ย้อนรอย 1 ปีหลังโควิด-19 บุกไทยตลาดที่อยู่อาศัยยังมีแนวโน้มสดใส คนไทยยังอยากมีบ้าน พร้อมดันเทรนด์ซื้อ-เช่าให้เติบโตขึ้น
ภาพรวมทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในรอบ 1 ปีหลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทย ที่การเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยหยุดชะงักในช่วงแรกแต่ก็ยังมีแนวโน้มโต สะท้อนจากความต้องการของผู้บริโภคที่แม้จะได้รับผลกระทบทางการเงินจากวิกฤติครั้งนี้ แต่ยังมองหาที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ ชี้ยังเป็นโอกาสทองของนักลงทุนและผู้ซื้อที่มีความพร้อม หวังต่อยอดการลงทุนในระยะยาว คาดการแข่งขันในตลาดจะกลับมาคึกคักอีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลายหลังระดมฉีดวัคซีนครอบคลุมทั่วประเทศ
ข้อมูลจากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Index ฉบับล่าสุด เผยดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 190 จุด จาก 197 จุด หรือลดลง 4% จากไตรมาสก่อน ถือเป็นดัชนีราคาที่ต่ำที่สุดในรอบ 15 ไตรมาส (นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2560) โดยมีการปรับตัวลดลงถึง 7% ในรอบปีที่ผ่านมา ในขณะที่ดัชนีอุปทานในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 399 จุด จาก 363 จุด หรือเพิ่มขึ้นถึง 10% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มถึง 19% ในรอบปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการที่ผู้พัฒนาอสังหาฯ มีการเปิดตัวโครงการใหม่เข้าสู่ตลาด และผู้บริโภคที่มีสินค้าอยู่ในมือเริ่มนำสินค้าออกขาย แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดฯ รอบล่าสุด ทำให้อัตราการดูดซับไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ จำนวนที่อยู่อาศัยในตลาดจึงแปรผันตามสถานการณ์ปัจจุบัน
นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า “ตลอดหนึ่งปีของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทยส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่ความต้องการซื้อและเช่าในตลาดอสังหาฯ ยังมีอยู่ไม่น้อย เพียงแต่มีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ โดยในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการระบาดฯ รอบแรกในปีที่แล้ว ที่ตอนนั้นทุกภาคส่วนล้วนไม่มีประสบการณ์ในการรับมือวิกฤติแบบนี้มาก่อน เทรนด์ที่เห็นได้ชัดคือผู้บริโภคหันมาพิจารณาเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอก และแถบชานเมืองเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทำเลแนวรถไฟฟ้าสายใหม่ที่เพิ่งเปิดใช้หรือมีแผนเปิดใช้บริการในอนาคตอันใกล้ ประกอบกับผู้บริโภคต้อง Work From Home ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ต้องกระจุกตัวอยู่ใกล้แหล่งงานย่านใจกลางเมือง อย่างไรก็ตามแม้ดัชนีอุปทานในกรุงเทพฯ จะเพิ่มขึ้นถึง 19% ในรอบปีที่ผ่านมาสวนทางกับอัตราดูดซับที่น้อยลง แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับปกติเมื่อพิจารณาตามสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ที่มีความไม่แน่นอนสูง ผู้บริโภคยังมีความกังวลใจในการใช้จ่าย จึงพยายามรักษาเสถียรภาพทางการเงินไว้
จากผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง “วัคซีนเข็มแรก ความต้องการถ้วนหน้า” ของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 87.9% ต้องการให้คนไทยทุกคนได้รับวัคซีนเข็มแรกก่อน ตามมาด้วยต้องการให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนกระจายวัคซีนครอบคลุมคนที่ต้องการทุกพื้นที่เร่งด่วนที่สุด 86.8% จะเห็นได้ว่า
แผนการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมยังคงเป็นเป้าหมายอันดับต้น ๆ ที่คนไทยต้องการ เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่มองว่ากุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตอนนี้คือแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้ คาดการณ์ว่าเมื่อมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมทั่วประเทศและรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ได้แล้ว ผู้พัฒนาอสังหาฯ ก็พร้อมจะกลับมาเปิดตัวโครงการใหม่เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภค และเชื่อว่าตลาดอสังหาฯ จะกลับมาคึกคักอีกครั้งในไตรมาสสุดท้ายของปี”
