ผลสำรวจระบุ ผู้บริโภคในไต้หวัน ไทย และอินโดนีเซีย มีความพร้อมสูงสุดในโลก ต่อบริการออนไลน์ไร้เงินสดหรือ ฟินเทค ฟิวเจอร์ ขณะที่ผู้บริโภคในญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ยังคงรอดูสถานการณ์ แต่ก็ยอมรับว่าบริการดังกล่าวมีความน่าสนใจ
ทั้งนี้ LINE คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยข้อสรุปจากผลสำรวจในแง่ความคิดเห็นและความเชื่อมั่นต่อเทคโนโลยีทางการเงินหรือฟินเทค ผ่านกลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟนกว่า 5,000 คน ในตลาดหลัก 7 แห่ง โดยเน้นไปที่ตลาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ ญี่ปุุ่น ไทย ไต้หวัน และอินโดนีเซีย รวมไปถึงเกาหลี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา พบว่า ในภาพรวมยังมีโอกาสสูงที่ฟินเทคจะเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง หากสร้างความรู้ความเข้าใจและการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้นในกลุ่มผู้บริโภค
ความพร้อมของโลกต่อฟินเทค
ผลสำรวจจากทั้ง 7 ตลาดหลัก ระบุ 64% ของผู้เข้าร่วมการสำรวจยอมรับว่า เทคโนโลยีทางการเงินช่วยในการวางแผนและจัดการทางการเงินให้ง่ายขึ้น
ขณะที่โดยรวมมีความเชื่อมั่นสูงต่อเทคโนโลยีด้านการเงิน คิดเป็น 63% ที่วางใจในผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตัวเองรู้จัก ส่วนอีก 30% ยังไม่มั่นใจ
คนรุ่นใหม่ เชื่อมั่นฟินเทค
นอกจากนี้ ยังพบว่า ความเชื่อมั่นมีแนวโน้มสูงขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ส่วนกลุ่มคนอายุ 55 ปี หรือมากกว่า มีความเชื่อมั่นเพียง 55% เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุ 18-34 ปี ที่มีความเชื่อมั่นสูงถึง 69% ดังนั้น จึงพอบอกได้ว่า ฟินเทคมีมูลค่าลงทุนที่สูงกว่ามากในกลุ่มคนรุ่นใหม่
อย่างไรก็ดีจากผลสำรวจทั้งหมด ผู้เข้าร่วมการสำรวจยังมีความรู้ความเข้าใจในบริการและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงินในระดับต่ำ คือ มีเพียง 44% ที่ตอบว่า รู้จักเป็นอย่างดี ซึ่งในจำนวนนี้ คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 18-34 ปี โดยมีสัดส่วนสูงถึง 52%
โปรดักส์ทางการเงินยอดนิยมบนมือถือ
สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่กลุ่มผู้เข้าร่วมการสำรวจต้องการใช้งานผ่านทางมือถือหรือแอพพลิเคชันมากที่สุด ได้แก่ บริการเงินฝาก (65%) บริการโอนเงิน (57%) บริการตรวจสอบยอดบัญชี (48%) และบริการประกันภัย (48%) โดยมีประกันชีวิต (65%) ประกันการเดินทาง (58%) และประกันที่อยู่อาศัย (50%) เป็นประเภทของบริการประกันภัยที่กลุ่มผู้เข้าร่วมการสำรวจต้องการเข้าถึงผ่านช่องทางดังกล่าวมากที่สุด
ไทย ไต้หวัน อินโดฯ ฉลุยฟินเทค
ในขณะที่ผู้เข้าร่วมการสำรวจจากแต่ละประเทศต่างมีความสนใจและความกังวลที่แตกต่างกัน โดยไทย ไต้หวัน และอินโดนีเซีย ให้ความสนใจกับการเงินดิจิตอลในอนาคตเป็นอย่างมาก เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ของสังคมไร้เงินสดในอนาคตพบว่า คำตอบจากทั้ง 3 ประเทศอยู่ในเกณฑ์บวกถึงกว่า 37% โดยเฉลี่ย ซึ่ง 57% ของผู้เข้าร่วมการสำรวจในไทยกล่าวว่า “รู้สึกตื่นเต้น” ที่จะเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ตามมาด้วยอินโดนีเซียที่ 56% และไต้หวันที่ 52% ส่วนเกาหลีก็ตอบรับในเชิงบวกเช่นกันโดยอยู่ที่ 45%
ประเทศเหล่านี้ต่างตอบรับในเชิงบวกกับการซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินผ่านบริการบนมือถือ ซึ่ง 65% ของผู้เข้าร่วม การสำรวจทั้งหมดจะเปิดบัญชีเงินฝากผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือนำโดยประเทศไทยที่ 83% ตามมาด้วย อินโดนีเซีย 77% และไต้หวัน 69% (ผลตอบรับในเกาหลีก็ดีเช่นกัน โดยอยู่ที่ 75%)
สหรัฐฯ – ญี่ปุ่น ยังไม่ตื่นตัวฟินเทค
ขณะที่ผู้เข้าร่วมการสำรวจทั้งในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ต่างยังไม่กระตือรือร้นที่จะออกจากระบบการเงินแบบเดิม มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ตื่นเต้นกับสังคมไร้เงินสด โดยญี่ปุ่นอยู่ที่ 24% สหรัฐอเมริกา 20% และสหราชอาณาจักรรั้งท้ายที่ 19%
