทีหลัหรือไม่ ต้องมาคอยติดตามดู
Copyright© Bsite.In
ABOUT THE AUTHOR
Sanook D Pipat