ครบรอบ 1 ปีโควิดสะเทือนไทย ความต้องการที่อยู่อาศัยยังไม่แผ่ว
รายงาน DDproperty Thailand Property Market Index ฉบับล่าสุด เผยภาพรวมตลาดอสังหาฯ ทั่วไทย หลังต้องเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (เปรียบเทียบระหว่างเดือนเมษายน 2563 และเดือนเมษายน 2564) ความต้องการที่อยู่อาศัยยังเติบโตต่อเนื่อง แม้ผู้บริโภคจะชะลอการใช้จ่าย
เมืองหลวงยังไม่สิ้นมนต์ขลัง ความต้องการซื้อ – เช่าโตกว่าเท่าตัว
ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในกรุงเทพฯ ในรอบ 1 ปีตั้งแต่เกิดการล็อกดาวน์มาจนถึงการแพร่ระบาดฯ ระลอกล่าสุด พบว่า ผู้บริโภคยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ความต้องการเช่าและซื้อเติบโตกว่าเท่าตัว โดย “เขตยานนาวา” เป็นทำเลมาแรงที่สุดในกรุงเทพฯ ได้รับความสนใจซื้อเพิ่มขึ้นในรอบปีสูงสุดถึง 215% ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่เป็นทำเลที่อยู่ใจกลางเมือง ครอบคลุมแนวถนนพระราม 3 ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตทั้งจากการที่เป็นแหล่งงานขนาดใหญ่ และมีโครงการพัฒนาของทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่อย่างต่อเนื่อง ผู้ซื้อที่มีความพร้อมสามารถซื้อเก็บไว้ในช่วงนี้เพื่อนำไปทำกำไรในอนาคตเมื่อเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ตามมาด้วยเขตธนบุรีเพิ่มขึ้น 137% มีนบุรีเพิ่มขึ้น 132% จอมทองเพิ่มขึ้น 114% และบางแคเพิ่มขึ้น 113% ซึ่งล้วนเป็นทำเลที่ไม่ได้อยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ (CBD) สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อที่อยู่อาศัยแถบพื้นที่รอบนอกมากขึ้น โดยเลือกพิจารณาความคุ้มค่าของราคากับขนาดที่อยู่อาศัยที่จะได้รับ เนื่องจากยังเป็นทำเลที่สามารถเดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า และระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ
ส่วนทำเลยอดนิยมของผู้เช่าในรอบปีที่มีการแพร่ระบาดฯ นั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ย่านใจกลางเมืองเป็นหลักและมีอัตราเติบโตไม่แพ้กัน โดย “เขตปทุมวัน” ได้รับความสนใจเช่าเพิ่มขึ้นในรอบปีสูงสุดถึง 193% เนื่องจากผลกระทบของสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวและวิกฤติโควิด-19 ที่มีอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานศึกษาอยู่ในย่านดังกล่าวหันมาเช่าที่อยู่อาศัยแทนการตัดสินใจซื้ออสังหาฯ ที่มีราคาสูง เพราะสถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีความไม่แน่นอน การสำรองเงินสดไว้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด ในขณะที่ทำเลอื่น ๆ ที่มีความต้องการเช่าสูงไม่แพ้กัน ได้แก่ เขตบางคอแหลม (+188%) เขตบึงกุ่ม (+185%) จตุจักร (+159%) และเขตบางซื่อ (+150%)
ตลาดเช่าโตต่อเนื่อง ครองใจคนหาบ้านในจังหวัดปริมณฑล
ภาพรวมความเคลื่อนไหวของตลาดอสังหาฯ ในจังหวัดปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาครในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมานั้น เทรนด์การเช่าที่อยู่อาศัยได้รับความนิยมอย่างสูง โดยบางพื้นที่มีการเติบโตกว่าความสนใจซื้อมากกว่าเท่าตัว อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ความสนใจซื้อและเช่าที่อยู่อาศัยในจังหวัดปริมณฑลมีการเติบโตเป็นบวกในรอบปีที่ผ่านมา คือเทรนด์การ Work From Home ที่หลายองค์กรใช้ในช่วงที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดฯ และคาดว่าหลายองค์กรจะยังคง Work From Home ต่อเนื่องแม้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้คนทำงานไม่ต้องกังวลเรื่องเวลาในการเดินทางมาทำงานใจกลางเมือง จึงมีการย้ายกลับไปอาศัยที่ภูมิลำเนาเดิมหรือหันไปเลือกซื้อ/เช่าอสังหาฯ ในจังหวัดปริมณฑลที่มีราคาย่อมเยากว่า
