- Beauty
Lazada VS Shopee บนสงครามอี-คอมเมิร์ซ และใครคือผู้ชนะตัวจริง?
By ทีมงาน bsite • on May 07, 2019 • 9,610 Views
มาถึงตอนนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า อี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce) เติบโตมากและแข็งแกร่งมากขึ้นทุกที ไม่ว่าธุรกิจเล็กหรือใหญ่ หรือแบรนด์ระดับคอร์เปอเรทก็มุ่งเส้นทางนี้
ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA เปิดเผยเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 45 ล้านคน (2560) มี Mobile Subscriber กว่า 124.8 ล้านราย (2561) ผู้ใช้ Line กว่า 44 ล้านคน (2561) ผู้ใช้ Facebook กว่า 52 ล้านราย (2561) โดย ปี 2561 มูลค่าอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลแคมเปญเลขคู่ ไม่ว่าจะเป็น 11.11 , 12.12, Black Friday ที่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซต่างจัดโปรโมชันส่งเสริมทางการตลาด
และในปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการบางรายมียอดขายสูงถึง 1.44 พันล้านบาท ด้วยปริมาณการสั่งชื่อสินค้ากว่า 1.7 ล้านชิ้น ในระยะ 3 วัน โดยกลุ่มสินค้าที่เป็นที่นิยมอันดับต้น ๆ คือ สินค้าอุปโภคบริโภคของเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน เครื่องสำอาง สกินแคร์ ที่น่าสนใจอีกประการคือ ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของ B2C (Business to Consumer) สูงเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน เมื่อเทียบมูลค่าระหว่างปี 2559 กับปี 2560 พบว่า มีมูลค่าเพิ่มถึงกว่า 1 แสน 6 หมื่นล้านบาท
แต่ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ อี-คอมเมิร์ซไทยเติบโต นั่นก็เพราะการสู้กันแข่งกันอย่างดุเดือดของ 2 มาร์เก็ตเพลสใหญ่จีน ได้แก่ Lazada และ Shopee ซึ่งแม้ว่าเราจะเห็นภาพของเม็ดเงินมหาศาลที่ต่างทุ่มกันในสงครามนี้ ทว่า ก็เกิดบาดแผลฉกรรจ์ของทั้งสองราย และที่น่าสนใจไปกว่านั้นการแข่งขันกันสองยักษ์ใหญ่นี้จะทำให้อี-คอมเมิร์ซไทยแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงฟองสบู่ที่พวยพุ่งวันหนึ่งก็ต้องแตกสลาย และท้ายที่สุดแล้วสงครามครั้งนี้ ใครจะเป็นผู้ชนะที่แท้จริง? เราลองมาตีแผ่ความจริงกัน
เม็ดเงินมหาศาลในการทุ่มตลาด
LAZADA
ในส่วนของงบดุลของบริษัท ลาซาด้า ในช่วง 3 ปี เราพบว่ามี “สินทรัพย์รวม”
ปี 2558 มีจำนวนเงิน 886,017,103 บาท
ปี 2559 มีจำนวนเงิน 1,343,951,612 บาท
ปี 2560 มีจำนวนเงิน 1,342,188,802 บาท
ในส่วนของงบดุลของบริษัท ลาซาด้า ในช่วง 3 ปี เราพบว่ามี “หนี้สินรวม”
ปี 2558 มีจำนวนเงิน 2,981,193,624 บาท
ปี 2559 มีจำนวนเงิน 2,542,977,658 บาท
ปี 2560 มีจำนวนเงิน 2,988,571,357 บาท
SHOPEE
ในส่วนของงบดุลของบริษัท ช้อปปี้ ในช่วง 3 ปี เราพบว่ามี “สินทรัพย์รวม”
ปี 2558 มีจำนวนเงิน 66,016,248 บาท
ปี 2559 มีจำนวนเงิน 157,558,789 บาท
ปี 2560 มีจำนวนเงิน 654,157,691 บาท
ในส่วนของงบดุลของบริษัท ช้อปปี้ ในช่วง 3 ปี เราพบว่ามี “หนี้สินรวม”
ปี 2558 มีจำนวนเงิน 227,666,438 บาท
ปี 2559 มีจำนวนเงิน 847,282,909 บาท
ปี 2560 มีจำนวนเงิน 2,748,085,839 บาท
แสดงให้เห็นถึงการทุ่มตลาดอย่างมหาศาลและต่อเนื่องของทั้ง 2 แพล็ตฟอร์มเลย