โดยเฉพาะในญี่ปุ่นถือว่า ยังรั้งท้ายประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ในเรื่องของการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด แต่อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็กำลังพยายามที่จะลดการพึ่งพาเงินสดให้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน จึงถือว่ายังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกมาก
ในส่วนของการซื้อบริการฟินเทคต่างๆ ผ่านทางมือถือ ผลสำรวจจากทั้งในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ยังถือว่า น้อยกว่าค่าเฉลี่ย โดยญี่ปุ่นมีจำนวนผู้ที่ต้องการเปิดบัญชีเงินฝากผ่านมือถือน้อยที่สุด เพียง 49% ขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 53% และสหราชอาณาจักรที่ 57% (จากผลสำรวจเฉลี่ยที่ 65%) อย่างไรก็ดี ในแง่การลงทุนผ่านทางมือถือ สหราชอาณาจักรรั้งท้ายที่ 28% ตามด้วยสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นอยู่ที่ 37% ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของผลสำรวจที่ 45%
คนญี่ปุ่นยังไม่พอใจกับตัวเลือกในปัจจุบันแต่ก็ยังไม่รู้จักตัวเลือกใหม่ดีนัก
หากเปรียบเทียบกับประเทศไทย อินโดนีเซีย และไต้หวัน ญี่ปุ่นยังรั้งท้ายจากผลสำรวจในแง่ความเชื่อมั่น และความเข้าใจต่อฟินเทค โดยผู้ร่วมการสำรวจที่เชื่อมั่นในฟินเทคมีเพียง 38% หากเทียบกับค่าเฉลี่ย ผลสำรวจซึ่งอยู่ที่ 63% และจากรายงานมีเพียง 22% ที่รู้จักฟินเทคเป็นอย่างดี เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 44%
ผลสำรวจระบุว่า ชาวญี่ปุ่นนิยมทำธุรกรรมทางธนาคารด้วยตัวเองมากที่สุด (อยู่ที่ 80% เทียบกับผลสำรวจเฉลี่ย 68%) และไม่นิยมทำธุรกรรมดังกล่าวผ่านทางมือถือที่สุด (คิดเป็น 38% เทียบกับผลสำรวจเฉลี่ย 58%) แต่ในขณะเดียวกันกลับพบว่า ญี่ปุ่นรั้งอันดับท้ายในเรื่องความพึงพอใจต่อการให้บริการทางการเงินในปัจจุบัน (คิดเป็น 31% เทียบกับผลสำรวจเฉลี่ย 67%) ซึ่งบ่งชี้ว่า ผู้บริโภคเองก็มีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่เช่นกัน
LINE ในฐานะผู้บุกเบิกบริการฟินเทคบนมือถือ
LINE ตระหนักถึงความแตกต่างในแต่ละประเทศ จึงได้ใช้เวลาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ฟินเทคตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยในเดือนธันวาคม 2557 LINE ได้เปิดตัว LINE Pay ซึ่งเป็นบริการโอนและจ่ายเงินสำหรับแอพพลิเคชั่น
LINE จนถึงปัจจุบันมียอดผู้สมัครใช้งานถึงกว่า 40 ล้านบัญชี และมียอดทำธุรกรรมทางการเงินทั่วโลกกว่า 450,000 ล้านเยนต่อปี และเมื่อเดือนมกราคม 2561 LINE ยังได้ก่อตั้ง บริษัท LINE Financial คอร์เปอเรชั่น จำกัด หรือ “LINE Financial” เพื่อสร้างสรรค์บริการทางการเงินที่หลากหลายขึ้นสำหรับใช้งาน ผ่านทางแอพพลิเคชั่น LINE
ปัจจุบัน LINE Financial ยังคงนำเสนอบริการด้านประกันภัยผ่านทาง LINE Insurance ด้านการลงทุนผ่านทาง LINE Smart Invest และด้านบริหารการเงินส่วนบุคคลผ่านบริการ LINE Kakeibo ในประเทศญี่ปุ่น และล่าสุด ได้ประกาศแผนการก่อตั้งธนาคาร แพลตฟอร์มให้คะแนนเครดิต และบริการสินเชื่อ โดยกำลังจะนำบริการด้านการเงินใหม่ๆ เหล่านี้เข้าสู่แพลตฟอร์มหลักของ LINE ในอนาคต
“LINE มีทิศทางการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน เรามองเห็นศักยภาพจากความต้องการบริการฟินเทคที่สูงมากในตลาดเอเชีย ขณะเดียวกันเราก็พยายามเอาชนะความท้าทายในแต่ละตลาดที่แตกต่างกันไป” มร. ทาเคชิ อิเดซาวะ ประธานกรรมการบริหาร LINE Corporation กล่าว และว่า “จากการชำระเงินแบบไร้เงินสดมาจนถึงบริการด้านประกันภัยและการลงทุน LINE มุ่งมั่นนำผลิตภัณฑ์และบริการฟินเทคมาสู่ผู้ใช้งานให้ง่ายดายสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นและตรงกับความต้องการให้มากที่สุด”