ทำเลมาแรงที่ได้รับความสนใจเช่ามากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา ได้แก่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เพิ่มขึ้นถึง 151% ด้านอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพิ่มขึ้น 168% ส่วนทำเลยอดนิยมของผู้เช่าในจังหวัดสมุทรปราการจะอยู่ในอำเภอเมือง โดยเพิ่มสูงถึง 216% ในขณะที่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาครถือเป็นทำเลที่น่าจับตามอง เนื่องจากได้รับความสนใจเช่าเพิ่มสูงถึง 650% เติบโตสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับ 4 จังหวัดปริมณฑลอื่น ๆ
ทำเลที่ได้รับความสนใจซื้อมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา ได้แก่ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เพิ่มขึ้นถึง 73% ด้านจังหวัดปทุมธานีนั้นพื้นที่อำเภอคลองหลวงมีผู้สนใจซื้อเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 74% ส่วนอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการมีความสนใจซื้อเพิ่มขึ้นถึง 74% เช่นกัน และอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ยังคงมาแรงครองความนิยมสูงสุด มีความสนใจซื้อเพิ่มขึ้นถึง 88%
โอกาสทองเลือกเป็นเจ้าของอสังหาฯ หัวเมืองท่องเที่ยว
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ที่หนักหน่วงทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการปิดประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดฯ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจท่องเที่ยวที่ขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ แน่นอนว่าตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน ซ้ำร้ายการเกิดคลัสเตอร์โควิด-19 ในหลายหัวเมืองท่องเที่ยวส่งผลให้ความสนใจเช่าลดลง แต่ในวิกฤติยังมีโอกาสเมื่อดัชนีราคาอสังหาฯ ที่ปรับตัวลดลงช่วยผลักดันให้ความสนใจซื้อเติบโตสูงขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยวใหญ่ ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต ระยอง และประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากผู้บริโภคและนักลงทุนมองเห็นโอกาสในการเป็นเจ้าของอสังหาฯ ในทำเลเหล่านี้ซึ่งถือว่ามีศักยภาพที่จะเติบโตได้ในอนาคต มีเพียงพัทยาที่มีทิศทางการเติบโตต่างจากจังหวัดท่องเที่ยวอื่น โดยมีความสนใจเช่าที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 106% มากกว่าความสนใจซื้อที่เพิ่มขึ้นเพียง 70%
เมื่อพิจารณาจากความสนใจซื้อที่เพิ่มขึ้นในรอบ 1 ปีที่มีการแพร่ระบาดฯ พบว่า อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เพิ่มขึ้นถึง 128% อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เพิ่มขึ้น 164% อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีความสนใจซื้อเพิ่มขึ้นถึง 174% ในขณะที่อำเภอหัวหินยังเป็นทำเลที่ดึงดูดความสนใจซื้อในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้มากที่สุดถึง 96%
ด้านความสนใจเช่าแม้จะเติบโตน้อยกว่าซื้อ แต่ถือว่ายังมีทิศทางเติบโตเป็นบวกทั้งหมด โดยอําเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับความสนใจเช่าเพิ่มขึ้น 74% อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เพิ่มขึ้น 17% อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เพิ่มขึ้น 60% และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพิ่มขึ้น 48%
“จะเห็นได้ว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนส่งผลกระทบต่อทุกคน ทุกองค์กร ธุรกิจทุกแขนงทั่วประเทศทำให้เกิดภาวะชะงักงันไปตาม ๆ กัน แต่อย่างไรก็ตามมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐออกมาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับทุกภาคส่วนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสำคัญที่สุดคือด้านสาธารณสุขก็ส่งผลเชิงจิตวิทยาต่อผู้บริโภคในด้านความมั่นใจ แม้ว่าภาพรวมจะยังไม่มีกลไกใดที่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังดำเนินต่อไปได้ แม้ว่าอาจมีการสะดุดหรือล้มลุกคลุกคลานในบางจังหวะ แต่ทุกคนยังมีความหวังที่จะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ให้ก้าวต่อไป” นางกมลภัทรกล่าวสรุป