ขาดทุน 3 ปีติดต่อ
อีกหนึ่งตัวเลขที่น่าตกใจว่า แม้ อี-คอมเมิร์ซจะเติบโตขนาดนี้ และเราเห็นว่า ทั้ง 2 มาร์เก็ต เพลสเองก็ดูจะมีเม็ดเงินทำโน่นทำนี่ ดันโปรโมชั่นมากมาย แต่ปรากฏว่ากำไรติดลบ ขาดทุน 3 ปีซ้อนติดกันทั้งคู่
LAZADA
ปี 2558 ขาดทุน 1,958,537,919 บาท คิดเป็น -126.91%
ปี 2559 ขาดทุน 2,115,452,087 บาท คิดเป็น -8.01%
ปี 2560 ขาดทุน 568,270,309 บาท คิดเป็น 73.14%
แม้จะขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปีติดกัน แต่ก็จะเห็นว่ามีแนวโน้มของการขาดทุนที่ลดลง
SHOPEE
สำหรับ Shopee เริ่มเข้ามาในปี 2559
ปี 2559 ขาดทุน 528,606,907 คิดเป็น -150.39%
ปี 2560 ขาดทุน 1,404,204,208 คิดเป็น -165.64%
นั่นแสดงให้เห็นว่าการทุ่มตลาดของทั้ง 2 แพล็ตฟอร์ม ทุ่มไปมากมาย แต่ยังไม่ได้ผลตอบแทนเป็นตัวเลข ‘บวก’ ที่ดีนัก
“สงครามของอีคอมเมิร์ซมันคือการสู้กันด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาล รูปแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่อินเดีย กับการทุ่มตลาดสู้กัน 2 ยักษ์ใหญ่ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ แต่ที่ยังอยู่ได้ เพราะยังคงมีเม็ดเงินอัดอยู่ แต่สิ่งที่เกิดกับ SME ภายในประเทศมากกว่าที่น่าห่วง เพราะปัญหาของการที่สินค้าราคาถูกจากจีนทะลักเข้ามามากมาย แต่ถามว่าจะให้ผู้ประกอบการสู้กลับไป ก็คงมีแต่แพ้กับแพ้ แต่วิธีที่ดีที่สุดนั่นคือ อยู่กับเขาอย่างไร ใช้มาร์เก็ตเพลสเหล่านี้อย่างไรให้เกิดประโยชน์กับเรามากกว่า” ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com กล่าว
ทำส่วนผสมการตลาดในประเทศบิดเบือน
ทำไมเราถึงบอกว่า การสู้กันของ 2 เจ้ายักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซทำตลาดบิดเบือนไปจากความเป็นจริง เนื่องจากมีหลายสิ่งที่ทั้งสองเจ้าพยายามจะดึงดูดทั้งผู้ขายและผู้ซื้อมาใช้บริการ หรือเรียกง่ายๆ ว่า อัดกันลดแลกแจกแถม ชนิดหั่นกันแบบไม่สนราคาตลาดกันเลย ไม่ว่าจะเป็น การไม่คิดค่าบริการในการขายหรือค่าดำเนินการขาย, สนับสนุนให้ผู้ขายส่งฟรี,
โดยเฉพาะเน้นโปรโมชั่นหั่นราคากระหน่ำเพื่อกวักมือเรียกผู้ขาย ทั้งๆ ที่มาร์เก็ตเพลสยังไม่มีรายได้จากผู้ชายเลย (กำไรติดลบ) แถมยังเข้าเนื้ออีกด้วย เช่น ขายเสื้อ 1,000 บาท ไม่คิดค่าบริการขาย คิดแต่ค่ารับชำระ 3% แต่ให้ส่วนลด 10% จากบัตรเครดิตต่างๆ =1000*3%=รายได้ 1030 บาท แต่ให้ส่วนลด 100 บาท สรุป ขาดทุนเข้าเนื้อแพล็ทฟอร์ม 70 บาท จากการขาย 1000 บาท
ทำสินค้าจีนทะลักมหาศาล
อีกหนึ่งข้อกังวลที่หลายฝ่ายห่วงตั้งแต่ 2 แพล็ทฟอร์มนี้มาที่ตลาดไทย ก็คืออาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ S และ M และที่สำคัญคือสินค้าจีนจะทะลักทะล้นเข้ามายังประเทศเรามากมาย และส่วนใหญ่ก็มีราคาถูกกว่าของผู้ประกอบการไทยเกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญทำให้สามารถช่วงชิงตลาดไปได้
แต่ถึงกระนั้นปัญหานี้ก็ยังพอมีโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสู้กลับได้ ด้วยการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และเป็นเอกลักษณ์ของไทย เพราะส่วนใหญ่สินค้าที่มาจากจีนมักได้รับคำตำหนิว่า เป็นสินค้าด้อยคุณภาพและสินค้าเลียนแบบ ซึ่งพอจะทำให้เป็นโอกาสของผู้ผลิตไทยได้อยู่บ้าง
แต่ก็ใช่ว่าจะเป็น 2 แพล็ทฟอร์มนี้จะเป็นตัวร้ายให้กับวงการอี-คอมเมิร์ซไทยไปเสียหมด อีกด้านหนึ่ง ก็ต้องบอกว่าก่อให้เกิดการก้าวกระโดดครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซไทยได้เลย
ทำให้วงการ อี-คอมเมิร์ซ ไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด
เรียกได้ว่าการเข้ามาของมาร์เก็ตเพลสยักษ์ใหญ่ สร้างกระแสตื่นตัวให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ประกอบการไทอย่างมาก แบบก้าวกระโดดโดยเฉพาะในช่วงปี 2015-2018
สำหรับผู้ขาย
- เป็นช่องทางตลาดใหม่
- ช่วยในการเข้าถึงผู้ซื้อจำนวนมหาศาล ผู้
- ต้นทุนไม่สูงมาก
- มีแคมเปญโปรโมชั่นทางการตลาดให้ด้วย
- ช่วยดึงดูดผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น
- ช่วยพัฒนาทักษะด้านการขายของออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการไทยมากขึ้น
- เป็นทางเลือกให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าให้กับห้างร้าน ในราคาหลักล้าน
- ไม่ต้องสต๊อกสินค้าเพื่อกระจายไปทั่วประเทศในจำนวนมากๆ
สำหรับผู้ซื้อ
- ได้สินค้าราคาไม่แพง
- มีการจัดโปรโมชั่นส่วนลดอยู่บ่อยครั้ง
- เพิ่มความสะดวกสบายในการจับจ่ายสินค้า
- มีสินค้าให้เลือกมากมาย
- เข้าใจเรื่องของการซื้อของออนไลน์มากขึ้นนำไปสู่สังคมแบบ Cashless Society ได้
- เปลี่ยนพฤติกรรมของการช้อปปิ้งคนไทยไปมาก โดยเริ่มหันมาเลือกดูสินค้าจับต้องสินค้าที่ช่องทางออฟไลน์ เช่น ห้างหรือร้านค้า แต่กลับไปกดสั่งซื้อออฟไลน์แทน เพราะได้โปรโมชั่น คูปองส่วนลด และไม่ต้องขนกลับเองด้วย
Who winning in this game?
ทั้งหมดนี้เป็นการหมุนเวียนเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ที่ดูเหมือนว่าเข้ากระเป๋ารายนั้นทีออกจากกระเป๋ารายนี้ที แต่ผู้ชนะตัวจริงกลับไม่ได้เป็นผู้เล่นที่เราได้กล่าวถึงมาเลย
จากข้อมูลของ ETDA ระบุว่า การทำการตลาดทางออนไลน์ในปี 2560 สูงถึง 69.92% โดยอันดับแรกที่นิยมมากที่สุดคือ Facebook ทั้งในรูปแบบของการ Boost Post และ Boost Ads เพื่อเข้าถึงลูกค้าและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ด้านผู้ใช้บริการนั้นได้มีการนำข้อมูล หรือ Big Data มาพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยการนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ถึง 100% เพื่อให้ตรงกับความต้องการ ตลอดจนเพื่อการวางแผนด้านการตลาดมากถึง 92.85% และใช้วิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อม เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การจำหน่ายสินค้าที่ 85.71%
นอกจากนี้ แล้วก็ยังมีการซื้อโฆษณาผ่าน Google ด้วย เพื่อให้เกิดเสิร์จ เช่น การซื้อคำค้นหา การซื้อแบนเนอร์ เป็นต้น หรือการทำ remarketing ให้กับคนที่เคยดูสินค้าแล้วแต่อาจจะยังไม่กดสั่งก็ตามเข้าไปโฆษณาอีก เป็นต้น
ดังนั้น เม็ดเงินมหาศาลที่ได้รับไปจริงๆ ก็กลายเป็นว่าไปตกอยู่ที่มือของ 2 แพล็ฟอร์มโซเชียล เพื่อทำการโฆษณา อันได้แก่ Google, Facebook และ Instagram นั่นเอง ที่กลายเป็นคน win game ตัวจริง
อ้างอิง Etda.or.th
Copyright© Bsite.In
ABOUT THE AUTHOR
ทีมงาน bsite
Biographical Info